Share to:

 

กลยุทธ์หลบหนี

กลยุทธ์หลบหนี
ภาพแสดงกลุ่ม "กลยุทธ์ยามพ่าย"
ผู้วางกลศึกจูกัดเหลียง
ผู้ต้องกลศึกจิวยี่
ผู้ร่วมกลศึกเล่าปี่, จูล่ง, เตงฮอง, ชีเซ่ง
ประเภทกลยุทธ์ยามพ่าย
หลักการถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยแห่งสงคราม
สาเหตุจิวยี่หวาดกลัวในสติปัญญาอันหลักแหลมและการหยั่งรู้ฟ้าดินมหาสมุทรของจูกัดเหลียง เกรงปล่อยไว้จะเป็นภัยแก่กังตั๋งในภายหน้า
สถานที่ลำเขาปินสาน
ผลลัพธ์จูกัดเหลียงลอบหลบหนี จากการปองร้ายของจิวยี่กลับคืนสู่กังแฮอย่างปลอดภัย
กลศึกก่อนหน้ากลยุทธ์ลูกโซ่

กลยุทธ์หลบหนี หรือ โจ่วเหวยซ่าง (อังกฤษ: If everything else fails, retreat; จีนตัวย่อ: 走为上; จีนตัวเต็ม: 走為上; พินอิน: Zǒu wéi shàng) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงเมื่อทำการศึกสงครามกับศัตรู หากศัตรูมีกองกำลังทหารที่เข้มแข็ง มีกองทัพที่แข็งแกร่ง ชำนาญภูมิศาสตร์ เป็นต่อในทุก ๆ ด้านไม่มีช่องโหว่ให้พลิกเอาชัยชนะแม้แต่น้อย ขืนนำกำลังเข้าต่อสู้ก็มีแต่สูญเสีย การถอยหนีย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยแห่งสงคราม" ซึ่งเป็นการชี้ชัดว่าการถอยหนีในการทำสงครามนั้นมิใช่ความผิดผลาด หากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการทำศึกที่มักจะพบเห็นเสมอ นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวว่า "การพ่ายแพ้หมายถึงความล้มเหลวในทุก ๆ ด้าน การยอมสงบศึกหมายถึงการล้มเหลวในบางด้าน แต่การหนีมิได้หมายความว่าล้มเหลวเลย"[1] ดังนั้นการถอยหนีเป็นการถอยเพื่อหาหนทางหลีกเลี่ยงความเสียหาย แลหาโอกาสชิงตอบโต้ในภายหลัง มิใช่เป็นการถอยหนีอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์หลบหนีไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ลอบหลบหนีจิวยี่ภายหลังจากทำพิธีเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ที่ลำเขาลำปินสานเพื่อใช้ไฟเผากองทัพเรือโจโฉในคราวศึกเซ็กเพ็ก[2]

ตัวอย่างกลยุทธ์

เมื่อคราวศึกเซ็กเพ็กระหว่างโจโฉ ซุนกวนและเล่าปี่ จิวยี่ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพของกังตั๋งในการทำศึกสงคราม ได้เตรียมแผนการโดยใช้ไฟเผาทัพเรือโจโฉร่วมกับจูกัดเหลียงแต่ติดขัดด้วยวิธีการ อุยกายซึ่งเป็นแม่ทัพอาวุโสยอมใช้กลยุทธ์ทุกข์กายให้จิวยี่โบยตีเพื่อลวงโจโฉให้หลงเชื่อและทำทีของสวามิภักดิ์ ก่อนลอบนำเรือเร็วเผาทัพเรือให้วอดวาย จิวยี่ออกตรวจตราความพร้อมของกองทัพร่วมกับโลซกและถูกชายธงศึกสะบัดใส่ใบหน้า ทำให้รู้ว่าในขณะนี้เป็นฤดูหนาว จึงมีเพียงแต่ลมพัดจากตะวันตกเฉียงเหนือพัดเท่านั้นที่พัดผ่าน แผนการเผาทัพเรือโจโฉจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะถ้าใช้ไฟก็เท่ากับเป็นการเผาทำลายทัพของตนเอง จะดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ได้ต้องอาศัยลมตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวช่วยเท่านั้น

จิวยี่เกิดความวิตกกังวลจนไอเป็นเลือดและล้มป่วยลง จูกัดเหลียงจึงทำทีมาเยี่ยมเยียนและสอบถามอาการป่วยของจิวยี่พร้อมกับโลกซก และเมื่อทราบสาเหตุอาการป่วยของจิวยี่จึงเขียนอักษรสิบหกตัวมอบให้ใจความว่า "ซึ่งจะคิดกำจัดโจโฉนั้นก็ได้จัดแจงการไว้ทุกสิ่งเสร็จแล้ว เพื่อหวังจะเอาเพลิงเผากองทัพโจโฉเสีย ยังขาดอยู่แต่ลมสลาตันซึ่งมิได้พัดมาสมความคิดท่านเท่านั้น"[3] รวมทั้งรับอาสารักษาอาการป่วยของจิวยี่ให้หายเป็นปกติด้วยการเป็นผู้เรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ให้ ซึ่งความเป็นจริงจูกัดเหลียงไม่มีพลังอำนาจในการเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นเพราะเรียนรู้หลักการทางดาราศาสตร์ สภาพลมฟ้าอากาศ เรียนรู้จากตำราว่าในเดือนอ้ายแรมห้าค่ำ ซึ่งเหลือเวลาอีกสามวันจะเกิดลมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน และเพื่อให้จิวยี่เกิดความเกรงกลัวจึงกล่าวอวดอ้างว่าสามารถเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ได้ และขอให้สร้างแท่นบูชาดาวทั้งเจ็ดที่ลำเขาปินสานสำหรับทำพิธี

จูกัดเหลียงเตรียมหาช่องทางสำหรับหลบหนีจากการลอบทำร้ายของจิวยี่ โดยได้นัดแนะกับเล่าปี่ไว้ให้จูล่งนำเรือมารอรับในคราวที่จิวยี่เชิญมากินโต๊ะเพื่อหวังฆ่าให้ตาย แต่แผนการไม่สำเร็จเนื่องจากกวนอูติดตามมาด้วย ก่อนจะเตรียมการทำพิธีเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ให้แก่จิวยี่เพื่อใช้เผาทำลายทัพเรือโจโฉ โดยขออาญาสิทธิ์จากจิวยี่เพื่อให้ทำการได้สะดวก รวมทั้งสั่งการแก่ทหารทั้งหมดภายในแท่นพิธีบูชาว่า "บัดนี้เราจะทำการใหญ่ แต่บรรดาทหารซึ่งเราจัดไว้นี้ถ้าเห็นเราทำประการใด ก็อย่าให้พูดจาเดินไปมาจากที่ ให้นิ่งปกติอยู่จนกว่าเราจะสำเร็จ แม้ผู้ใดไม่ฟังเราจะเอากระบี่อาญาสิทธิ์ซึ่งจิวยี่ให้มานี้ตัดศีรษะเสีย"[4] จากนั้นจึงแต่งกายในชุดลัทธิเต๋า ปล่อยผมยาวสยาย ถือกระบี่สำหรับใช้ทำพิธีเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้และทำทีเป็นร่ายรำกระบี่และอ่านมนตรา จิวยี่เฝ้ารอคอยลมตะวันออกเฉียงใต้ตามคำบอกกล่าวของจูกัดเหลียงด้วยความหวัง แม้ภายในจิตใจจะไม่เชื่อตามคำอวดอ้างที่จูกัดเหลียงสามารถเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูหนาวได้

จนกระทั่งคืนวันที่สามภายหลังจากทำพีธีเรียกลม จึงเกิดกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่านสร้างความตื่นเต้นดีใจให้แก่จิวยี่เป็นอย่างยิ่ง เมื่อเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จตามที่รับปากแก่จิวยี่แล้ว จูกัดเหลียงก็ลอบหลบหนีจากแท่นบูชาไปลงเรือตามที่ได้นัดแนะไว้กับเล่าปี่โดยที่ทหารจิวยี่ที่รายล้อมแท่นบูชาไม่อาจทำอะไรได้ จิวยี่เมื่อเห็นกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้พัดมาในฤดูหนาวตามคำอวดอ้าง ก็นึกหวาดกลัวในสติปัญญาอันหลักแหลมและการหยั่งรู้ฟ้าดินมหาสมุทรของจูกัดเหลียง เกรงปล่อยไว้จะเป็นภัยแก่กังตั๋งในภายหน้า จึงสั่งการให้เตงฮองคุมทหารร้อยคนไปยังแท่นพิธีบูชาที่ลำเขาปินสานเพื่อฆ่าจูกัดเหลียงให้ตายและตัดศีรษะมามอบให้ และให้ชีเซ่งคุมทหารร้อยคนไปดักสกัดจับจูกัดเหลียงอยู่บริเวณชายทะเล ครั้นเตงฮองนำกำลังทหารไปถึงก็ไม่พบตัวจูกัดเหลียง จึงออกติดตามไปจนพบชีเซ่งและทันเรือของจูล่งที่มารอรับ ชีเซ่งร้องเรียกให้จูกัดเหลียงหยุดรอก่อนเพื่อบอกกล่าวถ้อยคำของจิวยี่ตามที่ได้รับมา

แต่จูกัดเหลียงให้ชีเซ่งกลับไปบอกกล่าวแก่จิวยี่ว่า "ท่านจงกลับไปบอกจิวยี่เถิดว่าบัดนี้ลมก็มีมาแล้ว ให้เร่งจัดแจงทำการกับโจโฉจงดี อันตัวเรานี้จะลากับไปเมืองกังแฮก่อน ต่อวันอื่นจึงจะกลับมาเยี่ยมจิวยี่"[5] จูล่งที่อยู่ในเรือร้องบอกแก่ชีเซ่งไม่ให้ติดตามมาพร้อมกับยิงเกาฑัณฑ์ขู่โดยไม่คิดทำร้ายแต่เพื่อให้ชีเซ่งประจักษ์ในฝีมือ โดยจูล่งเลือกยิงสายลดใบเรือให้ขาดตกลงมา ทำให้ชีเซ่งและทหารเกรงกลัวในฝีมือเชิงยุทธ์ของจูล่งไม่กล้านำทัพติดตามไป กลยุทธ์หลบหนีหรือโจ่วเหวยซ่างของจูกัดเหลียง ก็ประสบความสำเร็จในการเอาหลบหนีเอาตัวรอดจากการถูกปองร้ายของจิวยี่ และเดินทางกลับไปหาเล่าปี่พร้อมกับจูล่งที่กังแฮได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

  1. หนีคือสุดยอดกลยุทธ์, 36 กลยุทธ์ผู้นำ, หวางซวนหมิง ผู้แต่ง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ผู้แปล, พ.ศ. 2537, ISBN 974-602-172-9
  2. โจ่วเหวยซ่าง กลยุทธ์หลบหนี, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 251, ISBN 978-974-690-595-4
  3. จูกัดเหลียงออกอุบายให้จิวยี่เตรียมทัพแล้วหนีไป, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 652
  4. จูกัดเหลียงออกอุบายให้จิวยี่เตรียมทัพแล้วหนีไป, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 653
  5. จูกัดเหลียงออกอุบายให้จิวยี่เตรียมทัพแล้วหนีไป, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 656
Kembali kehalaman sebelumnya