เล่าปี่
เล่าปี่ (ค.ศ. 161 – 10 มิถุนายน ค.ศ. 223)[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลิว เป้ย์ ( ; จีนตัวย่อ: 刘备; จีนตัวเต็ม: 劉備; พินอิน: Liú Bèi; เวด-ไจลส์: Liu2 Pei4) ชื่อรอง เหี้ยนเต๊ก[a] หรือในภาษาจีนกลางว่า เสฺวียนเต๋อ (玄德) เป็นขุนศึกในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ผู้ก่อตั้งและผู้ปกครองคนแรกของจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก แม้จะเริ่มต้นด้วยความล้มเหลวเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งยังปราศจากขุมกำลังและสถานะทางสังคมดังที่คู่แข่งมี แต่นานวันเข้าเล่าปี่ก็ได้การสนับสนุนจากกลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นซึ่งต่อต้านโจโฉ ขุนศึกผู้สามารถควบคุมการปกครองส่วนกลางรวมถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดไว้ได้ ครั้นแล้วเล่าปี่ก็ขับเคลื่อนขบวนการประชาชนเพื่อรื้อฟื้นราชวงศ์ฮั่น จนก่อตั้งดินแดนของตนซึ่งกินอาณาเขตที่ปัจจุบันคือมณฑลเสฉวน เมืองฉงชิ่ง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลหูหนาน และบางส่วนของมณฑลกานซู่กับมณฑลหูเป่ย์ ในทางวัฒนธรรมแล้ว สืบเนื่องจากความโด่งดังของนวนิยายสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่อง สามก๊ก เล่าปี่จึงได้รับการมองว่าเป็นผู้ปกครองที่โอบอ้อมอารี รักใคร่ปวงประชา และเลือกสรรคนดีเข้าปกครองบ้านเมือง เรื่องแต่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อยกตัวอย่างเชิงสดุดีผู้ปกครองที่ยึดมั่นคุณธรรมแบบขงจื๊อ เช่นความซื่อสัตย์จงรักภักดีและความเมตตากรุณา แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้ว เล่าปี่ยึดถือเล่าจื๊อมากกว่า เฉกเช่นเดียวกับผู้ปกครองหลาย ๆ คนแห่งราชวงศ์ฮั่น ทั้งเขายังเป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาด เป็นผู้นำที่ความสามารถฉายออกมาในแบบนักนิตินิยม ความนับถือขงจื๊อของเล่าปี่นั้นได้รับการแต่งเติมมากกว่าของผู้ก่อตั้งรัฐคู่แข่งอย่างโจผีกับซุนกวน ผู้ซึ่งบริหารบ้านเมืองอย่างนิตินิยมเต็มรูปแบบ ปรัชญาการเมืองของเล่าปี่สามารถอธิบายได้ด้วยสำนวนจีนที่ว่า "ขงจื๊อเพียงเปลือกนอก แต่นิตินิยมเป็นเนื้อแท้" (儒表法里; 儒表法裡; rú biǎo fǎ lǐ; ju2 piao3 fa3 li3) เป็นรูปแบบการปกครองที่กลายเป็นบรรทัดฐานหลังจากการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น[b] แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับชีวประวัติของเล่าปี่คือสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เขียนโดยตันซิ่ว (เฉิน โชฺ่ว) ในศตวรรษที่ 3 ต่อมาในศตวรรษที่ 5 เผย์ ซงจือเขียนอรรถาธิบายของสามก๊กจี่โดยนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นมารวมเข้ากับผลงานต้นฉบับของตันซิ่วรวมถึงเพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวของตนเองไปด้วย ในปี ค.ศ.2006 วิลเลียม กอร์ดอน โครเวล (William Gordon Crowell) แปลชีวประวัติของเล่าปี่อย่างสมบูรณ์เป็นภาษาอังกฤษจากสามก๊กจี่ของตันซิ่วเล่มที่ 32 และเผยแพร่ฟรีทาง Academia.edu.[3] ลักษณะภายนอกบันทึกทางประวัติศาสตร์สามก๊กจี่ ได้บรรยายว่าเล่าปี่เป็นบุรุษผู้สูงเจ็ดฉื่อห้าชุ่น (ประมาณ 174 เซนติเมตร) มีแขนซึ่ง "ยืดยาวไปถึงเข่า" และมีใบหูขนาดใหญ่ถึงขนาดที่ "ตนเองสามารถชำเลืองตาไปมองเห็นได้"[สามก๊กจี่ 1] เล่าปี่เคยถูกเรียกว่า "ไอ้หูใหญ่" (大耳 ต้าเอ่อร์) จากทั้งลิโป้[หฺวาหยางกั๋วจื้อ 1] และโจโฉ[หฺวาหยางกั๋วจื้อ 2] นวนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะภายนอกของเล่าปี่ที่คล้ายคลึงกับในสามก๊กจี่แต่มีรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยระบุว่าเล่าปี่สูงเจ็ดฉื่อห้าชุ่น มีหูขนาดใหญ่ยานถึงไหล่ซึ่งตัวเล่าปี่สามารถชำเลืองตาไปมองเห็นหูตัวเองได้ มีแขนยาวถึงเข่า มีใบหน้าขาวเหมือนหยก และมีริมฝีปากแดงเหมือนทาชาด[4] สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยจากนวนิยายภาษาจีนในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ได้บรรยายลักษณะของเล่าปี่ด้วยเนื้อความคล้ายคลึงกันว่า "กอปรด้วยลักษณะรูปใหญ่สมบูรณ์ สูงประมาณห้าศอกเศษ หูยานถึงบ่า มือยาวถึงเข่า หน้าขาวดังสีหยก ฝีปากแดงดังชาดแต้ม จักษุชำเลืองไปเห็นหู" [5] ภูมิหลังครอบครัวบันทึกทางประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 3 สามก๊กจี่ ระบุว่าเล่าปี่เกิดที่อำเภอตุ้นก้วน (涿縣 จัวเซี่ยน) เมืองจัวจฺวิ้น (涿郡) (ปัจจุบันคือเมืองจัวโจฺว เมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย์) เล่าปี่สืบเชื้อสายจากหลิว เจิน (劉貞) ผู้เป็นโอรสของหลิว เชิ่ง (劉勝) ที่เป็นโอรสลำดับที่ 9 ของจักรพรรดิฮั่นเกงเต้ (ฮั่นจิ่งตี้) และเป็นอ๋องแห่งราชรัฐจงซานองค์แรกในยุคราชวงศ์ฮั่น แต่อรรถาธิบายสามก๊กจี่ของเผย์ ซงจือในศตวรรษที่ 5 อ้างอิงข้อมูลจาก เตี่ยนเลฺว่ (典略) ได้ระบุว่าเล่าปี่สืบเชื้อสายจากหลินอี้โหว (臨邑侯) บรรดาศักดิ์ "หลินอี้โหว" นี้ถือครองโดยหลิว ฟู่ (劉復; เหลนชายของจักรพรรดิฮั่นกองบู๊) และภายหลังได้สืบทอดมายังหลิว เถาถู (劉騊駼) บุตรชาย ซึ่งสืบสายเลือดมาจากหลิว ฟา (劉發) ผู้เป็นติ้งหวางแห่งเตียงสา (長沙定王 ฉางซาติ้งหวาง) โอรสอีกองค์หนึ่งของจักรพรรดิฮั่นเกงเต้ อาจจะเป็นไปได้ว่าเล่าปี่อาจสืบเชื้อสายมาจากสายนี้มากกว่าสายของหลิว เชิ่ง หลิว สฺยง (劉雄) ปู่ของเล่าปี่ และเล่าเหง (劉弘 หลิว หง) บิดาของเล่าปี่ต่างก็รับราชการที่ว่าการเมืองและที่ว่าการมณฑล หลิว สฺยงปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเซี่ยวเหลียนในกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครเป็นขุนนางพลเรือน จากนั้นจึงได้ขึ้นมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอของอำเภอฟ่าน (范) ในเมืองตองกุ๋น (東郡 ตงจฺวิ้น)[สามก๊กจี่ 2][อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 1] ประวัติช่วงต้นเล่าปี่เกิดในครอบครัวที่ยากจน สูญเสียบิดาไปตั้งแต่ยังเด็ก เล่าปี่และมารดาจึงต้องขายรองเท้าและเสื้อฟางขายเลี้ยงชีพ ถึงกระนั้นเล่าปี่ก็เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานตั้งแต่วัยเด็ก ครั้งหนึ่งเล่าปี่ได้พูดคุยกับเพื่อนขณะอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายราชรถว่ามีความต้องการจะเป็นจักรพรรดิ ในปี ค.ศ. 175 มารดาของเล่าปี่ได้ส่งเล่าปี่ไปเรียนหนังสือกับโลติดผู้มีชื่อเสียงในอำเภอตุ้นก้วน เพื่อนร่วมเรียนของเล่าปี่คนหนึ่งคือกองซุนจ้าน ซึ่งเล่าปี่ให้ความนับถือและปฏิบัติเหมือนเป็นพี่ชาย เพื่อนร่วมเรียนอีกคนเป็นญาติชื่อหลิว เต๋อหรัน (劉德然)[6] กล่าวกันว่าเล่าปี่ในวัยรุ่นไม่เอาใจใส่ในการเรียนหนังสือ แต่มีความสนใจในการล่าสัตว์ ดนตรี และการแต่งตัว เล่าปี่ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนในตระกูลจากการเป็นคนพูดน้อย มีความสุขุมเยือกเย็น และรักเพื่อนฝูง กบฏโพกผ้าเหลืองในปี ค.ศ. 184 เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการขึ้น เล่าปี่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นและเรียกระดมพลทหารอาสาเพื่อช่วยเหลือกองทัพราชสำนักในการปราบปรามกบฏ เล่าปี่ได้รับเงินสนับสนุนจากพ่อค้าม้าที่มั่งคั่งสองคนคือเตียวสิเผง (張世平 จาง ชื่อผิง)[7] และเล่าสง (蘇雙 ซู ซฺวัง)[8] และรวบรวมกลุ่มผู้ติดตามผู้ภักดี ได้แก่ กวนอู, เตียวหุย และกันหยง เล่าปี่นำกองกำลังทหารอาสาเข้าร่วมกับกองทัพหลวงท้องถิ่นนำโดยนายพันเจาเจ้ง และเข้าร่วมในศึกรบกับกบฏ ด้วยความชอบในการร่วมศึก ราชสำนักฮั่นจึงแต่งตั้งให้เล่าปี่เป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภออันห้อกวน (安喜縣 อันสี่เซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอันกั๋ว มณฑลหูเป่ย์) อำเภอหนึ่งในเมืองจงชาน (中山郡 จงชานจฺวิ้น) ภายหลัง ราชสำนักฮั่นได้ออกคำสั่งให้ปลดข้าราชการที่ได้รับตำแหน่งจากความชอบในการศึก เล่าปี่จึงจำต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากได้ทำร้ายผู้ตรวจการที่พยายามไล่เล่าปี่ออกจากตำแหน่ง ต่อมาเล่าปี่พร้อมผู้ติดตามเดินทางลงใต้เพื่อเข้าร่วมกองกำลังทหารอาสาอีกกลุ่มในการรบกับกบฏโพกผ้าเหลืองที่หลงเหลืออยู่ในมณฑลชีจิ๋ว (ปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซู) จากความชอบในการร่วมศึก ราชสำนักฮั่นจึงแต่งตั้งให้เล่าปี่เป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) และผู้บังคับการทหาร (都尉 ตูเว่ย์) แห่งอำเภอเกาถัง (高唐縣 เกาถังเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกของอำเภอเกาถัง มณฑลชานตง) ยุคขุนศึกแตกเป็นรัฐรับราชการกับกองซุนจ้าน (ค.ศ. 189-194)เล่าปี่ไม่เคยเข้าร่วมในการทัพปราบตั๋งโต๊ะ แม้จะกล่าวกันว่าเล่าปี่จัดตั้งกองกำลังเพื่อจะยกไปร่วม[9] เล่าปี่ยกกองกำลังขึ้นเหนือไปเข้าร่วมกับขุนศึกกองซุนจ้านที่เป็นเพื่อนเก่า[9] ในปี ค.ศ. 191 กองซุนจ้านและเล่าปี่มีชัยในการรบกับขุนศึกอ้วนเสี้ยว (อดีตผู้นำพันธมิตรในการรบกับตั๋งโต๊ะ) ในการต่อสู้ช่วงชิงการควบคุมมณฑลกิจิ๋ว (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลเหอเป่ย์) และมณฑลเฉงจิ๋ว (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลชานตงและเหอเป่ย์)[9] กองซุนจ้านได้เสนอชื่อเล่าปี่ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ (相 เซียง) ของเพงงวนก๋วน (平原國 ผิงยฺเหวียนกั๋ว; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอผิงยฺเหวียน มณฑลชานตง) และส่งเล่าปี่ไปเข้าร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อเต๊งไก๋ในการรบกับอ้วนถำบุตรชายคนโตของอ้วนเสี้ยวที่มณฑลเฉงจิ๋ว[9][c] สืบทอดตำแหน่งจากโตเกี๋ยม (ค.ศ. 194)ในปี ค.ศ. 194 โจโฉพันธมิตรของอ้วนเสี้ยว ยกทัพไปรบกับโตเกี๋ยมผู้ปกครองมณฑลชีจิ๋ว ในเวลานั้นมีกลุ่มพันธมิตรอยู่สองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งคืออ้วนสุด โตเกี๋ยม และกองซุนจ้าน อีกฝ่ายหนึ่งคืออ้วนเสี้ยว โจโฉ และเล่าเปียว เมื่อเผชิญหน้ากับความกดดันจากโจโฉ โตเกี๋ยมจึงได้ส่งหนังสือไปขอความช่วยเหลือจากเต๊งไก๋ เต๊งไก๋และเล่าปี่จึงนำทหารมาสนับสนุนโตเกี๋ยม แม้ว่าโจโฉจะได้เปรียบในช่วงแรกของการบุก แต่เตียวเมาผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉได้ก่อกบฏและเปิดทางให้ลิโป้เข้ายึดฐานอำนาจของโจโฉที่มณฑลกุนจิ๋ว (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลชานตงและมณฑลเหอหนาน) ทำให้โจโฉต้องถอนทัพกลับจากชีจิ๋ว โตเกี๋ยมได้ขอให้เล่าปี่นำทหารมาตั้งมั่นใกล้เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) และมอบทหารเพิ่มเติมอีก 4,000 คน จากเดิมที่เล่าปี่มีทหารใต้บังคับบัญชา 1,000 คนกับทหารม้าชาวออหวน (อูหฺวัน) อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นเล่าปี่จึงออกจากการบังคับบัญชาของเต๊งไก๋เพื่อโตเกี๋ยม โตเกี๋ยมได้กลายเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่เล่าปี่ เล่าปี่ได้ประโยชน์อย่างมากภายใต้การปกครองของโตเกี๋ยมที่ปกครองด้วยรูปแบบประชานิยมแบบลัทธิขงจื๊อ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการปกครองของเล่าปี่ในภายหลัง ขณะเดียวกันเล่าปี่ก็ได้เกณฑ์กำลังทหารในพื้นที่โดยรอบ และสร้างสัมพันธ์กับตระกูลที่มีอิทธิพลและราษฏรในมณฑล ภายในเวลาสั้น ๆ เล่าปี่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสองตระกูลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีจิ๋ว คือตระกูลบิ (หมี) นำโดยบิต๊กและบิฮอง และตระกูลตัน (เฉิน) นำโดยตันกุ๋ยและตันเต๋ง เล่าปี่ยังได้แต่งงานกับบิฮูหยินน้องสาวของบิต๊กเพื่อดึงการสนับสนุนจากตระกูลบิ เมื่อโตเกี๋ยมเสียชีวิตในปี ค.ศ. 194[10] ตระกูลบิเข้าหนุนหลังเล่าปี่แทนที่จะเป็นบุตรชายคนใดคนหนึ่งของโตเกี๋ยม ยกให้เล่าปี่ขึ้นเป็นผู้ปกครองคนใหม่ของชีจิ๋ว เล่าปี่ลังเลและกังวลที่จะรับตำแหน่งเมื่อตันกุ๋นบอกเล่าปี่ว่าอ้วนสุดก็จะคิดการช่วงชิงการควบคุมเหนือมณฑลชีจิ๋ว[11] เล่าปี่จึงปรึกษากับขงหยงและตันเต๋ง ซึ่งได้แนะนำให้เล่าปี่ขอเป็นพันธมิตรกับอ้วนเสี้ยว ในที่สุดเล่าปี่จึงได้ขึ้นครองชีจิ๋วหลังจากที่อ้วนเสี้ยวให้การรับรองสิทธิ์ในการปกครอง[12] ขัดแย้งกับลิโป้ (ค.ศ. 195–198)ในปี ค.ศ. 195 ลิโป้พ่ายแพ้ให้กับโจโฉและมาเข้าพึ่งด้วยเล่าปี่ ในปีถัดมา อ้วนสุดส่งขุนพลกิเหลงให้นำทัพเข้ารุกรานมณฑลชีจิ๋ว เล่าปี่จึงนำทัพไปตอบโต้การบุกของกิเหลงในบริเวณใกล้เคียงกับอำเภอสฺวีอี๋ในปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายตั้งยันกันประมาณหนึ่งเดือนโดยไม่รู้ผลแพ้ชนะ ในเวลาเดียวกัน เตียวหุยซึ่งเล่าปี่ให้รักษาเมืองแห้ฝือ (下邳郡 เซี่ยพีจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองพีโจว มณฑลเจียงซู) เมืองหลวงของมณฑลชีจิ๋ว ได้สังหารโจป้าผู้สำเร็จราชการเมืองแห้ฝือหลังจากเกิดการวิวาทกันอย่างรุนแรง การเสียชีวิตของโจป้าก่อให้เกิดความวุ่นวายในเมืองแห้ฝือ ลิโป้จึงฉวยโอกาสนี้ประสานกับผู้แปรพักตร์จากฝ่ายเล่าปี่เข้ายึดครองเมืองแห้ฝือและคุมตัวครอบครัวของเล่าปี่ไว้ เมื่อได้ข่าวการยึดครองแห้ฝือของลิโป้ เล่าปี่จึงเรียกมุ่งหน้ากลับไปเมืองแห้ฝือทันที แต่กำลังทหารส่วนใหญ่ของเล่าปี่ยังอยู่ในแห้ฝือ เล่าปี่จึงนำทหารที่เหลือหนีไปเมืองกองเหลง (廣陵郡 กฺวั่งหลิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองไหฺวอัน มณฑลเจียงซู) กองทัพของอ้วนสุดยกมาตีทัพเล่าปี่แตกที่เมืองกองเหลง เล่าปี่จึงถอยไปอยู่อำเภอไห่ซี (海西縣 ไห่ซีเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอกฺวั้นหนาน มณฑลเจียงซู) เล่าปี่และทหารถูกศัตรูล้อมไว้และขาดแคลนเสบียงอาหารจึงจำต้องกินเนื้อของคนที่ตายเพื่อประทังชีวิต ในที่สุดเล่าปี่จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อลิโป้ ลิโป้ยอมรับการสวามิภักดิ์และคืนครอบครัวของเล่าปี่ให้เพื่อแสดงความจริงใจ จากนั้นลิโป้จึงให้เล่าปี่ช่วยเหลือตนในการต้านอ้วนสุด[13] ลิโป้กลัวว่าอ้วนสุดจะหันมาเล่นงานตนหลังจากกำจัดเล่าปี่แล้ว จึงขัดขวางความพยายามจะกำจัดเล่าปี่ของอ้วนสุด ต่อมาเล่าปี่ย้ายไปอยู่ที่เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) เล่าปี่ระดมทหารที่เมืองเสียวพ่ายได้ประมาณ 10,000 นาย เมื่อลิโป้เห็นว่ากำลังของเล่าปี่เติบใหญ่ขึ้นจึงกังวลว่าเล่าปี่จะกลับมาต่อต้านตน จึงนำทัพเข้าโจมตีเมืองเสียวพ่าย เล่าปี่หนีไปเมืองหลวงฮูโต๋ (許昌 สวี่ชาง; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) เพื่อเข้าพึ่งโจโฉซึ่งเป็นขุนศึกที่เข้าควบคุมราชสำนักฮั่นตั้งแต่เมื่อเชิญเสด็จพระเจ้าเหี้ยนเต้มาเมืองฮูโต๋ในปี ค.ศ. 196 โจโฉให้การต้อนรับเล่าปี่ และใช้พระปรมาภิไธยของพระเจ้าเหี้ยนเต้ในการแต่งตั้งให้เล่าปี่เป็นผู้ครองมณฑลอิจิ๋ว และให้เป็นผู้บังคับการกองทหาร ต่อมาเล่าปี่กลับไปยังเมืองเสียวพ่ายเพื่อจับตามองลิโป้ ในปี ค.ศ. 198 ลิโป้กลับเป็นพันธมิตรกับอ้วนสุดในการต่อต้านอิทธิพลของโจโฉ และได้ส่งโกซุ่นกับเตียวเลี้ยวไปโจมตีเมืองเสียวพ่าย โจโฉส่งแฮหัวตุ้นไปช่วยเหลือเล่าปี่แต่กลับถูกโกซุ่นตีแตกพ่าย เล่าปี่หนีไปเมืองฮูโต๋เพื่อเข้าพึ่งโจโฉอีกครั้ง โจโฉนำทัพพร้อมด้วยเล่าปี่ไปโจมตีลิโป้ที่มณฑลชีจิ๋ว ต่อมาในปีเดียวกัน กองกำลังร่วมของโจโฉและเล่าปี่เอาชนะลิโป้ได้ในยุทธการที่แห้ฝือ ลิโป้ถูกจับตัวได้และถูกประหารชีวิต บทบาทในความขัดแย้งระหว่างโจโฉและอ้วนเสี้ยว (ค.ศ. 199–201)ในปี ค.ศ. 199 โจโฉมีความพอใจในข้อได้เปรียบเหนือข้าศึกคนอื่น ๆ เพราะตนมีพระเจ้าเหี้ยนเต้และราชสำนักฮั่นอยู่ภายใต้การควบคุม ในเวลานั้น เล่าปี่ได้เข้าร่วมในการสมรู้ร่วมคิดกับตังสินและคนอื่น ๆ คิดการลอบสังหารโจโฉ หลังจากที่ตังสินได้อ้างว่าตนได้รับพระราชโองการลับจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้สังหารโจโฉ แต่ในขณะเดียวกันเล่าปี่ก็ร้อนรนใจอยากจะออกจากฮูโต๋เพื่อเป็นอิสระจากการควบคุมของโจโฉ ด้วยเหตุนี้เมื่อเล่าปี่ได้ข่าวว่าอ้วนสุดกำลังเดินทางไปเข้าร่วมกับอ้วนเสี้ยวหลังการพ่ายแพ้ในการทัพปราบอ้วนสุด เล่าปี่จึงเสนอตนกับโจโฉขออนุญาตนำทหารไปหยุดอ้วนสุด โจโฉอนุญาตแล้วส่งเล่าปี่และจูเหลงให้นำทหารไปสกัดอ้วนสุด อ้วนสุดพ่ายแพ้หนีกลับไปยังฐานกำลังที่เมืองฉิวฉุน (ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) และเสียชีวิตที่นั่นในภายหลังในปีเดียวกัน จูเหลงเดินทางกลับเมืองฮูโต๋ ส่วนเล่าปี่ยังคงบัญชาทหารแล้วนำทหารไปโจมตีและยึดครองมณฑลชีจิ๋วหลังจากสังหารกีเหมา (車冑 เชอโจ้ว) ผู้ว่าราชการมณฑลชีจิ๋วซึ่งโจโฉแต่งตั้ง จากนั้นเล่าปี่จึงย้ายไปตั้งมั่นที่เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) โดยให้กวนอูอยู่รักษาเมืองแห้ฝือ (下邳郡 เซี่ยพีจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองพีโจว มณฑลเจียงซู) เมืองหลวงของมณฑลชีจิ๋ว ในขณะนั้น อ้วนเสี้ยวปราบกองซุนจ้านได้และกำลังเตรียมการจะโจมตีโจโฉในภูมิภาคโห้หล้ำ (เหอหนาน) เล่าปี่จึงส่งซุนเขียนที่ปรึกษาไปพบอ้วนเสี้ยวและเสนอให้อ้วนเสี้ยวยกพลเข้าโจมตีโจโฉทันที แต่อ้วนเสี้ยวปฏิเสธ ในปี ค.ศ. 200 โจโฉล่วงรู้แผนสมคบคิดของตังสิน จึงให้จับกุมตัวผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดพร้อมครอบครัวมาประหารชีวิต เล่าปี่รอดพ้นการกวาดล้างมาได้เพราะไม่ได้อยู่ในเมืองฮูโต๋ หลังจากควบคุมสถานกาณ์ในเมืองฮูโต๋ได้แล้ว โจโฉจึงหันไปเตรียมการจะทำศึกกับอ้วนเสี้ยว โจโฉได้เสริมกำลังในหลายจุดสำคัญตลอดฝั่งใต้ของแม่น้ำฮองโห (แม่น้ำเหลือง) และตั้งค่ายหลักขึ้นที่ตำบลกัวต๋อ ขณะเดียวกันโจโฉได้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาสองคนคือเล่าต้าย (劉岱 หลิวไต้)[d]และอองต๋งให้โจมตีเล่าปี่ที่มณฑลชีจิ๋วแต่พ่ายแพ้กลับมา โจโฉคาดการณ์ว่าอ้วนเสี้ยวจะยังคงไม่ยกมาทำศึก โจโฉจึงลอบยกออกจากตำแหน่งป้องกันตลอดแม่น้ำฮองโห และนำทัพด้วยตนเองไปโจมตีเล่าปี่ ด้วยการโจมตีอย่างหนักหน่วงทำให้กองกำลังของเล่าปี่ถูกตีแตกพ่ายอย่างรวดเร็ว และมณฑลชีจิ๋วก็เสียแก่โจโฉ เตียวหุยคุ้มครองเล่าปี่หนีจากเมืองเสียวพ่ายหลังพ่ายแพ้ ฝ่ายกวนอูที่อยู่โดดเดี่ยวในเมืองแห้ฝือได้ถูกจับโดยกองกำลังของโจโฉ กวนอูจึงตัดสินใจยอมจำนนและรับราชการอยู่กับโจโฉชั่วคราว เล่าปี่ได้ขึ้นเหนือไปเข้าร่วมด้วยอ้วนเสี้ยว ต่อมาเล่าปี่ร่วมกับบุนทิวรบในยุทธการที่ท่าเหยียนจิน แต่ถูกตีแตกพ่ายและบุนทิวถูกสังหารในที่รบ เมื่อเล่าเพ็กอดีตกบฏโพกผ้าเหลืองได้เริ่มก่อจลาจลในเมืองยีหลำ (汝南郡 หรู่หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอซี มณฑลเหอหนาน) เล่าปี่โน้มน้าวอ้วนเสี้ยวให้ตน "ยืม" กำลังทหารไปช่วยเล่าเพ็ก จากนั้นเล่าปี่และเล่าเพ็กได้นำกองกำลังจากเมืองยีหลำไปโจมตีเมืองฮูโต๋ระหว่างที่โจโฉไปทำศึกที่กัวต๋อ แต่ก็ถูกตีแตกพ่ายโดยโจหยินและถูกไล่ให้ล่าถอยไป จากนั้นเล่าปี่จึงกลับมาหาอ้วนเสี้ยวและเสนอให้อ้วนเสี้ยวเป็นพันธมิตรกับเล่าเปียวผู้ครองมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) จากนั้นอ้วนเสี้ยวได้ส่งเล่าปี่และกำลังทหารส่วนหนึ่งไปเมืองยีหลำเพื่อช่วยก๋งเต๋า (共都/龔都 กงตู) ผู้นำกบฏอีกคนหนึ่ง เล่าปี่และก๋งเต๋าทำศึกเอาชนะซัวหยง (蔡陽 ไช่หยาง) นายทหารคนหนึ่งของโจโฉที่ยกมาโจมตี และสังหารซัวหยงได้ ลี้ภัยมาพึ่งเล่าเปียว (ค.ศ. 201–208)ในปี ค.ศ. 201 หลังจากโจโฉได้ชัยชนะเหนืออ้วนเสี้ยวในยุทธการที่กัวต๋อ โจโฉนำทัพเข้าโจมตีเล่าปี่ที่เมืองยีหลำ เล่าปี่แตกพ่ายจึงหนีไปมณฑลเกงจิ๋วเข้าพึ่งเล่าเปียว แม้ว่าเล่าเปียวจะปฏิบัติต่อเล่าปี่เยี่ยงแขกผู้ทรงเกียรติ แต่เล่าเปัยวก็ไม่เคยไว้ใจเล่าปี่ เล่าเปียวเพียงแต่ให้เล่าปี่ไปตั้งมั่นที่ตำบลซินเอี๋ยทางตอนเหนือของมณฑลเกงจิ๋วเพื่อป้องกันการรุกรานของโจโฉ แต่ในพงศาวดารวุยก๊ก ได้ระบุว่าเมื่อเล่าเปียวล้มป่วยจึงขอให้เล่าปี่ว่าราชการเมืองแทนโดยกล่าวว่า "บุตรของข้าพเจ้าไร้ความสามารถ บรรดาแม่ทัพก็ไม่สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อข้าพเจ้าตายแล้ว ขอให้ท่านจงรักษาเกงจิ๋วต่อไป" เล่าปี่จึงตอบว่า "บุตรชายของท่านนั้นมีความสามารถอยู่ ขอท่านจงอย่าเป็นกังวล" เล่าปี่อาศัยในมณฑลเกงจิ๋วเป็นเวลาประมาณเจ็ดปี ครั้งหนึ่งเมื่อเข้าพบกับเล่าเปียว เล่าปี่เริ่มร้องไห้ เล่าเปียวถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้ เล่าปี่จึงตอบว่า "แต่กาลก่อนข้าไม่เคยห่างจากอานม้าเลย ต้นขาของข้าจึงผอม บัดนี้ข้าไม่ได้ขี่ม้าอีกต่อไป ต้นขาจึงอ้วนและหย่อนยาน วันเดือนผ่านไปเหมือนสายน้ำและวัยชราจะมาเยือน แต่ข้ายังทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ด้วยเหตุนี้ข้าจึงเศร้าใจ"[14] ในปี ค.ศ. 202 โจโฉส่งอิกิ๋มและแฮหัวตุ้นไปโจมตีเล่าปี่ เล่าปี่ทำการซุ่มโจมตีและเอาชนะได้ในยุทธการที่ทุ่งพกบ๋อง ในปี ค.ศ. 207 โจโฉวางแผนทำศึกในยุทธการที่เขาเป๊กลงสานเพื่อพิชิตชนเผ่าออหวนทางตอนเหนือ แต่โจโฉเกรงว่าเล่าเปียวจะโจมตีฐานที่มั่นตลบหลัง กุยแกจึงให้ความเห็นว่าเล่าเปียวจะไม่ทำเช่นนั้น ตราบใดที่เล่าเปียวยังเกรงกลัวว่าเล่าปี่จะขึ้นมามีอำนาจเหนือตน โจโฉเห็นด้วยกับกุยแก ซึ่งภายหลังความเห็นของกุยแกก็เป็นความจริง เมื่อเล่าเปียวปฏิเสธที่จะโจมตีเมืองฮูโต๋ตามคำแนะนำของเล่าปี่ ด้วยเหตุที่มณฑลเกงจิ๋วห่างไกลจากสงครามไปทางตะวันออกและอยู่ภายใต้การปกครองอย่างมีประสิทธิภาพของเล่าเปียว เกงจิ๋วจึงมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่เหล่าปัญญาชนหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัย เล่าปี่ได้ถามสุมาเต๊กโช ผู้สันโดษที่เป็นที่เคารพนับถือ ถึงเรื่องของนักปราชญ์ สุมาเต๊กโชจึงเอ่ยชื่อจูกัดเหลียงและบังทอง ผู้มีความสามารถพิเศษในการเข้าใจสถานการณ์สำคัญในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ชีซีเป็นอีกคนหนึ่งที่แนะนำเล่าปี่ให้เรียกจูกัดเหลียงมาร่วมงาน เล่าปี่จึงเดินทางไปหาจูกัดเหลียง และในที่สุดก็พบกับจูกัดเหลียงหลังการไปเยี่ยมสามครั้ง จูกัดเหลียงได้เสนอแผนหลงจงกับเล่าปี่ อันเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีเนื้อหาถึงการเข้ายึดครองมณฑลเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว เพื่อจัดตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสองจุดในการเข้าตีกระหนาบที่เมืองหลวงฮูโต๋ เล่าเปียวเสียชีวิตในปี ค.ศ. 208 บุตรชายคนเล็กของเล่าเปียวชื่อเล่าจ๋องได้สืบทอดตำแหน่ง ต่อมาได้ยอมจำนนต่อโจโฉโดยไม่ได้แจ้งเล่าปี่ให้ทราบ เมื่อเล่าปี่ได้ข่าวการยอมจำนนของเล่าจ๋องและทัพโจโฉยกมาถึงเมืองอ้วนเซีย (宛 หว่าน; ปัจจุบันคือเมืองหนานหยาง มณฑลเหอหนาน) แล้ว เล่าปี่จึงยกกองกำลังทิ้งเมืองฮวนเสีย นำราษฎรและผู้ติดตาม (รวมถึงอดีตผู้ติดตามของเล่าเปียวบางคน) อพยพลงไปทางใต้ เมื่อยกมาถึงตงหยง (當陽 ตางหยาง; ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของ เขตตัวเตา เมืองจิงเหมิน มณฑลหูเป่ย์) เล่าปี่มีผู้ติดตามมากกว่า 100,000 คน และเดินทางได้เพียงวันละ 10 ลี้ เล่าปี่ส่งกวนอูล่วงหน่าไปรอที่อำเภอกังเหลง (江陵縣 เจียงหลิงเซี่ยน; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) อันเป็นที่สะสมเสบียงและอาวุธจำนวนมากของทัพเรือมณฑลเกงจิ๋ว โจโฉเกรงว่าเล่าปี่อาจจะไปถึงกังเหลงก่อนตน โจโฉจึงนำทหารม้าไล่ตาม เพียงหนึ่งวันหนึงคืนโจโฉก็ตามกองกำลังของเล่าปี่ทัน จับได้คนและสัมภาระจำนวนมากในยุทธการที่สะพานเตียงปันเกี้ยว เล่าปี่ทิ้งครอบครัวไว้ด้านหลังและหลบหนีไปพร้อมกับผู้ติดตามเพียงเล็กน้อย ด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังเรือของกวนอู เล่าปี่และผู้ติดตามจึงข้ามแม่น้ำเหมี่ยนไปยังเมืองกังแฮ และข้ามแม่น้ำแยงซีไปยังเมืองแฮเค้า ที่ซึ่งเล่าปี่ได้เข้าหลบภัยกับเล่ากี๋ บุตรชายคนโตของเล่าเปียว เล่ากี๋คัดค้านการยอมจำนนของเล่าจ๋องน้องชาย และยังคงรักษาเมืองกังแฮและแฮเค้าไว้ได้ ทำให้สามารถรับอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเปียวผู้เป็นบิดาที่หลบหนีจากโจโฉได้จำนวนมาก การเป็นพันธมิตรกับซุนกวนศึกผาแดงและศึกกังเหลงขณะที่เล่าปี่ยังอยู่ที่ตงหยง โลซกได้มาเสนอให้เล่าปี่เป็นพันธมิตรกับขุนศึกซุนกวนต่อต้านโจโฉ จูกัดเหลียงในฐานะตัวแทนของเล่าปี่ได้เดินทางติดตามโลซกไปเข้าพบซุนกวนที่อำเภอชีสอง (柴桑縣 ไฉซางเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี) จูกัดเหลียงเจรจาความกับซุนกวนก่อตั้งพันธมิตรซุน-เล่าต่อต้านโจโฉ พันธมิตรเล่าปี่และซุนกวนร่วมมิอรับมือการบุกลงใต้ของโจโฉ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันในยุทธการที่เซ็กเพ็ก (ผาแดง) ฝ่ายพันธมิตรซุน-เล่าได้ชัยเด็ดขาดในการรบ ฝ่ายโจโฉหลังจากพ่ายแพ้ก็ถอยทัพกลับขึ้นเหนือ และมอบหมายให้โจหยินและซิหลงอยู่รักษาอำเภอกังเหลง และให้งักจิ้นอยู่ป้องกันเมืองซงหยง หลังชัยชนะในยุทธการที่ผาแดง กองทัพของซุนกวนที่มีจิวยี่เป็นแม่ทัพเข้าโจมตีโจหยินหวังจะครอบครองอำเภอกังเหลง เล่าปี่ได้เสนอชื่อเล่ากี๋ให้เป็นข้าหลวงคนใหม่ของมณฑลเกงจิ๋ว และนำกองกำลังเข้ายึดสี่เมืองทางส่วนใต้ของมณฑลเกงจิ๋ว ได้แก่ เมืองเตียงสา (長沙 ฉางซา), เลงเหลง (零陵 หลิงหลิง), ฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง) และบุเหลง (武陵 อู่หลิง) เล่าปี่ตั้งฐานกำลังที่อำเภอกองอั๋น และดำเนินการเสริมกำลังกองทัพต่อไป เมื่อเล่ากี๋เสียชีวิตในปี ค.ศ. 209 หลังเล่าปี่เข้าครองเกงจิ๋วใต้ได้ไม่นาน เล่าปี่ขึ้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงคนใหม่ของมณฑลเกงจิ๋วแทนเล่ากี๋ ต่อมาเล่าปี่เดินทางไปยังอาณาเขตของซุนกวนเพื่อแต่งงานกับซุนฮูหยิน น้องสาวของซุนกวน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของพันธมิตรซุน-เล่า หลังการแต่งงานทางการเมือง ซุนกวนให้การรับรองสิทธิ์ในการปกครองเกงจิ๋วใต้ของเล่าปี่ ทั้งยังตกลงให้เล่าปี่ "ยืม" เมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) จากนั้นมา อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเปียวที่ไม่ประสงค์จะรับราชการกับโจโฉก็มาเข้าด้วยกับเล่าปี่ หลังการเสียชีวิตของจิวยี่ในปี ค.ศ. 210 และอิทธิพลของเล่าปี่ในเกงจิ๋วใต้เติบใหญ่ขึ้น โลซกสืบทอดตำแหน่งของจิวยี่ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ของกองทัพซุนกวน และย้ายกองบัญชาการมาตั้งอยู่ที่ลกเค้า (陸口 ลู่โข่ว) โลซกยินยอมให้ทุกเมืองของเกงจิ๋ว (ยกเว้นเมืองกังแฮ) และสิทธิ์ในการบุกเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋วเป็นของเล่าปี่ ในแง่ของการทูตแล้ว ฝ่ายซุนกวรเข้าใจว่าฝ่ายตนให้เล่าปี่ "ยิม" เกงจิ๋วเป็นฐานที่มั่นชั่วคราว และฝ่ายเล่าปี่ควรคืนเกงจิ๋วแก่ซุนกวนหลังจากที่เล่าปี่ได้ฐานที่มั่นอื่นแล้ว
สถาปนาจ๊กก๊กยึดครองเอ๊กจิ๋วในปี ค.ศ. 211 เล่าเจี้ยง ผู้ครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและเมืองฉงชิ่งในปัจจุบัน) ได้ข่าวว่าโจโฉมีแผนจะโจมตีขุนศึกเตียวฬ่อในเมืองฮันต๋ง เมืองฮันต๋งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นปากทางทางเหนือสู่มณฑลเอ๊กจิ๋ว เล่าเจี้ยงจึงส่งหวดเจ้งไปเจรจาเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ตามคำแนะนำของเตียวสง เตียวสงและหวดเจ้งนั้นในใจเห็นว่าเล่าเจี้ยงไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้ครองเอ๊กจิ๋ว จึงมีความคิดจะให้เล่าปี่ขึ้นเป็นผู้ครองเอ๊กจิ๋วแทน ฝ่ายเล่าเจี้ยงเชิญเล่าปี่มาที่เอ๊กจิ๋วเพื่อขอให้ช่วยเหลือในการยึดเมืองฮันต๋งก่อนที่โจโฉจะยึดได้ เล่าปี่นำกองกำลังยกเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว มอบหมายให้จูกัดเหลียง กวนอู เตียวหุย และเตียวจูล่งอยู่รักษามณฑลเกงจิ๋ว เล่าเจี้ยงต้อนรับเล่าปี่และมอบทหารเพิ่มเติมให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ เล่าปี่นำกองกำลังมุ่งหน้าไปด่านแฮบังก๋วน (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองกว่างยฺเหวียน มณฑลเสฉวน) ตรงชายแดนระหว่างอาณาเขตของเล่าเจี้ยงและของเตียวฬ่อ แต่แทนที่จะเข้ารบกับเตียวฬ่อ เล่าปี่กลับหยุดทัพไว้และทำการเชื่อมสัมพันธ์เอาใจราษฎรและเพิ่มอิทธิพลของตนโดยรอบพื้นที่นั้น[15] ในปี ค.ศ. 212 หวดเจ้ง, เตียวสง และเบ้งตัดเริ่มดำเนินแผนจะโค่นเล่าเจี้ยงและยกเล่าปี่ขึ้นแทน ทางด้านเล่าปี่ บังทองได้เสนอแผนการสามแผนให้เล่าปี่เลือก แผนการแรกคือการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันมุ่งหน้าเข้ายึดเมืองเซงโต๋ (เฉิงตู) เมืองหลวงของมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงโดยใช้กองกำลังพิเศษ แผนการที่สองคือการเข้าควบคุมทหารของเล่าเจี้ยงทางตอนเหนือจากนั้นจึงเคลื่อนกำลังเข้ายึดเมืองเซงโต๋ แผนการที่สามคือการยกกลับไปเมืองเป๊กเต้ (ไป๋ตี้เฉิง) รอโอกาสทำการต่อไป เล่าปี่เลือกแผนการที่สอง จากนั้นเล่าปี่จึงส่งหนังสือถึงเล่าเจี้ยงขอกำลังทหารเพิ่มเติมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของโจโฉไปทางทิศตะวันออก (ที่ซึ่งซุนกวนกำลังถูกโจมตี) และขอทหารเพิ่มอีก 10,000 คนกับเสบียงเพิ่มเติมเพื่อไปช่วยป้องกันมณฑลเกงจิ๋ว เล่าเจี้ยงมอบทหารให้เล่าปี่เพียง 4,000 คนกับเสบียงเพียงครึ่งเดียวของที่เล่าปี่ร้องขอ เตียวซกพี่ชายของเตียวสงล่วงรู้ว่าน้องชายลอบติดตามกับเล่าปี่จึงนำความไปแจ้งให้เล่าเจี้ยงทราบ เล่าเจี้ยงโกรธและแปลกใจมากที่เตียวสงช่วยเหลือเล่าปี่จะยึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว จึงสั่งประหารชีวิตเตียวสงและมีคำสั่งไปยังนายทหารของตนที่รักษาด่านทางไปเมืองเซงโต๋ให้รักษาความลับเรื่องที่ตนทราบความว่าเล่าปี่คิดโจมตีตน แต่ในที่สุดเล่าปี่ก็ได้ทราบความนี้จากสายสืบที่วางไว้รอบตัวเล่าเจี้ยง ฝ่ายหวดเจ้งและเบ้งตัดเข้าด้วยกับฝ่ายเล่าปี่ ก่อนหน้าที่เอียวหวย (楊懷 หยาง หฺวาย) และโกภาย (高沛 เกา เพ่ย์) ผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเจี้ยงที่รักษาด่านโปยสิก๋วนจะรู้เจตนาที่แท้จริงของเล่าปี่ เล่าปี่ลวงเอียวหวยและโกภายให้ติดกับดักและประหารชีวิตในข้อหาว่าทั้งคู่ประพฤติไร้มารยาทกับตน เล่าปี่เข้าควบคุมกองกำลังของเอียวหวยและโกภายซึ่งมีจำนวน 5,000 คน จากนั้นจึงเข้าโจมตีอำเภอฝูเซี่ยน (涪縣; ปัจจุบันคือเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน) ในปี ค.ศ. 213 ฤดูใบไม้ผลิ เล่าเจี้ยงส่งเล่ากุ๋ย, เหลงเปา, เตียวหยิม, เตงเหียน, งออี้ และนายทหารคนอื่น ๆ ไปป้องกันเมืองกิมก๊ก (เหมียนจู๋) นายทหารทั้งหมดถูกฆ่าหรือถูกจับกุมโดยกองทัพของเล่าปี่ งออี้แม้จะเป็นคนที่เล่าเจี้ยงไว้ใจมากที่สุดแต่ภายหลังก็แปรพักตร์เข้าด้วยฝ่ายเล่าปี่ ด้วยเหตุนี้ลิเงียมและอุยหวนจึงถูกส่งไปรักษากิมก๊กแทน แต่ทั้งคู่ก็สวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่เช่นกัน ถึงตอนนี้เหลือเพียงกองกำลังภายใต้การบัญชาของเล่าชุนบุตรชายของเล่าเจี้ยง เล่าชุนถอยทัพเข้าอำเภอลกเสีย (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน) ที่อำเภอลกเสียนี้ บังทองเสียชีวิตด้วยการโดนลูกหลงจากเกาทัณฑ์ และการล้อมอำเภอลกเสียได้ยืดเยื้อออกไป เล่าปี่จึงจำต้องขอกำลังเสริมจากมณฑลเกงจิ๋ว ในปี ค.ศ. 214 หลังอำเภอลกเสียตกเป็นของเล่าปี่ เล่าเจี้ยงยังคงตั้งมั่นอยู่ภายในเมืองเซงโต๋ ม้าเฉียวอดีตขุนศึกและบริวารของเตียวฬ่อได้แปรพักตร์มาเข้าด้วยฝ่ายเล่าปี่ และร่วมกับเล่าปี่ในการโจมตีเมืองเซงโต๋ ราษฎรชาวเมืองเซงโต๋ยินดีสู้กับข้าศึกอย่างเต็มกำลัง แม้จะหวาดกลัวต่อทหารของม้าเฉียว[16] แต่ในที่สุดเล่าเจี้ยงก็ยอมจำนนต่อเล่าปี่เพราะเล่าเจี้ยงเห็นว่าตนไม่อยากให้มีการหลั่งเลือดไปมากกว่านี้อีก[17] จากนั้นเล่าปี่จึงขึ้นเป็นผู้ครองมณฑลเอ๊กจิ๋วแทนเล่าเจี้ยง และย้ายเล่าเจี้ยงไปอยู่ที่อำเภอกองอั๋นในมณฑลเกงจิ๋ว เล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวของงออี้ (งอซี) และออกเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในเอ๊กจิ๋วเพื่อควบรวมอำนาจการบัญชาการของมณฑลเอ๊กจิ๋วที่ยึดได้ใหม่ เล่าปี่เลื่อนให้จูกัดเหลียงมีตำแหน่งที่ควบคุมทุกกิจการของรัฐ และแต่งตั้งให้ตั๋งโหเป็นผู้ช่วยของจูกัดเหลียง ผู้ติดตามที่เหลือของเล่าปี่ทั้งคนเก่าและคนใหม่ล้วนได้รับมอบหมายความรับผิดชอบใหม่และได้รับการเลื่อนตำแหน่งใหม่ กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตกับซุนกวนหลังจากเล่าปี่เข้าครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว ซุนกวนได้ส่งโลซกเป็นทูตมาเจรจาเพื่อให้เล่าปี่คืนเมืองในเกงจิ๋วใต้แก่ซุนกวน แต่เล่าปี่ปฏิเสธ ซุนกวนจึงให้ลิบองและเล่งทองนำทหาร 20,000 นายไปโจมตีเกงจิ๋วใต้และยึดได้เมืองเตียงสา, ฮุยเอี๋ยง และเลงเหลง ขณะเดียวกัน โลซกและกำเหลงได้มุ่งหน้าสู่อำเภออี้หยางพร้อมทหาร 10,000 นายเพื่อสกัดกวนอู และเข้าควบคุมการบัญชาทหารที่ลกเค้า (陸口 ลู่โข่ว) เล่าปี่เดินทางด้วยตนเองไปยังอำเภอกองอั๋น ขณะที่กวนอูนำทหาร 30,000 นายมายังอำเภออี้หยาง เมื่อสงครามกำลังจะเริ่มต้น เล่าปี่กลับได้ข่าวว่าโจโฉมีแผนจะโจมตีเมืองฮันต๋ง เล่าปี่กังวลเรื่องที่โจโฉจะยึดเมืองฮันต๋ง จึงยื่นข้อเสนอขอทำสัญญาชายแดนกับซุนกวน โดยเล่าปี่ขอให้ซุนกวนคืนเมืองเลงเหลงและให้ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของโจโฉโดยการโจมตีเมืองหับป๋า ฝ่ายเล่าปี่ต้องยกเมืองเตียงสาและฮุยเอี๋ยงให้ซุนกวน กับกำหนดเขตแดนใหม่ตลอดแม่น้ำเซียง ยุทธการที่ฮันต๋งในปี ค.ศ. 215 โจโฉทำศึกชนะเตียวฬ่อได้ในยุทธการที่เองเปงก๋วนและเข้ายึดเมืองฮันต๋ง สุมาอี้และเล่าหัวแนะนำโจโฉให้ถือโอกาสนี้เข้าโจมตีมณฑลเอ๊กจิ๋ว เนื่องจากการปกครองมณฑลเอ๊กจิ๋วที่เพิ่งยึดได้ใหม่ของเล่าปี่ยังไม่มีเสถียรภาพและขณะนั้นตัวเล่าปี่อยู่ไกลถึงมณฑลเกงจิ๋ว โจโฉซึ่งไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศของเอ๊กจิ๋วได้ปฏิเสธคำแนะนำนี้ไป แล้วมอบหมายให้แฮหัวเอี๋ยน, เตียวคับ และซิหลงอยู่ป้องกันเมืองฮันต๋ง เตียวคับคาดการณ์ว่าจะเกิดศึกระยะยาวจึงนำทหารไปเมืองเพ็กเงียม (宕渠郡 ต้างฉฺวีจฺวิ้น; ปัจจุบันคืออำเภอฉฺวี มณฑลเสฉวน) เพื่อย้ายราษฎรของเมืองปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองฉงชิ่ง) มายังเมืองฮันต๋ง ขณะเดียวกันนั้น เล่าปี่แต่งตั้งให้เตียวหุยเป็นเจ้าเมืองปาเส (巴西郡 ปาซีจฺวิ้น) และมีคำสั่งให้เตียวหุยไปยึดปากุ๋น เตียวหุยและเตียวคับรบกันเป็นเวลา 50 วัน จบลงด้วยชัยชนะของเตียวหุยจากการโจมตีเตียวคับโดยฉับพลัน เตียวคับหนีรอดไปได้แล้วถอยหนีไปยังอำเภอลำเต๋ง (หนานเจิ้ง) ปากุ๋นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของเล่าปี่ ในปี ค.ศ. 217 หวดเจ้งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของการเข้ายึดเมืองฮันต๋ง และแนะนำเล่าปี่ให้ขับไล่กองกำลังของโจโฉออกจากพื้นที่ เล่าปี่จึงส่งเตียวหุย, ม้าเฉียว และคนอื่น ๆ ให้เข้ายึดเมืองปูเต๋า (武都郡 อู่ตูจฺวิ้น) ขณะเดียวกันเล่าปี่ก็รวบรวมทหารมุ่งไปยังด่านเองเปงก๋วน เตียวหุยจำต้องถอยทัพหลังจากที่นายทหารผู้ช่วยคืองอหลัน (吳蘭 อู๋หลัน) และลุยต๋อง (雷銅 เหลย์ ถง) ถูกกองทัพโจโฉปราบและถูกสังหาร เล่าปี่นำทัพเข้าปะทะกับแฮหัวเอี๋ยนที่ด่านเองเปงก๋วน พยายามจะตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของข้าศึก โดยส่งขุนพลตันเซ็กไปยังหม่าหมิงเก๋อ (馬鳴閣) แต่ก็ถูกสกัดทางได้โดยซิหลงรองขุนพลของแฮหัวเอี๋ยน จากนั้นเล่าปี่จึงเข้าตีกระหนาบกองกำลังของเตียวคับที่กว่างฉือ (廣石) แต่ไม่สำเร็จ ขณะเดียวกัน แฮหัวเอี๋ยนและเตียวคับก็ไม่สามารถขัดขวางเล่าปี่จากการระดมพลในพื้นที่โดยรอบ การศึกอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายไม่อาจเอาชนะกันได้ และโจโฉก็ตัดสินใจรวบรวมกองทัพที่เมืองเตียงฮันเพื่อรบกับเล่าปี่ ในปี ค.ศ. 218 ฤดูใบไม้ผลิ เล่าปี่และแฮหัวเอี๋ยนเผชิญหน้ากันเป็นเวลาหนึ่งปีกว่า เล่าปี่นำกองกำลังหลักไปยังทางใต้ของแม่น้ำเหมี่ยน (沔水) และสั่งให้ฮองตงตั้งค่ายบนเขาเตงกุนสัน ซึ่งจะสามารถสังเกตการณ์ภายในค่ายของแฮหัวเอี๋ยนในหุบเขาด้านล่างได้ง่าย คืนหนึ่ง เล่าปี่ส่งทหาร 10,000 นายไปโจมตีเตียวคับที่กว่างฉือ และจุดไฟเผารั้วค่ายของแฮหัวเอี๋ยน แฮหัวเอี๋ยนนำกองกำลังย่อยไปดับไฟ และส่งกองกำลังหลักไปเสริมเตียวคับ หวดเจ้งเห็นโอกาสเข้าโจมตีจึงส่งสัญญาณให้เล่าปี่ยกทัพบุก เล่าปี่ส่งฮองตงยกลงจากเขาเข้าโจมตีข้าศึกที่อ่อนล้า ฮองตงมุ่งไปยังกองกำลังของแฮหัวเอี๋ยนเข้าสกัดไว้ได้ ทั้งแฮหัวเอี๋ยนและเจ้าอ๋างซึ่งเป็นข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋วที่โจโฉแต่งตั้งขึ้นล้วนถูกสังหารระหว่างการรบ เตียวคับซึ่งได้รับเลือกให้ทำหน้าที่แทนแฮหัวเอี๋ยนโดยโตสิบและกุยห้วยได้ถอยทัพไปทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฮันซุยแล้วรอคอยกำลังเสริมจากโจโฉ ขณะเดียวกัน เล่าปี่เข้ารักษาทุกจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นปากทางสู่เมืองเตียงฮันและเมืองฮันต๋ง ขณะที่โจโฉได้ยกทัพมาถึงเขาเสียดก๊ก เล่าปี่เผชิญหน้ากับโจโฉเป็นเวลาหลายเดือนแต่ไม่ยกเข้ารบกับโจโฉ สถานการณ์บังคับให้โจโฉถอยทัพจากเหตุที่เริ่มมีทหารหนีทัพ[18] ฝ่ายเตียวคับก็ถอยทัพไปยังอำเภอตันฉอง (陳倉縣 เฉินชางเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเป่าจี มณฑลส่านซี) เพื่อตั้งแนวป้องกันจากการบุกของเล่าปี่ ฝ่ายเล่าปี่นำกองกำลังหลักไปอำเภอลำเต๋ง และส่งเบ้งตัดกับเล่าฮองไปยึดเมืองห้องเหลง (房陵 ฝางหลิง) และซงหยง (上庸 ซ่างยง) ขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 219 หลังจากเล่าปี่ยึดได้เมืองฮันต๋ง ขุนนางของเล่าปี่เสนอให้เล่าปี่ตั้งตนเป็นอ๋องเพื่อท้าทายโจโฉซึ่งได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้เป็นวุยอ๋องในปี ค.ศ. 216 เล่าปี่จึงประกาศตั้งตนเป็น "ฮันต๋งอ๋อง" (漢中王 ฮั่นจงหฺวาง) และตั้งฐานบัญชาการที่เมืองเซงโต๋ เมืองหลวงของมณฑลเอ๊กจิ๋ว เล่าปี่กำหนดให้เล่าเสี้ยนบุตรชายเป็นทายาทผู้สืบทอดตำแหน่ง มอบหมายให้อุยเอี๋ยนดูแลเมืองฮันต๋ง แต่งตั้งให้เคาเจ้งและหวดเจ้งเป็นราชครูและราชเลขาธิการตามลำดับ ส่วนกวนอู, เตียวหุย, ม้าเฉียว และฮองตงได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลหน้า, ขุนพลขวา, ขุนพลซ้าย และขุนพลหลังตามลำดับ ต้นฤดูหนาวของปี ค.ศ. 219 กองทัพของซุนกวนนำโดยลิบองเข้ารุกรานอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว จับได้ตัวกวนอูแล้วประหารชีวิต เมื่อเล่าปี่ทราบข่าวการตายของกวนอูและการเสียมณฑลเกงจิ๋วก็โกรธมาก จึงมีคำสั่งให้ตระเตรียมกองทัพจะทำศึกับซุนกวน ในต้นปี ค.ศ. 220 โจโฉเสียชีวิตและโจผีบุตรชายสืบตำแหน่งแทน ต่อมาในปีเดียวกัน โจผีชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและเป็นการก่อตั้งของรัฐวุยก๊กซึ่งมีโจผีเป็นจักรพรรดิ เมื่อเบ้งตัดทราบข่าวว่าเล่าปี่กำลังจะยกทัพไปรบกับซุนกวนก็กลัวว่าตนจะถูกลงโทษจากการที่เบ้งตัดไม่ส่งกำลังเสริมไปช่วยกวนอูก่อนหน้านี้ เบ้งตัดจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก ขณะเดียวกัน เตียวจูล่ง จินปิด และคนอื่น ๆ ได้เตือนเล่าปี่ให้ควรมุ่งไปที่การโจมตีโจผีแทนที่จะเป็นซุนกวน แต่เล่าปี่ปฏิเสธคำแนะนำ ฝ่ายเบ้งตัดเห็นว่าเล่าปี่ไม่ได้เตรียมการป้องกันทางด้านวุยก๊กที่เข้มแข็งเพียงพอ จึงเสนอแผนกับโจผีให้โจมตีเมืองห้องเหลง, ซงหยง และซีเฉิง เล่าฮองบุตรบุญธรรมของเล่าปี่ต่อสู้ป้องกันฝ่ายข้าศึกแต่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาทรยศและพ่ายแพ้ไป เมื่อเล่าฮองกลับไปยังเมืองเซงโต๋ เล่าปี่โกรธเล่าฮองเรื่องที่เล่าฮองพ่ายแพ้และเรื่องที่เล่าฮองไม่ส่งกองกำลังเสริมไปช่วยกวนอูในปี ค.ศ. 219 เล่าปี่จึงสั่งให้นำตัวเล่าฮองไปประหารชีวิต ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก เล่าปี่อ้างเจตนาของตนว่าเพื่อรักษาเชื้อสายของราชวงศ์ฮั่นให้ดำรงอยู่ต่อไป เล่าปี่ตั้งให้เล่าเสี้ยนบุตรชายเป็นรัชทายาท พ่ายแพ้และสวรรคตในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 222 เล่าปี่นำทัพโดยตนเองยกไปโจมตีซุนกวนเพื่อแก้แค้นให้กวนอูและยึดอาณาเขตในมณฑลเกงจิ๋วที่ถูกยึดไปคืนมา โดยให้จูกัดเหลียงอยู่ดูแลราชการในเมืองเซงโต๋ ซุนกวนส่งหนังสือขอสงบศึกแต่เล่าปี่ปฏิเสธ แม้ว่าเตียวหุยจะถูกผู้ใต้บังคับบัญชาสังหารในช่วงต้นของการศึก แต่ในช่วงแรกเล่าปี่ก็ยังคงทำศึกได้ชัยในเบื้องต้นต่อแม่ทัพของซุนกวนที่จีกุ๋ย จนกระทั่งลกซุนแม่ทัพหน้าของกองทัพซุนกวนมีคำสั่งให้ถอยทัพไปยังอิเหลง (ปัจจุบันคือเมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย์) ลกซุนตั้งมั่นอยู่ที่แห่งนั้นและปฏิเสธที่จะเข้ารบกับข้าศึก[19] ขณะนั้นเป็นฤดูร้อน ทหารของจ๊กก๊กตั้งค่ายตลอดเส้นทางการบุกรุกและเกิดความอ้อนล้าจากอากาศร้อน เล่าปี่จึงย้ายค่ายเข้าไปตั้งในปาเพื่อให้ได้ร่มเงาและสั่งให้อุยก๋วนนำทัพเรือไปตั้งค่ายอยู่นอกป่า ฝ่ายลกซุนคาดการณ์ว่าฝ่ายเล่าปี่ คงจะไม่มีการเข้าโจมตีโดยฉับพลัน จึงมีคำสั่งให้โจมตีกลับโดยการจุดไฟเผาค่ายของกองทัพจ๊กก๊กซึ่งติดต่อถึงกันไปยังค่ายอื่นด้วยรั้วไม้ ค่าย 40 แห่งของกองทัพเล่าปี่ถูกเผาทำลายในการโจมตีด้วยไฟ กองกำลังที่เหลืออยู่แตกพ่ายหนีไปทางทิศตะวันตกของเนินเขาม้าอั๋ว (ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอิเหลง) และตั้งแนวป้องกัน ลกซุนนำทัพไล่ตามมาและล้อมเล่าปี่ไว้ที่นั้นก่อนที่ทหารของเล่าปี่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ เล่าปี่หนีออกมาได้และถอยไปถึงเมืองเป๊กเต้ โดยเล่าปี่สั่งให้ทหารทิ้งเสื้อเกราะแล้วจุดไฟเผาให้เป็นแนวป้องกันขัดขวางการไล่ตามของข้าศึก[20] เล่าปี่สวรรคตที่เมืองเป๊กเต้ในปี ค.ศ. 223 ฤดูร้อน ก่อนที่จะสวรรคต เล่าปี่ได้ตั้งให้จูกัดเหลียงและลิเงียมเป็นผู้สำเร็จราชการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเล่าเสี้ยน ร่างของเล่าปี่ถูกนำกลับไปเมืองเซงโต๋และฝังไว้ที่หุ้ยเหลง (惠陵 ฮุ่ยหลิง; ปัจจุบันอยู่ที่ชานเมืองด้านใต้ของเมืองเฉิงตู) ในอีกสี่เดือนหลังจากนั้น เล่าปี่ได้รับพระราชสมัญญานามว่า พระเจ้าเลียดห้องเต้ (เจาเลี่ยหฺวางตี้) เล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กแทน ภายหลังจูกัดเหลียงได้สงบศึกกับซุนกวนและคืนความเป็นพันธมิตรซุน-เล่าเพื่อต่อต้านโจผี พระราชวงศ์ในนิยาย สามก๊กสามก๊ก เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 มีเนื้อเรื่องที่อ้างอิงจากบุคคลและเหตุการณ์ช่วงก่อนและระหว่างยุคสามก๊กของจีน เขียนขึ้นโดยล่อกวนตง (หลัวกว้านจง) เมื่อภายหลังมากกว่า 1,000 ปีจากยุคสามก๊ก นิยายได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านและบทละครงิ้วจำนวนมากเพื่อสร้างเป็นบุคลิกลักษณะของเล่าปี่ ซึ่งนิยายแสดงบุคลิกลักษณะของเล่าปี่ว่าเป็นผู้นำที่มีจิตเมตตาและรักความเป็นธรรมประกอบกับความเป็นผู้มีบุญญาบารมี (เรียกว่า เต๋อ 德 ในภาษาจีน)[21] เป็นผู้สร้างรัฐขึ้นจากพื้นฐานของค่านิยมในลัทธิขงจื๊อ จุดนี้สอดคล้องกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่นิยายถูกเขียนขึ้น นอกจากนี้นิยายยังเน้นย้ำถึงความที่เล่าปี่มีความเกี่ยวพันเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ฮั่นแม้เป็นความเกี่ยวพันอย่างห่าง ๆ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงเรื่องความชอบธรรมในการครองราชย์ของเล่าปี่ ในนิยาย เล่าปี่ใช้กระบี่คู่ที่เรียกว่า ซฺวางกู่เจี้ยน (雙股劍) เป็นอาวุธ ดูเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งที่เสริมแต่งขึ้นในนิยายสามก๊กที่เกี่ยวข้องกับเล่าปี่ตามรายการต่อไปนี้:
ความนิยมในรูปแบบอื่น ๆ
หมายเหตุ
อ้างอิงอ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เล่มที่ 32อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)อ้างอิงจากสามก๊กจี่ เล่มอื่น ๆอ้างอิงจากหฺวาหยางกั๋วจื้ออ้างอิงอื่น ๆ
บรรณานุกรม
ดูเพิ่มวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ เล่าปี่
|