กลุ่มโรงเรียนบดินทรเดชากลุ่มโรงเรียนบดินทรเดชา หรือ โรงเรียนในเครือบดินทรเดชา เป็นกลุ่มโรงเรียนที่ใช้นามโรงเรียนว่า "บดินทรเดชา" อันมาจากราชทินนามของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ประกอบด้วยโรงเรียนทั้งสิ้น 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒, โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี และโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เริ่มมีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาขาขึ้นสืบเนื่องจากความประสงค์ของนักเรียนในโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพิ่มขึ้น คุณหญิงลักขณา แสงสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้น จึงดำริสถาปนาโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ ขึ้นในปี พ.ศ. 2533 ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาจัดตั้งโรงเรียนเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๓ ซึ่งประกาศจัดตั้งแล้วนั้นเป็นโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา และได้มีการสถาปนาโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔ ในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้พิจารณาความนิยมของผู้ปกครองที่นิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมีแนวคิดที่จะขยายการศึกษาสู่พื้นที่ชานเมืองจึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนบางกรวยเป็นโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี ในปี พ.ศ. 2542 และโรงเรียนสมุทรพิทยาคมเป็นโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ ในปี พ.ศ. 2551 กลุ่มโรงเรียนบดินทรเดชามีกิจกรรมร่วมกันทั้งในภาคนักเรียนและครู โดยมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารของทุกโรงเรียน และมีมหกรรม "กีฬา 6 บดินทร" ซึ่งจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพทุกปีเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์เหล่านักเรียนในกลุ่มบดินทรเดชาให้แน่นแฟ้นอีกด้วย ประวัติโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2480 ได้ให้การศึกษาอบรมความรู้นักเรียนให้มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับสูง นักเรียนส่วนมากที่จบไปแล้วล้วนมีบทบาทสำคัญอยู่ระดับแนวหน้าของสาขาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้บริหารระดับสูงในส่วนราชการและภาคเอกชนของประเทศ ปี พ.ศ. 2514 คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการชั้นพิเศษโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ริเริ่มก่อสร้างโรงเรียนมัธยมสาขาขึ้น เพื่อสามารถรับนักเรียนจำนวนมากที่ปรารถนาจะเข้ามาเรียน โดยขนานนามโรงเรียนใหม่นี้ว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สาขา ๑) เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตามราชทินนามพิเศษของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งทายาทของท่านอุทิศที่ดินให้สร้างเป็นโรงเรียนแห่งใหม่ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในยุคแรกภายใต้การนำของอาจารย์เฉลิม สิงหเสนี ผู้บริหารท่านแรก และมีคณะครูจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามาดำเนินการจัดการเรียนการสอน สิ่งที่ครูนำมาถ่ายทอดให้นักเรียนจึงไม่แตกต่างจากที่นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้เรียนรู้ ประกอบกับได้นักเรียนที่มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาเล่าเรียน เมื่อครูมีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนที่มีความสามารถไม่นาน โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงได้พัฒนาจนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมาก[1] ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 สืบเนื่องจากมีจำนวนนักเรียนสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกปี จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 [2] แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการของนักเรียนได้อย่างเพียงพอ เพื่อสนองความต้องการของนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี คุณหญิงลักขณา แสงสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงดำริจะก่อตั้งโรงเรียนสาขาขึ้นอีก เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม พ.ศ. 2534 กรมสามัญศึกษาได้พิจารณาดำเนินการรับที่ดินไว้จัดตั้งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2535 กรมสามัญศึกษาได้มอบหมายให้โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ประสานงานจัดตั้งโรงเรียนในโครงการ 1 ใน 9 โรงเรียน โดยใช้ที่ดินบริจาคของคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ในซอยลาดพร้าว 69 จำนวน 5 ไร่ และใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๓" วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนรัฐบาล เป็นโครงการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ" โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห สิงหเสนี) ๓ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา นับแต่บัดนั้น [3] ต่อมาได้มีมีนักเรียนที่ต้องการเข้ามาเรียนโรงเรียนในเครือบดินทรเดชาเพิ่มมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศจัดตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔ ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จากการประสานงานของงานของ พลเอกวิโรจน์ แสงสนิท (อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด) และคุณหญิงลักขณา แสงสนิท (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา ( สิงห์ สิงหเสนี )) ผู้ก่อตั้งและผู้อุปการะโรงเรียน ปี พ.ศ. 2541 กรรมการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนบางกรวย สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนบางกรวย และคณะครู-อาจารย์ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า ผู้ปกครองมีทัศนคติและค่านิยมในการส่งบุตรหลานให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จึงมี มติตรงกันว่าสมควรเปลี่นชื่อโรงเรียนเพื่อให้เป็นจุด สกัดนักเรียนจำนวนหนึ่ง ไม่ให้เข้าไปเรียนแออัดอยู่ในเฉพาะโรงเรียนส่วนกลางวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2542 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนบางกรวยเป็น โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี [4] โรงเรียนในเครือบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้รับยกย่องให้เป็นโรงเรียนชั้นนำมีผู้ปกครองสนใจส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมากทั้ง 5 แห่ง และทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เล็งเห็นถึงการขยายโรงเรียนชั้นนำสู่เขตชานเมือง จึงได้สรรหาโรงเรียนที่มีคุณภาพ ประกอบกับระบบการดูแลนักเรียน และการพัฒนาระบบการเรียนการสอน จึงได้รับโรงเรียนสมุทรพิทยาคมเข้าเป็นโรงเรียนคู่พัฒนาการศึกษาของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ภายในระยะเวลาเกือบ 2 ปี โรงเรียนสมุทรพิทยาคม ภายในการบริหารของ ดร.นงลักษณ์ เรือนทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนสมุทรพิทยาคม โรงเรียนมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ทั้งในด้านการเรียนการสอน อาคารสถานที่ ส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัลต่างๆมากมาย และในวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 โรงเรียนสมุทรพิทยาคม ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ อักษรย่อ บ.ด.ส. โดยมีตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน คือ "พระเกี้ยว" รายนามกลุ่มโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ข้อมูลจำเพาะ
เครื่องหมายประจำโรงเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี และโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ ใช้เครื่องหมาย พระเกี้ยว โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ใช้เครื่องหมาย มงกฎขัตติยราชนารี อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|