เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) (11 มกราคม พ.ศ. 2319 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392) อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก และแม่ทัพใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นสกุล "สิงหเสนี" "บดินทรเดชา" เป็นราชทินนามพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ทั้งนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ต่อมาทางสมาชิกสกุลสิงหเสนี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเชิญไปไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่แผ่นดิน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่พระราชวงศ์ ขุนนาง บุคคลต่าง ๆ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล "สิงหเสนี" เป็นลำดับที่ 7 ในสมุดทะเบียนนามสกุลพระราชทาน เพื่อเป็นเกียรติยศแก่บรรดาบุตรหลานผู้สืบสกุลจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในเอกสารภาษาเขมร ออกนามเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ว่า "เจ้าคุณบดินทร์"(เขมร: ចៅ ឃុន បឌិន)[1] ส่วนในภาษาเวียดนามเรียกเป็น 2 อย่าง คือ Sửu Pha Họa Di (chữ Hán: 醜頗禍移) จากบรรดาศักดิ์พระยา/เจ้าพระยาราชสุภาวดี และ Phi nhã Chất tri (chữ Hán: 丕雅質知) ซึ่งมาจากการออกนามตามธรรมเนียมในท้องตราพระราชสีห์ตามฐานะสมุหนายกว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์ ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เดิมชื่อว่าสิงห์ เป็นบุตรคนที่ 4 ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2318[2] เทียบกับปฏิทินปัจจุบันตรงกับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2319 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถานที่เกิดอยู่บริเวณเชิงสะพานช้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทยในเขตพระนครทุกวันนี้[3][4][5] เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ศิริวัฒนาพราหมณ์ปุโรหิตในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นเหลนของพราหมณ์ศิริวัฒนา[6] เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) บิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นสมุหพระกลาโหมในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาบดินทรเดชามีพี่น้องรวมกันทั้งหมดเก้าคน[6] มีพี่สาวคือเจ้าจอมปริกในรัชกาลที่ 1 และเจ้าจอมปรางในรัชกาลที่ 2 เมื่อเจริญวัยขึ้น ในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ผู้เป็นบิดาได้นำตัวนายสิงห์เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในตำแหน่งจมื่นเสมอใจราช ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เลื่อนเป็นจมื่นศรีบริรักษ์ เป็นปลัดกรมพระตำรวจนอกขวาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ใน พ.ศ. 2352 จมื่นศรีบริรักษ์โดยเสด็จกรมพระราชวังบวรฯไปในการศึกพม่าตีเมืองถลางเป็นปลัดรองนายเรือลาดตระเวณ หลังจากศึกสิ้นสุดลงจมื่นศรีบริรักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวาในกรมพระราชวังบวรฯ และหลังจากศึกที่อาณาจักรเขมรอุดงใน พ.ศ. 2354 ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชโยธาเจ้ากรมมหาดไทยของฝ่ายกรมพระราชบวรฯ และต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาเกษตรรักษาเป็นเกษตราธิบดีในกรมพระราชวังบวรฯ ใน พ.ศ. 2359 เจ้าเมืองน่านคล้องช้างเผือกมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงเสด็จออกไปรับช้างเผือก พระยาเกษตรรักษา (สิงห์) ออกรับเสด็จด้วยแต่เนื่องจากหมอกลงจัดทำให้พระยาเกษตรรักษา (สิงห์) แล่นเรือตัดหน้าฉานขบวนเรือพระที่นั่งขบวนหลังต้องโทษกบฏ กรมพระราชวังบวรฯทรงให้จำคุกพระยาเกษตรรักษา (สิงห์) ไว้เป็นเวลาสี่เดือนจนกระทั่งกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงช่วยทูลขอให้ไว้ชีวิตพระยาเกษตรรักษา พระยาเกษตรรักษา (สิงห์) จึงได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษออกมาและใน พ.ศ. 2360 กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทิวงคต พระยาเกษตรรักษา (สิงห์) จึงดำรงฐานะเป็น "พระยาเกษตรรักษานอกราชการ"[7] ใน พ.ศ. 2362 พระยาเกษตรรักษานอกราชการ (สิงห์) บูรณะวัดสามปลื้มซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับนิวาสถานของพระยาเกษตรรักษาริมคลองโองอ่างบริเวณเวิ้งนครเกษมหรือสำเพ็งในเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน พระยาเกษตรรักษานอกราชการได้ช่วยราชการในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในการต่อเรือค้าขายและการศาลต่างๆ ต่อมาเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาเกษตรรักษานอกราชการ (สิงห์) จึงได้เข้ารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งพระยาราชสุภาวดีเจ้ากรมพระสุรัสวดี พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ได้ถวายวัดสามปลื้มขึ้นเป็นพระอารามหลวงใน พ.ศ. 2368 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯพระราชทานนามวัดใหม่ว่าวัดจักรวรรดิราชาวาส ศึกเจ้าอนุวงศ์ใน พ.ศ. 2369 กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ขณะนั้นอายุห้าสิบเอ็ดปีได้รับโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปทางอีสานใต้ลาวใต้จำปาศักดิ์ หลังจากที่ตีทัพของเจ้าโถง (หลานของเจ้าอนุวงศ์) ที่เมืองพิมายแตกแล้วจึงยกทัพต่อไปตีค่ายเวียงคุกที่เมืองยโสธรแตก เจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์และเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ยกทัพมาตั้งมั่นที่เมืองอุบล พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยกทัพจากยโสธรเข้าโจมตีเมืองอุบล ชาวลาวเมืองอุบลลุกฮือขึ้นขับไล่เจ้าราชบุตรออกจากเมือง เจ้าราชบุตรหลบหนีกลับไปยังเมืองจำปาศักดิ์แต่ไม่สามารถเข้าเมืองได้เนื่องจากความวุ่นวายในเมือง พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) จึงสามารถเข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์และจับกุมตัวเจ้าราชบุตรได้ได้ ในระหว่างการศึกเจ้าอนุวงศ์นั้นเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกซึ่งนำทัพในการศึกครั้งนี้ด้วยนั้นล้มป่วงลงจนถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2370 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพมีพระบัณฑูรให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) จัดการบ้านเมืองลาวอยู่ที่เวียงจันทน์ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพยกทัพเสด็จกลับกรุงเทพมหานครแล้วจึงกราบทูลความดีความชอบให้แก่พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงมีตราให้เลื่อนเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่สมุหนายก เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) นำตัวเจ้าราชบุตร (โย้) พร้อมทั้งอัญเชิญพระบางจากเวียงจันทน์มายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงขัดเคืองเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ที่มิได้ทำลายเมืองเวียงจันทน์ลงให้ราบคาบ[8] แล้วจึงทรงให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ไปทำลายเมืองเวียงจันทน์ลงอย่างสิ้นเชิง ในปี พ.ศ. 2371 เจ้าอนุวงศ์ซึ่งได้หลบหนีไปยังเวียดนามราชวงศ์เหงียนได้กลับมายังเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2371 พร้อมคณะทูตของพระจักรพรรดิมิญหมั่ง เจ้าอนุวงศ์เข้าลอบสังหารกองกำลังฝ่ายไทยและเข้าครองเมืองเวียงจันทน์อีกครั้ง เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ซึ่งยกทัพมาตั้งมั่นที่เมืองพันพร้าว (ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) จึงล่าถอยไปทางใต้ไปยังยโสธร เจ้าอนุวงศ์จึงส่งโอรสเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ยกทัพลาวจากเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงลงมาทางใต้เพื่อตามทัพของเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ได้ยกทัพขึ้นมาตั้งรับที่ค่ายบกหวาน (ตำบลบกหวาน อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย) เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ต่อสู้ตัวต่อตัวกับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เจ้าพระยาราชสุภาวดีตกจากม้าล้มลง เจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทกถูกเฉียดตัวเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแผลถลอก[9] เจ้าราชวงศ์จะให้ดาบฟันซ้ำหลวงพิพิธน้องชายของเจ้าพระยาราชสุภาวดีเข้ารับแทนทำให้หลวงพิพิธถูกฟันเสียชีวิต เจ้าพระยาราชสุภาวดีอาศัยจังหวะใช้มีดแทงที่ต้นขาของเจ้าราชวงศ์ประกอบกับฝ่ายไทยยิงปืนถูกเข่าของเจ้าราชวงศ์ล้มลงเสียโลหิตมาก ฝ่ายลาวจึงนำเจ้าราชวงศ์ขึ้นแคร่หามหนีไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม้ว่าจะได้รับบาดเจ็บยังคงติดตามเจ้าราชวงศ์ไปแต่ไม่สำเร็จ หลังจากชัยชนะของเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ที่บกหวานทำให้เจ้าอนุวงศ์หลบหนีออกจากเวียงจันทน์อีกครั้งไปยังเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวาง เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพกลับไปพันพร้าวอีกครั้งและเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้เผาทำลายเมืองเวียงจันทน์ลงอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายพระจักรพรรดิมิญหมั่งส่งทูตมาอีกครั้งแต่เจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่ไว้วางใจฝ่ายเวียดนามจึงออกอุบายให้จัดงานเลี้ยงให่แก่คณะทูตเวียดนามและสังหารคณะทูตเวียดนามเกือบหมดสิ้น[10] เจ้าน้อยเมืองพวน ได้จับกุมตัวเจ้าอนุวงศ์ส่งมาให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้สำเร็จ หลังจากเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา อัครมหาเสนาบดีสมุหนายกใน พ.ศ. 2373 เวลานั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาอายุห้าสิบสามปี อานามสยามยุทธใน พ.ศ. 2376 เกิดกบฏขึ้นที่เมืองไซง่อน เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาอายุห้าสิบแปดปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพจำนวน 40,000[10] ยกไปตีเมืองไซ่ง่อนโดยร่วมกับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งนำทัพเรือ และพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ผู้เป็นน้องเขย (ท่านผู้หญิงบุนนาคน้องสาวของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯสมรสกับพระยานครราชสีมา) เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ตั้งมั่นที่เมืองโจฎกหรือเจิวด๊ก (เวียดนาม: Châu Đốc จังหวัดอานซาง) ของเวียดนาม ทัพเรือสยามล่องเรือไปตามแม่น้ำบาสักพบกับทัพเรือฝ่ายญวนที่คลอมหวั่มนาว (Vàm Nao) ฝ่ายญวนสามารถต้านทานทัพฝ่ายสยามได้เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังต้องล่าถอยกลับไปยังเมืองโจฏก ฝ่ายญวนยกทัพตามมาตีเมืองโจฎกทำให้เจ้าพระยาบดิทรเดชาฯตัดสินใจถอยทัพไปทางอาณาจักรเขมรตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง มอบหมายให้นักองค์อิ่มรักษาเมืองพระตะบองแล้วจึงกลับเข้ากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2379 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ได้รับโปรดเกล้าฯเดินทางไปสำรวจทำบัญชีกำลังพลในหัวเมืองเขมรป่าดง[10] ระหว่างทางผ่านเมืองพระตะบองจึงบูรณะปรับปรุงสร้างกำแพงเมืองพระตะบองขึ้นใหม่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทางถึงเมืองขุขันธ์ใน พ.ศ. 2380 ทำบัญชีกำลังพลและสร้างป้อมเมืองพระตะบองเสร็จสิ้นแล้วจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังจากที่สมเด็จพระอุทัยราชาแห่งกัมพูชาสวรรคตแล้ว พระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงตั้งนักองค์มีขึ้นครองกัมพูชาแทน นักองค์อิ่มเห็นเป็นโอกาสจึงกวาดต้อนผู้คนเมืองพระตะบองไปเข้ากับฝ่ายเวียดนามที่เมืองพนมเปญใน พ.ศ. 2382 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงออกไปรักษาเมืองพระตะบองอีกครั้ง ในปีนั้นชาวกัมพูชาลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของฝ่ายเวียดนาม เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองโพธิสัตว์พร้อมกับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) "องเดดก"แม่ทัพเวียดนามสามารถป้องกันเมืองโพธิสัตว์ได้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เจรจากับองเดดกแม่ทัพฝ่ายเวียดนาม องเดดกยินยอมถอยกำลังออกจากเมืองโพธิสัตว์[10] ทำให้ฝ่ายเวียดนามล่าถอยไปอยู่ที่เมืองโจฎก เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์และส่งนักองค์ด้วงไปตั้งมั่นที่เมืองอุดงมีชัย จักรพรรดิเถี่ยวจิส่งเหงียนวันเจือง (เวียดนาม: Nguyễn Văn Chương) ยกทัพจากโจฎกเข้ายึดพนมเปญได้ เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงยกทัพจากโพธิสัตว์ไปยังเมืองอุดงเพื่อช่วยเหลือนักองค์ด้วง หลังจากที่องตาเตียงกุนยึดเมืองพนมเปญได้แล้วจึงยกมาที่เมืองอุดงต่อ เจ้าพระยาบดินทรเดชานำทัพเข้าซุ่มโจมตีทัพเวียดนามแตกพ่ายแพ้กลับไป สงครามอานามสยามยุทธระหว่างสยามและเวียดนามซึ่งกินเวลายืดเยื้อกว่าสิบปีไม่มีข้อสรุป นำไปสู่การเจรจาระหว่างฝ่ายสยามและเวียดนาม เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯบูรณะวัดพระพุทธโฆสาจารย์ที่เมืองพนมเปญใน พ.ศ. 2389 เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯอยู่จัดการเรื่องอาณาจักรเขมรอยู่ที่เมืองอุดงจนถึง พ.ศ. 2390 เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ เป็นผู้แทนพระองค์นำเครื่องอิสริยยศและสุพรรณบัฏแต่งตั้งนักองค์ด้วง ขึ้นเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี กษัตริย์แห่งกัมพูชาใน พ.ศ. 2390 ปราบจีนตั้วเหี่ยหลังจากราชาภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาแล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ จึงเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ มาถึงเมืองฉะเชิงเทราใน พ.ศ. 2391 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) นำทัพเข้าปราบจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา หลังจากปราบจีนตั้วเหี่ยได้สำเร็จแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ พร้อมกับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯมีอายุเจ็ดสิบสองปี หลังจากที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) กลับมาพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานครได้หนึ่งปี เกิดอหิวาตกโรคระบาดมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียมาถึงกรุงเทพฯในเดือนห้า พ.ศ. 2392 วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ก็ถึงแก่อสัญกรรมที่นิวาสสถานบริเวณริมคลองโอ่งอ่างบริเวณเชิงสะพานหันกับบ้านดอกไม้ สิริอายุได้เจ็ดสิบสามปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศเมื่อเดือนหก พ.ศ. 2393 เมื่อพระหริรักษ์รามาธิบดีเจ้ากัมพูชาได้ทราบว่าเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงครั้งที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ได้ช่วยเหลือปราบปรามหมู่ปัจจามิตรทั้งช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อยตลอดมา จึงดำรัสสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดงมีชัย แล้วให้พระภิกษุสุกชาวเขมร ช่างปั้นฝีมือเยี่ยมในยุคนั้นปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศลมีสดับปกรณ์เป็นต้นปีละครั้งที่เก๋ง ชาวเขมรเรียกว่า "รูปองบดินทร" ตลอดมาจนบัดนี้ รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ. 2392 ปีพ.ศ. 2441 พระพุฒาจารย์ (มา) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาสให้คนไปวาดรูปปั้นองค์บดินทร์ที่เมืองอุดงมีชัยมาเป็นต้นแบบ แล้วให้นายเล็กช่างหล่อหล่อถอดแบบรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯขึ้น[12]มาตั้งไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส ความทรงจำจากผลงานและคุณงามความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณของท่านหลายแห่ง เช่น เมืองอุดงมีชัย ประเทศกัมพูชา, วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม), โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒, โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ, โรงเรียนเทพลีลา, โรงเรียนพระปริยัติธรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชา จังหวัดยโสธร, วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร, ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี, ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี), กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ 16 อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร, สถานีตำรวจภูธรโพธิ์ตาก อำเภอโพธิ์ตาก และองค์การบริหารส่วนตำบลค่ายบกหวาน อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย บุตร-ธิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีบุตรธิดา ดังนี้
ด้านการสงคราม
ด้านศาสนา
แหล่งข้อมูลอื่นอ้างอิง
|