การประกวดเพลงยูโรวิชัน
การประกวดเพลงชิงชนะเลิศแห่งยุโรป เรียกโดยทั่วไปว่า การประกวดเพลงยูโรวิชัน (อังกฤษ: Eurovision Song Contest; ฝรั่งเศส: Concours Eurovision de la chanson) หรือ ยูโรวิชัน (อังกฤษ: Eurovision) คือการประกวดเพลงระดับนานาชาติประจำปีที่จัดขึ้นโดยสหภาพการแพร่สัญญาณวิทยุและโทรทัศน์แห่งยุโรป (อีบียู) แต่ละประเทศที่เข้าร่วมจะส่งเพลงเข้าประกวด และแล้วจะมีการแสดงสดต่อหน้าสาธารณชน โดยจะถ่ายทอดในสถานีโทรทัศน์ระดับชาติของประเทศสมาชิกผ่านเครือข่ายยูโรวิชันและยูโรเรดิโอ จากนั้นประเทศที่เข้าร่วมจะลงคะแนนให้เพลงของประเทศอื่นเพื่อตัดสินผู้ชนะ การประกวดมีเค้าโครงมาจากเทศกาลดนตรีซานเรโม ซึ่งจัดที่ลิกูเรียนริเวียราตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 การประกวดเพลงยูโรวิชันมีการจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ ค.ศ. 1956 (ยกเว้นการประกวดปี 2020 เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด-19) ส่งผลให้เป็นการประกวดเพลงที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์และหนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศยาวนานที่สุด ประเทศที่เป็นสมาชิกอีบียูปัจจุบันและประเทศที่เกี่ยวข้องมีสิทธิในการเข้าร่วม โดย ณ ค.ศ. 2024 มีประเทศที่เคยเข้าร่วมการประกวดอย่างน้อยหนึ่งครั้งทั้งหมด 52 ประเทศ นับตั้งแต่การประกวดครั้งแรก แต่ละประเทศสมาชิกจะส่งเพลงต้นฉบับความยาวไม่เกิน 3 นาที โดยจะต้องมีนักร้องหรือกลุ่มคนไม่เกิน 6 คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปมาแสดงสด แต่ละประเทศจะให้คะแนน 1–8, 10 และ 12 คะแนนแก่เพลง 10 เพลง โดยพิจารณาจากความคิดเห็นของกลุ่มนักดนตรีมืออาชีพและผู้ชมในประเทศนั้นๆ โดยเพลงที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ นอกจากนี้ยังมีการแสดงอื่นๆ ที่จะจัดขึ้นควบคู่ไปกับการแข่งขัน ได้แก่ การแสดงเปิด การแสดงช่วงพัก และการแสดงรับเชิญโดยนักดนตรีและบุคคลอื่นๆ โดยการแสดงในอดีตมีศิลปินเข้าร่วมแสดงมากมาย อาทิ ซีร์ก ดู ซอแลล มาดอนนา จัสติน ทิมเบอร์เลก มิคา ริตา ออรา และการแสดง ริเวอร์แดนซ์ ครั้งแรก เดิมการแข่งขันจะจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันหนึ่งๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการขยายตัวมากขึ้น (มีการเข้าร่วมของประเทศนอกทวีปยุโรป เช่น อิสราเอลและออสเตรเลีย) นำไปสู่การนำวิธีการเลื่อนตกชั้นในช่วงทศวรรษ 1990 และระบบรอบรองชนะเลิศในช่วงทศวรรษ 2000 ณ ค.ศ. 2024 เยอรมนีเป็นประเทศที่เข้าร่วมการประกวดเพลงยูโรวิชันมากที่สุด โดยเข้าร่วมทุกครั้งเว้นการประกวดปี 1996 เพียงครั้งเดียว ในขณะที่ไอร์แลนด์และสวีเดนเป็นประเทศที่ชนะการประกวดมากที่สุด โดยทั้งสองประเทศชนะไปเจ็ดครั้ง การประกวดครั้งหนึ่งมักจัดขึ้นในประเทศที่ชนะการแข่งขันในปีก่อนหน้า โดยเป็นโอกาสในการนำเสนอประเทศและเมืองเจ้าภาพในฐานะจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากสัญลักษณ์ยูโรวิชันหลักที่ใช้เป็นการทั่วไปแล้ว การแข่งขันแต่ละครั้งจะมีธีมการประกวดเฉพาะตัว การประกวดจะออกอากาศในประเทศต่างๆ ทั่วทุกทวีป และมีการออกอากาศทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ยูโรวิชันอย่างเป็นทางการตั้งแต่การแข่งขันปี 2001 การประกวดเพลงยูโรวิชันเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่ใช่กีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกทุกปี โดยมีผู้ชมหลายร้อยล้านคนทั่วโลกรับชมการประกวดสด การเข้าร่วมการแข่งขันของศิลปินมักเป็นจุดเริ่มต้นของสายอาชีพ ในบางกรณีก็ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติอย่างยาวนาน ศิลปินหลายคนจากศิลปินเพลงที่ขายดีที่สุดต่างเคยเข้าร่วมการประกวดเพลงยูโรวิชันมาก่อน เช่น แอ็บบา เซลีน ดิออน ฆูลิโอ อิเกลเซียส คลิฟฟ์ ริชาร์ด และ โอลิเวีย นิวตัน-จอห์น อีกทั้งซิงเกิลที่ขายดีที่สุดบางเพลงของโลกได้รับการแสดงในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกบนเวทียูโรวิชันนี้เอง รูปแบบการประกวดประเทศที่ร่วมเข้าแข่งขันจะเลือกเพลงและนักร้อง ประเทศละหนึ่งชุดโดยใช้ผู้แสดงไม่เกินหกคน ที่จะแสดงสดทางโทรทัศน์ เพลงที่เข้าประกวดต้องเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ทั้งเนื้อร้องและทำนอง โดยประเภทของเพลงในการแข่งขันมีความหลากหลาย ในการตัดสินผู้ชนะ ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา คะแนนจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ และจากผู้ชมซึ่งเป็นประชากรในประเทศสมาชิก EBU รวมถึงผู้ชมใน "ส่วนอื่นของโลก" (เริ่มตั้งแต่ปี 2023) โดยแต่ละประเทศจะใช้คะแนนจากคณะกรรมการ (Jury Vote) และจากการโหวตของผู้ชมทางโทรศัพท์/การส่งเอสเอ็มเอส/การโหวตผ่านแอพ/การโหวตผ่านเว็บไซต์ (Televote) อย่างละครึ่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละประเทศไม่มีสิทธิตัดสินหรือโหวตให้กับประเทศของตัวเอง ทุกประเทศมีโอกาสได้คะแนนเท่ากันโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเหตุนั้นประเทศรัสเซียจึงมีโอกาสได้คะแนนเท่ากับโมนาโก ประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุดสองอันดับแรกจะได้ 12 และ 10 คะแนน ส่วนอันดับสามถึงสิบจะได้คะแนนตั้งแต่ 8 จนถึง 1 คะแนน โดยในการประกาศผลช่วงท้ายของการถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศ จะแบ่งเป็นสองช่วง ได้แก่
ประเทศที่ได้คะแนนจากทั้งสองส่วนข้างต้นรวมกันมากที่สุด จะเป็นผู้ชนะของการประกวดปีนั้น ๆ หากเกิดกรณีที่มีประเทศที่มีคะแนนเท่ากัน จะตัดสินที่คะแนนรวมจากการโหวตของผู้ชม หากยังเท่ากันจะนับจำนวนคะแนนจากการโหวตของผู้ชมที่ได้รับ เรียงจากคะแนนสูงสุดที่ได้รับไปยังคะแนนต่ำสุด หากคะแนนเท่ากันอีก ประเทศที่มีลำดับการแสดงก่อนจะเป็นผู้ชนะ ประเทศของผู้ชนะจะได้รับถ้วยหรือเหรียญรางวัล และเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดปีต่อไป โดยประเทศเจ้าภาพกับประเทศที่ออกค่าใช้จ่ายให้กับทาง EBU มากที่สุด ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และ อิตาลี (ซึ่งเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า กลุ่มประเทศ "บิ๊กไฟว์") จะสามารถส่งทีมเข้าประกวดในรอบชิงชนะเลิศได้โดยอัตโนมัติ (ในปี 2015 ออสเตรเลียได้รับสิทธิ์เข้ารอบชิงชนะเลิศโดยอัตโนมัติเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติมอีกหนึ่งประเทศ ในโอกาสครบรอบ 60 ปีการประกวด) ส่วนประเทศที่เหลือทั้งหมดต้องเข้าประกวดรอบคัดเลือก ซึ่งมีสองวันและคัดประเทศเข้ารอบชิงชนะเลิศวันละสิบประเทศ ทำให้รอบชิงชนะเลิศมีประเทศเข้าประกวดทั้งหมด 26 ประเทศ ส่วนในปีที่ประเทศในกลุ่มบิ๊กไฟว์เป็นเจ้าภาพ จะมีชาติที่เข้าร่วมประกวดรอบชิงชนะเลิศรวม 25 ประเทศ สำหรับในการประกวดปี 2023 ยูเครน ประเทศผู้ชนะการประกวดปีก่อนหน้า ไม่สามารถจัดงานได้เนื่องจากยังอยู่ในภาวะสงคราม สหราชอาณาจักรที่ได้ลำดับที่สองในการประกวดคราวเดียวกันนั้น จึงรับหน้าที่จัดประกวดแทน แต่ยูเครนก็ยังได้รับสิทธิ์เข้ารอบชิงชนะเลิศโดยอัตโนมัติตามธรรมเนียมเช่นเดิม ดังนั้นจึงมีชาติที่เข้าร่วมการประกวดในรอบชิงชนะเลิศปีดังกล่าวรวม 26 ประเทศ แม้จะมีหนึ่งในกลุ่มประเทศบิ๊กไฟว์เป็นเจ้าภาพก็ตาม การออกอากาศการประกวดเริ่มมีการออกอากาศทุกปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีต่อเนื่องยาวที่สุดในโลก และมีผู้ชมที่ไม่ใช่การแข่งขันกีฬามากที่สุด[1] โดยมีผู้ชมระหว่าง 100 ล้าน - 600 ล้านคน[2][3] ออกอากาศทั่วทั้งยุโรป และยังแพร่ภาพใน ออสเตรเลีย แคนาดา อียิปต์ ฮ่องกง อินเดีย จอร์แดน เกาหลี นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และ สหรัฐอเมริกา ถึงแม้ประเทศเหล่านี้จะไม่ได้ร่วมแข่งขันก็ตาม ตั้งแต่ปี 2000 การแข่งขันได้มีการแพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ต[4] และในปี 2015 สหภาพฯ ได้เปิดช่องทางการถ่ายทอดสดผ่านยูทูบ[5] ผู้มีชื่อเสียงจากการประกวดศิลปินดังที่ชนะเลิศจากรายการนี้ เช่น เซลีน ดิออน (สวิสเซอร์แลนด์) ปี 1988, แอ็บบ้า (สวีเดน) ปี 1974, ดานา อินเตอร์เนชันแนล (อิสราเอล) ปี 1998, ลอร์ดิ (ฟินแลนด์) ปี 2006, มาริยา เชริโฟวิช (Marija Šerifović) จากประเทศเซอร์เบีย ปี 2007, ดิมา บิลาน (Dima Bilan) จากรัสเซีย ปี 2008 และ อเล็กซานเดอร์ รืยบัค (Alexander Rybak) จากนอร์เวย์ ปี 2009 และเลนา เมเยอร์-ลันดรุท (Lena Meyer-Landrut) จากเยอรมนี ปี 2010 เจ้าภาพและผู้ชนะในแต่ละปีคำขวัญ
จำนวนครั้งที่แต่ละประเทศชนะการประกวดตารางด้านล่างแสดงจำนวนครั้งที่แต่ละประเทศชนะการประกวด เรียงตามจำนวนครั้งและปีที่ชนะล่าสุด ตามลำดับ โดยในการประกวดแต่ละปีจะมีผู้ชนะเพียงประเทศเดียว ยกเว้นปี 1969 ซึ่งแสดงเป็น ตัวเอียง ในตาราง ที่มีผู้ชนะ 4 ประเทศ
รายชื่อผู้ชนะ
อ้างอิง
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ การประกวดเพลงยูโรวิชัน |