การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (อังกฤษ: 2021 United Nations Climate Change Conference) หรือรู้จักในชื่อย่อ คอป 26 (COP26) เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 ภายใต้การนำของอาล็อก ชาร์มา[1] การประชุมจัดขึ้นที่เอสอีซีเซนเตอร์ในกลาสโกว์ แผนเดิมตั้งใจจะจัดในเดือนพฤศจิกายน 2020 แต่ถูกเลื่อนอีกไปปีเต็มเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19[2] การเจรจาการประชุมของผู้นำโลกมีขึ้นเมื่อวันที่ 1 ถึง 2 พฤศจิกายน[3] เป้าหมายสำคัญของผู้จัดการประชุมอยู่ที่การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส[4] รวมถึงมีการพูดคุยเกี่ยวกับการลดและเลิกใช้ถ่านหิน[5] รายงานของบีบีซีระบุตัวบุคคลที่อาจเป็นกุญแจสำคัญในการทำข้อตกลงได้แก่ เซี่ย เจินหัว, อายมาน ชาสลี, เชค ฮาซีนา และเตเรซา ริเบรา[6] ประเทศจีนระบุว่าจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดก่อนปี 2030 และจะกลายมาเป็นรัฐที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060[7] การตัดไม้ทำลายป่าผู้นำมากกว่า 100 ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของผืนป่ามากกว่า 85% ของโลก ได้บรรลุข้อตกลงหยุดการทำลายป่าภายในปี 2030 ที่น่าสนใจคือบรรดาผู้ลงนามเหล่านี้รวมถึงประเทศที่มีปัญหาการทำลายป่า เช่น บราซิล, แคนาดา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, สหรัฐ, จีน และอินโดนีเซีย[8] ถ่านหินมีการตั้งข้อตกลงไว้ว่าประเทศแอฟริกาใต้จะได้รับทุนอุดหนุน 8.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อหยุดการพึ่งพาถ่านหินในประเทศ[9][10] มีเทนสหรัฐและหลายประเทศบรรลุข้อตกลงที่จะหยุดการปล่อยแก๊สมีเทน[11] มากกว่า 80 ประเทศลงนามในคำปฏิญาณมีเทนโลก ยินยอมที่จะลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 ผู้นำสหรัฐและรัฐยุโรประบุว่าการลดการปล่อยแก๊สมีเทนซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจกสำคัญนั้นจะมีส่วนสำคัญมากต่อการคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส[12] ประเทศที่ปฏิเสธข้อตกลงนี้ได้แก่ ออสเตรเลีย, ชิลี, รัสเซีย, อินเดีย, อิหร่าน และจีนเป็นต้น อ้างอิง
|