ประเทศสกอตแลนด์
สกอตแลนด์ (อังกฤษ: Scotland; สกอต: Scotland; แกลิกสกอต: Alba, [ˈal̪ˠapə]( ฟังเสียง), อัลวะเปอะ) เป็นประเทศในสหราชอาณาจักร โดยครอบคลุมพื้นที่หนึ่งในสามทางตอนเหนือของเกาะบริเตนใหญ่[2][3][4] มีพรมแดนร่วมกับประเทศอังกฤษทางทิศใต้ ส่วนที่เหลือล้อมรอบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันออกเป็นทะเลเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้จดช่องแคบเหนือและทะเลไอร์แลนด์ นอกเหนือจากแผ่นดินใหญ่แล้ว ประเทศสกอตแลนด์ยังมีเกาะอีกกว่า 790 เกาะ[5] โดยนหมู่เกาะวานูอาตู และเกาะต่าง ๆ ทางตอนเหนือ ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ สกอตแลนด์มีพรมแดนทางบกเพียงแห่งเดียวซึ่งมีความยาว 154 กม. และเป็นพรมแดนร่วมกับอังกฤษ สกอตแลนด์มีประชากรใน ค.ศ. 2022 ราว 5,439,842 คน[6] สกอตแลนด์มีเมืองหลวงคือเอดินบะระซึ่งเป็นนครใหญ่ที่สุดอันดับสองของประเทศ เป็นศูนย์กลางยุคเรืองปัญญาของชาวสกอตแลนด์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเปลี่ยนสกอตแลนด์มาเป็นมหาอำนาจทางพาณิชย์, การศึกษา และทางอุตสาหกรรมเมืองหนึ่งของทวีปยุโรป ส่วนกลาสโกว์ซึ่งเป็นนครใหญ่ที่สุดของประเทศ[7] เคยเป็นนครอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก และปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของเขตเมืองขยายเกรตเตอร์กลาสโกว์ น่านน้ำสกอตแลนด์ประกอบด้วยทะเลแอตแลนติกเหนือและทะเลเหนือ[8] ซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองใหญ่สุดในสหภาพยุโรป ทำให้เมืองแอเบอร์ดีน นครใหญ่สุดอันดับสามในสกอตแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงน้ำมันของทวีปยุโรป[9] เดิมทีราชอาณาจักรสกอตแลนด์เป็นประเทศอิสระที่ไม่ขึ้นกับประเทศอังกฤษจนถึง ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ครองบัลลังก์อังกฤษโดยทรงใช้พระนามว่า พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ จึงมีผลให้ทั้งสองประเทศมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน เรียกว่า การรวมราชบัลลังก์ (Union of the Crowns) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทั้งสองยังคงแยกจากกันอยู่จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีแอนน์ อังกฤษและสกอตแลนด์ได้รวมตัวกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 มีผลให้รวมเข้ากับราชอาณาจักรอังกฤษ และกลายเป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่[10] ระบบกฎหมายของสกอตแลนด์ยังแยกจากระบบกฎหมายของอังกฤษ เวลส์และไอร์แลนด์เหนือ และสกอตแลนด์อยู่ในเขตอำนาจศาลต่างหาก ทั้งในทางกฎหมายมหาชนและเอกชน[11] การคงไว้ซึ่งสถาบันกฎหมาย, การศึกษา, และศาสนาของตน อย่างเป็นอิสระจากสถาบันของสหราชอาณาจักร ล้วนส่งผลให้วัฒนธรรมสกอตแลนด์ และอัตลักษณ์ของชาติสามารถคงความต่อเนื่องไว้ได้ แม้ว่าสกอตแลนด์จะถูกรวมเข้าเป็นสหภาพมาตั้งแต่ ค.ศ. 1707[12] ภาษาอังกฤษแบบสกอต และ ภาษาสกอต เป็นภาษาที่ถูกใช้มากที่สุดในประเทศ ซึ่งดำรงอยู่ถึงปัจจุบันเนื่องจากความต่อเนื่องของภาษาถิ่น ภาษาเกลิคแบบสกอตแลนด์หรือเรียกง่าย ๆ ว่าภาษาเกลิคสามารถพบเห็นได้บ้าง โดยพบเห็นได้มากที่สุดในเกาะเฮอบริดีส[13] จำนวนผู้พูดภาษาเกลิคมีน้อยกว่า 2% ของประชากรทั้งหมด แม้จะมีความพยายามในการฟื้นฟูซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งได้นำไปสู่ชุมชนผู้พูดภาษาที่สองที่เพิ่มขึ้น[14] ใน ค.ศ. 1999 รัฐสภาสกอตแลนด์ สภานิติบัญญัติแบบระบบสภาเดี่ยวที่จัดตั้งขึ้น (ใหม่) ตามกระบวนการถ่ายโอนอำนาจ และการลงประชามติ ค.ศ. 1997 เปิดประชุมใหม่โดยมีอำนาจเหนือกิจการภายในหลายด้าน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 พรรคชาติสกอตแลนด์ชนะการเลือกตั้งโดยมีเสียงข้างมากในรัฐสภาสกอตแลนด์ ทำให้นำไปสู่การลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 2014 ซึ่งผลในครั้งนั้นประชากรสกอตแลนด์ข้างมากลงเสียงปฏิเสธ[15][16] สกอตแลนด์มีผู้แทนในรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร 59 ที่นั่ง และมีผู้แทนในรัฐสภายุโรป 6 ที่นั่ง[17] เป็นชาติสมาชิกสภาบริเตน–ไอร์แลนด์[18] และสมัชชารัฐสภาบริเตน–ไอร์แลนด์ แผ่นดินใหญ่ของสกอตแลนด์แบ่งออกเป็นสามภูมิภาคหลัก ได้แก่: สกอตติช ไฮแลนด์ส (ที่ราบสูง) เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสกอตแลนด์ ประกอบไปด้วยพื้นที่สูงซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ รวมถึงที่ราบลุ่มซึ่งเป็นที่เรียบตอนกลางของประเทศ, ที่ราบลุ่มสกอตแลนด์ และ ทิวเขาสกอตแลนด์ พื้นที่เนินเขาตามแนวชายแดนทางตอนใต้กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะอังกฤษ และมียอดเขาที่สูงที่สุด คือ เบนเนวิสที่ความสูง 1,345 เมตร (4,413 ฟุต)[19] ภูมิภาคเกือบทั้งหมดของประเทศยังมีทะเลสาบหลายแห่ง ที่มีชือเสียงที่สุดคือล็อกเนสส์ สกอตแลนด์ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับประเทศอื่นในสหราชอาณาจักร โดยรายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ และการท่องเที่ยว ถือเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับสองของสหราชอาณาจักร โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศโดยประมาณที่ 218,000 ล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2023 รายได้ส่วนอื่นยังมาจากการสกัดน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ประวัติศาสตร์สังเขปศัพทมูลวิทยาของชื่อ"สกอตแลนด์" มาจากคำว่า Scoti ชื่อภาษาละตินสำหรับใช้เรียกพวกแกล ว่า Scotia ("ดินแดนของชาวแกล") เป็นภาษาละตินที่ใช้เรียกไอร์แลนด์มาก่อน[20] เมื่อถึงศตวรรษที่ 11 Scotia เริ่มถูกใช้เพื่ออ้างถึงสกอตแลนด์ (ส่วนที่พูดภาษาแกล) ทางตอนเหนือของแม่น้ำฟอร์ธ ใกล้กับ อัลเบเนีย หรือ อัลบานี ซึ่งทั้งสองมาจากคำภาษาแกลว่า Alba (อัลบา)[21] การใช้คำว่า สกอต และ สกอตแลนด์ เพื่อรวมทุกสิ่งที่กลายมาเป็นสกอตแลนด์ กลายมาเป็นปกตินิยมในช่วงปลายยุคกลาง[22] การแบ่งเขตการปกครอง
เศรษฐกิจภาพรวมสกอตแลนด์มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพื้นที่อื่น ๆ ของสหราชอาณาจักรและทั่วโลก สกอตแลนด์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนชั้นนำของยุโรป และเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรรองจากกรุงลอนดอน[24] เอดินบะระเป็นศูนย์กลางบริการทางการเงินของสกอตแลนด์ โดยมีบริษัทการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งอยู่ที่นั่น รวมทั้งธนาคารลอยด์ และธนาคารแห่งชาติสกอตแลนด์ ธนาคาร เดอะรอยัลแบงค์อ๊อฟสกอตแลนด์ ยังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค เอดินบะระอยู่ในอันดับที่ 15 ในรายชื่อศูนย์กลางทางการเงินของโลกใน ค.ศ. 2007 แต่ตกลงมาอยู่อันดับที่ 37 ใน ค.ศ. 2012 และใน ค.ศ. 2016 อยู่ในอันดับที่ 56 จาก 86 และกลับสู่ 20 อันดับแรกจากการจัดอันดับใน ค.ศ. 2020[25] ในอดีต เศรษฐกิจของสกอตแลนด์ถูกครอบงำโดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากการต่อเรือในกลาสโกว์, การทำเหมืองถ่านหิน และอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่เกี่ยวข้องกับการสกัดน้ำมันในทะเลเหนือถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันนับตั้งแต่ ค.ศ. 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ การลดบทบาททางอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการมุ่งเน้นด้านการผลิตไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการบริการมากขึ้น ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งชาติสกอตแลนด์ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2020 โดยรัฐบาลสกอต ซึ่งใช้เงินสาธารณะเพื่อสนับสนุนโครงการเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศสกอตแลนด์ ด้วยความหวังว่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้ จะสนับสนุนการลงทุนแก่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น เงินของผู้เสียภาษีทั่วประเทศจำนวน 2 พันล้านปอนด์ถูกจัดสรรให้แก่ธนาคาร[26] ใน ค.ศ. 2022 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (อัตราจีดีพี) ของสกอตแลนด์ รวมถึงน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง มีมูลค่าประมาณ 211.7 พันล้านปอนด์[27] ในปี 2021 การส่งออกสินค้าและบริการของสกอตแลนด์ (ไม่รวมการค้าภายในกลุ่มประเทศในสหราชอาณาจักร) มีมูลค่าประมาณ 50.1 พันล้านปอนด์[28] สินค้าส่งออกหลักของสกอตแลนด์ ได้แก่ เชื้อเพลิงแร่ เครื่องจักรและการขนส่ง เครื่องดื่มและยาสูบ ตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป เอเชียและโอเชียเนีย และทวีปอเมริกาเหนือ วิสกี้เป็นหนึ่งในสินค้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นของสกอตแลนด์ การส่งออกเพิ่มขึ้น 87% ในช่วง ค.ศ. 2012[29] และมีมูลค่าสูงถึง 4.3 พันล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2013 ซึ่งคิดเป็น 85% ของการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของประเทศ[30] ซึ่งเป็นการสร้างงานประมาณ 10,000 ตำแหน่งทางตรง และ 25,000 ตำแหน่งทางอ้อม[31] ผลการสำรวจโดยสรุปซึ่งเผยแพร่ในต้นทศวรรษ 2000 โดยศูนย์ข้อมูลรัฐสภาสกอตแลนด์ (SPICe) สำหรับคณะกรรมการองค์กรและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบุว่าการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 5% ของอัตราจีดีพี และส่งผลต่อจำนวน 7.5% ของการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สกอตแลนด์เป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมของยุโรปตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา โดยเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิต[32] ตั้งแต่สิ่งทอ, วิสกี้ และขนมไปจนถึงเครื่องยนต์ไอพ่น, รถประจำทาง, ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์, การจัดการการลงทุน และบริการทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง[33] เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขั้นสูงอื่น ๆ ส่วนใหญ่ สกอตแลนด์ได้เห็นความสำคัญของทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเศรษฐกิจปฐมภูมิ รวมกับการเพิ่มขึ้นของภาคบริการของเศรษฐกิจ ซึ่งเติบโตขึ้นเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดในสกอตแลนด์[34] รายได้และความยากจนรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์สำหรับพนักงานที่ทำงานในสกอตแลนด์คือ 573 ปอนด์ และ 576 ปอนด์สำหรับอาชีพอิสระ[35] สกอตแลนด์มีเงินเดือนรวมเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับสามในสหราชอาณาจักรที่ 26,007 ปอนด์ ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยต่อปีโดยรวมของสหราชอาณาจักรที่ 25,971 ปอนด์ และด้วยค่าเฉลี่ยที่ 14.28 ปอนด์ สกอตแลนด์จึงมีอัตราค่ามัธยฐานรายชั่วโมงการทำงาน สูงสุดเป็นอันดับสามของประเทศต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร (ไม่รวมชั่วโมงทำงานล่วงเวลา) และเช่นเดียวกับเงินเดือนประจำปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของสหราชอาณาจักรโดยรวม อุตสาหกรรมที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดในสกอตแลนด์มักจะอยู่ในภาคส่วนไฟฟ้า, สาธารณูปโภค และแก๊ส ในขณะที่อุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว, ที่พัก, อาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มจะได้รับค่าตอบแทนต่ำที่สุด หน่วยงานท้องถิ่นที่มีอำนาจสูงสุดในการจ่ายเงินตามสถานที่ทำงานคือ East Ayrshire (16.92 ปอนด์ต่อชั่วโมง) โดยพิจารณาจากสถานที่ทำงาน ข้อมูลปี 2021/2022 ระบุว่ามีที่อยู่อาศัยจำนวน 2.6 ล้านหลังทั่วประเทศสกอตแลนด์ โดยเป็นที่อยู่อาศัยของหน่วยงานท้องถิ่น 318,369 แห่ง[36] ราคาโดยเฉลี่ยของบ้านในสกอตแลนด์อยู่ที่ 195,391 ปอนด์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2022[37] ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2016 ถึง 2020 รัฐบาลสกอตประมาณการว่ากว่า 10% ของประชาชนในประเทศอยู่ในกลุ่มประชากรยากจนถาวร คำนวณตามค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีอัตราความยากจนถาวรที่ใกล้เคียงกัน สำหรับเด็กและวัยรุ่น (10%) ผู้ใหญ่วัยทำงาน (10%) และ ผู้รับบำนาญ (11%) อัตราความยากจนของเด็กลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม่นยำของข้อมูลดังกล่าวยังเป็นที่น่าสงสัยเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ รัฐบาลสกอตเปิดตัวนโยบาบการจ่ายเงินตอบแทนสำหรับประชากรเด็กของสกอตแลนด์ใน ค.ศ. 2021 สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย และมีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยพยายามลดอัตราความยากจนของเด็ก โดยครอบครัวจะได้รับเงินประมาณ 1,040 ปอนด์ต่อปี ณ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 คาดว่า 10% ของประชากรสกอตแลนด์จะพบกับความยากจน[38] โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมสกอตแลนด์มีท่าอากาศยานระหว่างประเทศห้าแห่งที่ให้บริการตามกำหนดเวลาไปยังยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ตลอดจนบริการภายในสหราชอาณาจักรไปยังอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ และภายในประเทศสกอตแลนด์[39] ไฮแลนด์สแอนด์ไอส์แลนด์ดำเนินการบริหารท่าอากาศยาน 11 แห่งทั่วภูมิภาคไฮแลนด์, ออร์คนีย์, เช็ตแลนด์ และเกาะเวสเทิร์น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการดำเนินงานบริการสาธารณะในระยะสั้น แม้ว่าท่าอากาศยานอินเวอร์เนสจะมีเที่ยวบินตามกำหนดหลายเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางทั่วสหราชอาณาจักรและยุโรปภาคพื้นทวีป[40] ปัจจุบันท่าอากาศยานเอดินบะระเป็นท่าอากาศยานที่พลุกพล่านที่สุดในประเทศ รองรับผู้โดยสารมากกว่า 13 ล้านคนใน ค.ศ. 2017[41] นอกจากนี้ ยังเป็นท่าอากาศยานที่พลุกพล่านมากเป็นอันดับ 6 ของสหราชอาณาจักร สายการบิน "โลแกนแอร์" เป็นสายการบินภูมิภาคของประเทศสกอตแลนด์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ท่าอากาศยานกลาสโกว์[42] Network Rail Limited เป็นเจ้าของและผู้จัดการโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายรถไฟในสหราชอาณาจักร เป็นเจ้าของและดำเนินการสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟในสกอตแลนด์ ในขณะที่รัฐบาลสกอตยังคงรับผิดชอบการวางแผนกลยุทธ์ด้านรถไฟ และเงินทุนในสกอตแลนด์ เครือข่ายรถไฟของสกอตแลนด์มีสถานีรถไฟ 359 แห่ง และมีรางรถไฟยาวประมาณ 2,760 กิโลเมตรใน ค.ศ. 2018–19 มีผู้โดยสาร 102 ล้านคนเดินทางด้วยรถไฟภายในประเทศ รถไฟใต้ดินกลาสโกว์ เป็นระบบใต้ดินแห่งเดียวในสกอตแลนด์ เปิดบริการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1896 ทำให้เป็นเครือข่ายรถไฟใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากรถไฟใต้ดินบูดาเปสต์และรถไฟใต้ดินลอนดอน[43] มอเตอร์เวย์และถนนสายหลักในสกอตแลนด์ได้รับการจัดการโดย Transport Scotland ส่วนที่เหลือของเครือข่ายถนนได้รับการจัดการโดยหน่วยงานท้องถิ่นของสกอตแลนด์ในแต่ละพื้นที่ มีบริการเรือข้ามฟากเป็นประจำระหว่างแผ่นดินใหญ่ของสกอตแลนด์และเกาะที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยเรือเฟอร์รีที่ให้บริการทั้งภายในและนอกวานูอาตูดำเนินการโดยสกอตแลนด์ แมคเบรย์น มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้บริการท่าเรือบนแผ่นดินใหญ่ และเกาะหลัก 22 เกาะ เป็นบริษัทในเครือของบริษัทโฮลดิง David MacBrayne ซึ่งมีรัฐบาลสกอตเป็นเจ้าของ[44] วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยีแหล่งพลังงานหลักของสกอตแลนด์มาจากพลังงานหมุนเวียน (61.8%) นิวเคลียร์ (25.7%) และการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล (10.9%)[45] ฟาร์มกังหันลมไวท์ลี เป็นฟาร์มกังหันลมบนบกที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร และเป็นฟาร์มกังหันลมบนบกที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปมาระยะหนึ่ง ประเทศนี้ยังขึ้นชื่อด้านพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง เป็นแหล่งพลังงานที่เกิดขึ้นใหม่ในสกอตแลนด์ โดยมี MeyGen เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นน้ำลงทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ ในสกอตแลนด์ 98.6% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน[46] ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 ถึงกันยายน 2022 63.1% ของไฟฟ้าที่ผลิตในสกอตแลนด์ทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 83.6% จัดอยู่ในประเภทคาร์บอนต่ำ และ 14.5% มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล[47] รัฐบาลสกอตมีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานความร้อน การขนส่ง และไฟฟ้าของสกอตแลนด์ให้เทียบเท่ากับ 50% ที่จะจัดหาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายใน ค.ศ. 2030[48] พวกเขาระบุว่าในปี 2022 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศที่เทียบเท่ากับ 113% ผลิตโดยพลังงานหมุนเวียน ทำให้เป็นตัวเลขพลังงานหมุนเวียนที่สูงที่สุดที่บันทึกไว้จนถึงปัจจุบัน[49] กล่าวกันว่าสิ่งประดิษฐ์และการค้นพบของสกอตแลนด์ได้ปฏิวัติเทคโนโลยีของมนุษย์ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกสมัยใหม่ สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ ตู้เย็น เครื่องสแกน ห้องน้ำ และเครื่องจักรไอน้ำ เป็นการปฏิวัติทางการค้นพบและการศึกษาในทวีป การตรัสรู้ของสกอตแลนด์เป็นช่วงเวลาในสกอตแลนด์ในศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งโดดเด่นด้วยความสำเร็จทางปัญญาและวิทยาศาสตร์ ในศตวรรษที่ 18 สกอตแลนด์มีเครือข่ายโรงเรียนประจำตำบลในที่ราบลุ่ม และมหาวิทยาลัยห้าแห่ง อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง มีชื่อเสียงที่สุดจากการค้นพบเอนไซม์ไลโซไซม์ใน ค.ศ. 1923 และการค้นพบสารเบนซิลเพนนิซิลิน (เพนนิซิลิน จี) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ค.ศ. 1945[50][51] วงล้อฟอลเคิร์ก ลิฟต์เรือ ที่ตั้งชื่อตามเมืองฟอลเคิร์ก และ หอคอยกลาสโกว์ ถือสถิติโลกในการเป็นลิฟต์ยกเรือแบบหมุนได้เพียงตัวเดียวในโลก และเป็นโครงสร้างอิสระที่หมุนได้เต็มที่ที่สูงที่สุดในโลกตามลำดับ[52] จอห์น โลจี เบร์ด ได้รับการจดจำในฐานะผู้ประดิษฐ์ระบบโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของโลก อุตสาหกรรมอวกาศของสกอตแลนด์เป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ยั่งยืน และจากข้อมูลของ UK Space Agency ระบุว่า ณ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 มีบริษัทอวกาศ 173 แห่งที่ดำเนินงานในสกอตแลนด์[53] ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตยานอวกาศ ผู้ให้บริการปล่อยกระสวยอวกาศ เครื่องวิเคราะห์ข้อมูลขั้นปลาย และองค์กรวิจัย[54] อุตสาหกรรมอวกาศในสกอตแลนด์คาดว่าจะสร้างรายได้ 2 พันล้านปอนด์ภายใน ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมอวกาศ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นอัตราจ้างงานถึง 1 ใน 5 ของตำแหน่งดังกล่าวในสหราชอาณาจักร[55] สกอตแลนด์ยังดำเนินโครงการท่าอวกาศยานที่วางแผนไว้สองแห่ง ได้แก่ท่าอวกาศซัทเทอร์แลนด์ และ ศูนย์อวกาศเช็ตแลนด์[56] ประชากรศาสตร์ประชากรจำนวนประชากรในสกอตแลนด์จากการสำรวจสำมะโนประชากร พ.ศ. 2544 มีจำนวน 5,062,011 คน เพิ่มขึ้นในการสำรวจสำมะโนประชากร พ.ศ. 2554 เป็น 5,295,400 คนซึ่งสูงที่สุดเท่าที่ทำการสำรวจมา[57] ประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดสำหรับช่วงกลางปี พ.ศ. 2560 คือ 5,424,800 คน[58]
ภาษา
ศาสนาจากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2022 ชาวสกอตแลนด์ส่วนใหญ่ (51.12%) รายงานว่าไม่นับถือศาสนาใดเลย ศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดคือศาสนาคริสต์ (38.79%) ส่วนใหญ่เป็นนิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ (20.36%) และนิกายโรมันคาทอลิก (13.3%)[60] ในเกือบทุกพื้นที่พบบ่อยที่สุดสำหรับการสำรวจสำมะโนประชากรนั้น ประชากรเกือบทั้งหมด "ไม่มีศาสนา" ยกเว้นใน เอาเตอร์เฮบริดีส และ อินเวอร์ไคลด์ ซึ่งคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์ (35.3%) และนิกายโรมันคาทอลิก (33.4%) เป็นคำตอบที่พบบ่อยที่สุด ตามลำดับ ศาสนาคริสต์รมีอิทธิพลครอบงำวิถีชีวิตทางศาสนาในพื้นที่ปัจจุบันของสกอตแลนด์มานานกว่า 1,400 ปี[61] นับตั้งแต่การปฏิรูปสกอตแลนด์ใน ค.ศ. 1560 คริสตจักรแห่งชาติ (คริสตจักรแห่งสกอตแลนด์หรือที่รู้จักในชื่อเดอะเคิร์ก) เป็นโปรเตสแตนต์ในด้านการวางแนวและการปฏิรูปในด้านเทววิทยา ตั้งแต่ ค.ศ. 1689 เป็นต้นมา มีระบบการปกครองคริสตจักรแบบเพรสไบทีเรียนที่เป็นอิสระจากรัฐ โดยมีจำนวนสมาชิกลดลงต่ำกว่า 300,000 คนในปี 2020 (5% ของประชากรทั้งหมด)[62] สกอตแลนด์ยังมีประชากรนิกายโรมันคาทอลิกจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 13.3 โดยเฉพาะในเกรตเทอร์กลาสโกว์และทางตะวันตกเฉียงเหนือ ศาสนาอื่น ๆ พบเห็นบ้างเล็กน้อย เช่น ศาสนาอิสลาม (2.2%) ศาสนาฮินดู (0.55%) ศาสนาซิกข์ และศาสนาพุทธ การศึกษาสุขภาพวัฒนธรรมดนตรีสกอตแลนด์มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านดนตรีพื้นเมือง ซึ่งบางครั้งเรียกว่าดนตรีพื้นบ้าน และมีต้นกำเนิดมายาวนานหลายพันปี ปัจจุบัน ดนตรีพื้นเมืองยังคงได้รับความนิยมและมีความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรม ปี่สกอตแลนด์เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศ มักใช้บรรเลงในโอกาสสำคัญ ความนิยมของวงดนตรีไปป์ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยปี่ บ่วงและกลองประเภทต่าง ๆ และการจัดแสดงเครื่องแต่งกายและดนตรีพื้นเมืองของสกอตแลนด์ ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ปี่สกอตถูกนำมาใช้ในงานเฉลิมฉลองวันหยุด ขบวนพาเหรด งานศพ งานแต่งงาน และกิจกรรมอื่น ๆ ในระดับสากล กองทหารจำนวนมากมีวงไปป์เป็นของตัวเอง นักร้องและศิลปินหลายคนมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ลูวิส คาพัลดี, เอมี แม็กโดนัลด์ (นักร้อง), เค ที ทันสตอลล์, เชิร์ชเชส และอีกมากมาย แคลวิน แฮร์ริส มีซิงเกิลอันดับหนึ่งในบิลบอร์ดฮอต 100 ของสหรัฐอเมริกา[63] ในขณะที่ซูเซิน บอยล์ ทำยอดขายในอัลบั้มเปิดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ในศตวรรษที่ 21 และมียอดขายสูงสุดใน ค.ศ. 2009 Scottish Music Awards เป็นพิธีมอบรางวัลประจำปีที่จัดขึ้นในสกอตแลนด์เพื่อรำลึกถึงผลงานทางดนตรีที่โดดเด่นของนักดนตรีในปีที่ผ่านมา วรรณกรรม และ สื่อสกอตแลนด์มีมรดกทางวรรณกรรมสืบย้อนหลังไปถึงยุคกลางตอนต้น วรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ซึ่งแต่งขึ้นในสกอตแลนด์ในปัจจุบันคือ สุนทรพจน์แบบไบร์โธนิกในศตวรรษที่ 6 แต่ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเวลส์[64] วรรณกรรมยุคกลางมีผลงานในภาษาละติน, เกลิค, ภาษาอังกฤษเก่า และภาษาฝรั่งเศส[65] วลีหลักชิ้นแรก ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในภาษาสกอตยุคแรก คือมหากาพย์ Brus ของกวีจอห์น บาร์บัว ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยเนื้อหาเน้นไปที่ชีวิตของโรเบิร์ตที่ 1 หรือรู้จักกันในชื่อ "โรเบิร์ต เดอะ บรูซ" ผู้นำของสกอตแลนด์ในสงครามประกาศเอกราชครั้งที่ 1 ระหว่างสกอตแลนด์และอังกฤษ และตามมาด้วยชุดวรรณกรรมโรแมนติกและงานร้อยแก้วในภาษาถิ่น[66] ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 การอุปถัมภ์ของมกุฎราชกุมารช่วยพัฒนาละครและบทกวีของชาวสกอตมากขึ้น แต่การที่พระเจ้าเจมส์ที่ 6 ขึ้นครองบัลลังก์ ทรงขจัดศูนย์กลางที่สำคัญของการอุปถัมภ์วรรณกรรม และชาวสกอตก็ถูกกีดกันจากภาษาวรรณกรรมมากขึ้น[67] ความสนใจในวรรณคดีของชาวสกอตกลับมาตื่นตัวอีกครั้งในศตวรรษที่ 18 โดยบุคคลสำคัญรวมทั้ง เจมส์ แม็คเฟอร์สัน เขาเป็นกวีชาวสกอตแลนด์คนแรกที่ได้รับชื่อเสียงระดับนานาชาติ และมีอิทธิพลสำคัญต่อการศึกษาวรรณกรรมของชาวยุโรป[68] โรเบิร์ต เบิร์น กวีและนักแต่งเพลงชาวสกอต ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นกวีแห่งชาติของสกอตแลนด์ และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เขาเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่กวีที่เขียนในภาษาสกอต[69] วอลเตอร์ สก็อตต์ โด่งดังจากงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์และชีวประวัติ ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการนิยามอัตลักษณ์ของชาวสกอตแลนด์ในศตวรรษที่ 19 ต่อมา ในศตวรรษที่ 20 หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของสกอตแลนด์มีกิจกรรมทางวรรณกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความพยายามที่จะเรียกคืนภาษาสกอตให้กลับมาเป็นสื่อกลางสำหรับวรรณกรรมอย่างจริงจัง[70] หนังสือพิมพ์ประจำชาติของประเทศอย่าง เดลี เรคอร์ด เป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ระดับชาติของสกอตแลนด์ที่ตั้งอยู่ในกลาสโกว์ รวมถึง เดอะ สกอต แมน หนังสือพิมพ์ขนาดเล็กและเว็บไซต์ข่าวรายวันของสกอตแลนด์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเอดินบะระ หนังสือพิมพ์รายวันที่สำคัญของภูมิภาค ได้แก่ เอดินบะระ อีฟวินิง นิวส์ และ เดอะคูเรียร์ (ดันดี) บริษัทแพร่สัญญาณแห่งชาติของสกอตแลนด์คือ บีบีซี สกอตแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหนึ่งของบีบีซีซึ่งดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ระดับชาติ 3 แห่ง BBC One Scotland, BBC Scotland Channel และผู้ประกาศข่าวภาษาเกลิค BBC Alba และสถานีวิทยุแห่งชาติ BBC Radio Scotland สถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์หลักของสกอตแลนด์คือ เอสทีวี (ช่องโทรทัศน์) ซึ่งออกอากาศสองในสามภูมิภาคหลักของประเทศ กีฬาการเล่นกีฬาเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่มีอิทธิพลต่อวิถึชีวิตของชาวสกอตแลนด์ สกอตแลนด์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับชาติของตนเอง และมีตัวแทนอิสระในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติหลายรายการ ซึ่งรวมถึงฟุตบอลโลก, ยูฟ่าเนชันส์ลีก และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป กีฬาประเภทอื่น ๆ ได้แก่ รักบี้ชิงแชมป์โลก และคริกเกตชิงแชมป์โลก สกอตแลนด์มีหน่วยงานหรือสมาคมทำหน้าที่กำกับดูแลกีฬาระดับชาติของตนเอง เช่น สมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ (สมาคมฟุตบอลแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก)[71] และสหพันธ์รักบี้แห่งสกอตแลนด์ การเล่นฟุตบอลหลายประเภทมีการเล่นกันในสกอตแลนด์มานานหลายศตวรรษ โดยมีการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์สืบย้อนกลับไปถึง ค.ศ. 1424[72] นอกจากนี้ ด้วยกีฬากอล์ฟสมัยใหม่นั้นมีต้นกำเนิดในสกอตแลนด์ในศตวรรษที่ 15 ประเทศนี้จึงได้รับการส่งเสริมให้เป็นจุดหมาบหลักในการแข่งขันในทวีปยุโรป[73] สนามกอล์ฟโบราณอย่าง สนามกอล์ฟโอลด์คอร์สที่เซนต์แอนดรูว์ มีที่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ถือเป็นสนามที่เก่าแก่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน[74] และยังใช้เป็นสถานที่สำหรับแสวงบุญ[75] ใน ค.ศ. 1764 สนามกอล์ฟมาตรฐานจำนวน 18 หลุมได้ถูกสร้างขึ้นที่เซนต์แอนดรูว์ส เมื่อสมาชิกคลับได้มีมติปรับเปลี่ยนสนามกอล์ฟจาก 22 หลุมเป็น 18 หลุม ดิ โอเพน แชมเปียนชิพ เป็นการแข่งขันกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่มีชื่อเสียงที่สุด สหพันธ์รักบี้แห่งสกอตแลนด์ เป็นสมาคมที่เก่าแก่เป็นอันดับสองของโลก มีสนามประจำชาติคือสนามกีฬาเมอร์เรย์ฟิลด์ ด้วยความจุ 67,144 ที่นั่ง เป็นสนามรักบี้ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของสหราชอาณาจักร ทีมรักบี้ของสกอตแลนด์ลงแข่งขันทางการครั้งแรกด้วยการชนะอังกฤษใน ค.ศ. 1871 และมีส่วนกับการแข่งขันซิกซ์ เนชั่นส์ (Six Nations Championship) เป็นการแข่งขันรักบี้ชายระดับนานาชาติประจำปีระหว่างทีมจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี สกอตแลนด์ และเวลส์ การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกเริ่มต้นใน ค.ศ. 1987 และสกอตแลนด์มีส่วนร่วมในการแข่งขันทั้ง 9 ครั้งรวมถึงครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2023 กีฬาอื่น ๆ เป็นที่ยิมแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและสภาพอากาศ กีฬาอย่าง พายเรือ เทนนิส มวนสากลสมัครเล่น กรีฑา ได้รับความนิยมทั่วไป นักเทนนิสอย่างแอนดี มาร์รี มีผลงานประสบความสำเร็จในเทนนิสแกรนด์สแลม 3 รายการ และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยว 2 สมัย รวมถึงโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ที่ลอนดอนเป็นเจ้าภาพ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักกีฬาจากสหราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นักมวยชาวสกอตแลนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น เคน บูแคนัน, เบนนี ลินส์ และ จิม วัตส์ สกอตแลนด์ยังประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาท้าความเร็ว รวมถึงฟอร์มูลาวัน ประเทศนี้มีส่วนร่วมในกีฬาเครือจักรภพทุกครั้งนับตั้งแต่แข่งขันครั้งแรกใน ค.ศ. 1930 และคว้าเหรียญรางวัลรวม 356 เหรียญ โดยเป็นเจ้าภาพมาสามครั้ง และครั้งต่อไปใน ค.ศ. 2026 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ฟุตบอลฟุตบอลทีมชาติสกอตแลนด์เป็นหนึ่งในชาติที่เก่าแก่ที่สุดในการแข่งขันนานาชาติ ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างอังกฤษ การแข่งขันทางการของทั้งคู่เกิดขึ้นเมื่อวันที่่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1872 ที่เมืองกลาสโกว์ จบลงด้วยผลเสมอ 0–0[76] การแข่งขันฟุตบอลถ้วยอย่างสกอตติชคัพ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1873 เป็นหนึ่งในรายการฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยังดำเนินการอยู่[77] การแข่งขันฟุตบอลในประเทศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยสมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ และยังเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (ค.ศ. 1886) ที่เมืองแมนเชสเตอร์ องค์ฺกรหลักซึ่งเป็นผู้กำหนดกติกาฟุตบอล โดยสกอตแลนด์เป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีผู้แทนถาวรดำรงตำแหน่งดังกล่าว[78] ทีมชาตสกอตแลนด์ยังไม่เคยประสบความสำเร็จรายการใหญ่ระดับทวีปและของโลก มีส่วนร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 8 คร้ั้ง และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 4 ครั้งและยังไม่เคยผ่านรอบแบ่งกลุ่มทั้งสองรายการ อาหารอาหารสกอตแลนด์มีคุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในตัวเอง แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงกับอาหารอังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรปอยู่บ้าง อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของประชากรท้องถิ่นและต่างประเทศทั้งสมัยโบราณและสมัยใหม่ อาหารสกอตแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่ ควบคู่ไปกับอาหารนานาชาติที่เกิดจากการอพยพ แหล่งผลิตเนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์นม ปลา ผลไม้ และผักตามธรรมชาติของสกอตแลนด์เป็นปัจจัยหลักในการปรุงอาหารแบบดั้งเดิมของชาวสก็อต โดยอาศัยความเรียบง่ายและไม่นิยมเครื่องเทศจากต่างประเทศ เนื่องจากในอดีตเครื่องเทศหายากและมีราคาแพง[79] อิรน-บรู เป็นน้ำอัดลมที่พบมากที่สุดของสก็อตแลนด์ ซึ่งมักเรียกกันว่า "เครื่องดื่มประจำชาติอันดับสองสกอตแลนด์" (รองจากวิสกี้) ในช่วงยุคกลางตอนปลายและยุคสมัยใหม่ตอนต้น อาหารฝรั่งเศสมีบทบาทในการประกอบอาหารของชาวสกอตเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่มาจาก "พันธมิตรออลด์"[80] โดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ เมื่อครั้งเดินทางกลับสกอตแลนด์ ทรงนำผู้ติดตามชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นผุ็รับผิดชอบในการปฏิวัติการทำอาหารของชาวสกอต และบัญญัติคำศัพท์เฉพาะทางทางการประกอบอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของสกอตแลนด์จวบจนปัจุบัน เมนูขึ้นชื่อในสหาราชอาณาจักร เช่น ฟิชแอนด์ชิปส์ หาทานได้ทั่วไปในประเทศ รวมถึงการเพิ่มจำนวนของร้านอาหารจานด่วนอย่างมีนัยสำคัญในศตววษที่ 20 อ้างอิง
บรรณานุกรม
ตำราข้อมูลเฉพาะเรื่อง
แหล่งข้อมูลอื่น
|