Share to:

 

การละเล่นพื้นเมือง

การละเล่นพื้นเมือง คือ การละเล่นที่แสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถแบ่งตามการละเล่นแต่ละภาค ได้แก่

ความแตกต่างของการละเล่นจะปรากฏใน ลักษณะ ท่าทางการร่ายรำ คำร้อง ดนตรี และการแต่งกาย การละเล่นเป็นกิจกรรมบันเทิงที่แฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ อันเนื่องด้วยวัฒนธรรมและประเพณี สะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อของสังคมที่สืบทอดมาแต่โบราณ การละเล่นบางอย่างของแต่ละภาคอาจได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่มีพรมแดนติดต่อหรือใกล้เคียงกันกัน เช่น ประเทศลาว กัมพูชา พม่า จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ได้มีการบันทึกว่า คนไทยมีการละเล่นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากความในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ 1 กล่าวว่า “…ใครใคร่จักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน…” และในสมัยอยุธยา ก็ได้กล่าวถึงการแสดงเรื่อง มโนห์รา ไว้ในบทละครครั้ง กรุงเก่า ได้กล่าวถึงการละเล่นนั้นบทละครนั้น ได้แก่ ลิงชิงหลัก และปลาลงอวน ประเพณีและวัฒนธรรมสมัยก่อน มักสอดแทรกความสนุกสนานบันเทิงควบคู่กันไปกับการทำงาน ทั้งในชีวิตประจำวัน และเทศกาลงานบุญ ตามระยะเวลาแห่งฤดูกาล

ลักษณะของกิจกรรมบันเทิงที่จัดอยู่ในการละเล่น ได้แก่

  • การแสดง หมายถึงการละเล่นที่รวมทั้งที่เป็นแบบแผนและการแสดงทั่วไปของชาวบ้าน ในรูปแบบการร้อง การบรรเลง การฟ้อนรำ ซึ่งประกอบด้วยดนตรี เพลงและนาฏศิลป์
  • มหรสพ หมายถึงการแสดงที่ฝ่ายบ้านเมืองจะเรียกเก็บค่าแสดงเป็นเงินภาษีแผ่นดินตามพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ตั้งแต่พุทธศักราช 2404 เป็นต้นมา ประกาศมหรสพว่าด้วยการละเล่นหลายประเภท ดังนี้ ละคร งิ้ว หุ่น หนังต่างๆ เพลง สักวา เสภา ลิเก กลองยาว ลาวแพน มอญรำและทวายรำ พิณพาทย์ มโหรี กลองแขก คฤหัสถ์สวดศพ และจำอวด
  • กีฬาและนันทนาการ คือ การละเล่นเพื่อความสนุกสนานตามเทศกาลและเล่นตามฤดูกาล และการละเล่นเพื่อการแข่งขัน หรือกิจกรรมที่ทำตามความสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และผ่อนคลายความตึงเครียด

การละเล่นของแต่ละวัย

การละเล่นของเด็ก
จะเริ่มตั้งแต่เป็นทารกแบเบาะจนกระทั่งเจริญวัย มีการละเล่นง่ายๆอยู่ภายในบ้าน การละเล่นสนุกนอกบ้าน การละเล่นที่นำอุปกรณ์การเล่นมาจากวัสดุธรรมชาติ เป็นการเล่นที่มุ่งเพื่อการพัฒนาร่างกาย สมอง และจิตใจตามวัย การละเล่นไทยของเด็ก ดังตัวอย่างการละเล่นเด็กไทย เช่น การเล่นรีรีข้าวสาร การเล่นโพงพาง การเล่นจ้ำจี้ ฯลฯ
การละเล่นของผู้ใหญ่
มีความซับซ้อนในวิธีการเล่นตามประเภทการแสดง มีทั้งมุ่งแสดงเพื่อบวงสรวงสิ่งศักสิทธิ์อันเป็นพิธีกรรมการเฉลิมฉลองพระเกียรติพระมหากษัตริย์ การสมโภชน์งานทางศาสนา และการสังสรรค์สนุกสนานของชาวบ้าน เช่น การแสดงละคร การฟ้อนรำ การแสดงโขน ลำตัด ลิเก ฯลฯ

การเล่นเพลงและระบำรำฟ้อน

การเล่นเพลง ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงปฏิพากย์ คือร้องเกี้ยวพาราสีโต้ตอบด้วยวาทะโวหารระหว่างหญิง ชาย เช่น

  1. เพลงเกี่ยวข้าวเกี่ยวนา
  2. เพลงเต้นกำรำเคียว
  3. เพลงฉ่อย
  4. เพลงเรือ
  5. เพลงพวงมาลัย
  6. เพลงอีแซว
  7. เพลงนา
  8. ลำตัด

ฯลฯ

การระบำรำฟ้อนจะเป็นการร่ายรำตามศิลปะของแต่ละท้องถิ่นถือว่าเป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองจึงนิยมเล่นหรือแสดงกันในท้องถิ่น ในภาษาไทยมีคำว่า รำบำ หรือระบำ มักจะเป็นการร่ายรำทั่วไป ส่วนฟ้อนจะใช้เฉพาะภาคเหนือ

  1. ฟ้อนภูไท
  2. ฟ้อนเทียน
  3. ฟ้อนเล็บ
  4. ฟ้อนดาบ
  5. ฟ้อนเงี้ยว
  6. รำวง
  7. รำลาวกระทบไม้
  8. รำกลองสะบัดชัย ฯลฯ

การเล่นเข้าผี

การเล่นเข้าผี คือการเชิญวิญญาณสิ่งที่ประสงค์จะให้มาเข้าทรงผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เป็นสื่อเพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง ในรูปแบบต่างๆ เล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชาย มักเล่นในเทศกาลเข้าพรรษา แต่ละภาคมีการละเล่นต่างๆกัน

  1. ภาคกลาง ได้แก่ การเล่นแม่ศรี ลิงลม ผีกะลา ผีนางกวัก ฯลฯ
  2. ภาคใต้ เรียกการเข้าผีว่า การเล่นเชื้อ ได้แก่ เชิญผีช้าง ผีหงส์ ผีมดแดงเป็นต้น
  3. ภาคเหนือ เป็นการฟ้อนเชิญผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย มาเซ่นไหว้ตามประเพณี ส่วนการเล่นผีที่เรียกว่า นายเด้ง คือการเล่นแม่ศรีอย่างภาคกลาง
  4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชิญผีปู่ย่าตายายมาเซ่นไหว้เช่นเดียวกับภาคเหนือ

การเล่นเข้าผีนิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ของทุกภาค แต่จะแพร่หลายมากในภาคกลาง ภาคเหนือ เรียกว่า ฟ้อนผี ซึ่งจะมีผีหลายชนิด ภาคใต้ เรียกว่า การเล่นเชื้อ อุปกรณ์การเล่นขึ้นอยู่กับการเลือกเล่น เข้าผีชนิดใด เช่น ผีสุ่มก็ใช้สุ่ม ผีกะลาก็ใช้กะลา มีเครื่องประกอบการเล่น เช่น ธูป เทียน สำหรับจุดเชิญ และผ้าผูกตา เป็นต้น ส่วนที่สำคัญคือ คนรับอาสาให้ผีเข้า มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชาย มักเล่นในเวลาเย็นหรือย่ำค่ำ ผีที่นิยมเล่นคือ

  1. ผีคน ได้แก่ เล่นแม่ศรี ผีเจ็ก ผีนางกวัก
  2. ผีสัตว์ ได้แก่ ผีลิงลม ผีควาย ผีช้าง ผีหงส์ ผีมดแดง ผีอึ่งอ่าง ผีปลา ฯลฯ
  3. ผีที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ ได้แก่ ผีกระด้ง ผีสุ่ม ผีกะลา ผีจวัก

วิธีเล่น เมื่อจุดธูปเชิญผีแล้ว ก็ผูกผ้าปิดตา ผู้อาสาเชิญผีเข้า ต่อมาจึงร้องเพลงเชิญผี เชิญผีชนิดใดก็ร้องเพลงของผีชนิดนั้นๆ เนื้อความของเพลงที่ร้องจะร้องกันมาแต่โบราณ ร้องซ้ำๆกัน หลายๆครั้ง จนอาสาให้ผีเข้าเริ่มโงนเงนแสดงว่าผีมาแล้ว ผู้ร่วมเล่นจะร้องเพลงเชิญชวนให้ร่ายรำ กระโดดโลดเต้น และวิ่งไปวิ่งมา หรือไล่จับกันไปตามอริยาบถของลักษณะผี เมื่อเล่นเป็นที่พอใจแล้วประสงค์จะให้ผีออก ก็ร้องตะโกนที่หูหรือผลักให้ล้ม กระโดดข้ามตัวผู้อาสาเชิญไปมา 3 เที่ยว ผู้อาสาเชิญผีเข้าก็จะรู้สึกตัวเป็นปกติ

การกีฬาและนันทนาการ

การกีฬาและนันทนาการ เล่นกันทั่วทุกภาค ได้แก่

  1. มวยไทย
  2. กระบี่กระบอง
  3. ว่าว
  4. ตะกร้อ
  5. วิ่งเปี้ยว
  6. สะบ้า
  7. หมากรุก
  8. วิ่งวัวคน
  9. แข่งเรือ
  10. ชักเย่อ
  11. ชนวัว
  12. แข่งวิ่งควาย

ฯลฯ การละเล่นพื้นเมืองจะเล่นในยามว่าง หรืองานเทศกาลสำคัญๆเช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เล่นในพิธีสำคัญๆซึ่งจะมีการละเล่นที่แตกต่างกันไป

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya