การออกอากาศคู่ขนานการออกอากาศคู่ขนาน (อังกฤษ: Simulcast ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง Simultaneous และ Broadcast) คือการแพร่สัญญาณออกอากาศรายการหรือกิจกรรมผ่านสื่อมวลชนมากกว่า 1 สื่อ หรือมากกว่า 1 ช่องทางบนสื่อเดียวกันในเวลาเดียวกัน (นั่นคือการออกอากาศพร้อมกันมากกว่า 1 ช่องทาง) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชมได้รับชมเนื้อหาเดียวกันได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น เช่น การออกอากาศคู่ขนานระหว่างวิทยุด้วยกันในคนละระบบ, กระจายเสียงทางวิทยุพร้อมกับการแพร่ภาพทางโทรทัศน์, การแพร่ภาพระบบแอนะล็อกพร้อมกับระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน การแพร่ภาพทางโทรทัศน์พร้อมกับการออกอากาศสดในเนื้อหาดังกล่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือการดึงสัญญาณภาพจากช่องอื่นมาออกอากาศก็ได้ การออกอากาศแบบคู่ขนานเริ่มมีขึ้นในปี ค.ศ. 1925[1] แต่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นในปี ค.ศ. 1948 โดยตัวแทนสื่อมวลชนที่ WCAU-TV จากเมืองฟิลาเดลเฟีย[2] การออกอากาศคู่ขนานในประเทศไทยในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม 6 ช่อง ที่ออกอากาศอยู่ในระบบแอนะล็อก ได้ทดสอบสัญญาณการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล เพื่อเตรียมสำหรับการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในประเทศไทย โดยการออกอากาศเนื้อหาในช่องทีวีแอนะล็อกของตนเองบนทีวีดิจิทัล คู่ขนานไปกับการออกอากาศทีวีแอนะล็อกตามเดิม จากนั้น ทุกช่องก็ได้ออกอากาศคู่ขนานเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะยุติออกอากาศระบบอนาล็อก ยกเว้นสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและผู้รับสัมปทานทีวีแอนะล็อกเป็นคนละนิติบุคคลกัน จนกระทั่งช่อง 3 นำความขึ้นร้องต่อศาลปกครอง และผลคือศาลปกครองได้ทำข้อตกลงให้ช่อง 3 แอนะล็อก ออกอากาศคู่ขนานในภาพความละเอียดสูงทางช่อง 33 ในระบบดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 จนถึง 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ ในช่วงเวลาของพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีสำคัญของประเทศไทย ที่มีการถ่ายทอดสด โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่จัดการเป็นหลัก โดยมีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม 1 ใน 6 ช่อง เป็นแม่ข่าย และให้สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลทุกช่องดึงสัญญาณไปออกอากาศคู่ขนาน รวมถึงการออกอากาศข่าวในพระราชสำนัก ซึ่งมีเพียงสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม 6 ช่องที่ทำข่าว ทำให้สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องอื่น ๆ ต้องดึงสัญญาณจาก 6 ช่องนี้มาออกอากาศคู่ขนานแทน รวมถึงปัจจุบัน รายการข่าวทุกรายการของทุกช่องได้มีการถ่ายทอดสดทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และยังมีสถานีโทรทัศน์ที่ดึงสัญญาณภาพรายการข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นมาออกอากาศ เช่น ทรูโฟร์ยู ที่ดึงสัญญาณภาพรายการข่าวจากช่องทีเอ็นเอ็น 16 มาออกอากาศคู่ขนานไปพร้อมกัน หรือ จีเอ็มเอ็ม 25 ที่ดึงสัญญาณภาพรายการข่าวจากช่องวัน 31 มาออกอากาศคู่ขนานในระยะแรก และดึงสัญญาณในบางข่าวสำคัญมาออกอากาศร่วมในปัจจุบัน ดูเพิ่มอ้างอิง
|