งูผ้าขี้ริ้ว
งูผ้าขี้ริ้ว เป็นงูในจำพวกงูทะเลชนิดเดียวที่พบในประเทศไทยที่ไม่มีพิษ โดยที่มิได้อยู่ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) เหมือนงูทะเลทั่วไป มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acrochordus granulatus ในวงศ์งูงวงช้าง (Acrochordidae) ตัวสีเทาลายเทาเข้มปนน้ำเงินหรือสีเทาดำสลับกับสีขาว เกล็ดที่หนังมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่ท้องไม่มีเกล็ด ลักษณะลำตัวเหมือนงูงวงช้าง (A. javanicus) ซึ่งเป็นงูในวงศ์เดียวกัน ลำตัวนุ่มนิ่มเหมือนผ้าขี้ริ้ว อันเป็นที่มาของชื่อ หนังย่นได้มาก สามารถพับงอตัวได้ดี ขณะยังเล็กอยู่จะมีลายสีเข้มและสีจางลง เมื่อโตขื้น ขนาดยาวเต็มที่ประมาณ 1.6 เมตร อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นตามพื้นโคลนตามชายฝั่งทะเล, ป่าชายเลน หรือปากแม่น้ำ ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นโคลนมากกว่าอยู่ในน้ำใส กินปลาเป็นอาหาร พบกระจายพันธุ์กว้างขวางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เป็นงูชนิดที่เคลื่อนไหวได้ดีในน้ำ แต่จะเชื่องช้าเมื่อขึ้นมาอยู่บนบก มีพฤติกรรมผสมพันธุ์ในเดือนกรกฎาคมไปจนถึงปลายปี ออกลูกเป็นตัว ลูกงูจะเกิดมาในช่วงเดือนมิถุนายนปีถัดมา โดยงูตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถกินอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ มีอุปนิสัย ไม่ดุ มักติดอวนของชาวประมงอยู่บ่อย ๆ เมื่อถูกจับได้และขดตัวอยู่นิ่ง ๆ แสร้งทำเป็นตาย นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง พบขายตามร้านขายปลา มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "งูม้าลาย"[2] [3] อ้างอิงแหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ งูผ้าขี้ริ้ว ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Acrochordus granulatus ที่วิกิสปีชีส์ |