Share to:

 

ชื่ออากาศยานญี่ปุ่นตั้งโดยฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง

Identification chart of Japanese aircraft

ชื่ออากาศยานญี่ปุ่นตั้งโดยฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นนามเรียกขานอาวุธ ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของชื่อรหัส ตั้งโดยทหารฝ่ายสัมพันธมิตรให้แก่อากาศยานของจักรวรรดิญี่ปุ่นระหว่างสงครามมหาสมุทรแปซิฟิก สงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อดังกล่าวถูกใช้เป็นช่วยในการระบุลักษณะของอากาศยานญี่ปุ่นที่พบในการรบเพื่อการรายงานและจุดประสงค์เพื่อบอกรูปร่างลักษณะ โดยทั่วไปแล้วชื่อของชายชาวตะวันตกจะใช้ตั้งกับเครื่องบินขับไล่ ส่วนชื่อหญิงจะถูกใช้กับอากาศยานประเภทอื่น รวมทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินขนส่ง และเครื่องบินสอดแนม

ประวัติศาสตร์

ระหว่างปีแรกของสงครามมหาสมุทรแปซิฟิกที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประสบความยากลำบากในการระบุลักษณะของอากาศยานญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็ว รัดกุมและแม่นยำระหว่างการรบ โดยทหารฝ่ายสัมพันธมิตรพบว่าระบบการตั้งชื่ออากาศยานของญี่ปุ่นนั้นทำให้สับสนและไม่สะดวก ภายใต้ระบบการตั้งชื่ออากาศยานของญี่ปุ่น อากาศยานจะได้รับการตั้งชื่อสองชื่อ หนึ่งคือรหัสโครงการที่เป็นตัวอักษรเลขของผู้ผลิต ส่วนอีกชื่อหนึ่งเป็นการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการโดยฝ่ายทหารซึ่งตั้งอยู่บนประเภทของอากาศยานและปีที่เริ่มเข้าประจำการ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบินขับไล่ มิตซูบิชิ เอ 5 เอ็ม มีชื่อเรียกทางทหารว่า เครื่องบินขับไล่ประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประเภท 96 กองทัพเรือ ประเภท 96 หมายความว่า อากาศยานดังกล่าวได้เข้าประจำการในปีจักรพรรดิ 2596 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1936 ในปฏิทินเกรกอเรียน อากาศยานอื่น ๆ ที่เข้าประจำการในปีเดียวกันจะได้ชื่อทางทหารคล้ายกัน รวมไปถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประเภท 96 และเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีภาคพื้นดินประเภท 96[1]

กลางปี ค.ศ. 1942 เรืออากาศเอกแฟรงก์ ที. แมคคอย นายทหารข่าวกรองของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาจากกลุ่มทิ้งระเบิดที่ 38 ได้รับมอบหมายไปยังหน่วยข่าวกรองเทคนิคทางอากาศในออสเตรเลีย เพื่อพยายามคิดค้นหาวิธีการที่ง่ายขึ้นในการระบุอากาศยานของญี่ปุ่น ร่วมกับจ่าทหารฝ่ายเทคนิค ฟรานซิส เอ็ม. วิลเลียมส์ และสิบโทโจเซฟ แกรตตัน แมคคอยได้แบ่งอากาศยานญี่ปุ่นออกเป็นสองประเภท คือ เครื่องบินขับไล่และอากาศยานประเภทอื่น โดยให้ชื่อเครื่องบินขับไล่อย่างผู้ชายและอากาศยานประเภทอื่นอย่างผู้หญิง ในภายหลัง เครื่องบินทำการฝึกจะได้ชื่อตามต้นไม้[2]

ระบบของแมคคอยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปยังหน่วยอื่นของสหรัฐและฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดทั้งยุทธบริเวณแปซิฟิก เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1942 กองทัพสหรัฐทั้งหมดในแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกได้เริ่มใช้ระบบของแมคคอย รายชื่อดังกล่าวมีชื่ออากาศยานทั้งหมด 122 ชื่อ และถูกใช้จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติ จนถึงปัจจุบัน บันทึกประวัติศาสตร์ตะวันตกจำนวนมากเกี่ยวกับสงครามมหาสุมทรแปซิฟิกยังคงใช้ระบบดังกล่าวในการระบุอากาศยานของญี่ปุ่น[3]

อ้างอิง

  1. Gamble, p. 253.
  2. Gamble, p. 254; Dear, p. 245.
  3. Gamble, p. 255.

บรรณานุกรม

  • Bergerud, Eric M. (2000). Fire in the Sky: The Air War in the South Pacific. Boulder, CO, USA: Westview Press. ISBN 0-8133-3869-7.
  • Dear, I. C. B. (General Editor) (1995). The Oxford Companion to World War II. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-866225-4. {{cite book}}: |first= มีชื่อเรียกทั่วไป (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  • Gamble, Bruce (2010). Fortress Rabaul: The Battle for the Southwest Pacific, January 1942 - April 1943. Minneapolis, MN, USA: Zenith Press. ISBN 978-0-7603-2350-2.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • Mikesh, Robert C. (1993). Japanese Aircraft Code Names & Designations. Schiffer Publishing, Ltd. ISBN 978-0887404474.
Kembali kehalaman sebelumnya