ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์แห่งบัลแกเรีย
ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ (บัลแกเรีย: Иван Срацимир) เป็นซาร์แห่งบัลแกเรียในวีดินตั้งแค่ ค.ศ. 1356 - 1396 คาดว่าพระองค์น่าจะประสูติใน ค.ศ. 1324 หรือ 1325 และน่าจะสวรรคตใน ค.ศ. 1397 แม้ว่าจะเป็นพระราชโอรสองค์โตในซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ไม่ได้เป็นผู้สืบราชสมบัติโดยตรงของบิดา แต่เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาคืออีวัน ชิชมันที่ได้สืบทอดต่อจากพระบิดาแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงสถาปนาตนเป็นซาร์ในวีดิน เมื่อราชอาณาจักรฮังการีเข้าโจมตีและยึดครองวีดิน พระองค์ได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาในการชับไล่กองทัพของฮังการี ภายหลังจากการสวรรคตของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ใน ค.ศ. 1371 ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ได้ตัดความสัมพันธ์กับเตอร์โนโว และให้อาร์คบิชอปแห่งวีดินขึ้นตรงกับอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลเพื่อแสดงถึงความเป็นอิสระ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของวีดิน ส่งผลให้ดินแดนของพระองค์ปลอดภัยจากการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งกำลังรุกรานพื้นที่ทางใต้ของคาบสมุทรบอลข่าน และพระองค์มิได้ส่งความช่วยเหลือใดๆแก่พระอนุชาของพระองค์ในการป้องกันดินแดนจากการรุกรานของออตโตมัน จนกระทั่งหลังสงครามการเสียกรุงเตอร์นอวอใน ค.ศ. 1393 พระองค์จึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านออตโตมันมากขึ้น และได้เข้าร่วมในกองทัพครูเสดของพระเจ้าซีกิสมุนท์แห่งฮังการี อย่างไรก็ตามหลังจากการรบที่นิกอปอล กองทัพออตโตมันสามารถเข้ายึดเมืองวีดินได้ และจับตัวซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ไปจองจำไว้ในเมืองบูร์ซา ซึ่งพระองค์อาจถูกรัดคอจนสวรรคตที่นั่น แม้ว่าพระโอรสของพระองค์ เจ้าชายกอนสตันตินจะอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งซาร์และปกครองดินแดนบางส่วนของพระบิดาของพระองค์ แต่โดยทั่วไปแล้วนักประวัติศาสตร์มักนับซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ เป็นซาร์พระองค์สุดท้ายของบัลแกเรียยุคกลาง เนินเขาสรัตซีมีร์บนคาบสมุทรตรีนิตีในแอนตาร์กติกาเป็นสถานที่ที่ตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์[1] วัยเยาว์ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ประสูติที่เมืองลอแวชใน ค.ศ. 1324 หรือ 1325 โดยเป็นพระโอรสพระองค์ที่สองของซารีนาแตออดอราและซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1331–1371) ซึ่งขณะนั้นพระบิดาของพระองค์ยังดำรงตำแหน่งเป็นเดสเปิตแห่งลอแวช[2] ต่อมาพระบิดาสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิร่วมใน ค.ศ. 1337 ขณะมีพระชนมายุสิบกว่าพรรษา ร่วมกับพระเชษฐาของพระองค์คือมีคาอิล อาแซนที่ 4และอีวัน อาแซนที่ 4[3] การสถาปนาในครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นหายนะแก่บัลแกเรีย เนื่องจากไม่มีการระบุอย่างชัดเจนถึงสิทธิพระราชอำนาจของพระโอรส นำไปสู่ความเป็นปรปักษ์ระหว่างกัน[2] อีวัน สรัตซีมีร์ขึ้นมามีบทบาทอย่างโดดเด่นในคริสต์ทศวรรษ 1340 เนื่องจากพระองค์อภิเษกสมรสกับอันนาแห่งวอเลเคียและมีพระราชบุตรแล้ว ขณะที่พระเชษฐาพระองค์ใหญ่อย่างมีคาอิล อาแซนและพระชายายังไม่มีพระราชบุตรทั้งที่เสกสมรสมากว่าสิบปี ต่อมาซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ตั้งตำแหน่งใหม่คือ ยุวจักรพรรดิ (junior emperor) ใน ค.ศ. 1352 เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนพระราชบัลลังก์อย่างราบรื่นและปลอดภัย และนับแต่นั้นอีวัน สรัตซีมีร์ก็เป็นที่รู้จักในฐานะยุวจักรพรรดิ[4] ทว่าประมาณช่วงปลาย ค.ศ. 1347 หรือช่วงต้น ค.ศ. 1348 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ตัดสินพระทัยหย่ากับพระมเหสีพระองค์แรก และส่งไปพำนักที่อาราม จากนั้นได้อภิเษกสมรสใหม่กับซารีนาซาราซึ่งเป็นชาวยิว เหตุการณ์ครั้งนี้ทำลายความสัมพันธ์ของอีวัน สรัตซีมีร์และพระบิดาของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้นความขัดแย้งยิ่งมีมากขึ้น เมื่ออีวัน ชิชมันประสูติจากพระมเหสีพระองค์ที่สองใน ค.ศ. 1350/1351[5] ความขัดแย้งถึงจุดสูงสุดใน ค.ศ. 1355–1356 เมื่อมีคาอิล อาแซนที่ 4 ซึ่งเป็นรัชทายาทที่ไม่อาจโต้แย้งได้สิ้นพระชนม์จากการรบกับออตโตมันใน[6] ตามระบบมาฌอรา อีวัน สรัตซีมีร์จะเป็นลำดับถัดไปในการสืบราชสมบัติ แต่การที่อีวัน ชิชมันเป็นผู้กำเนิดในสีม่วงคือประสูติในสมัยครองราชย์ของพระบิดา ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์และซารีนาซารา-แตออดอราได้ประกาศให้อีวัน ชิชมันเป็นรัชทายาทสืบราชสมบัติ[4][6] สิ่งที่บอกใบ้ถึงความบาดหมางระหว่างพระองค์กับพระบิดาคือพระวรสารซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ที่ไม่ปรากฎภาพของพระองค์ ขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมดปรากฎในพระวรสารนั้น อันรวมถึงพระชามาดาของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ด้วย ดังนั้นจึงอาจหมายความได้ว่าอีวัน สรัตซีมีร์ถูกตัดออกจากราชบัลลังก์และสถาปนาพระองค์เองเป็นจักรพรรดิในวีดินหรือพระองค์ถูกปฏิเสธตำแหน่งยุวจักรพรรดิและได้รับตำแหน่งผู้ปกครองวีดินเป็นการชดเชย[4][7] อ้างอิงแหล่งข้อมูล
|