Share to:

 

ซิฟิลิส

ซิฟิลิส
(Syphilis)
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แสดงให้เห็นเชื้อซิฟิลิสมีลักษณะเกลียว
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการแผลที่ผิวหนัง แข็ง ไม่เจ็บไม่คัน[1]
สาเหตุเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ส่วนใหญ่ติดทางการมีเพศสัมพันธ์[1]
วิธีวินิจฉัยการตรวจเลือด[1]
โรคอื่นที่คล้ายกันหลายโรค[1]
การป้องกันการใช้ถุงยางอนามัย, การงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์[1]
การรักษายาปฏิชีวนะ[2]
ความชุก45.4 ล้านคน / 0.6% (2015)[3]
การเสียชีวิต107,000 คน (2015)[4]

ซิฟิลิส (อังกฤษ: syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum[2] ผู้ป่วยอาจมีอาการได้หลายอย่างขึ้นกับระยะที่เป็น (ระยะแรก ระยะที่สอง ระยะแฝง และระยะที่สาม)[1] ระยะแรกผู้ป่วยมักมีแผลริมแข็ง ซึ่งจะไม่เจ็บ แต่อาจมีแผลเจ็บขึ้นต่างหากได้[1] ระยะที่สองมักมีผื่นขึ้นทั่วตัว มักพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า[1] อาจมีแผลเจ็บในปากหรือในช่องคลอดได้[1] บางครั้งอาจเรียกว่า "ระยะออกดอก"[5] ระยะแฝงอาจไม่มีอาการใดๆ ได้นานหลายปี[1] และระยะที่สามจะมีก้อนเนื้อกัมมา และอาการทางระบบประสาทหรือหัวใจได้[6] บางครั้งโรคนี้ถูกเรียกว่าเป็นนักเลียนแบบผู้ยิ่งใหญ่ เนื่องจากทำให้มีอาการได้หลากหลาย คล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ หลายโรค[1][6]

ซิฟิลิสติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก[1] นอกจากนี้ยังอาจติดจากมารดาไปยังทารกได้ทั้งในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด ทำให้ทารกป่วยจากโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้[1][7] เชื้อ T. pallidum มีสปีชีส์ย่อยหลายชนิด ซึ่งทำให้เกิดโรคต่างๆ กันไป โดยสปีชีส์ย่อย pallidum ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส, pertenue ทำให้เกิดโรคคุดทะราด (yaws), carateum ทำให้เกิดโรคพินตา (pinta) และ endemicum ทำให้เกิดโรคเบเจล (bejel)[6] การวินิจฉัยมักต้องอาศัยอาการและการตรวจเลือด ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อนี้ได้ผ่านการตรวจกล้องจุลทรรศน์แบบฉากมืด[1] ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายได้รับการตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิสเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจฝากครรภ์[1] รวมถึงในประเทศไทยด้วย[8]

สามารถลดโอกาสการติดเชื้อซิฟิลิสจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย[1] การรักษาสามารถทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ[2] ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ยาที่แนะนำให้ใช้คือยาเพนนิซิลลินชนิดเบนซาทีนโดยฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ[2] ในกรณีที่แพ้ยาเพนิซิลลินอาจใช้ดอกซีซัยคลินหรือเตตราซัยคลินแทนได้[2] กรณีผู้ป่วยซิฟิลิสเข้าระบบประสาทแนะนำให้ใช้เบนซิลเพนิซิลลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือใช้เซฟไตรอะโซนแทน[2] ระหว่างการรักษาผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เรียกปฏิกิริยาเหล่านี้ว่าปฏิกิริยาแบบจาริค-เฮิร์กซ์ไฮเมอร์[2]

ข้อมูลปี พ.ศ. 2558 พบว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อซิฟิลิสราว 45.4 ล้านคน[3] และเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ล้านคน[9] ในปี พ.ศ. 2559 มีผู้เสียชีวิตจากซิฟิลิส 107,000 คน ซึ่งลดลงจากสถิติปี พ.ศ. 2533 ที่เคยสูงถึง 202,000 คน[10][4] จำนวนผู้ป่วยเคยลดลงจากเดิมมากในช่วงคริสตทศวรรษ 1940 เมื่อมีการค้นพบยาเพนิซิลลิน แต่หลังจากเข้ายุค 20s ซึ่งมีการระบาดของเอชไอวี จำนวนผู้ติดเชื้อก็เริ่มกลับเพิ่มสูงขึ้น[6][11] เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการสำส่อนทางเพศ การค้าประเวณี การใช้ถุงยางอนามัยที่ลดลง การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยของกลุ่มชายที่เพศสัมพันธ์กับชาย[12][13][14] พ.ศ. 2558 คิวบาเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดการส่งผ่านเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ[15] ในประเทศไทยพบว่าข้อมูล พ.ศ. 2556 มีจำนวนผู้ป่วยซิฟิลิส 3.67 ต่อประชากรแสนคน[16]

การป้องกัน

วิธีการป้องกันโรคซิฟิลิสที่ง่ายที่สุดคือการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลาที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เพื่อเป็นการป้องกันโรค ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากเป็นคู่รักใหม่ควรพาไปตรวจเลือดก่อนการมีเพศสัมพันธ์หรือแต่งงาน เพราะหากพบโรคจะได้รักษาได้ทันเวลา นอกจากนี้หากสงสัยว่าเป็นโรคซิฟิลิส ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การรักษา

หากผู้ป่วยรู้ว่าตนเองเป็นโรคซิฟิลิสในระยะแรกหรือเริ่มต้น ผู้ป่วยไม่ควรกังวลหรือเครียด เพราะจะยิ่งทำให้สุขภาพร่างกาย และจิตใจทรุดโทรม แต่ผู้ป่วยควรพบแพทย์อยู่เป็นประจำ เพราะในระยะแรกยังมีทางรักษาให้หายขาดได้ โดยการทานยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลิน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ แต่ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับสุขภาพและโรคที่เป็นด้วย

อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยรักษาจนหายขาดแล้ว แต่ก็อย่ามั่นใจว่าจะหายขาด ผู้ป่วยควรมีการติดตามผลอย่างเป็นประจำ โดยการกลับมาตรวจซ้ำ ๆ อีกครั้ง ทุก ๆ 3 เดือน จนครบ 3 ปี และควรปฏิบัติคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และสิ่งที่สำคัญที่สุดคืองดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อแก่ผู้อื่น

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 "Syphilis - CDC Fact Sheet (Detailed)". CDC. 2 พฤศจิกายน 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "Syphilis". CDC. 4 มิถุนายน 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2016. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016.
  3. 3.0 3.1 GBD 2015 Disease and Injury Incidence and Prevalence, Collaborators. (8 ตุลาคม 2016). "Global, regional, and national incidence, prevalence, and years lived with disability for 310 diseases and injuries, 1990-2015: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2015". Lancet. 388 (10053): 1545–1602. PMID 27733282. {{cite journal}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  4. 4.0 4.1 GBD 2015 Mortality and Causes of Death, Collaborators. (8 ตุลาคม 2016). "Global, regional, and national life expectancy, all-cause mortality, and cause-specific mortality for 249 causes of death, 1980-2015: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2015". Lancet. 388 (10053): 1459–1544. PMID 27733281. {{cite journal}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  5. "เรื่องที่ 2 โรคติดต่อและโรคเขตร้อน". โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. Vol. 10.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Kent ME, Romanelli F (กุมภาพันธ์ 2008). "Reexamining syphilis: an update on epidemiology, clinical manifestations, and management". Annals of Pharmacotherapy. 42 (2): 226–36. doi:10.1345/aph.1K086. PMID 18212261.
  7. Woods CR (มิถุนายน 2009). "Congenital syphilis-persisting pestilence". Pediatr. Infect. Dis. J. 28 (6): 536–7. doi:10.1097/INF.0b013e3181ac8a69. PMID 19483520.
  8. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางระดับชาติเรื่องการกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดในประเทศไทย พ.ศ. 2558. http://e-library-aidssti.ddc.moph.go.th/books/detail/347 เก็บถาวร 2018-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
  9. Newman, L; Rowley, J; Vander Hoorn, S; Wijesooriya, NS; Unemo, M; Low, N; Stevens, G; Gottlieb, S; Kiarie, J; Temmerman, M (2015). "Global Estimates of the Prevalence and Incidence of Four Curable Sexually Transmitted Infections in 2012 Based on Systematic Review and Global Reporting". PLOS ONE. 10 (12): e0143304. doi:10.1371/journal.pone.0143304. PMC 4672879. PMID 26646541.
  10. Lozano, R (15 ธันวาคม 2012). "Global and regional mortality from 235 causes of death for 20 age groups in 1990 and 2010: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010". Lancet. 380 (9859): 2095–128. doi:10.1016/S0140-6736(12)61728-0. hdl:10536/DRO/DU:30050819. PMID 23245604.
  11. Franzen, C (ธันวาคม 2008). "Syphilis in composers and musicians--Mozart, Beethoven, Paganini, Schubert, Schumann, Smetana". European Journal of Clinical Microbiology & Infectious Diseases. 27 (12): 1151–7. doi:10.1007/s10096-008-0571-x. PMID 18592279.
  12. Coffin, L. S.; Newberry, A.; Hagan, H.; Cleland, C. M.; Des Jarlais, D. C.; Perlman, D. C. (มกราคม 2010). "Syphilis in Drug Users in Low and Middle Income Countries". The International journal on drug policy. 21 (1): 20–7. doi:10.1016/j.drugpo.2009.02.008. PMC 2790553. PMID 19361976.
  13. Gao, L; Zhang, L; Jin, Q (กันยายน 2009). "Meta-analysis: prevalence of HIV infection and syphilis among MSM in China". Sexually transmitted infections. 85 (5): 354–8. doi:10.1136/sti.2008.034702. PMID 19351623.
  14. Karp, G; Schlaeffer, F; Jotkowitz, A; Riesenberg, K (มกราคม 2009). "Syphilis and HIV co-infection". European Journal of Internal Medicine. 20 (1): 9–13. doi:10.1016/j.ejim.2008.04.002. PMID 19237085.
  15. "WHO validates elimination of mother-to-child transmission of HIV and syphilis in Cuba". WHO. 30 มิถุนายน 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2015.
  16. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558. http://e-library-aidssti.ddc.moph.go.th/books/detail/323 เก็บถาวร 2018-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
  • "ซิฟิลิส". สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008.
Kembali kehalaman sebelumnya