Share to:

 

ตลาดน้ำขวัญ-เรียม

ตลาดน้ำขวัญ-เรียม

ตลาดน้ำขวัญ-เรียม เป็นตลาดน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณคลองแสนแสบ ตรงวัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้ สามารถเดินทางเข้าถึงทางรถยนต์จากซอยเสรีไทย 60 และ ซอยรามคำแหง 187

ประวัติ

ศาลขวัญ-เรียม

ก่อนจะมีตลาดน้ำขวัญ-เรียม เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 โดยในตอนนั้นวัดบำเพ็ญเหนือเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารที่ยกพลมาช่วยน้ำท่วมและมาปักหลักตั้งค่ายที่วัดนี้จนสามารถยันน้ำไม่ให้ท่วมนิคมบางชันที่อยู่ข้าง ๆ ได้สำเร็จ อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้น้ำบ่าไปถึงเขตบางกะปิได้ด้วย

ตลาดน้ำขวัญ-เรียมดำเนินการโดยบริษัทครอบครัวขนส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้สัมปทานการเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ โดยมีเชาวลิต เมธยะประภาสเป็นเจ้าของบริษัทและเป็นผู้ก่อตั้งตลาดน้ำขวัญ-เรียมอีกด้วย โครงการเริ่มต้นจากการที่หน่วยงานราชการติดต่อมาที่เชาวลิต ปรึกษาถึงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำในคลองแสนแสบ

เชาวลิตจึงเสนอแนวคิดในการออกแบบ โดยนำแนวคิดตลาดน้ำจากนิยายเรื่อง แผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม เหตุเพราะตัวละครในเรื่องคือ ไอ้ขวัญและอีเรียม ซึ่งอยู่บริเวณทุ่งบางกะปิ นำมาเป็นจุดขายในการสร้างเป็นตลาดน้ำ แม้สถานที่ตั้งอาจจะไม่อยู่ในทุ่งบางกะปิโดยตรงแต่ก็อยู่ในคลองแสนแสบเดียวกัน[1] รวมถึงเชาวลิตเคยเขียนไว้ในนามปากกาว่า ชาวเรือ ว่า "วัดบำเพ็ญเหนือ วัดบางเพ็งใต้ เหตุใดวัดทั้งสองถึงอยู่ตรงข้ามกัน มีเพียง สายน้ำกั้น อย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว ในประเทศไทย"[2] เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555 [3]

พื้นที่

สะพานรูปโครงเรือ

ตลาดน้ำขวัญ-เรียมเป็นตลาดน้ำในคลองแสนแสบระหว่าง 2 วัด คือ วัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้ เปิดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 07.00-18.00 น. โดยในช่วงเช้าเวลา 07.30 น. จะมีการตักบาตรทางเรือ[4] ซึ่งจะมีพระเณรพายเรือมารับบาตรจากญาติโยมที่ไปใส่บาตร ระหว่างสองวัดมีสะพานเชื่อมกันอยู่สองสะพาน โดยสะพานหนึ่งเป็นสะพานรูปโครงเรือ[5] แต่เดิมมีสะพานเชื่อมระหว่างวัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้แต่มีลักษณะแคบและทรุดโทรม สะพานเก่านี้ชื่อ สพานสมบุญอุทิศ มีจารึกบันทึกการสร้างไว้ พ.ศ. 2473[6] จึงได้สร้างสะพานใหม่ห่างราว 100 เมตร ลงมาทางตะวันตกของคลองแสนแสบ ทำให้ทางเดินสามารถเดินได้โดยรอบ แนวคิดการออกแบบสะพานรูปโครงเรือมาจากการที่เชาวลิตเห็นสะพานแห่งหนึ่งที่ประเทศสเปน จึงปรับมาเป็นรูปทรงเรือให้สอดคล้องกับบริบทไทย[2]

ทางฝั่งวัดบำเพ็ญเหนือ บริเวณพื้นที่ริมน้ำทำเป็นลานหญ้าเทียม มีการก่อสร้างอาคารสูง 2 ชั้น ขนานไปกับริมคลอง ชั้นล่างขายอาหารและรับประทานอาหาร ชั้นบนเป็นทางเชื่อมต่อไปยังอีกฝั่งคลอง เป็นร้านขายของ เช่นเสื้อผ้า แว่นตา กระเป๋า ริมคลองมีของขายมากมายทั้งของกินของใช้ของที่ระลึก ส่วนในลำคลองแสนแสบมีเรือหลายขนาดมาจอดขายอาหาร เช่น กาแฟ ขนม และเครื่องดื่มให้นั่งกินนั่งดื่มในเรือหรือแพ ส่วนทางฝั่งวัดบางเพ็งใต้ เป็นตลาดเก่าแบบตลาดร้อยปี มีร้านกาแฟร้านถ่ายรูปโบราณ และมีบริเวณที่มุงหลังคาขายอาหาร ขายของแบบตลาดนัดอยู่ด้วยอีกหนึ่งบริเวณ

บริเวณตลาดน้ำยังมีรูปปั้นขวัญ-เรียมขี่ควาย ตั้งไว้ข้าง ๆ กับศาลต้นไทร[7] ส่วนศาลขวัญ-เรียม อยู่ทางฝั่งวัดบางเพ็งใต้ ริมคลองแสนแสบ หน้าศาลหันเข้าฝั่งคลอง นอกจากนั้นยังมีส่วนแสดงสัตว์เลี้ยง เช่น ม้า แคระ แพรี่ด็อก และ กระต่าย

การเดินทาง

ทางรถยนต์สามารถเดินทางมาได้จากถนนเสรีไทย (วัดบำเพ็ญเหนิอ) มีรถประจำทางสาย 27 และ ปอ.502 ส่วนอีกเส้นทางมาจากถนนรามคำแหง (วัดบางเพ็งใต้) มีรถประจำทางสาย 113 และ 58 ปอ.113 และ 514[8] นอกจากนั้นในอนาคตยังสามารถเดินทางมายังตลาดน้ำได้ด้วยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม สถานีมีนพัฒนา ซึ่งมีทางขึ้น-ลง ใกล้ปากซอยรามคำแหง 187 ทางเข้าวัดบางเพ็งใต้

อ้างอิง

  1. "ตลาดน้ำ "ขวัญ–เรียม" แหล่งเที่ยวใหม่ชานเมือง". ไทยรัฐ.
  2. 2.0 2.1 อดิศร ศรีเสาวนันท์. "ตลาดนํ้าขวัญเรียม: การศึกษาปรากฏการณ์ตลาดเพื่อการท่องเที่ยวผ่านแนวคิดเรื่องสถานที่ในบริบทสังคมร่วมสมัย". หน้าจั่ว.
  3. ณภัทร ขุนทรง. "ตลาดน้ำขวัญเรียมกับการท่องเที่ยว" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  4. หนุ่มลูกทุ่ง. ""ตลาดน้ำขวัญเรียม" สีสันใหม่ในรอยแผลเก่าริมคลองแสนแสบ". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. "ตลาดน้ำขวัญเรียม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  6. ""ขวัญ-เรียม" รักชั่วฟ้าดินสลาย เคล็ด!แก้ชงบุญทดแทนคุณ". ไทยรัฐ.
  7. "จากตำนานรัก 'แผลเก่า' สู่เรื่องเล่าของ 'ตลาดน้ำขวัญ-เรียม' (ชมคลิป)". ไทยรัฐ.
  8. "ตลาดน้ำขวัญเรียม แหล่งวัฒนธรรมริมคลองแสนแสบ". กะปุก.
Kembali kehalaman sebelumnya