Share to:

 

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม
สถานีมีนบุรี
ข้อมูลทั่วไป
สถานะระหว่างการติดตั้งระบบ
ศูนย์วัฒนธรรมฯ - แยกร่มเกล้า
ระหว่างการก่อสร้าง
บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
ปลายทาง
จำนวนสถานี29 (ทั้งหมด)
17 (กำลังก่อสร้าง)
11 (กำลังก่อสร้าง)
1 (โครงการ)
เว็บไซต์mrta-orangelineeast.com
การดำเนินงาน
รูปแบบระบบขนส่งมวลชนเร็ว
ระบบรถไฟฟ้ามหานคร
ผู้ดำเนินงานบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (สัญญาสัมปทานโครงการ หมด พ.ศ. 2600)
ขบวนรถซีเมนส์ อินสไปโร (EMU-IOL)
จำนวน 96 ตู้ (32 ขบวน) : ขบวนละ 3 ตู้
ประวัติ
แผนการเปิด15 พฤษภาคม พ.ศ. 2571; อีก 3 ปี (2571-05-15) (ส่วนตะวันออก)
7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2573; อีก 5 ปี (2573-11-07) (ส่วนตะวันตก)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง35.9 กิโลเมตร (22.3 ไมล์)
ลักษณะทางวิ่งทางยกระดับ
ทางใต้ดิน
รางกว้าง1.435 เมตร
ระบบจ่ายไฟรางที่สาม
ความเร็ว80 km/h (50 mph)
แผนที่เส้นทาง

ตลาดน้ำตลิ่งชัน
บางขุนนนท์  ไฟฉาย – บางยี่ขัน 
บางขุนนนท์
ศิริราช
แม่น้ำเจ้าพระยา
สนามหลวง
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  บางขุนพรหม – สามยอด 
หลานหลวง
ยมราช  ราชวิถี – ยศเส 
ยมราช
ราชเทวี  พญาไท – สยาม 
ราชเทวี
ประตูน้ำ
ราชปรารภ  พญาไท – มักกะสัน 
ราชปรารภ
ดินแดง
ประชาสงเคราะห์
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ห้วยขวาง – พระราม 9
ศูนย์ซ่อมบำรุง
รฟม.
วัดพระราม 9 นวศรี – ศูนย์วิจัย
วัดพระราม 9
รามคำแหง 12
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
กกท.
รามคำแหง 40
แยกลำสาลี สนามกีฬาคลองจั่น
แยกลำสาลี บางกะปิ – ศรีกรีฑา
แยกลำสาลี
ศรีบูรพา
คลองบ้านม้า
สัมมากร
น้อมเกล้า
ราษฎร์พัฒนา
มีนพัฒนา
เคหะรามคำแหง
ตลาดมีนบุรี
มีนบุรี
แยกร่มเกล้า(สุวินทวงศ์)

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - แยกร่มเกล้า) (อังกฤษ: Metropolitan Rapid Transit Orange Line, MRT Orange Line) เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การร่วมลงทุนกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดิน และยกระดับ มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก - ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากบริเวณจุดตัดทางรถไฟสายสายธนบุรี (ทางรถไฟสายใต้เดิม) แล้วลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ย่านเมืองเก่า ย่านใจกลางเมืองก่อนออกไปยังชุมชนประชาสงเคราะห์และออกสู่ย่านชานเมืองถนนรามคำแหง มาสิ้นสุดเส้นทางที่ชานเมืองด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์

เส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เกิดขึ้นจากการปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง พ.ศ. 2538 ที่นำเอาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มเดิมช่วงสามเสน-บางกะปิ มาต่อขยายเส้นทางจากสามเสน (ซังฮี้) ไปยังบางบำหรุ กลายเป็นเส้นทางบางบำหรุ-บางกะปิที่กำหนดให้เป็นสายสีส้ม บรรจุในแผนแม่บทฯ ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการแก้ไขแนวเส้นทางบางส่วนโดยสลับกับโครงข่ายในเมืองของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ทำให้แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มจากเดิมกลายเป็นตลิ่งชัน - มีนบุรี และใน พ.ศ. 2554 ก็ได้มีการแก้ไขแบบแผนอีกครั้ง โดยตัดเส้นทางจากเดิมที่จะไปสิ้นสุดที่ตลิ่งชัน ให้มาสุดอยู่แค่แยกจรัญสนิทวงศ์เนื่องจากเส้นทางทับซ้อนกับสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ทำให้แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มเหลือเพียงแค่ บางขุนนนท์ - มีนบุรี

ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือเส้นทางตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเส้นทางตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางกะปิ - มีนบุรี - แยกร่มเกล้า โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมการติดตั้งระบบในเส้นทางช่วงตะวันออกเป็นอันดับแรก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วสุดภายในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2569 และเตรียมการก่อสร้างเส้นทางในช่วงตะวันตก คาดว่าเปิดให้บริการได้ครบทั้งระบบภายในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2572

ภาพรวม

เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ มีแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากจุดตัดทางรถไฟสายธนบุรี (สายใต้เดิม) กับถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านย่านที่สำคัญในพื้นที่เมืองเก่าเขตดุสิต และเขตพระนคร ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช ท้องสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเข้าสู่ย่านการค้าใจกลางเมืองบริเวณแยกประตูน้ำ แล้วมุ่งขึ้นทางเหนือเข้าสู่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ (อาคารธานีนพรัตน์) ชุมชนประชาสงเคราะห์ ออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 9 และถนนรามคำแหง สิ้นสุดโครงการบริเวณชานเมืองทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์ รวมระยะทางประมาณ 35.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เน้นการขนส่งผู้โดยสารจากชานเมืองทิศตะวันออกเข้าสู่ใจกลางเมืองและย่านเมืองเก่าทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว

พื้นที่เส้นทางผ่าน

แขวง เขต จังหวัด
ศิริราช บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
พระบรมมหาราชวัง / บ้านพานถม พระนคร
คลองมหานาค ป้อมปราบศัตรูพ่าย
สวนจิตรลดา ดุสิต
ทุ่งพญาไท / ถนนพญาไท / มักกะสัน ราชเทวี
สามเสนใน พญาไท
ดินแดง ดินแดง
ห้วยขวาง / บางกะปิ ห้วยขวาง
หัวหมาก บางกะปิ
สะพานสูง / ราษฎร์พัฒนา สะพานสูง
มีนบุรี / แสนแสบ มีนบุรี

เส้นทาง

โครงการช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางกะปิ - แยกร่มเกล้า) (กำลังติดตั้งระบบ)

ช่วงที่ 1 : ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางกะปิ

เป็นเส้นทางที่เกิดขึ้นครั้งแรกในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง พ.ศ. 2538 โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางบางกะปิ - ราษฎร์บูรณะของสายสีส้มเดิม เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่ใช้ร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคล และยังเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อการคมนาคมจากแหล่งที่พักอาศัยขนาดใหญ่ย่านบางกะปิเข้ากับสายเฉลิมรัชมงคล ที่กำหนดให้เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าวงแหวนรอบกรุงเทพฯ

เส้นทางส่วนนี้เป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นวิ่งตามแนวถนนวัฒนธรรม ออกสู่ถนนพระราม 9 ที่บริเวณหน้าที่ทำการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านแยกพระราม 9 - ประดิษฐ์มนูธรรม แล้วเข้าสู่ถนนรามคำแหง บริเวณแยกรามคำแหง ผ่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง, ราชมังคลากีฬาสถาน ไปสิ้นสุดเส้นทางที่แยกลำสาลีในย่านบางกะปิ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว - สำโรง) รวมระยะทางทั้งสิ้น 9 กิโลเมตร[1][2]

ช่วงที่ 2 : บางกะปิ - แยกร่มเกล้า

เป็นเส้นทางที่เกิดขึ้นครั้งแรกในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง พ.ศ. 2538 โดยเป็นส่วนต่อขยายของเส้นทางบางกะปิ - ราษฎร์บูรณะของสายสีส้มเดิม แต่ได้แยกออกมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล[3] เมื่อปี พ.ศ. 2548 และมีการปรับแผนแม่บทฯ รวมเอาเส้นทางสายสีน้ำตาลกลับเข้ามาเป็นสายสีส้มอีกครั้งในปี พ.ศ. 2552

เป็นเส้นทางยกระดับเกือบทั้งหมดตามแนวถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) เริ่มต้นจากโครงสร้างอุโมงค์ใต้ดินที่แยกลำสาลี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางช่วงก่อนหน้านี้ ผ่านจุดตัดถนนศรีบูรพา จากนั้นจึงเริ่มยกระดับตามแนวเกาะกลางถนนเข้าสู่สถานีสัมมากร ที่ความสูง 10-12 เมตรจากผิวดิน จากนั้นยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงความสูงปกติที่ 15 เมตร ผ่านหมู่บ้านสัมมากร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ยกข้ามทางแยกต่างระดับรามคำแหงจุดตัดถนนกาญจนาภิเษก ผ่านแยกลาดบัวขาว ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนมีนพัฒนา ผ่านเคหะรามคำแหง ไปสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณก่อนถึงแยกสุวินทวงศ์ ในพื้นที่แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี รวมระยะทางทั้งสิ้น 11 กิโลเมตร

สัญญาการก่อสร้าง

สัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะประกอบไปด้วยสัญญาการก่อสร้างของ รฟม. ควบคู่สัญญาการก่อสร้างท่อร้อยไฟฟ้าใต้ดินของ การไฟฟ้านครหลวง เนื่องจากเป็นการก่อสร้างแบบควบคู่ทั้งโครงการ

สัญญาที่ เนื้องาน มูลค่า
(ล้านบาท)
ผู้ชนะการประมูล ความคืบหน้า
(ภาพรวม 100.00 %
ณ สิ้นเดือน สิงหาคม 2566[4]
1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12
ระยะทาง 6.29 กม. (3.91 ไมล์)
20,698 กิจการร่วมค้าซีเคเอสที
(บมจ. ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น)
100 %
2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-รามคำแหง 34
ระยะทาง 3.4 กม. (2.11 ไมล์)
21,572 100 %
3 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 34-คลองบ้านม้า
ระยะทาง 4.04 กม. (2.51 ไมล์)
18,589.66 บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ 100 %
4 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-แยกร่มเกล้า
ระยะทาง 8.8 กม. (5.47 ไมล์)
9,999 บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน 100 %
5 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร 4,901 กิจการร่วมค้าซีเคเอสที
(บมจ. ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น)
100 %
6 งานวางระบบราง 3,750 บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน 100 %
7 งานระบบรถไฟฟ้า (บางขุนนนท์-สุวินทวงศ์) คณะกรรมการ รฟม. มีมติให้รวมงานเดินรถเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการก่อสร้างของโครงการส่วนตะวันตก

โครงการช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) (กำลังก่อสร้าง)

เป็นเส้นทางที่เกิดขึ้นจากการปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง พ.ศ. 2538 มาสู่แผนแม่บทฯ พ.ศ. 2547 โดยต่อขยายแนวเส้นทางช่วงสามเสน (ซังฮี้) - ศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางกะปิ ของเส้นทางสายสีส้มเดิมมาเป็นบางบำหรุ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางกะปิ ใน พ.ศ. 2553 ได้มีการแก้ไขเส้นทางโดยสลับกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงโครงข่ายในเมือง ที่ได้เปลี่ยนจากช่วงตลิ่งชัน-มักกะสัน มาเป็นบางบำหรุ-มักกะสัน ทำให้เส้นทางสายสีส้มส่วนนี้ต้องเปลี่ยนจาก บางบำหรุ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ มาเป็น ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ใน พ.ศ. 2554 ก็ได้มีการแก้ไขแบบแผนเป็นครั้งที่ 3 โดยตัดเส้นทางจากเดิมที่จะไปสิ้นสุดที่ตลิ่งชัน ให้มาสิ้นสุดที่แยกจรัญสนิทวงศ์เนื่องจากเส้นทางทั้งหมดทับซ้อนกับสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ทำให้แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มเหลือเพียงแค่ บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ใน พ.ศ. 2557 เกิดการคัดค้านการเวนคืนที่ดินหลายจุด เนื่องจากชุมชนประชาสงเคราะห์ไม่ยินยอมให้เวนคืนเพราะเป็นการทำรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะจัดทำถนนขนาด 4 เลนตามแนวรถไฟฟ้าทำให้มีผู้เดือดร้อนจำนวนมาก ทำให้มีการเปลี่ยนแนวเส้นทางเป็นครั้งที่ 4 จากเดิมช่วงดินแดง - ศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็น ดินแดง - พระราม 9 แทน ทำให้เส้นทางสายสีส้มตะวันตกกลายเป็น บางขุนนนท์ - พระราม 9 แต่หลังจากการประชุมของคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตามแนวเส้นทางเดิมตามแผนแม่บท พ.ศ. 2554 เนื่องจากเส้นทางเดิมส่วนใหญ่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และประชาชนรับทราบกันมาตั้งแต่ออกแผนแม่บทนี้เรียบร้อยแล้ว

อีกทั้งแนวเส้นทางสายนี้ ยังเป็นโครงการเพื่อสนองพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นถึงการจราจรที่ติดขัดและการจราจรที่หนาแน่นบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างภาครัฐร่วมกับกรุงเทพมหานคร ขยายส่วนต่อขยายของแนวเส้นทางเพิ่มเติม เพื่อตัดผ่านเข้ามาในโรงพยาบาลศิริราชโดยตรง โดยได้เริ่มพระราชทานโครงการส่วนต่อขยายในส่วนนี้เข้ามาในปี 2559 เป็นต้นมา

แนวเส้นทางในส่วนตะวันตกเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด เริ่มต้นจากบริเวณด้านใต้สถานีบางขุนนนท์ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ในแนวตัดขวางกับถนนจรัญสนิทวงศ์ จากนั้นวิ่งเข้าอาคารรักษาพยาบาล และสถานีรถไฟร่วมศิริราช โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่เขตพื้นที่อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ และลอดใต้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเข้าสู่แนวถนนราชดำเนินกลาง ผ่านสนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้าสู่แนวถนนหลานหลวง ผ่านตลาดมหานาค เข้าสู่แนวถนนเพชรบุรีที่แยกยมราช ผ่านแยกอุรุพงษ์ แยกเพชรพระราม มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีราชเทวี เลี้ยวซ้ายที่แยกประตูน้ำมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามแนวถนนราชปรารภ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีราชปรารภ เบี่ยงขวาที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงเข้าสู่ถนนดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดีรังสิต และเลี้ยวขวาลอดใต้โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี เข้าสู่ชุมชนประชาสงเคราะห์ ทะลุออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ด้วยการลอดใต้ศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดาภิเษก และมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลอีกครั้งที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

รูปแบบของสัญญา

สัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มช่วงตะวันตกจะเป็นการมอบสัมปทานทั้งโครงการใหักับเอกชนผู้ประมูลงานทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว และรวมงานเดินรถทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันภายใต้สัญญาฉบับเดียวด้วย โดยมี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เป็นผู้รับสัมปทานและร่วมลงทุนในโครงการ มีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 6 เดือน แบ่งเนื้องานเป็นสองระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การจัดหาระบบรถไฟฟ้า และระบบที่เกี่ยวข้อง 42 เดือน (3 ปี 6 เดือน) และการออกแบบควบคู่การก่อสร้าง 6 ปี อันเป็นการดำเนินการแบบควบคู่กัน และระยะที่ 2 ดำเนินงานรถไฟฟ้า ซ่อมบำรุง และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ 30 ปี โดยมีรายละเอียดสัญญาดังนี้

ลำดับที่ เนื้องาน ความคืบหน้า
(ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567)
ระยะที่ 1 - ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา รวมถึงจัดหาระบบรถไฟฟ้า 1.90%
ก. งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสาร ระบบประตูกั้นชานชาลา
และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทดลองการเดินรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก
ระยะเวลา 42 เดือน (3 ปี 6 เดือน) นับตั้งแต่วันที่แจ้งให้เริ่มงาน
ข. งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างใต้ดินช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร
งานวางรางวิ่ง ระบบไฟฟ้า การจัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสาร ระบบประตูกั้นชานชาลา
และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทดลองการเดินรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก
ระยะเวลา 6 ปี นับตั้งแต่วันที่แจ้งให้เริ่มงาน
ระยะที่ 2 - งานเดินรถไฟฟ้า และการซ่อมบำรุง
2.1 งานเดินรถไฟฟ้ารวมการซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ รฟม. กำหนดให้มีการเดินรถของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกอย่างเป็นทางการ จนสิ้นสุดสัญญาการร่วมลงทุน

ทั้งนี้ บีอีเอ็ม จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ทั้งงานโยธา การจัดหาแหล่งเงินลงทุน การเดินรถไฟฟ้า และการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งหมด โดยที่งานโยธาทั้งหมดได้มีการมอบหมายให้ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมางานโยธาของโครงการทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดย ช.การช่าง ได้มอบหมายให้ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-โออาร์ อันเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง ช.การช่าง และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการและวางระบบรางทั้งหมด และ คณะทำงานร่วมซีเมนส์และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี จำกัด บริษัท โบซันคายา จำกัด และบริษัท เอสที เอ็นจิเนียริ่ง เออร์เบิน โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสาร ระบบประตูกั้นชานชาลา และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องได้มอบหมายให้ บริษัท บางกอก เมโทร เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้บริหารแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน

ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา

ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการ
  • บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)
  • กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-โออาร์ (กิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน))
  • คณะทำงานร่วมค้าซีเมนส์-โบซันคายา-เอสที
    • บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด
    • บริษัท โบซันคายา จำกัด
    • บริษัท เอสที เอ็นจิเนียริ่ง เออร์เบิน โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัทที่ปรึกษาโครงการและควบคุมการก่อสร้าง
  • บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด
  • บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด
  • บริษัท ไทย ทรานซิท โซลูชั่นส์ จำกัด
  • บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
  • บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด

ผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอการลงทุน

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าซื้อเอกสารประกวดราคาสำหรับเข้าร่วมประมูลโครงการตั้งแต่วันที่ 10 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ก่อนเปิดรับข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยมีเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูล 10 ราย จาก 2 ประเทศ และมีเอกชนยื่นซองเข้าร่วมประมูลโครงการ 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีมติยกเลิกการประมูลลงเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เนื่องจากมีคดีฟ้องร้องโดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ต่อศาลปกครองกลาง ในเรื่องของการทุจริตโครงการจากการเปลี่ยนกติกาการประมูลที่เป็นส่วนสาระสำคัญ นั่นคือการเปลี่ยนวิธีการพิจารณาผู้ชนะจากจำนวนเงินที่ขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล มาเป็นเกณฑ์การให้คะแนนจากการพิจารณาข้อเสนอทางการเงินร่วมกับข้อเสนอทางเทคนิคในสัดส่วน 70:30 อาจทำให้คณะกรรมการฯ สามารถใช้ดุลพินิจส่วนตัวในการมอบงานให้เอกชนที่มีความใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงว่าจะประมูลโครงการไม่ได้แทน ซึ่งบีทีเอสซียืนยันต่อศาลปกครองกลางว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์ทางตรงเนื่องจากบริษัทได้เข้าซื้อซองและเอกสารเชิญชวนเข้าร่วมลงทุนในโครงการอย่างถูกต้อง ทำให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองการประมูลโดยให้คณะกรรมการฯ ต้องกลับไปใช้กติกาการประมูลรูปแบบเดิม คือพิจารณาจากวงเงินขอรับสนับสนุนจากรัฐบาลแทน ทำให้คณะกรรมการฯ มีมติเลื่อนการเปิดประมูลออกไปเพื่อขออุทธรณ์คดี แต่จากความล่าช้าในการพิพากษาคำอุทธรณ์ และความเสี่ยงในการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด ทำให้คณะกรรมการฯ ตัดสินใจล้มการประมูลในที่สุด ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกฟ้องในคดีดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่าการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลข้างต้นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ปรากฏความเสียหายใด ๆ ให้แก่บีทีเอสซี

ภายหลังจากที่คดีที่ศาลปกครองสิ้นสุดลง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งคณะกรรมการฯ ชุดใหม่เพื่อกำหนดเงื่อนไขสำหรับการเข้าร่วมประมูลโครงการ โดยการประมูลโครงการรอบใหม่ได้มีการตัดสินใจยกเลิกเกณฑ์การให้คะแนนจากการพิจารณาข้อเสนอทางการเงินร่วมกับข้อเสนอทางเทคนิคในสัดส่วน 70:30 กลับมาเป็นการพิจารณาผู้ชนะจากจำนวนเงินที่ขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล โดยในครั้งนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าซื้อเอกสารประกวดราคาสำหรับเข้าร่วมประมูลโครงการตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ก่อนเปิดรับข้อเสนอในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยมีเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 14 ราย จาก 6 ประเทศ รวมบีทีเอสซี และบีอีเอ็ม

แต่แล้วเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว โดยมีเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเพียงความเห็นของ รฟม. ที่เห็นว่าการยกเลิกการประมูลไม่ได้ปรากฏผลเสียต่อธุรกิจให้กับเอกชนที่เข้าร่วมประมูลทั้งสองกลุ่มแต่อย่างใด แต่มิได้คำนึงว่าการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลที่เป็นส่วนสาระสำคัญ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ดังนั้นการยกเลิกการประมูลโดยไม่รับฟังความเห็นของเอกชนที่เข้าร่วมประมูลเพื่อหาแนวทางการลดความขัดแย้งลงด้วยกัน หรือรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สุดแล้วก่อนนั้น อาจส่อเค้าให้เกิดความไม่โปร่งใสในการประมูลตามบรรทัดฐานที่ควรจะเป็นและเจตนารมณ์ในการหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ดังนั้นเหตุผลในการยกเลิกการประมูลดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และถือเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กระทรวงคมนาคมสั่งระงับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งหมดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เพื่อประกาศยกเลิกการประมูลทั้งสองรอบและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุบนพื้นฐานที่ทุกฝ่ายเห็นว่า ร่างประกาศเชิญชวนประกวดราคาที่ออกมาต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ทำให้กลุ่มผู้ลงทุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดข้อครหาว่ามีการล็อกสเปค

แต่ รฟม. กลับยืนกรานเปิดรับข้อเสนอต่อในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลสองรายคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยมี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นซับคอนแทรคงานโยธา และกิจการร่วมค้าไอทีดี กรุ๊ป (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ Incheon Transit Corporation ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินในเกาหลีใต้) ทั้งนี้การประมูลรอบดังกล่าวกลุ่มบีทีเอสไม่ได้เข้าร่วมประมูล แต่ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองซ้ำอีกรอบโดยกล่าวหาว่าข้อเสนอการประมูลรอบใหม่มีการล็อกตัวผู้รับเหมาอย่างชัดเจน มีการกีดกันไม่ให้กลุ่มบริษัทเข้าประมูลได้ เจตนาส่อฮั้วประมูลอย่างชัดเจนตาม พ.ร.บ. ฮั้วประมูล พ.ศ. 2542 ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้ยกฟ้องในคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า บีทีเอสซี สามารถเข้าร่วมประมูลได้โดยหาซับคอนแทรคเตอร์ตามข้อกำหนดในหลักเกณฑ์การประมูล ทำให้ รฟม. เปิดซองทั้งหมดและได้ผู้ชนะคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้เสนอขอรับผลประโยชน์ตอบแทนจากภาครัฐน้อยที่สุด

ปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้องคดีที่บีทีเอสซียื่นฟ้องร้องทั้งหมด ทำให้ รฟม. ตัดสินใจยื่นร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 จนวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงคมนาคมจึงจัดพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) ซึ่งรฟม. จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานภายในเวลา 30 วัน ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีเงื่อนไขว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มต้องปรับอัตราค่าโดยสารจากร่างค่าโดยสารที่กำหนดไว้ 17-45 บาท เหลือ 20 บาทตลอดสาย และให้ รฟม. ตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารให้กับเอกชนแทน (รายละเอียดจะถูกกำหนดภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ในภายหลัง)

ต่อมา รฟม. ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed) ให้แก่บีอีเอ็ม เพื่อเริ่มงานก่อสร้างได้ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน ส่วนที่ 2 ช่วงตะวันตกจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์และสถานีใต้ดิน พร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้าใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี

ชื่อบริษัทฯ ประเทศ ผลการยื่นข้อเสนอ
คุณสมบัติทั่วไป ข้อเสนอทางเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน
(เงินที่รัฐฯ ร่วมลงทุนในโครงการ)
(ล้านบาท)
ข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติม
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  ไทย ผ่าน ผ่าน -78,287.95 ล้านบาท
กิจการร่วมค้าไอทีดี กรุ๊ป ผ่าน ผ่าน -102,635.66 ล้านบาท
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)  ไทย
Incheon Transit Corporation Inc.  เกาหลีใต้

งบประมาณ

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม มีมูลค่ารวม 143,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐฯ ลงทุนเฉพาะค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,000 ล้านบาท เอกชนลงทุนในส่วนของงานโยธาทั้งระบบ 96,000 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 32,000 ล้านบาท โดยรัฐฯ จะชำระค่างานโยธาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยคืนให้ในระยะเวลา 10 ปีหลังเปิดดำเนินการ

รายชื่อสถานี

รหัส ชื่อสถานี กม.ที่ โครงสร้าง รูปแบบชานชาลา เชื่อมต่อกับ ที่ตั้ง วันที่เปิดให้บริการ
ไทย อังกฤษ แขวง เขต จังหวัด
ส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน - บางขุนนนท์ : 5.5 กิโลเมตร (สถานีส่วนต่อขยายในอนาคต)
OR01 ตลิ่งชัน Taling Chan ใต้ดิน สายสีแดงอ่อน สถานีตลิ่งชัน
สายสีลม สถานีตลิ่งชัน
ฉิมพลี ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร -
ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย : 13.4 กิโลเมตร (กำลังก่อสร้าง)
OR02 บางขุนนนท์ Bang Khun Non 0+000 ใต้ดิน สายสีแดงอ่อน สถานีบางขุนนนท์
สายสีน้ำเงิน สถานีบางขุนนนท์
บางขุนศรี บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2573
OR03 ศิริราช Siriraj 1+160 ชานชาลาต่างระดับ สายสีแดงอ่อน สถานีศิริราช
 เรือด่วนเจ้าพระยา  ท่าวังหลัง (พรานนก)
ศิริราช
อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา
OR04 สนามหลวง Sanam Luang 2+370 ใต้ดิน  เรือข้ามฟากท่าพระปิ่นเกล้า (พระนคร)-ท่าพระปิ่นเกล้า (ธนบุรี)  : ท่าพระปิ่นเกล้า (พระนคร) พระบรมมหาราชวัง พระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2573
OR05 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย Democracy Monument 3+590 สายสีม่วง (สถานีร่วม)
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าผ่านฟ้าลีลาศ
บวรนิเวศ
OR06 หลานหลวง Lan Luang 4+420  เรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษม  : ท่าเรือแยกหลานหลวง วัดโสมนัส ป้อมปราบศัตรูพ่าย
OR07 ยมราช Yommarat 5+250 สายสีแดงเข้ม : สถานียมราช
 เรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษม  : ท่าเรือแยกหลานหลวง
สี่แยกมหานาค ดุสิต
OR08 ราชเทวี Ratchathewi 6+530 สายสุขุมวิท : สถานีราชเทวี
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  : ท่าสะพานหัวช้าง
ถนนเพชรบุรี ราชเทวี
OR09 ประตูน้ำ Pratu Nam 7+350 สายสุขุมวิท สถานีชิดลม
สายสุขุมวิท สายสีลม สถานีสยาม
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าประตูน้ำ
ถนนพญาไท
OR10 ราชปรารภ Ratchaprarop 8+090 สายซิตี้ สถานีราชปรารภ มักกะสัน
OR11 ดินแดง Din Daeng 10+630 ดินแดง ดินแดง
OR12 ประชาสงเคราะห์ Pracha Songkhro 11+840 สายสีฟ้า สถานีประชาสงเคราะห์
ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) : 22.5 กิโลเมตร (กำลังติดตั้งระบบ)
OR13 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย Thailand Cultural Centre 13.09 ใต้ดิน ชานชาลาด้านข้าง สายสีน้ำเงิน (สถานีร่วม)
อาคารจอดแล้วจร
ห้วยขวาง ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2570
OR14 รฟม. MRTA 14+600 ชานชาลากลาง ศูนย์ซ่อมบำรุง
OR15 วัดพระราม 9 Wat Phra Ram 9 16+170 ชานชาลาต่างระดับ สายสีเทา สถานีพระราม 9 บางกะปิ
OR16 รามคำแหง 12 Ram Khamhaeng 12 18+320  เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าเดอะมอลล์ 3 หัวหมาก บางกะปิ
OR17 มหาวิทยาลัยรามคำแหง Ram Khamhaeng University 19+530  เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่า ม.รามคำแหง
OR18 กกท. SAT 20+480 ชานชาลากลาง  เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าสะพานมหาดไทย
OR19 รามคำแหง 40 Ram Khamhaeng 40 21+750
OR20 แยกลำสาลี Yaek Lam Sali 22+750 สายสีเหลือง สถานีแยกลำสาลี
สายสีน้ำตาล สถานีแยกลำสาลี
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าเดอะมอลล์บางกะปิ
OR21 ศรีบูรพา Si Burapha 24+110
OR22 คลองบ้านม้า Khlong Ban Ma 25.30 อาคารจอดแล้วจร สะพานสูง สะพานสูง
OR23 สัมมากร Sammakorn 26+280 ยกระดับ ชานชาลาด้านข้าง
OR24 น้อมเกล้า Nom Klao 28.21 ราษฎร์พัฒนา
OR25 ราษฎร์พัฒนา Rat Phatthana 29+500
OR26 มีนพัฒนา Min Phatthana 30+640 มีนบุรี มีนบุรี
OR27 เคหะรามคำแหง Kheha Ram Khamhaeng 32+140
OR28 มีนบุรี Min Buri 33+400 สายสีชมพู : สถานีมีนบุรี
อาคารจอดแล้วจร
OR29 แยกร่มเกล้า Yaek Rom Klao 34+180 แสนแสบ

รูปแบบของโครงการ

  • เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (heavy rail transit) [5]
  • ทางวิ่ง ช่วงบางขุนนนท์ - คลองบ้านม้า จะเป็นเส้นทางใต้ดิน ส่วนใหญ่เป็นอุโมงค์คู่ตีขนานตลอดทาง ยกเว้นช่วงที่มีเนื้อที่จำกัดและมีประชาชนอาศัยหนาแน่นจะเป็นอุโมงค์เดี่ยวซ้อนกัน และช่วงคลองบ้านม้า - สุวินทวงศ์ จะเป็นเส้นทางยกระดับจากพื้นถนน ไล่ความสูงจากปลายอุโมงค์ที่สถานีคลองบ้านม้า มาจนถึงความสูงที่ 12-15 เมตรจากผิวถนนที่สถานีสัมมากร และไล่ขึ้นไปจนถึงความสูงปกติของโครงการที่ 17 เมตรจากผิวถนน[5]
  • ขนาดราง 1.435 เมตร (standard guage) โดยมีรางที่ 3 ขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ[5]
  • ตัวรถใช้ระบบเดียวกันกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 3.2 เมตร ยาว 20-24 เมตร สูงประมาณ 3.7 เมตร ความจุ 320 คนต่อคัน เดินรถ 3-6 คันต่อขบวน ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ ป้อนระบบขับเคลื่อนรถ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง[5] จำนวน 32 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้ามหานครสายอื่น[5]

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ

โครงการมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่บนพื้นที่ขนาด 155 ไร่ ภายในอาณาบริเวณของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ถนนพระรามที่ 9 (ติดกันกับที่ทำการของ สำนักสาขา 2 (รถไฟฟ้า) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นพื้นที่ร่วมกับของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล

สิ่งอำนวยความสะดวก

มีอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีคลองบ้านม้า และสถานีมีนบุรี[5]

สถานี

มีทั้งหมด 28 สถานี (ไม่รวมสถานีตลิ่งชัน) โดยสถานีใต้ดินยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 20 เมตร มีประตูกั้นชานชาลาแบบเต็มความสูงทุกสถานี ออกแบบให้มีความคงทนแข็งแรงรองรับต่อการทรุดตัวของผิวดิน และรองรับต่อแรงสั่นสะเทือนหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวโดยไม่เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง ทางเข้าสถานีถูกออกแบบให้มีความสูงจากผิวดินประมาณ 1 เมตรเพื่อรองรับต่อเหตุการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยวัดจากสถิติความสูงที่สูงที่สุดของเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 21 สถานี (บางขุนนนท์ - คลองบ้านม้า) ส่วนสถานียกระดับมีความยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 18 เมตร มีประตูกั้นชานชาลาความสูงแบบ Half-Height ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดิน และรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนมากที่สุด สถานีโดยรวมมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน มีทั้งหมด 7 สถานี (สัมมากร - แยกร่มเกล้า) ทุกสถานีออกแบบให้รองรับรถไฟฟ้าได้สูงสุด 6 ตู้ต่อสถานี ชานชาลามีทั้งรูปแบบชานชาลาเกาะกลาง, ชานชาลาซ้อน และ ชานชาลาด้านข้าง สลับกันไปตามแต่ละพื้นที่[5]

ขบวนรถโดยสาร

ซีเมนส์ อินสไปโร (EMU-IOL)

หมายเลขประจำขบวน หมายเลข 01 ถึง 32

  • ความยาว 3 ตู้ต่อ 1 ขบวน
  • จำนวน 32 ขบวน 96 ตู้

รถไฟฟ้ารุ่นไอโอแอล ผลิตโดยซีเมนส์และโบซันคาย่า มีทั้งหมด 32 ขบวน โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยเหมือนกับรถไฟฟ้ารุ่นบีแอลอีที่ใช้ในสายสีน้ำเงินทั้งหมด แต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้ต่างออกไป กล่าวคือปรับใช้ระบบปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ และลดการใช้พลังงานลงจากรถไฟฟ้ารุ่นเดิมเพื่อประหยัดพลังงาน

รถไฟฟ้าชุดนี้จะถูกผลิตขึ้นในโรงงานโบซันคาย่า ประเทศตุรกี เช่นเดียวกันกับรถไฟฟ้ารุ่นเอ 2 ของรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยซีเมนส์จะจัดหาระบบขับเคลื่อน ระบบวิทยุสื่อสาร และระบบที่เกี่ยวข้องก่อนนำไปประกอบขั้นสุดท้ายที่โรงงานโบซันคาย่า และซีเมนส์จะเป็นผู้บำรุงรักษารถไฟฟ้าชุดนี้ทั้งหมดนับตั้งแต่เปิดให้บริการไป 15 ปี ทั้งนี้รถไฟฟ้าจะถูกนำเข้าออกเป็นสองล็อต ล็อตละ 16 ขบวน 48 ตู้ ล็อตแรกมีกำหนดจัดส่งใน พ.ศ. 2569 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการช่วงตะวันออก และล็อต 2 มีกำหนดส่งใน พ.ศ. 2572 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการช่วงตะวันตก

ระบบในการเดินรถ

ในการเดินรถไฟฟ้าได้นำระบบอาณัติสัญญาณ Trainguard LZB700M เป็นระบบ Fixed Block ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมการเดินรถโดยอัตโนมัติ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ, สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยสูงสุด แบ่งเป็น 3 ระบบย่อย คือ

  1. "ระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ" เรียกว่า ATO (Automatic Train Operation) เป็นระบบที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานต่างๆ ของขบวนรถไฟฟ้า เช่น การขับเคลื่อนรถไฟฟ้า, การควบคุมความเร็วของรถไฟฟ้า, การควบคุมการห้ามล้อ, การจอดรถไฟฟ้า และการรายงานสถานะของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในตัวรถไฟฟ้าไปยังศูนย์ควบคุม
  2. "ระบบป้องกันอัตโนมัติ" เรียกว่า ATP (Automatic Train Protection) เป็นระบบที่คอยควบคุมไม่ให้รถไฟฟ้าใช้ความเร็วเกินกำหนด ควบคุมความเร็วรถให้อยู่ในพิกัดความเร็วที่สัมพันธ์กับระยะห่างระหว่างรถไฟฟ้าข้างหน้า หากเกิดเหตุผิดปกติ ระบบ ATP จะสั่งการห้ามล้ออัตโนมัติ นอกจากนี้ยังควบคุมการเคลื่อนตัวของรถไฟฟ้าจากสถานีรถไฟฟ้า โดยหากประตูรถไฟฟ้าและประตูกั้นชานชาลายังปิดไม่เรียบร้อย ระบบ ATP จะไม่อนุญาตให้รถไฟฟ้าเคลื่อนตัวออกจากสถานี ต่างจากระบบ ATO ตรงที่มีความอิสระต่างกัน กรณีที่ระบบ ATO ขัดข้อง ต้องใช้คนควบคุมการเดินรถ ระบบ ATP จะยังคอยควบคุมการเดินรถต่อไป
  3. "ระบบกำกับการเดินรถอัตโนมัติ" เรียกว่า ATS (Automatic Train Supervision) เป็นระบบที่คอยควบคุมการเดินรถไฟฟ้าทั้งระบบให้เป็นไปตามตารางการเดินรถ โดยจะส่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ความเร็วของรถไฟฟ้าแต่ละขบวน ติดตามและแสดงตำแหน่งของรถไฟฟ้าทุกขบวนที่อยู่ในระบบ และจัดเตรียมขั้นตอนต่าง ๆ ในการควบคุมการเดินรถ เมื่อระบบการเดินรถมีเหตุขัดข้อง

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. ทำรถไฟฟ้าบางขุนนนท์-มีนบุรี เวนคืนอื้องบพุ่ง ถึง1.78แสนล้าน
  2. "แผนที่เส้นทาง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ฉบับใหม่)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2012-12-28.
  3. "โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีน้ำตาล โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-30. สืบค้นเมื่อ 2009-05-07.
  4. สัญญาการก่อสร้าง
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 "โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-บางบำหรุ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-30. สืบค้นเมื่อ 2021-07-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya