ตำบลยาง (อำเภอศีขรภูมิ)
ตำบลยาง เป็นตำบลหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ประวัติตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มาช้านานแล้วในระหว่างปี พ.ศ. 2306 – 2400 พระยาขุขันธ์ได้ดำริจัดตั้งหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเพื่อตั้งยันบ้านเมืองใกล้เคียงเข้าปกครองผู้คนของตน จึงตั้งกรมการเมืองขึ้นที่บ้านกระออม (สำโรงทาบ) แห่งหนึ่งเพื่อยันเขตรัตนะบุรีไม่ให้ลุกล้ำและตั้งกรมการเมืองขึ้นที่บ้านอนันต์แห่งหนึ่งเพื่อยันเมืองสังขะและเมืองจารพัต ตั้งนายดวง เฒ่าแก่หัวหน้าผู้ปกครองบ้านยางอนันต์ เป็นหัวหน้าสำรองเจ้าเมืองให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ชาวบ้านเรียกว่าตาเปรี๊ยะสีมา) นายกองนอก ดูแลปกครองหัวเมืองฝ่ายตะวันตกของเมืองขุขันธ์ (กองนอกยางอนันต์) ปกครองบ้านยางอนันต์ บ้านปราสาทระแงง บ้านบัวตึล บ้านก้านเหลือง บ้านตางมาง บ้านสำโรงทาบ บ้านหมื่นศรี บ้านตรึม บ้านสังแกเสม็จ บ้านจังเกา บ้านคาละแมะ ขึ้นตรงต่อเมืองขุขันธ์ มีอำนาจพิจารณาคดีความปรับสินไหมพินัยหลวง เก็บส่วยสาอากรส่งเมืองขุขันธ์ ปีละ 1 ครั้ง นายดวงผู้นี้เป็นบุตรของโลกตาเปตี๊ยะธม (ท่านบ้านใหญ่) หัวหน้าผู้ปกครองบ้านอนันต์ และมีศักดิ์เป็นหลานของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก เมื่อตั้งนายดวงเป็นนายกองนอก มีศักดินาเป็นพระสีมาแล้ว ท่านได้ขอตั้งบุตรหลานและบุคคลสำคัญในพื้นที่เป็นกรมการเมือง มีนายสวาย บุตรคนโตเป็นพระนรินทร์ภักดี นายเนียม บุตรคนที่ 2 เป็นหลวงประเสริฐ นายมี บุตรเขย เป็นพระสะท้านธรณี นายน้อมเป็นหลวงทิพยโอสถ นายเสาะ หลานเขยเป็นหลวงวิจิตรอักษร ตั้งนายคำเป็นหลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม)และนายเซร็ย เป็นหลวงชัยอาสา (แซร็ย ศิริมาก)ในระยะหลังๆ พระสีมาถึงแก่กรรม พระนรินทรภักดีได้เป็นนายกองนอกปกครองหัวเมืองฝ่ายตะวันตก (กองยางอนันต์) แทน และได้ขอตั้งนายโป๊ะ หลานเป็น ขุนสวรรค์พิทักษ์ และตั้งนายกลัด บุตรเขยเป็นขุนภักดีนุรักษ์เป็นกรมการเมือง เริ่มตั้งบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ ปี 2400 จนมาสิ้นสุดในปี 2447 ครองความเป็นใหญ่ในพื้นที่เขตนี้อยู่ถึง 47 ปี บรรดาผู้มีอิทธิพลในตำบลแห่งนี้ต่อมาได้เป็นบรรพบุรุษต้นสกุลสหุนาฬุ (สหุนาลุ), สกุลรัมพณีนิล, สกุลคำงาม ,สกุลทรงศรี ,สกุลพวงประยงค์ , สกุลศิริมาก ,สกุลโถเล็ก ,สกุลขอนเงิน ,สกุลนิสัยกล้า ,สกุลบุตรเงิน ,สกุลหุ่นทอง ,สกุลระดมบุญ ,สกุลกำลังหาญ,สกุลกลิ่นสุคนธ์ ฯลฯ ประมาณปี 2415 ขึ้นมาเมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้น จึงเรียกว่าคุ้ม เขตคุ้มบ้านอาเสก เขตคุ้มบ้านจลง เขตคุ้มบ้านกระชาย เขตคุ้มบ้านอาเกียง เขตคุ้มบ้านโคกพะยอม เขตคุ้มโคกอาว๊วง (ปัจจุบันขึ้นต่อบ้านอาเสก) การปกครองท้องที่ในเขตตำบลยางนั้น พระนรินทร์ภักดี (สวาย) บุตรชายคนโตของพระสีมาเป็นเจ้าบ้านปกครอง บ้านยาง-อนันต์ มีตำแหน่งเป็นกองนอกต่อจากพระสีมาผู้เป็นบิดา เมื่อตั้งเป็นตำบล ให้มีกำนันเป็นหัวหน้าตำบล เห็นว่าพระนรินทร์ภักดีชราภาพมากแล้ว จึงเลือกเอานายน้อมบุตรพระสีมาคนที่ 4 เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงทิพย์โอสถ เป็น “กำนันคนแรก” ปรากฏว่าพาสมัครพรรคพวก ซึ่งมีหลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) และเสมียนเสา (เสา กุดกะตวย) ทำการกระด้างกระเดื่องต่อแผ่นดิน ไม่ยอมปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อจังหวัดสุรินทร์ (โดยคุ้นเคยกับเมืองขุขันธ์มาก่อน) จึงถูกจับกุมลงโทษ และปลดออกจากตำแหน่ง ทางการจึงแต่งตั้ง หลวงวิจิตรอักษร (เสาะ ทรงศรี) บุตรเขยแม่โคตร ธิดาสาวของพระสีมาเป็นกำนัน มีขุนสวรรค์พิทักษ์ (โป๊ะ สหุนาลุ) เป็นสารวัตรกำนันคนแรก อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 3 ปี ถูกปลดออก แต่งตั้งขุนภักดีนุรักษ์ (กลัด รัมพนีนิล) บุตรเขยพระนรินทร์ภักดี เป็นกำนันอยู่ได้เพียง 2 ปี ตำแหน่งจึงตกไปอยู่กับ นายพรหม กลิ่นสุคนธ์ บุตรเขยบุญธรรมของพระสีมาซึ่งอยู่ที่บ้านอาเสก หมู่ที่ 3 ตำบลยาง ซึ่งขณะที่ตำแหน่งกำนันมาอยู่ที่นายพรหม กลิ่นสุคนธ์ เป็นอยู่หลายปีในหมู่บ้านต่างๆมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านดูแลเขตการปกครอง ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2484-2492 ตำบลยางแยกไปเป็นตำบลระแงง ตำบลหนองขวาว ตำบลนารุ่ง ตำบลตรมไพร และตำบลกุดหวายคงเหลือหมู่บ้านเพียง 15 หมู่บ้าน ตั้งเพิ่มภายหลังต่อมาอีก 3 หมู่บ้านคือ บ้านกะลันหมู่ที่ 16 บ้านอาเกียง หมู่ที่17 บ้านโคกพะยอมหมู่ที่18 ในปัจจุบันมีหมู่บ้านอยู่ 18 หมู่บ้าน (ข้อมูลจากแผนชุมชนตำบลยาง ณ เดือน มิถุนายน 2551) อาณาเขต
แหล่งข้อมูลอื่น
|