Share to:

 

ทำเนียบขาว

ทำเนียบขาว
บน: ทำเนียบขาวฝั่งทิศเหนือ หันหน้าสู่จัตุรัสลาฟาแยต
ล่าง: ทำเนียบขาวฝั่งทิศใต้ หันหน้าสู่สวนเอลลิปส์
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทจวนและสถานที่ทำงาน
สถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกและปัลลาดีโอ
เมืองเลขที่ 1600 ถนนเพนซิลเวเนีย
เขตตะวันตกเฉียงเหนือ วอชิงตัน ดี.ซี.
ประเทศ สหรัฐ
พิกัด38°53′52″N 77°02′11″W / 38.8977°N 77.0365°W / 38.8977; -77.0365
เริ่มสร้าง13 ตุลาคม 1792; 232 ปีก่อน (1792-10-13)
แล้วเสร็จ1 พฤศจิกายน 1800; 224 ปีก่อน (1800-11-01)[1]
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกเจมส์ โฮบัน

ทำเนียบขาว (อังกฤษ: White House) เป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการและสถานที่ทำงานหลักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1600 ถนนเพนซิลเวเนีย เขตตะวันตกเฉียงเหนือ วอชิงตัน ดี.ซี. โดยเป็นสถานที่พำนักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนตั้งแต่ประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ ในปี ค.ศ. 1800

ทำเนียบขาวถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวไอริช เจมส์ โฮบัน[2] และก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1792 ถึง ค.ศ. 1800 ด้วยหินทรายอะเกียครีกสีขาวในรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก เมื่อประธานาธิบดีทอมัส เจฟเฟอร์สัน ย้ายเข้ามาพำนักในปี ค.ศ. 1801 ได้ร่วมกับสถาปนิก เบนจามิน เฮนรี ลาทรอบ ขยายต่อเติมทำเนียบออกไปด้วยระเบียงเสาสองแห่งเพื่อเชื่อมคอกม้ากับโรงเก็บของ[3] อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1814 ซึ่งเป็นช่วงของสงครามปี ค.ศ. 1812 ทำเนียบถูกเผาโดยกองทัพสหราชอาณาจักรในการเผากรุงวอชิงตัน ทำลายภายในอาคารและภายนอกอาคารส่วนมาก การบูรณะฟื้นฟูจึงเริ่มขึ้นแทบจะโดยทันทีหลังจากนั้น และประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ได้ย้ายเข้าไปในอาคารซึ่งบูรณะเสร็จบางส่วนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1817 ส่วนการก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไปโดยต่อเติมระเบียงทิศใต้ในปี ค.ศ. 1824 และทิศเหนือในปี ค.ศ. 1829

เนื่องจากความแออัดคับแคบในส่วนคฤหาสน์ ประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ จึงได้ย้ายส่วนที่ทำงานไปยังปีกตะวันตกที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1901 แปดปีหลังจากนั้นประธานาธิบดีวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ ได้ขยายปีกตะวันตกเพิ่มเติมและสร้างห้องทำงานรูปไข่ขึ้นมาครั้งแรก แต่ในท้ายที่สุดก็ย้ายออกไปจากการต่อเติมในภายหลัง ในส่วนของคฤหาสน์หลัก ห้องใต้หลังคาชั้นสามถูกดัดแปลงเป็นส่วนที่อยู่อาศัยในปี ค.ศ. 1927 ด้วยหลังคาทรงปั้นหยาที่มีอยู่เดิมและเพิงหลังคาขนาดยาว ต่อมาจึงมีการต่อเติมปีกตะวันออกและใช้เป็นส่วนรับรองสำหรับงานสังคม โดยระเบียงเสาของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันก็ได้เชื่อมกับปีกตะวันออกนี้ด้วย การดัดแปลงปีกตะวันตกเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ. 1946 ด้วยการขยายพื้นที่ในส่วนของสำนักงาน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 มีการตรวจพบว่ากำแพงรองรับโครงสร้างภายนอกและคานไม้รองรับโครงสร้างภายในจวนที่จะพังถล่มลงมา ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน จึงดำเนินการรื้อถอนห้องในโครงสร้างภายในออกทั้งหมดและเสริมโครงเหล็กเข้าไปในกำแพงเพื่อรองรับโครงสร้างภายในอาคาร จากนั้นจึงดำเนินการสร้างห้องที่อยู่ภายในอาคารขึ้นมาใหม่

ในปัจจุบัน กลุ่มอาคารทำเนียบขาวประกอบไปด้วยส่วนคฤหาสน์ที่พำนัก ปีกตะวันตก ปีกตะวันออก อาคารสำนักงานบริหารไอเซนฮาวร์ (Eisenhower Executive Office Building; ที่ทำการเดิมของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี) และคฤหาสน์แบลร์ (Blair House) ซึ่งใช้เป็นที่พำนักรับรองอาคันตุกะ ส่วนคฤหาสน์ที่พำนักมีทั้งหมดหกชั้นประกอบไปด้วย ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ชั้นพื้นดิน ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสาม

บริบทคำว่า ทำเนียบขาว มักถูกใช้เป็นนามนัยสำหรับสำนักบริหารงานประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (Executive Office of the President of the United States) และสำหรับที่ทำการและที่ปรึกษาของประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน ทำเนียบขาวยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประธานาธิบดีที่ดูแลโดยสำนักงานอุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2007 ทำเนียบขาวถูกจัดลำดับให้เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดอันดับสองของอเมริกาโดยสถาบันสถาปนิกอเมริกันอีกด้วย

โครงสร้าง

มุมมองจากด้านบนของทำเนียบขาว สังเกตเห็นตัวทำเนียบและอุทยานประธานาธิบดี

ทำเนียบขาวมีพื้นที่ใช้สอยรวม 55,000 ตารางฟุต (5,100 ตร.ม.) มีห้องทั้งหมด 132 ห้อง และสระว่ายน้ำ 1 สระ ทำเนียบขาวเป็นอาคารหลังแรกในวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ทำทางลาดสำหรับรถเข็น ซึ่งปรับปรุงสำหรับประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ที่นั่งรถเข็นเนื่องจากอาการเจ็บป่วย(ที่ทำเป็นหนัง)

ปีกตะวันตก

สำนักงานเดิมมีความแออัดคับแคบ จึงมีการต่อเติมอาคารเพิ่มอีก 2 ปีกเชื่อมกับอาคารกลาง โดยปีกตะวันตกเป็นสำนักงานของประธานาธิบดี (ห้องทำงานรูปไข่) และทีมงานระดับสูงอีกประมาณ 50 คน รวมถึงห้องประชุมของคณะรัฐมนตรี

ปีกตะวันออก

ปีกตะวันออกถูกสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1942 ในลักษณะอาคารอเนกประสงค์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1977 สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งซึ่งคนปัจจุบันคือ จิล ไบเดิน ได้ใช้ปีกตะวันออกเป็นสำนักงานและตั้งชื่อว่า "สำนักงานสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง" ซึ่งใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

  1. "John Adams moves into White House". History.com.
  2. "History of the White House". The White House. สืบค้นเมื่อ May 14, 2012.
  3. Michael W. Fazio and Patrick A. Snadon (2006). The Domestic Architecture of Benjamin Henry Latrobe. The Johns Hopkins University Press. pp. 364–366.

แหล่งข้อมูลอื่น

38°53′51″N 77°02′12″W / 38.89763°N 77.03658°W / 38.89763; -77.03658

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya