ที่ราบในวิชาภูมิศาสตร์ ที่ราบ หรือ พื้นราบ เป็นแผ่นดินเรียบกว้างใหญ่ซึ่งปกติมีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงไม่มาก ที่ราบเกิดเป็นที่ลุ่มตามก้นของหุบเขาหรือเป็นประตูสู่ภูเขา เป็นที่ราบชายฝั่ง และที่ราบสูงหรือที่ดอน[1] ในหุบเขาที่ราบจะถูกขนาบทั้งสองด้าน แต่บางทีที่ราบอาจแสดงขอบเขตโดยวงแหวนเขาครบวงหรือไม่ครบวง โดยภูเขาหรือหน้าผา เมื่อบริเวณภูมิศาสตร์หนึ่งมีที่ราบมากกว่าหนึ่งแห่ง ที่ราบทั้งหลายอาจเชื่อมกันโดยช่องเขา (pass หรือ gap) ที่ราบชายฝั่งส่วนใหญ่สูงกว่าระดับน้ำทะเลจนไปบรรจบภูเขาหรือที่ราบสูง[2] ที่ราบเป็นธรณีสัณฐานหลักอย่างหนึ่งของโลก โดยปรากฏอยู่ในทุกทวีป และกินอาณาบริเวณกว่าหนึ่งในสามของพื้นที่ดินของโลก[3] ที่ราบอาจเกิดขึ้นระหว่างลาวาไหล มีการทับถมโดยน้ำ น้ำแข็งหรือลม หรือเกิดจากการกร่อนด้วยตัวการดังกล่าวจากเขาและภูเขา ปกติที่ราบอยู่ภายใต้ชีวนิเวศทุ่งหญ้า (เขตอบอุ่นหรือกึ่งเขตร้อน) สเตปป์ (กึ่งแห้งแล้งจัด) สะวันนา (เขตร้อน) หรือทันดรา (ขั้วโลก) ในบางกรณี บริเวณแห้งแล้งและป่าฝนก็เป็นที่ราบได้[4] ที่ราบในหลายพื้นที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรรมเพราะดินมีการทับถมเป็นตะกอนที่อาจลึกและอุดมสมบูรณ์ และความราบช่วยเอื้อต่อการผลิตพืชผลโดยใช้เครื่องจักร หรือเพราะเอื้อต่อทุ่งหญ้าซึ่งเป็นแหล่งอาหารอย่างดีสำหรับปศุสัตว์[5] อ้างอิง
|