ธงชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบก
ธงชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบก เป็นธงชาติของอุซเบกิสถานในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบก (Uzbek Soviet Socialist Republic) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2495 ลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นสีแดง กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน กลางธงมีแถบสีฟ้าขอบสีขาวพาดผ่าน ที่มุมบนด้านคันธงมีรูปค้อนเคียวไขว้และดาวแดงห้าแฉกขอบสีทอง อันเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ความหมายของสัญลักษณ์ในธง คือ สีแดง หมายถึงการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ สีฟ้า หมายถึงผืนฟ้าในอุซเบกโซเวียต สีขาว หมายถึงฝ้าย อันเป็นทรัพยากรหลักของประเทศ ค้อนเคียว หมายถึงการร่วมมือกันระหว่างกรรมกรกับชาวนา ดาวแดง หมายถึง ชั้นกรรมาชีพ ประวัติธงชาติอุซเบกโซเวียตแบบแรกสุด เริ่มใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 เป็นธงพื้นสีแดง ที่มุมบนด้านคันธงมีชื่อประเทศ จารึกด้วยอักษรอาหรับและ ข้อความอักษรซีริลลิก เขียนไว้ว่า УзССР เป็นสีทอง ต่อมาในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2469 จึงได้เปลี่ยนคำจารึกชื่อประเทศที่มุมบนด้านคันธงใหม่ โดยจารึกเป็นภาษาอุซเบก ภาษารัสเซีย และภาษาทาจิก ในปี พ.ศ. 2474 ได้เปลี่ยนข้อความในธงชาติใหม่อีกครั้ง โดยเป็นชื่อประเทศอย่างย่อในภาษาอุซเบกว่า OzSSC และในภาษารัสเซียว่า УзССР ซึ่งได้ใช้มาจนถึง พ.ศ. 2480 จึงเปลี่ยนข้อความเป็นอักษรโรมันว่า OZBEKISTAN SSR ถึงยุคทศวรรษที่ 1940 ( พ.ศ. 2483 - 2492) ธงนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอีกครั้ง โดยชื่อประเทศที่มุมธงด้านคันธง ใช้เป็นภาษาอุซเบกและรัสเซียว่า Ўзбекистон ССР (Ozbekiston SSR) และ Узбекская ССР (Uzbekskaya SSR) ตามลำดับ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแบบธงครั้งสุดท้าย ดังที่ปรากฏในตอนแรกสุดของบทความนี้ ซึ่งธงนี้ ได้ใช้มาจนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ใน พ.ศ. 2534 พัฒนาการ
ดูเพิ่มแหล่งข้อมูลอื่น
|