Share to:

 

นารูโกะ ยานางิวาระ

นารูโกะ ยานางิวาระ
เกิด26 มิถุนายน พ.ศ. 2402
เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
เสียชีวิต16 ตุลาคม พ.ศ. 2486 (84 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
คู่สมรสจักรพรรดิเมจิ
บุตรเจ้าหญิงชิเงโกะ
เจ้าชายยูกิฮิโตะ
จักรพรรดิไทโช
บิดามารดามิตสึนารุ ยานางิวาระ
อูตาโนะ ฮาเซกาวะ

นารูโกะ ยานางิวาระ (ญี่ปุ่น: 柳原愛子โรมาจิYanagihara Naruko; เกิด: 26 มิถุนายน พ.ศ. 2402 — ตาย: 16 ตุลาคม พ.ศ. 2486) หรืออาจรู้จักในนาม ซาราวาบิ โนะ สึโบเนะ เป็นนางสนองพระโอษฐ์ และพระสนมในจักรพรรดิเมจิ ทั้งเป็นพระราชชนนีในจักรพรรดิไทโช[1] โดยเธอเป็นสนมคนสุดท้ายที่ให้ประสูติกาลองค์จักรพรรดิของญี่ปุ่น

ประวัติ

นารูโกะ ยานางิวาระเกิดในเกียวโต เป็นบุตรคนที่สองของมิตสึนารุ ยานางิวาระ (柳原光愛) มหาดเล็กของจักรพรรดิ ทั้งเป็นวงศ์วานของเครือฟูจิวาระ นารูโกะมีพี่ชายคือ ซากิมิสึ ยานางิวาระ ผู้ร่วมสงครามโบชิงฝ่ายจักรพรรดิ เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการภูมิภาคโทไกโด ก่อนรับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิ ทั้งยังเป็นผู้ลงนามในสัญญาฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่น หลังทั้งสองก่อสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง

นารูโกะเป็นดรุณีแรกแย้มที่มีความเฉลียวฉลาด และมีรูปโฉมโนมพรรณสวยงาม ได้รับการยกย่องกันถ้วนหน้าในหมู่สนมฝ่ายใน[2] ทั้งยังเก่งกาจการกวี และเข้าถวายตัวรับใช้พระราชวงศ์เมื่อปี พ.ศ. 2413 เริ่มด้วยการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในพระพันปีเอโช ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น กนโนะเท็งจิ (นางห้องพระบรรทม) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2416[3] และรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระสนมในจักรพรรดิเมจิ ประสูติกาลพระราชโอรส-ธิดา 3 พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าหญิงชิเงโกะ อูเมะโนะมิยะ (梅宮薫子内親王; 21 มกราคม พ.ศ. 2418 — 6 มิถุนายน พ.ศ. 2419) สิ้นพระชนม์ด้วยเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบ
  2. เจ้าชายยูกิฮิโตะ ทาเกะโนะมิยะ (建宮敬仁親王; 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2420) สิ้นพระชนม์ด้วยเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบขณะมีพระชนม์เพียงวันเดียว
  3. เจ้าชายโยชิฮิโตะ ฮารุโนะมิยะ (明宮嘉仁親王; 31 สิงหาคม พ.ศ. 2422 — 25 ธันวาคม พ.ศ. 2469) ต่อมาสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิไทโช (大正天皇)

และหลังจากการประสูติกาลพระราชโอรสคือเจ้าชายโยชิฮิโตะแล้ว พระสนมนารูโกะก็พิกลจริตไม่สามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการในห้องพระบรรทมอีกเลย ส่วนพระราชโอรสพระองค์นั้นก็ประชวรด้วยพระโรคเดียวกับพระเชษฐภคินีและพระเชษฐภาดา และมีพระพลานามัยย่ำแย่ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[4]

พระสนมนารูโกะได้รับการแต่งตั้งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในปี พ.ศ. 2445 และหลังเจ้าชายฮะรุ สืบราชสมบัติขึ้นเป็นจักรพรรดิไทโชเมื่อปี พ.ศ. 2455 นางก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และได้รับเกียรติหลายประการ แม้จะมีการโจษขานว่านางสติไม่สมประดี ครั้นเมื่อจักรพรรดิไทโชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2469 อดีตพระสนมนารูโกะก็ได้รับการอนุญาตให้ปรากฏตัวหน้าพระแท่นพระบรมศพ

พระสนมนารูโกะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2486 สิริอายุได้ 84 ปี ในรัชสมัยจักรพรรดิโชวะ โดยมีการปลงศพ ณ วัดยูเต็งจิ ย่านนากาเมงูโระ เขตเมงูโระ กรุงโตเกียว

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. Keene 2002, p. 320.
  2. Keene 2002, p. 250.
  3. Keene 2002, p. 776.
  4. Bix, p. 22

บรรณานุกรม

  • Keene, Donald. Emperor Of Japan: Meiji And His World, 1852–1912. Columbia University Press (2005). ISBN 0-231-12341-8
  • Bix, Herbert P.. Hirohito and the Making of Modern Japan. Harper Perennial (2001). ISBN 0-06-093130-2

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya