Share to:

 

ประมวลกฎหมายไทโฮ

ประมวลกฎหมายไทโฮ (ญี่ปุ่น: 大宝律令 Taihō-ritsuryō) เป็นประมวลกฎหมายญี่ปุ่นเพื่อปรับปรุงโครงสร้างราชการ ตราขึ้นในปีไทโฮที่ 2 (ค.ศ. 702) ปลายยุคอาซูกะ

ประมวลกฎหมายไทโฮตราขึ้นตามรับสั่งของจักรพรรดิมมมุ โดยประยุกต์จากระบบกฎหมายจีนแห่งราชวงศ์ถัง[1] เชื่อกันว่า เอกสารหลักอันเป็นที่มาของประมวลกฎหมายไทโฮ คือ ประมวลกฎหมายหย่งฮุย (永徽律令) ที่จักรพรรดิถังเกาจงทรงตราขึ้นใน ค.ศ. 651 ส่วนการยกร่างประมวลกฎหมายไทโฮนั้น มีผู้ควบคุม คือ เจ้าชายโอซากาเบะ, ฟูจิวาระ โนะ ฟูฮิโตะ, และอาวาตะ โนะ มาฮิโตะ[1]

การตราประมวลกฎหมายไทโฮถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์แรก ๆ ที่ทำให้แนวคิดของลัทธิขงจื๊อมาหลอมรวมอยู่ในจริยศาสตร์ญี่ปุ่น ต่อมาในยุคนาระ มีการชำระประมวลกฎหมายไทโฮให้สอดรับกับประเพณีญี่ปุ่นและความจำเป็นบางประการในทางราชการ ฉบับที่ชำระใหม่นี้เรียกว่า "ประมวลกฎหมายโยริ" ซึ่งยกร่างสำเร็จใน ค.ศ. 718[1]

ประมวลกฎหมายไทโฮมีลักษณะสำคัญสองประการที่แตกต่างจากระบบจีน ประการแรก กำหนดให้ตำแหน่งและสถานะทางราชการมาจากการสืบตระกูล ขณะที่ระบบจีนมาจากการสอบขุนนาง อีกประการหนึ่ง ยึดถือแนวคิดว่า พระราชอำนาจมาจากการสืบเชื้อสายกษัตริย์ มิได้มาจากอาณัติสวรรค์เหมือนจีน

การจัดโครงสร้างราชการ

ประมวลกฎหมายไทโฮให้แบ่งราชการออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายอาณาจักร มีไดโจกังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสูงสุด กับฝ่ายศาสนจักร มีจิงงิกังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสูงสุด แต่จิงงิกังมีสถานะสูงกว่าไดโจกัง รับผิดชอบกิจการต่าง ๆ ศาสนาของศาสนาชินโต ซึ่งรวมถึงราชพิธี รัฐพิธี เทศกาล การดูแลศาสนสถาน และการจัดทำและบันทึกการพยากรณ์ต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ ส่วนไดโจกังรับผิดชอบราชการทั้งปวงของฝ่ายอาณาจักร มีประธาน คือ ไดโจไดจิง (อัครมหาเสนาบดี) และกรรมการประกอบด้วยซาไดจิง (มหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย), อูไดจิง (มหาเสนาบดีฝ่ายขวา), ซาไดเบ็ง (มหาอำมาตย์ฝ่ายซ้าย), อูไดเบ็ง (มหาอำมาตย์ฝ่ายขวา), ไดนากง (มหามนตรี) สี่คน, และโชนากง (อนุมนตรี) สามคน

การจัดโครงสร้างการปกครอง

ประมวลกฎหมายไทโฮให้แบ่งพื้นที่ปกครองออกเป็น "กูนิ" แต่ละกูนิมีผู้ปกครองเรียกว่า "โกกูชิ" มากจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง นอกจากนี้ แต่ละกูนิยังแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตที่เรียกว่า "กุง" หรือ "โกริ" ซึ่งมีผู้ปกครองเรียกว่า "กุงจิ" มาจากการแต่งตั้งส่วนท้องถิ่น เขตกุงและโกริยังแบ่งพื้นที่ย่อยลงไปอีก และมีผู้ปกครองตามลำดับ

จำนวนกูนินั้นไม่ตายตัว แต่ ณ เวลาที่ตราประมวลกฎหมายนี้ มีกูนิทั้งสิ้น 66 แห่ง และมีเขตกุงและโกริรวม 592 แห่ง

อ้างอิง

Kembali kehalaman sebelumnya