Share to:

 

ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล

ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล
รู้จักในชื่อปาน
เกิด4 กันยายน พ.ศ. 2494 (73 ปี)
แนวเพลงป็อป/ร็อก
อาชีพนักร้อง, นักดนตรี, นักแต่งเพลง
เครื่องดนตรีกีตาร์
ช่วงปีพ.ศ. 2527 - 2529
ค่ายเพลงอดีตศิลปิน WEA คนแรกของไทย
ครีเอเทีย
คู่สมรสหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต

ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล (4 กันยายน พ.ศ. 2494) เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง เจ้าของผลงานอัลบั้ม ไปทะเล เมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับถึงคุณภาพ และสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงไทยในขณะนั้น

ปานศักดิ์มีความสามารถในการเล่นกีตาร์ เคยร่วมวงดนตรีชื่อ Soul & Blues ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันดนตรีชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2512 ประเภทวงดนตรีนักเรียน ปีเดียวกับที่วงดิอิมพอสซิเบิ้ลได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทวงดนตรีอาชีพ และได้รับรางวัลชนะเลิศแชมป์กีต้าร์แห่งประเทศไทย จัดโดยสยามกลการ เมื่อ พ.ศ. 2521 [1] ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการแสดงกีตาร์ Southeast Asian Guitar Festival'78 ร่วมแสดงกีตาร์กับตัวแทนจากประเทศเอเชีย 7 ประเทศ พ.ศ. 2521 ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณของชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม "เพลงแม่เจ้าพระยา" ในการร่วมรณรงค์เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมที่ดีต่อประเทศไทยในปี 2529

ประวัติการศึกษา

  • สาขาศิลปะเพื่อการโฆษณา (Bachelor of Fine Arts in Advertising, University of Montevallo) รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ประกาศนียบัตรหลักสูตร "ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง" บ.ย.ส.รุ่นที่ 6 วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม
  • ปริญญาบัตรหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 16 (วปรอ. 4616) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร[2]
  • ประกาศนียบัตรชั้นสูงหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 สถาบันพระปกเกล้า
  • ประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตร Director Certification Program รุ่นที่ 72 สถาบันกรรมการบริษัทไทย
  • ประกาศนียบัตรหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 6 สถาบันวิทยาการตลาดทุน

งานในปัจจุบัน

  • กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันทนา จำกัด
  • กรรมการผู้จัดการ บริษัท โลมา โฮลดิ้ง จำกัด
  • กรรมการและเลขานุการมูลนิธิวิภาวดีรังสิต
  • กรรมการและเหรัญญิกสโมสรขี่ม้าตีคลี ในพระบรมราชูปถัมป์
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย
  • กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  • ประธานอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  • อดีตที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา
  • อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • อดีตที่ปรึกษาสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย
  • อดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและสร้างเสริมธรรมาภิบาล วุฒิสภา
  • อดีตผู้พิพากษาสมทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
  • อดีตที่ปรึกษาชมรมผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม
  • อดีตกรรมการฝ่ายจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักนายกฯ
  • อดีตกรรมการประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • อดีตคณะกรรมการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุก สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
  • อดีตอนุกรรมาธิการกิจการลูกเสือ วุฒิสภา
  • อดีตอนุกรรมาธิการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ วุฒิสภา
  • อดีตอนุกรรมการจัดทำเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 สำนักนายกฯ
  • อดีตอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ชีวิตส่วนตัว

ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล สมรสกับ หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต [3] ธิดาคนเล็กของ หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับ หม่อมเอลิซาเบท รังสิต ณ อยุธยา (ชารนแบรเกอร)(Elisabeth Scharnberger) และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต พระธิดาใน พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ วรวรรณ

ผลงานดนตรี

เมื่อ พ.ศ. 2527 ปานศักดิ์ ออกผลงานเพลงอัลบั้มแรก ไปทะเล เป็นศิลปินคนแรกของค่ายไนท์สปอตโปรดักชัน ในสังกัด WEA และเพลงไปทะเลเป็นมิวสิกวิดีโอแรกของเมืองไทย ที่มีการวางเนื้อเรื่องในมิวสิกวิดีโอ ได้รับการสนับสนุนจากโกดักประเทศไทย โดยปานศักดิ์ได้มองเห็นว่าตลาดเพลงไทยสากลในยุคนั้นมีแนวโน้มดีขึ้น และพร้อมที่จะยอมรับเพลงไทยสากลในแนวใหม่ที่เป็นความตั้งใจที่จะทำมานานแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางไปบันทึกเสียงเพลงชุด "ไปทะเล" ที่อเมริการ่วมกับเพื่อนนักดนตรีชาวอเมริกัน ซึ่งนับว่าเป็นผลงานเพลงชุดแรกของศิลปินไทยที่ไปทำการบันทึกเสียงในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการผลิตมิวสิกวิดีโอออกอากาศทางโทรทัศน์[4] มิวสิกวิดีโอชุดนี้ถ่ายทำโดย ไมเคิล วอลและต่อ สันติศิริ

วิธีการร้องเพลงของปานศักดิ์ ใช้การเปล่งเสียงออกมาจากปอด ถือเป็นนักร้องคนแรกๆ ที่นำใช้เทคนิคนี้มาใช้กับเพลงไทย [5] นอกจากนี้เพลงของเขายังมีเนื้อหาสอดแทรกปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม

ผลงานชุดที่สอง คิดไปเป็นชาวเกาะ วางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2529 ในสังกัดครีเอเทีย โดยจิระ มะลิกุล

ปัจจุบันผลงานเพลงของปานศักดิ์ทั้งสองชุดไม่มีวางขายในท้องตลาดแล้ว สาเหตุอันเนื่องมาจากการฟ้องของปานศักดิ์ ในฐานะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ทำให้บริษัท อามีโก้ สตูดิโอ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเทป/ซีดี ต้องเก็บผลงานทั้งหมดออกจากท้องตลาด และต่อมาศาลฎีกา ทรัพย์สินทางปัญญาตัดสินให้ปานศักดิ์ชนะคดี และได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นคดีที่ใช้เวลายาวนานกว่า 7 ปีครึ่ง คำพิพากษาดังกล่าวยังเป็นกรณีศึกษาให้แก่ผู้ที่ศึกษาทางกฎหมายลิขสิทธิ์ในเวลาต่อมา

วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้รับพระราชทานยศเป็น นายกองตรี[6]

ต่อมาในปี 2550 ปานศักดิ์ได้ปรากฏตัวแสดงดนตรีในเทศกาลดนตรี Fat Festival ณ เมืองทองธานี

ผลงานเพลง

  • ไปทะเล (2527)
  • คิดไปเป็นชาวเกาะ (2529)
  • ด้วยรักจากใจครีเอเทีย (ปั่น & อุ้ย & ปานศักดิ์) (2530)
  • Two In One (2531)
  • รักเดียวใจเดียว
  • ฉันรักเธอทุกเวลา
  • รักเป็นฉันใด
  • อย่ามัวฝัน
  • ประเทศไทย
  • สายรุ้ง
  • แสงตะวัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. รับรางวัลชนะเลิศประเภทวงดนตรีอาชีพ และได้รับรางวัลชนะเลิศแชมป์กีต้าร์แห่งประเทศไทย
  2. "ปริญญาบัตรหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 16". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-03. สืบค้นเมื่อ 2007-08-08.
  3. "ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต บรรณาธิการหนังสือ "สมุดพระรูปรัชกาลที่ ๔" แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-25. สืบค้นเมื่อ 2007-08-08.
  4. ไปทะเลกันดีกว่า - Pattaya Music Festival 2007
  5. วิธีการร้องเพลงของปานศักดิ์[ลิงก์เสีย]
  6. ได้รับพระราชทานยศเป็น นายกองตรี
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๗ ข หน้า ๑๘๒, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๘๕, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๒, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริที่ยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๖๒, เล่ม ๑๔๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๒, ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya