Share to:

 

ผกากรอง

ผกากรอง
ดอกและใบ
สถานะการอนุรักษ์

ปลอดภัย  (NatureServe)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophyta
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: แอสเทอริด
Asterids
อันดับ: กะเพรา
วงศ์: วงศ์ผกากรอง
สกุล: Lantana

L.
สปีชีส์: Lantana camara
ชื่อทวินาม
Lantana camara
L.
ชื่อพ้อง

Lantana aculeata L.[2]
Camara vulgaris[3]

ภาพวาดประกอบของผกากรอง
ผลสุกของผกากรอง
ผลดิบของผกากรอง

ผกากรอง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lantana camara)[4] เป็นไม้พุ่มยืนต้นหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อยในวงศ์ผกากรอง (Verbenaceae) พืชพื้นเมืองในทวีปอเมริกาชนิดนี้[5][6] ได้รับการนำเข้าไปปลูกเป็นไม้แต่งสวนในหลายประเทศและกลายเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานในภูมิภาคเขตร้อน[7] มีทรงพุ่มทึบจากกิ่งก้านแตกแขนงจำนวนมากและใบที่ขึ้นดกหนา ดอกเป็นดอกย่อยช่อกระจุกหลายสีจากอายุของดอกและการบานต่างเวลากัน ดอกเป็นทรงปากแตร มีกลิ่นฉุน ขนตามลำต้นเมื่อถูกผิวหนังทำให้คัน ถ้ารับประทานทำให้ปวดท้อง อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจขัด หมดสติ[8] ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซียนำใบไปต้มกับน้ำ ใช้ฉีดพ่นไล่แมลง[9]

ผกากรองมีความสามารถในการเอาชนะพืชพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งนำไปสู่การลดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้น ๆ[10] นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดปัญหาความเป็นพิษต่อปศุสัตว์เมื่อรุกรานเข้าในพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งความสามารถของผกากรองในการสร้างพุ่มไม้หนาทึบซึ่งยากต่อการกำจัดและหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แวดระวังอาจสามารถลดผลผลิตของพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างมาก[11] และยังเป็นพืชที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าให้สูงขึ้น[12]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้พุ่มยืนต้นกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก แตกแขนงกิ่งก้านสาขามาก มีพุ่มไม้ที่ทึบในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย[13] ความสูงของต้นประมาณ 1–2 เมตร ลำต้นและก้านเป็นสี่เหลี่ยม ตามลำต้นเป็นร่องอาจมีขนหนามเล็กน้อย หรืออาจปกคลุมทั่วทั้งต้น รากตื้นประมาณ 10–30 เซนติเมตรจากผิวดิน[11]

ใบเดี่ยว รูปไข่สีเขียวเข้ม ขอบใบจัก ปลายใบแหลม เส้นใบเห็นเป็นร่องชัดเจน เส้นใบมีลักษณะย่น ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ใบออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2–3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3–9 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนหยาบ ด้านท้องใบมีขนเล็ก ๆ เมื่อลูบจะรู้สึกระคายมือ ใบขึ้นดกหนา เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นฉุน และเนื่องจากมีการคัดเลือกพันธุ์อย่างกว้างขวางตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 เพื่อใช้เป็นไม้ประดับปัจจุบัน จึงมีพันธุ์ปลูกผกากรอง (L. camara) ที่แตกต่างกันออกไปมากมาย

ดอกเป็นช่อเรียงเป็นกระจุกในบริเวณขั้วดอก ช่อดอกรูปกึ่งทรงกลม มีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ละดอกมีสี่กลีบ ดอกเป็นรูปแตร มีท่อยาวปลายกลีบดอกบานออก ดอกจะทยอยบานจากด้านนอกเข้าไปในช่อดอก กลีบดอกมีหลายสี เช่น ขาว เหลืองนวล  ชมพู  ส้ม  แดง หรือมีหลายสีในช่อดอกเดียวกัน

ผลมีขนาดเล็กรูปทรงกลม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำเงินม่วงเข้มเกือบดำ และการสืบพันธุ์ของเมล็ดเกิดขึ้น ผกากรองแต่ละต้นสามารถผลิตผลได้มากถึง 12,000 ลูก[14] ซึ่งนก เช่น นกกระติ๊ดขี้หมู และสัตว์อื่น ๆ กินและช่วยแพร่กระจายเมล็ดพืชไปในระยะทางไกล ๆ

การเปลี่ยนแปลงสีดอก

การมีหลายสีในช่อดอกเดียวกันของผกากรอง เกิดจากความแตกต่างของตำแหน่งบนช่อดอก การคัดเลือกพันธุ์ และอายุของดอก กล่าวคือหลังจากผสมเกสรแล้วสีของดอกไม้จะเปลี่ยนไป (โดยทั่วไปจากสีเหลือง เป็นสีส้มสีชมพูหรือสีแดง) ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญญาณให้แมลงผสมเกสรให้รู้นัยยะของสีทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนสี ดึงดูดให้เข้าหาดอกที่ยังไม่ได้รับการผสมเกสร และการเปลี่ยนสีนั้นเสมือนเป็นรางวัลให้แมลงรับรู้ว่าได้ช่วยดอกนั้นให้ผสมติดแล้ว ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของดอกไม้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผสมเกสรของแมลง[15]

การกระจายพันธุ์

ผกากรอง (L. camara) เป็นพืชพันธุ์พื้นเมืองของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่ได้ถูกกระจายพันธุ์ใน 60 ประเทศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก[16][17] ปัจจุบันพบได้บ่อยในแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 2,000 ม. มักกระจายพันธุ์เข้าไปในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งเกิดจากการตัดไม้เพื่อการค้าเนื้อไม้ และพื้นที่แผ้วถางเพื่อการเกษตร[18]

ผกากรองแพร่กระจายไปในแอฟริกา ยุโรปใต้ เช่น สเปน และโปรตุเกส รวมถึงตะวันออกกลาง อินเดีย เอเชียเขตร้อน เช่น ประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย[19][20] ผกากรองกลายเป็นวัชพืชที่สำคัญในศรีลังกาซึ่งเล็ดลอดออกจากสวนพฤกษศาสตร์หลวงในปี พ.ศ. 2469[21][22] การแนะนำผกากรองให้ปลูกในฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ (ซึ่งนำไปจากฮาวาย) ซึ่งได้เล็ดลอดสู่ธรรมชาติและกลายเป็นพืชพันธุ์พื้นเมืองในหมู่เกาะต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์[23] พื้นที่การกระจายพันธุ์ของผกากรองยังคงเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลในปี 2517 ไม่เคยพบผกากรองในเกาะหลายแห่ง ได้แก่ หมู่เกาะกาลาปากอส ไซปัน และหมู่เกาะโซโลมอน แต่พบเห็นได้ปัจจุบัน[20]

ความสามารถในการกระจายพันธุ์ของผกากรอง (L. camara) ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วในพื้นที่ป่าเดิมที่ถูกรบกวน ป่าเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในประเทศที่มีพื้นที่ที่มีการตัดไม้ การแผ้วถางเพื่อการเกษตร และไฟป่าที่เกิดโดยธรรมชาติและด้วยมือมนุษย์ ในทางตรงกันข้ามในประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าหลักที่ยังคงสมบูรณ์ การกระจายของผกากรอกลับเป็นไปอย่างจำกัด[24][25]

ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยเมื่อใด สันนิษฐานว่าคงเข้ามาในช่วง 100–200 ปีนี้เอง

นิเวศวิทยา

ผกากรองถูกนำเข้าเป็นไม้ดอกในหลายประเทศเนื่องจากดอกที่หลากสีและใบที่ดกปกคลุมผิวดิน จัดเป็นพรรณไม้ดอกกลางแจ้งที่มีอายุหลายปี ชอบแสงแดดจัด และสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายและระบายน้ำได้ดีมากกว่าดินชุ่มชื้นหรือดินเหนียว จึงจัดเป็นพืชที่มีความแข็งแรงทนทานมาก และมักพบขึ้นตามป่าละเมาะที่ค่อนข้างโปร่งและแห้งแล้ง

พืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน

ผกากรองเป็นวัชพืชที่พบได้ตามทุ่งหญ้าทั่วไป มักอยู่เป็นพุ่มต่ำ ในหลายพื้นที่และภูมิภาคของโลกถือว่าเป็นวัชพืชรุกราน [26] เนื่องจากมีความสามารถสูงในการเจริญขึ้นและขยายพันธุ์ได้ดีตามธรรมชาติ มักขยายเผ่าพันธุ์และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่ผกากรองได้เติบโตอยู่ เมื่อพุ่มของผกากรองเติบโตหนาแน่นมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของป่าไม้ที่ลดลง เนื่องจากต้นผกากรองสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่นได้

ผกากรองเป็นพืชที่ทนต่อไฟป่า และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าให้สูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต้นผกากรองจะมีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และบางครั้งสามารถเลื้อยไปบนต้นไม้อื่นได้สูงถึง 20 เมตร ทำให้ไฟป่าลุกลามไปถึงบริเวณเรือนยอด ซึ่งมักจะเกิดได้ในบริเวณที่แห้งแล้งหรือป่าดิบแล้งซึ่งไฟป่าสามารถลุกลามไปได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นถูกทำลายได้[12][27]

พุ่มของต้นผกากรองจะไปยับยั้งการเติบโตของพืชไร่ทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง และยังก่อให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา คือ แมลงที่เป็นพาหะโรคมักชอบมาหลบอาศัยอยู่ในพุ่มผกากรอง เช่น ยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย และแมลงวันเซทซีซึ่งเป็นพาหะนำโรคเหงาหลับอีกด้วย

สาเหตุที่ผกากรองประสบความสำเร็จในการรุกรานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ประกอบด้วย

  1. มีสัตว์หลายชนิดที่กิน"ผล"ของผกากรองแล้วแพร่กระจายเมล็ดไปยังพื้นที่อื่นเป็นวงกว้าง
  1. ต้นและใบผกากรองมีความเป็นพิษ จึงไม่มีสัตว์มากินเป็นอาหาร
  2. ทนต่อสภาวะแวดล้อมที่หลากหลาย
  3. การตัดไม้ การแผ้วถางป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นผกากรอง
  4. ต้นผกากรองมีการสร้างสารยับยั้งการเจริญต่อพืชชนิดอื่น
  5. มีการเพิ่มจำนวนเมล็ดได้อย่างรวดเร็วมาก (ประมาณ 12,000 เมล็ด ต่อต้น ต่อปี)

ภูมิภาคและพื้นที่การรุกรานแบบวงกว้างของผกากรอง ได้แก่ ประเทศเอธิโอเปีย เคนยา แอฟริกาใต้ มาดากัสการ์ อูกันดา ประเทศอินเดียตอนเหนือและใต้ในรัฐชัมมูและกัศมีร์ ปัญจาบ หิมาจัลประเทศ ราชสถาน อุตตรประเทศ มัธยประเทศ อัสสัม กรณาฏกะ ทมิฬนาฑู และประเทศศรีลังกา[26]

พิษวิทยา

ผกากรองทุกส่วนเป็นพิษต่อปศุสัตว์ เช่น วัว แกะ ม้า และแพะ รวมถึงสุนัขและมนุษย์[11][28][29] สารออกฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในสัตว์กินหญ้า คือ เพนตาไซคลิกไตรเทอร์พีนอยด์ ซึ่งส่งผลให้ตับถูกทำลาย และอาการผิวหนังไวต่อแสง[30]

ผกากรองยังขับสารอัลลีโลพาธีซึ่งยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชโดยรอบ โดยทำลายการงอกและการยืดตัวของราก[31]

ความเป็นพิษของผลผกากรองต่อมนุษย์นั้นไม่เป็นที่แน่ชัด โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการกินผลผกากรองอาจเป็นพิษต่อมนุษย์ได้ เช่น การศึกษาของ O P Sharma ซึ่งระบุว่า "ผลไม้ที่ยังไม่สุกสีเขียวเป็นพิษต่อมนุษย์"[32] อย่างไรก็ตามการศึกษาอื่น ๆ พบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าผลของผกากรอง (L. camara) อาจไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์เมื่อรับประทาน และอาจรับประทานได้เมื่อสุก[33][34][35][36]

อาการในมนุษย์เมื่อกินผกากรองส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะใบและผลดิบ ได้แก่

  • ผลที่แก่แต่ยังไม่สุก มีสารพิษที่เรียกว่า แลนทาดีน-เอ (Lantadene A)  และ แลนทาดีน-บี (Lantadene B)  โดยแลนทาดีน-บี  มีพิษน้อยกว่าแลนทาดีน เอ  ความเป๋นพิษหากกินเข้าไป สารนี้จะออกฤทธิให้มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ไม่มีแรง ไม่สามารถยืนได้ มึนงง อาเจียน รูม่านตาขยาย ตัวเขียว ท้องเดิน หมดสติ หายใจลึกแต่ระดับการหายใจจะช้าลง ๆ และ อาจตายได้[37]
  • ในเมล็ดมีสาร glycosides corchoroside A และ B กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วกว่าปกติ และสารรสขม corchorin ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ม่านตาขยาย ชีพจรผิดปกติ และอาจหมดสติ[38]

การรุกรานในประเทศไทย

ผกากรองบางสายพันธุ์เป็นวัชพืชที่พบได้ทั่วประเทศ พบการระบาดในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกาญจนบุรี[39]

การจัดการและการควบคุม

การจัดการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมระยะยาวในผกากรอง (L. camara) ที่รุกราน ต้องมีการลดกิจกรรมการทำลายแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของพืชพันธุ์พื้นเมืองเดิมให้เสื่อมโทรม การรักษาความแข็งแรงของระบบนิเวศพื้นเมืองเดิมให้สามารถทำงานได้เป็นปกติ (ระบบนิเวศพื้นเมืองที่สมบูรณ์ซึ่งทำงานได้เองตามธรรมชาติ) เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันไม่ให้วัชพืชรุกรานอย่างผกากรอง เข้ามาสร้างอาณานิคมใหม่และเข้ามาลดการความสามารถในการแข่งขันของสัตว์และพืชพื้นเมืองเดิม

ทางชีวภาพ

แมลงที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติและสารควบคุมทางชีวภาพอื่น ๆ ได้รับการปรับใช้ในระดับความสำเร็จที่แตกต่างกันในการควบคุมผกากรอง ซึ่งเป็นวัชพืชชนิดแรกที่อยู่ภายใต้การควบคุมทางชีวภาพ อย่างไรก็ตามไม่มีโครงการใดที่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีการใช้ตัวควบคุม 36 อย่างใน 33 ภูมิภาค การไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมทางชีวภาพในกรณีของผกากรอง น่าจะเกิดจากผกากรองมีพันธุ์ลูกผสมมากมาย คือมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่กว้างขวางซึ่งทำให้ยากในการควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาล่าสุดในอินเดียแสดงให้เห็นผลลัพธ์ เกี่ยวกับการควบคุมทางชีวภาพของพืชชนิดนี้โดยใช้มวนปีกแก้ว (Tingidae)[40]

แรงงานและเครื่องจักรกลการเกษตร

การควบคุมด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรในการจัดการผกากรองต้องพึ่งการใช้แรงงาน การกำจัดผกากรองด้วยแรงงานมนุษย์อาจได้ผลดี ด้วยการวิธีถางและขุดเอารากออก แต่ต้องใช้แรงงานมากและมีต้นทุนค่าแรงที่สูง[41] วิธีนี้มักจะเหมาะสมเฉพาะในพื้นที่ขนาดเล็ก หรือในระยะแรกของการเข้าทำลายของผกากรอง วิธีการควบคุมเครื่องจักรกลอีกวิธีหนึ่งคือการปราบด้วยไฟและตามด้วยการปลูกพืชพันธุ์พื้นเมือง ในบางพื้นที่มีการขุดรากถอนโคนของต้นผกากรองในธรรมชาติมาปรับปรุงให้เป็นไม้กระถางประดับที่มีความสวยงามได้[39]

สารเคมี

การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในการจัดการผกากรอง มีประสิทธิภาพมาก แต่ก็มีต้นทุนที่สูงในประเทศที่ยากจนซึ่งมักไม่เป็นที่ยอมรับ วิธีที่ได้ผลที่สุดในการปราบผกากรองทางเคมี คือการดายหญ้าบริเวณนั้นก่อนการฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าวัชพืช ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และยังถูกห้ามใช้ในหลายประเทศที่มีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคอย่างเข้มงวด

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

  1. "NatureServe Explorer".
  2. "Lantana aculeta L." U.S National Plant Germplasm System (NPGS). สืบค้นเมื่อ January 6, 2019.
  3. "Global Invasive Species Database". issg.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2014-03-22.
  4. Munir A (1996). "A taxonomic review of Lantana camara L. and L. montevidensis (Spreng.) Briq. (Verbenaceae) in Australia". Journal of the Adelaide Botanic Gardens. 17: 1–27.
  5. Floridata LC (2007). "Lantana camara". Floridata LC. สืบค้นเมื่อ September 19, 2007.
  6. Moyhill Publishing (2007). "English vs. Latin Names". Moyhill Publishing. สืบค้นเมื่อ September 19, 2007.
  7. New South Wales National Parks and Wildlife Service (2007). "Lantana - fact sheet". Department of Environment and Climate Change - NSW. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2007.
  8. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ร้อยพรรณพฤกษา ไม้มีพิษ. กรุงเทพฯ: เศรษฐศิลป์. 2552. ISBN 978-974-8354-84-2.
  9. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. (2010). Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Journal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5. PMID 20137098.
  10. Kohli, Ravinder K.; Batish, Daizy R.; Singh, H. P.; Dogra, Kuldip S. (ตุลาคม 2006). "Status, invasiveness and environmental threats of three tropical American invasive weeds (Parthenium hysterophorus L., Ageratum conyzoides L., Lantana camara L.) in India". Biological Invasions (ภาษาอังกฤษ). 8 (7): 1501–1510. doi:10.1007/s10530-005-5842-1. ISSN 1387-3547.
  11. 11.0 11.1 11.2 Ensbey, Rob. "Lantana - Weed of National Significance"
  12. 12.0 12.1 Ankila J. Hiremath and Bharath Sundaram (มิถุนายน 2548). The Fire-Lantana Cycle Hypothesis in Indian Forests. Conservation and Society. volume 3, No. 1: pages 26–42. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2563.
  13. Sharma, O.P. (1981). "A Review of the Toxicity of Lantana camara (Linn) in Animals". Clinical Toxicology. 18 (9): 1077–1094. doi:10.3109/15563658108990337. PMID 7032835.
  14. "Lantana camara". 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 กรกฎาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2021.
  15. Weiss, Martha. R. (1990). "FLORAL COLOR CHANGES AS CUES FOR POLLINATORS". International Society for Horticultural Science.[ลิงก์เสีย]
  16. "Florida Exotic Pest Plant Council: Lantana camanara" (PDF). Florida Exotic Pest Plant Council. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 15 กันยายน 2018. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2007.
  17. Sanders, R.W. (23 November 2012). "Taxonomy of Lantana sect. Lantana (Verbenaceae)". Journal of the Botanical Research Institute of Texas. 6 (2): 403–441.
  18. Gentle, C. B.; Duggin, J. A. (กันยายน 1997). "Lantana camara L. invasions in dry rainforest - open forest ecotones: The role of disturbances associated with fire and cattle grazing". Austral Ecology (ภาษาอังกฤษ). 22 (3): 298–306. doi:10.1111/j.1442-9993.1997.tb00675.x. ISSN 1442-9985.
  19. "Lantana camara" เก็บถาวร 2015-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ตุลาคม 2006.
  20. 20.0 20.1 Thaman, R. R. (2006). "Lantana camara: its introduction, dispersal and impact on islands of the tropical Pacific Ocean". Micronesia Journal of the University of Guam. 10: 17–39.
  21. N.D.R. Weerawardane and J. Dissanayake. Status of forest invasive species in Sri Lanka. Food and Agriculture Organization of the United Nations.
  22. S. Ranwala, B. Marambe, S. Wijesundara, P. Silva, D. Weerakoon, N. Atapattu, J. Gunawardena, L. Manawadu, G. Gamage (October 2012). Post-entry risk assessment of invasive alien flora in Sri Lanka-present status, GAP analysis, and the most troublesome alien invaders. Pakistan Journal of Weed Science Research. Special Issue. pp. 863–871.
  23. Country report on forest invasive species in the Philippines. Food and Agriculture Organization of the United Nations. Retrieved 23 March 2014.
  24. Day, Michael D. (Weed scientist) (2003). Lantana : current management status and future prospects. Canberra, Australia: Australian Centre for International Agricultural Research. ISBN 1-86320-374-5. OCLC 54015865.
  25. Duggin, J.A; Gentle, C.B (กันยายน 1998). "Experimental evidence on the importance of disturbance intensity for invasion of Lantana camara L. in dry rainforest–open forest ecotones in north-eastern NSW, Australia". Forest Ecology and Management (ภาษาอังกฤษ). 109 (1–3): 279–292. doi:10.1016/S0378-1127(98)00252-7.
  26. 26.0 26.1 CABI Lantana camara (lantana) สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2563.
  27. Berry, Z C; Wevill, K; Curran, T J (ตุลาคม 2011). "The invasive weed Lantana camara increases fire risk in dry rainforest by altering fuel beds: Lantana camara increases fuel beds". Weed Research (ภาษาอังกฤษ). 51 (5): 525–533. doi:10.1111/j.1365-3180.2011.00869.x.
  28. Ross, Ivan. A. (1999). Medicinal plants of the world (PDF) เก็บถาวร 2014-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Humana Press. p. 187.
  29. Burns, Deborah (2001). Storey's horse-lover's encyclopedia : an English & Western A-to-Z guide. Pownal, VT: Storey Books. ISBN 1-58017-317-9. OCLC 44952133.
  30. Barceloux, Donald G. (2008). Medical toxicology of natural substances : foods, fungi, medicinal herbs, plants, and venomous animals. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-33557-4. OCLC 299026676.
  31. Ahmed, Romel; Uddin, Mohammad Belal; Khan, Mohammed Abu Sayed Arfin; Mukul, Sharif Ahmed; Hossain, Mohammed Kamal (ธันวาคม 2007). "Allelopathic effects of Lantana camara on germination and growth behavior of some agricultural crops in Bangladesh". Journal of Forestry Research (ภาษาอังกฤษ). 18 (4): 301–304. doi:10.1007/s11676-007-0060-6. ISSN 1007-662X.
  32. Sharma, Om P.; Sharma, Sarita; Pattabhi, Vasantha; Mahato, Shashi B.; Sharma, Pritam D. (มกราคม 2007). "A Review of the Hepatotoxic Plant Lantana camara". Critical Reviews in Toxicology (ภาษาอังกฤษ). 37 (4): 313–352. doi:10.1080/10408440601177863. ISSN 1040-8444.
  33. Herzog, F.; Gautier-Béguin, D. & Müller, K. (1996): Uncultivated plants for human nutrition in Côte d'Ivoire เก็บถาวร 2019-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. In: Food and Agriculture Organization: Domestication and commercialization of non-timber forest products in agroforestry systems.
  34. Coppens d'Eeckenbrugge, Geo & Libreros Ferla, Dimary (2000) Fruits from America - An ethnobotanical inventory: Lantanaเก็บถาวร 2007-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 17 November 2007.
  35. Texas A&M Research and Extension Center (2000): Native Plants of South Texas - Velvet Lantana เก็บถาวร 2017-07-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 1 February 2014.
  36. Carstairs, S. D.; Luk, J. Y.; Tomaszewski, C. A.; Cantrell, F. L. (1 ธันวาคม 2010). "Ingestion of Lantana camara Is Not Associated With Significant Effects in Children". PEDIATRICS (ภาษาอังกฤษ). 126 (6): e1585–e1588. doi:10.1542/peds.2010-1669. ISSN 0031-4005.
  37. สุนทร ตรีนันทวัน. ผกากรอง สวยจริงแต่พิษร้าย 25 สิงหาคม 2553.
  38. ผกากรอง สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2563.
  39. 39.0 39.1 "ผกากรอง". สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นรุกรานในประเทศไทย ( IAS in Thailand ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2016.
  40. "Karnataka gets nature's gift to fight deadly weed - Times of India". The Times of India. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2017.
  41. Quentin C. B. Cronk, Janice L. Fuller (1995). Plant Invaders: The Threat to Natural Ecosystems. Royal Botanic Gardens, Kew: Springer. ISBN 978-0-412-48380-6.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya