Share to:

 

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
Volkspartij voor Vrijheid en Democratie
ชื่อย่อVVD
หัวหน้ามาร์ก รึตเตอ
(นายกรัฐมนตรี)
ผู้นำฝ่ายหญิงคริสตียันเนอ ฟัน แดร์ วัล
ผู้นำในวุฒิสภาอันเนอมารี ยอร์ริตสมา
ผู้นำในสภาผู้แทนราษฏรกลาส ไดก์โฮฟฟ์
ผู้นำในรัฐสภายุโรปมาลิก อัซมานี
ก่อตั้ง28 มกราคม 1948; 76 ปีก่อน (1948-01-28)
รวมตัวกับพรรคเสรีภาพและกรรมการ-เอาด์
ที่ทำการMauritskade 21
เดอะเฮก
ฝ่ายเยาวชนองค์การเยาวชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
สมาชิกภาพ  (ปี 2020)ลดลง 23,907 คน[1]
อุดมการณ์เสรีนิยมคลาสสิก[2]
เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ[3][4][5]
จุดยืนกลางขวา[6][7]
สีน้ำเงินและส้ม
วุฒิสภา
12 / 75
สภาผู้แทนราษฎร
32 / 150
ข้าหลวงในพระมหากษัตริย์
2 / 12
สภาจังหวัด
80 / 570
รัฐสภายุโรป
5 / 29
เว็บไซต์
www.vvd.nl
การเมืองเนเธอร์แลนด์
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย (ดัตช์: Volkspartij voor Vrijheid en Democratie หรือย่อเป็น VVD) เป็นพรรคการเมืองในประเทศเนเธอร์แลนด์ฝ่ายเสรีอนุรักษ์นิยม[8][9][10][11] สนับสนุนบริษัทเอกชนและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ[3][4][5]

หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันคือ มาร์ก รึตเตอ อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2010 และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน นับเป็นครั้งแรกที่พรรคได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนและพรรคเพื่อเสรีภาพ แต่เมื่อพรรคเพื่อเสรีภาพไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในช่วงที่เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป[12] เสถียรภาพรัฐบาลจึงสั่นคลอน นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2012[13] และพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหลังได้ไปถึง 41 ที่นั่งในสภา จัดตั้งรัฐบาลรวมกับพรรคแรงงาน จนครบวาระในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 จึงมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2017 นี้ พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ที่นั่งสูงสุด 33 ที่นั่ง แต่พรรคแรงงานเสียคะแนนนิยม จึงมีการเปลี่ยนมาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ 66 สหภาพคริสเตียน และพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนแทน ในคณะรัฐมนตรีรึตเตอ 3

ประวัติศาสตร์

ค.ศ. 1948-1971

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 โดยเป็นการสานต่อพรรคเสรีภาพที่เกิดจากพรรครัฐเสรีที่มาจากสหภาพเสรีนิยมอีกทอดหนึ่ง ในช่วงก่อตั้ง สมาชิกพรรคแรงงาน (PvdA) จำนวนหนึ่งนำโดยปีเตอร์ เอาด์ มองว่าพรรคแรงงานเรียกร้องสังคมนิยมมากเกินไป จึงได้ลาออกจากพรรคแรงงานและเข้าร่วมกับพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ปีเตอร์ เอาด์ ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

ระหว่าง ค.ศ. 1948 ถึง 1952 พรรคได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคแรงงานและพรรคประชาชนคาทอลิกในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิลเลิม ดรีส รัฐบาลผสมชุดนี้ดำเนินการจัดตั้งรัฐสวัสดิการขึ้นและรับรองการประกาศเอกราชของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์และจัดตั้งเป็นประเทศอินโดนีเซีย หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1952 แต่พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ได้คะแนนเสียงเพียงเล็กน้อย จึงไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1956 กระทั่งการเลือกตั้งในอีกสามปีต่อมา พรรคได้ที่นั่ง 19 ที่นั่ง จึงได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาชนคาทอลิก พรรคต่อต้านการปฏิวัติ และสหภาพประวัติศาสตร์คริสเตียน ในรัฐบาลยัน เดอ เคา

ในปี ค.ศ. 1963 ปีเตอร์ เอาด์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เอ็ดโซ โตกโซเปิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้ารับตำแหน่งแทน ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1963 แม้พรรคจะได้คะแนนเสียงลดลงแต่ก็ยังได้เข้าร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคบางส่วนเรียกร้องให้มีการปรับทิศทางเสรีนิยมของพรรคไปสู่เสรีนิยมแบบดั้งเดิม และความไม่ลงรอยนี้นำมาสู่การลาออกจากพรรคและจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อ ประชาธิปัตย์ 66 ในปี ค.ศ. 1966

ราวปี ค.ศ. 1965 รัฐมนตรีจากพรรคเกิดข้อขัดแย้งกับรัฐมนตรีร่วมกระทรวงจากพรรคประชาชนคาทอลิกและพรรคต่อต้านการปฏิวัติในรัฐบาลมาไรเนิน จึงมีการยุบและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยมีเพียงพรรคประชาชนคาทอลิก พรรคต่อต้านการปฏิวัติ และพรรคแรงงานร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีโย กัลส์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีการเลือกตั้ง แต่คณะรัฐมนตรีนี้ก็ไร้เสถียรภาพและถูกยุบเช่นกันในปีต่อมา จากนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1967 พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้รับคะแนนเสียงคงเดิมและได้เข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้งในรัฐบาลปีต เดอ โยง ในช่วงนี้ พรรคได้ลดความสัมพันธ์กับองค์กรเพื่อเสรีภาพอื่น ๆ และปรับอุดมการณ์ไปสู่ความเป็นกลางมากขึ้น

ค.ศ. 1971-1994

ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1971 พรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนนเสียลดลง จึงได้เชิญพรรคสังคมประชาธิปไตย 70 อันเป็นสาขาของพรรคแรงงานเข้าร่วมรัฐบาล แต่อยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็มีการยุบคณะรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่โดยไม่มีพรรคสังคมประชาธิปไตย 70 มีบาเรินด์ บีสเฮอเฟิล จากพรรคต่อต้านการปฏิวัติเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี ค.ศ. 1971 ฮันส์ วีเคิล นักการเมืองหนุ่มไฟแรงเริ่มได้รับความสนใจจากประชาชน ได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ก่อนจะได้รับตำแหน่งประธานสภาในปีนั้น ในยุคของวีเคิลนี้ พรรคได้มีการปฏิรูปสู่ค่านิยมทางการเมืองแบบใหม่ มีการปฏิรูปรัฐสวัสดิการ ส่งเสริมนโยบายลดหย่อยภาษี จึงได้รับความนิยมจากชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แนวคิดการเมืองแบบใหม่นี้นับว่าเป็นประโยชน์กับพรรค เพราะแม้พรรคจะแพ้การเลือกตั้งขาดลอยในปี ค.ศ. 1972 และไม่ได้ร่วมรัฐบาลโยป เดน เอาล์ แต่องค์กรที่เป็นกลางที่เป็นพันธมิตรกับพรรคมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ๆ จากนั้นในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1977 พรรคได้คะแนนไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่การเจรจาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเก่า (คริสเตียนประชาธิปไตย และประชาธิปไตยสังคมนิยม) ไม่ลงตัว พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยจึงถูกเชิญเข้าร่วมรัฐบาลร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียน โดยมีดรีส ฟัน อัคต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1981 พรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนเสียที่นั่งไปมาก มีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยร่วมกับพรรคแรงงาน โดยไม่ได้เชิญพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยเข้าร่วมรัฐบาล การขาดเสถียรภาพนำมาสู่การยุบจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1982 วีเคิลลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและย้ายไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระราชินีประจำจังหวัดฟรีสลันด์ เอ็ด ไนเปิลส์ รับหน้าที่หัวหน้าพรรคแทน นำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1982 ได้มา 10 ที่นั่ง จึงได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียน มีรืด ลึบเบิร์ส เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มปฏิรูปพลิกโฉมระบบรัฐสวัสดิการ และพรรคยังได้รับคะแนนเสียงมากพอในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1986 แต่เกิดข้อขัดแย้งในรัฐบาลชุดนี้ นำมาสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 1989 ที่พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้รับคะแนนเสียงไม่มากพอที่จะถูกเชิญไปร่วมรัฐบาล โยริส โฟร์ฮูเฟอ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และฟริตส์ โบลเกิสไตน์ เข้ารับตำแหน่งแทน

ค.ศ. 1994 ถึงปัจจุบัน

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ภายใต้การนำของฟริตส์ โบลเกิสไตน์ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1994 พรรคจึงได้ร่วมรัฐบาลร่วมกับพรรคแรงงานและพรรคประชาธิปัตย์ 66 โดยมีวิม โกก เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นรัฐบาลเนเธอร์แลนด์รัฐบาลแรกที่ไม่มีพรรคคริสเตียนใด ๆ ร่วมรัฐบาลเลยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 แนวทางการเมืองของโบลเกิสไตน์ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมากทำให้พรรคได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1998 กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงสูงเป็นอันดับสอง จึงได้เข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้ง โบลเกิสไตน์ลาออกจากพรรคเพื่อไปรับตำแหน่งข้าหลวงประจำยุโรปในปี ค.ศ. 1999 และมีฮันส์ ไดก์สตัล นักการเมืองสังคมเสรีนิยมเป็นหัวหน้าพรรคแทน

การเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2002 เนเธอร์แลนด์มีแนวคิดแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มปิม ฟอร์เตาน์ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นอันดับสอง ส่วนพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้คะแนนลดลงอย่างมากแต่ยังได้เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนเป็นแกนนำ มียัน เปเตอร์ บัลเกอเนนเดอเป็นนายกรัฐมนตรี ไดก์สตัลประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและมีแคร์ริต ซาล์ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าพรรคแทน แต่ซาล์มกลับไปขัดแย้งกับรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มปิม ฟอร์เตาน์ ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงมีการเลือกตั้งอีกครั้งใน ค.ศ. 2003

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคคาดหวังว่าจะได้คะแนนนิยมเพิ่มมากเพราะนำเอาข้อเสนอเรื่องผู้อพยพของปิม ฟอร์เตาน์มาเสนอในนโยบายหาเสียง แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นใจ ซาล์มนำพรรคได้ที่นั่งเพียง 4 ที่นั่งเท่านั้น และได้เข้าร่วมรัฐบาลอย่างไม่เต็มใจนัก ซาล์มได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งและยังได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีโยซียัส ฟัน อาร์ตเซิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนซาล์มในปี ค.ศ. 2004

ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 พรรคเสียที่นั่งเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งสภาจังหวัด ฟัน อาร์ตเซิน จึงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและให้วิลลีบรอร์ด ฟัน เบก รักษาการแทน จากนั้นพรรคได้เลือก มาร์ก รึตเตอ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน อย่างไรก็ตาม พรรคได้รับคะแนนเสียงไม่มากพอในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2006 และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคได้เริ่มรณรงค์หาเสียงช้าและไม่มีประสิทธิภาพ[14] ไม่สามารถดึงความสนใจจากประชาชนจากการขับเคี่ยวระหว่างหัวหน้าพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนและหัวหน้าพรรคแรงงานได้ เกิดความไม่ลงรอยกันในพรรค โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นผู้นำของรึตเตอ โดยเฉพาะหลังจากที่รีตา แฟร์โดงก์ ตัวแทนอันดับสองจากพรรคได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่ารึตเตอที่เป็นตัวแทนอันดับหนึ่ง มีการเรียกร้องให้มีการพิจารณาหัวหน้าพรรคกันใหม่[15] เป็นเวลานานกว่าสถานการณ์ในพรรคจะดีขึ้น และแฟร์โดงก์ได้ลาออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่

ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2010 พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยภายใต้การนำของมาร์ก รึตเตอ ชนะการเลือกตั้ง ได้มาถึง 31 ที่นั่งในสภา กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 92 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา โดยร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนจัดตั้งรัฐบาลรึตเตอ 1

เมื่อพรรคเพื่อเสรีภาพไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการประกาศตัดงบประมาณเพื่อรัดเข็มขัด ได้ลาออกจากฝ่ายรัฐบาล มาร์ก รึตเตอจึงประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 2012[16] และครั้งนี้ได้รับคะแนนท่วมท้นอีกครั้ง ได้มาถึง 41 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นมา 10 ที่นั่ง) จัดตั้งรัฐบาลรึตเตอ 2 ร่วมกับพรรคแรงงานและบริหารงานจนครบวาระ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2017 พรรคเสียที่นั่งไป 8 ที่นั่ง แต่ยังเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียน พรรคประชาธิปัตย์ 66 และสหภาพคริสเตียนในรัฐบาลรึตเตอ 3

อุดมการณ์

ด้านเศรษฐกิจและการเงิน[17]

พรรคสนับสนุนหลักการรัฐบาลเล็ก (Small government) คือให้รัฐบาลมีส่วนร่วมกับนโยบายสาธารณะและเอกชนให้น้อยที่สุด และใช้นโยบายปล่อยให้ทำไป (Laissez-faire) ที่ปล่อยให้อุตสาหกรรมดำเนินการไปโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล นอกจากนี้ยังส่งเสริมการลดภาษี ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และบริหารงบประมาณแบบสมดุล

ด้านบริหารและกิจการสังคม[17]

พรรคผลักดันการลดการออกกฎระเบียบจากภาครัฐ (Deregulation) แยกคริสตจักรกับรัฐออกจากกัน ไม่สนับสนุนการถือหลายสัญชาติของพลเมือง ส่งเสริมการปลดปล่อยทาส การแต่งงานเพศเดียวกัน การปรับตัวจากวัฒนธรรมที่หลากหลายให้กลมกลืน และให้การดูแลผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสม

ด้านนโยบายต่างประเทศและกฎหมาย[17]

พรรคสนับสนุนการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป ส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติ สร้างภาคีระหว่างประเทศ ส่งเสริมนโยบายให้ศาลลงโทษโดยห้ามใช้ดุลพินิจในการลดโทษหรือรอการลงโทษ ต่อต้านการเข้าครอบครองพื้นที่รกร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และสนับสนุนการปฏิบัติต่อยาเสพติดแบบอ่อนและแบบรุนแรงที่แตกต่างกัน

ด้านสุขภาพ[17]

พรรคพยายามผลักดันระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมงานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด ผลักดันนโยบายการทำแท้ง และการุณยฆาต

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยก่อตั้งขึ้นด้วยอุดมการณ์เสรีนิยม และโดยทั่วไปเป็นผู้สนับสนุนตลาดเสรี ส่งเสริมเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีนิยมแบบดั้งเดิม เสรีภาพในทางวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับนโยบายรัฐสวัสดิการ

แถลงการณ์เสรีภาพ

พรรคได้ออกแถลงการณ์เสรีภาพ[18]เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 โดยแบ่งเป็น 4 หมวดด้วยกัน ได้แก่

ประชาธิปไตย

  • พรรคสนับสนุนให้เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งมาเป็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง
  • พรรคไม่สนับสนุนการทำประชามติ
  • นายกเทศมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
  • ส่งเสริมเสรีภาพของตลาดเดียวยุโรป

ความมั่นคง

  • สหภาพยุโรปควรมีนโยบายการป้องกันประเทศและความมั่นคงร่วมกัน

เสรีภาพ

  • หลักการการลดการกีดกันควรมีความสำคัญหลักการทางศาสนา
  • สิทธิทางสังคมที่พึงมีควรได้รับการรักษา
  • การุณยฆาตเป็นสิทธิที่บุคคลพึงมี
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเปิด โดยให้เป็นตลาดเสรีที่มีการควบคุม ส่งเสริมการจดสิทธิบัตร
  • สนับสนุนเสรีภาพของสัญญาจ้างงาน

พลเมือง

  • ลดการถือสองสัญญาติ
  • ชาวดัตช์ควรเปิดกว้างกับผู้อพยพ และผู้อพยพควรปรับตัวให้เข้ากับสังคมดัตช์หากต้องการเป็นพลเมือง

อ้างอิง

  1. "Forum voor Democratie qua ledental de grootste partij van Nederland" (PDF). Documentatiecentrum Nederlandse Politieke Partijen (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 27 January 2020.
  2. Rudy Andeweg|Andeweg, R. and G. Irwin Politics and Governance in the Netherlands, Basingstoke (Palgrave) p.49
  3. 3.0 3.1 T. Banchoff (1999). Legitimacy and the European Union. Taylor & Francis. p. 123. ISBN 978-0-415-18188-4. สืบค้นเมื่อ 26 August 2012.
  4. 4.0 4.1 Andeweg R.B. and G.A. Irwin Government & Politics in the Netherlands 2002 Palgrave p. 48
  5. 5.0 5.1 "Website Info for vvd.nl". Who.is. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-15. สืบค้นเมื่อ 17 March 2017.
  6. Hans Keman (2008), "The Low Countries: Confrontation and Coalition in Segmented Societies", Comparative European Politics, Taylor & Francis, p. 221
  7. Sean Lusk; Nick Birks (2014). Rethinking Public Strategy. Palgrave Macmillan. p. 168. ISBN 978-1-137-37758-6.[ลิงก์เสีย]
  8. Rudy W Andeweg; Lieven De Winter; Patrick Dumont (2011). Government Formation. Taylor & Francis. p. 147. ISBN 978-1-134-23972-6. สืบค้นเมื่อ 17 August 2012.
  9. Jochen Clasen; Daniel Clegg (2011). Regulating the Risk of Unemployment: National Adaptations to Post-Industrial Labour Markets in Europe. Oxford University Press. p. 76. ISBN 978-0-19-959229-6. สืบค้นเมื่อ 17 August 2012.
  10. David Broughton (1999). Changing Party Systems in Western Europe. Continuum International Publishing Group. p. 178. ISBN 978-1-85567-328-1. สืบค้นเมื่อ 20 August 2012.
  11. Thomas Poguntke; Paul Webb (2007). The Presidentialization of Politics: A Comparative Study of Modern Democracies. Oxford University Press. p. 158. ISBN 978-0-19-921849-3. สืบค้นเมื่อ 24 August 2012.[ลิงก์เสีย]
  12. Bruno Waterfield (23 April 2012). "Dutch prime minister Mark Rutte resigns over austerity measures". The Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 3 March 2015.
  13. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 สิงหาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  14. "Rutte: "Het karwei begint nu pas"". NOS Nieuws. 4 พฤศจิกายน 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤษภาคม 2007.
  15. "Verdonk haalt bakzeil over leiderschap VVD" (ภาษาดัตช์). Elsevier. 29 พฤศจิกายน 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2007.
  16. "Dutch government unravels over Brussels budget rules". EUobserver. 22 April 2012. สืบค้นเมื่อ 23 April 2012.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 "VVD Standpunten". VVD.
  18. "VVD's official page: Liberal Manifesto". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-02. สืบค้นเมื่อ 2020-04-15.
Kembali kehalaman sebelumnya