พระสุรินทรบริรักษ์รองอำมาตย์เอกพระสุรินทรบริรักษ์ (พ.ศ. 2385 – พ.ศ. 2455) เป็นขุนนางชาวไทยผู้ก่อตั้งเมืองวาริชภูมิ ซึ่งได้แก่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ในปัจจุบัน[1] ประวัติชาติกำเนิดรองอำมาตย์เอกพระสุรินทรบริรักษ์เป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าเมืองวาริชภูมิ เป็นชาวภูไท เดิมชื่อ ท้าวสุพรม เกิดที่เมืองกะป๋อง (เมืองเซโปน ประเทศลาวในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2385 เป็นบุตรชายคนโตของท้าวราชนิกูล ไม่ปรากฏพี่น้องร่วมสายเลือด และเป็นหลานของท้าวคำผงผู้เป็นเจ้าเมืองกะป๋อง แต่ผลกระทบจากการศึกสงครามทำให้ชาวเมืองกะป๋องต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อความสงบสุขในการทำกิน[2] การอพยพเข้ามาในประเทศสยามการอพยพข้ามมาประเทศสยามของชาวภูไทเมืองกะป๋องในช่วงนั้นมีหลายระลอก ใน พ.ศ. 2387 ท้าวราชนิกูลได้นำชาวภูไทเมืองกะป๋องประมาณ 400 ครัวเรือน อพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาประเทศสยามตามคำชักชวนของพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร และพระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ้าย เจ้าเมืองยโสธรและนครพนม) ขบวนผู้อพยพได้เดินทางและพักแรมตามพื้นที่ต่าง ๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2390 ท้าวราชนิกูลและชาวภูไทเมืองกะป๋องได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นที่บ้านหนองหอย (อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร)[3][4] การรับราชการและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศสยามต้องเผชิญกับปัญหาโจรจีนฮ่อซึ่งแผ่อิทธิพลลงมาจากทางใต้ของประเทศจีน กลุ่มฮ่อได้ออกปล้นวัว ควาย พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านจนได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถทำกินได้อย่างปกติสุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงส่งพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) มาเป็นแม่ทัพใหญ่ในการปราบฮ่อ โดยตั้งค่ายอยู่ที่เมืองหนองคาย ใน พ.ศ. 2419 ท้าวสุพรมได้นำไพร่พลชาวภูไทเข้าสมทบกับพระพิทักษ์เขตขันธ์หรือพระพิทักษ์เขื่อนขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาน เชื้อสายราชวงศ์เจ้าจารย์เเก้วเเห่งเมืองท่งศรีภูมิหรือสุวรรณภูมิ ร่วมเดินทางไปกับทัพใหญ่ของพระยามหาอำมาตย์ไปปราบฮ่อที่เวียงจันทร์และทุ่งเชียงคำจนชนะราบคาบ เสร็จจากการศึกแล้วจึงนำไพร่พลกลับ เมื่อมาถึงบ้านหนองหอยก็พบว่าท้าวราชนิกูลผู้เป็นบิดาได้ป่วยหนักและเสียชีวิตลง ท้าวสุพรมจึงจัดการพิธีศพของบิดา เมื่อแล้วเสร็จก็นำไพร่พลกลับไปเข้าร่วมกองทัพของพระยามหาอำมาตย์อีกครั้ง ความทราบถึงพระยามหาอำมาตย์ทำให้ท่านรักและเอ็นดูท้าวสุพรมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเห็นว่าเป็นคนซื่อสัตย์ รับใช้ราชการอย่างอุตสาหะและกล้าหาญ พระยามหาอำมาตย์จึงแต่งตั้งท้าวสุพรมเป็น "พระพรมสุวรรณภักดี" ดำรงตำแหน่งนายกองแห่งบ้านหนองหอย ปฏิบัติราชการแทนบิดาสืบไป ใน พ.ศ. 2430 พระพรมสุวรรณภักดีและพระพิทักษ์เขตขันธ์ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ กรุงเทพมหานคร โดยการเดินทางครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระยามหาอำมาตย์จึงทำให้การดำเนินการต่าง ๆ สะดวกยิ่งขึ้น เมื่อความทั้งหมดทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์พระพรมสุวรรณภักดี เป็น "รองอำมาตย์เอกพระสุรินทรบริรักษ์" และจัดตั้งบ้านป่าเป้าขึ้นเป็นเมืองวาริชภูมิ โดยมีพระสุรินทรบริรักษ์เป็นเจ้าเมือง และใน พ.ศ. 2440 พระสุรินทรบริรักษ์ ได้รับพระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ เป็น ถาดหมากและคนโท ทำจากเงิน จำนวน 1 สำรับ เสื้อเยียรบับ (เสื้อยศ) ลายดิ้นทอง สัปทนทำจากแพรหลินแดง หอก ดาบ และง้าวตีขึ้นจากเหล็กเนื้อดีอีกจำนวนหนึ่ง[2] [5] การจัดตั้งเมืองวาริชภูมิในช่วงนี้จะเกิดความสับสนว่าชาวภูไทกะป๋องซึ่งอาศัยอยู่บ้านหนองหอยในเขตเมืองสกลนคร แทนที่จะจัดตั้งเมืองที่บ้านหนองหอยแต่กลับตั้งเมืองวาริชภูมิขึ้นที่บ้านป่าเป้าซึ่งอยู่ในเขตเมืองหนองหาน (อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน) เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการจัดตั้งเมืองที่บ้านหนองหอยถูกคัดค้านจากพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร ซึ่งข้อขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานมาแล้วตั้งแต่สมัยท้าวราชนิกูล โดยท้าวราชนิกูลเเละท้าวสุพรหมหรือพระสุรินทรบริรักษ์ได้พยายามร้องขอกับพระยาประจันตประเทศธานีหลายครั้งแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ พระพิทักษ์เขตขันธ์เจ้าเมืองหนองหานจึงยกพื้นที่บ้านป่าเป้าในเขตเมืองหนองหานให้กับพระสุรินทรบริรักษ์เพื่อจัดตั้งเมืองวาริชภูมิทำราชการขึ้นกับเมืองหนองหาน และได้เกลี้ยกล่อมให้พระสุรินทรบริรักษ์ไปอพยพชาวภูไทกะป๋องที่อาศัยอยู่บ้านหนองหอยมาอยู่ที่บ้านป่าเป้าแทนแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากชาวภูไทกะป๋องเป็นคนรักถิ่นฐานจึงไม่ยอมย้ายบ้านเมืองไปอยู่ที่อื่น ทำให้เมืองวาริชภูมิต้องย้ายมาตั้งที่บ้านหนองหอยดังเดิมและเกิดข้อพิพาทเขตแดนระหว่างเมืองหนองหานและเมืองสกลนคร[6] ใน พ.ศ. 2435 พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีคำสั่งให้โอนเมืองวาริชภูมิมาทำราชการขึ้นกับเมืองสกลนคร แต่ให้กรมการเมืองวาริชภูมิยังคงตำแหน่งเดิมทุกคน และใน พ.ศ. 2441 มีพระราชโองการประกาศใช้ข้อบังคับท้องที่ ร.ศ. 117 ให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชบุตร ราชวงศ์ อันเป็นตำแหน่งแบบอาณาจักรล้านช้างแต่โบราณ มาเป็นตำแหน่งเหมือนข้าราชการส่วนกลางทั่วประเทศ โดยเมืองวาริชภูมิมีคณะกรมการเมือง ดังนี้
นามสกุลพระราชทานวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุลให้พระสุรินทรบริรักษ์โดยอิงตามชื่อของบรรพบุรุษคือท้าวคำเขื่อนหรืออีกนามหนึ่ง คือ ท้าวคำผง ว่า "เหมะธุลิน" ("เหมะ" แปลว่าทองคำหรือ "คำ" ในภาษาถิ่นเหนือและอีสาน ส่วน "ธุลิน" แปลว่าผงหรือเศษ) เขียนเป็นอักษรโรมันว่า HEMADHULIN อยู่ในลำดับที่ 1,209 ของนามสกุลพระราชทาน[8][9] รองอำมาตย์เอกพระสุรินทรบริรักษ์ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2455 สิริอายุได้ 70 ปี เก็บรักษาบรรจุศพไว้ 2 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพใน พ.ศ. 2457[2] อ้างอิง
|