Share to:

 

เจ้าแก้วมงคล

เจ้าแก้วมงคล
เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิพระองค์แรก ผู้สร้างเมืองท่งศรีภูมิ
ดำรงตำแหน่ง
2256–2268
ถัดไปเจ้ามืดคำดล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2184
นครหลวงเวียงจันทน์
เสียชีวิตพ.ศ. 2268 (84 ปี)
เมืองท่งศรีภูมิ
ศาสนาศาสนาพุทธ

เจ้าแก้วมงคล หรือ เจ้าแก้วบรม (ครองราชย์ พ.ศ. 2256–2268) คนท้องถิ่นออกเสียงว่า เจ้าแก้วบูฮม (ลาว: ເຈົ້າແກ້ວມຸງຄຸນ) เจ้านายลาวผู้สร้างเมืองท่งหรือเมืองทุ่งศรีภูมิ (ลาว: Tung Si Phum) และเจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิพระองค์แรกจากราชวงศ์ล้านช้าง (หลังการย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมาสู่นครหลวงเวียงจันทน์) ปัจจุบันคือ ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในภาคอีสานของประเทศไทย[1] ซึ่งต่อมาทายาทได้ย้ายไปตั้งเป็นเมืองใหม่ชื่อ เมืองสุวรรณภูมิ ในเอกสารใบลานเรื่องพงสาวดารเมือง (บั้งจุ้มหรือตำนานเมือง) ออกนามเมืองว่า สีวัลลพูม[2] เจ้าแก้วมงคลทรงเป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้วของภาคอีสานซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งที่แยกมาจากราชวงศ์ล้านช้างในอดีต เนื่องจากทรงเป็นปฐมบรรพบุรุษของเจ้าผู้ปกครองหัวเมืองลาวในภาคอีสานมากกว่า 20 หัวเมืองและภาคเหนืออีกหนึ่งหัวเมือง

ราชตระกูลแห่งนครเวียงจันทน์

เจ้าแก้วมงคล ทรงเป็นพระโอรสในเจ้าศรีวิชัย เป็นพระนัดดาในเจ้ามหาอุปราชศรีวรมงคลหรือพระยาธรรมิกราช[3] เป็นพระราชปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชหรือพระมหาอุปราชวรวังโส พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ 26 (ครองราชย์ พ.ศ. 2128–2165) สมเด็จพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าโพธิศาละราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ 17 (ครองราชย์ พ.ศ. 2063–2090) นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชยังเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มหาราชพระองค์ที่ 2 ของประเทศลาว พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ 19 (ครองราชย์ พ.ศ. 2091–2114)

โมเดล เจ้าแก้วมงคล โดย อ.พิทักษ์ เฉลิมเล่า ประติมากร สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เครดิตภาพ โดย ทายาทเจ้าแก้วมลคล สายสกุล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม

เกี่ยวกับพระนาม

เจ้าแก้วมงคลมีพระนามปรากฏในประวัติศาสตร์หลายพระนาม บางแห่งออกพระนามว่า จารย์แก้ว หรือ เจ้าจารย์แก้ว หรือ ท้าวจารย์แก้ว เนื่องจากเคยอุปสมบทเป็นศิษย์ของสมเด็จพระเจ้าสังฆราชาสัทธรรมโชตนาญาณวิเศษ หรือเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ด (ญาครูขี้หอม) อดีตสมเด็จพระสังฆราชแห่งเวียงจันทน์ บางแห่งออกพระนามว่า เจ้าแก้วบูฮม หรือ เจ้าแก้วบุรม หรือ เจ้าแก้วบรม บางแห่งออกพระนามว่า เจ้าแก้วมุงคุล หรือ เจ้าแก้วมุงคุน ซึ่งตรงกับสำเนียงไทยว่า เจ้าแก้วมงคล พระนามของพระองค์คือคำว่า แก้ว ตรงกับภาษาบาลีว่า รัตนะ (รตน) กษัตริย์ฝ่ายสยามได้นำมาเป็นราชทินนามเพื่อพระราชทานแก่ทายาททุกพระองค์ของพระองค์ที่ขึ้นปกครองเมืองสุวรรณภูมิในเวลาต่อมาว่า รัตนวงศา หรือ รัตนวงศามหาขัติยราช

พระราชประวัติ

เป็นเจ้าเมืองท่ง

ปี พ.ศ. 2238 สมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์เสด็จสวรรคต พระยาแสนสุรินทรลือชัย ไกรเสนาบดีศรีสรราชสงคราม (ท้าวมละ) ตำแหน่งเมืองแสน (อัครมหาเสนาบดี) ชิงเอาราชสมบัติ และตั้งตนเป็นกษัตริย์สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช และหวังสร้างความชอบธรรมด้วยการอภิเษกกับเชื้อพระวงศ์ โดยบังคับ พระนางสุมังคลา (พระนางสุมังคลากุมารี) พระชายา ของเจ้าชมพู และพระราชมาดาของ เจ้าฟ้าไชย (เจ้าไชยองค์เว้) โดยหลังจากที่เจ้าชมพู พระสวามีเสด็จสวรรคต ที่กรุงเว้ พระนางฯ ได้เสด็จกลับมาเวียงจันทน์ในช่วงวาระสุดท้ายของพระราชบิดา (พระเจ้าสุริยวงศาฯ) จนพระราชบิดาสวรรคต

เมื่อพระยาแสนสุรินทรลือชัยปราบเจ้านายและเชื้อพระวงศ์อื่นสำเร็จ หลังบังคับพระนางสุมังคลาเป็นพระชายาได้แล้ว พระนางได้ทรงประสูติเจ้าชายหนึ่งพรองค์ คือ พระองค์นอง ในปีเดียวกันพระโอรสของเจ้านางสุมังคลากับเจ้าชมพูอีกองค์ (ผู้เป็นน้องชายของ เจ้าไชยองค์เว้) คือ เจ้าองค์หล่อ (เจ้าไชยองค์เวียต) ที่หลบหนีไปอยู่เมืองพานพูชน ได้เสด็จกลับเวียงจันทน์ พร้อมเข้ายึดอำนาจจาก พระยาแสนสุรินทรลือชัย และขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ได้ 3 ปี เจ้านันทราช พระราชโอรสองค์รองของ เจ้าวิชัย (มีศักดิ์เป็น เสด็จอาของพระเจ้าสุริยวงศาฯ) ที่เป็นเจ้าเมืองครอง เมืองละคร (นครพนม) ในขณะนั้น ได้เข้าทำการชิงเมืองจาก "เจ้าองค์หล่อ" สำเร็จ ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จบาทอัญญาเจ้านันทราชศรีสัตตนาคนหุต เป็นกษัตริย์ลำดับต่อมา หลังครองราชย์ได้ 3 ปี พระโอรสของพระนางสุมังคลา กับ เจ้าชมพูพระองค์ใหญ่ คือ เจ้าฟ้าไชย (เจ้าไชยองค์เว้) ได้เสด็จกลับจาก กรุงเว้ มาทวงราชบัลลังก์ โดยการสนับสนุนของพระเจ้ากรุงเว้ หลังเจ้าไชยองค์เว้ เสด็จเข้ากรุงเวียงจันทน์ และทำการปราบปรามเจ้านันทราช และผู้สนับสนุนเรียบร้อย ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จบาทอัญญาเจ้ามหาศรีไชยเชษฐาธิราชธรรมราชาจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต จากนั้น ได้ทำการตัดรากถอนโคน กลุ่มผู้สนับสนุนและ ทายาทของ พระยาแสนสุรินทรลือไชย รวมทั้งกลุ่มเจ้านันทราชองค์อื่น ๆ ซึ่ง รวมทั้งราชโอรส อันเกิดแต่พระยาแสนสุรินทรลือชัย กับพระนางสุมังคลา (พระราชมารดาของเจ้าไชยองค์เว้) ด้วยพระนางสุมังคลา เห็นเป็นภัยแก่พระองค์และทารกในพระครรภ์ จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังพระญาติ อันเป็นสายทายาทพระเจ้าอาว์ (เจ้าวิไชย) คือ เจ้าแก้วมงคล ที่ยังทรงผนวชอยู่กับเจ้าราชครูโพนสะเม็ก เจ้าแก้วมงคล ได้ทรงลาสิกขาบท และเชื้อพระวงศ์องค์ต่าง ๆ นำกำลังลักลอบเข้าช่วยเหลือ พระนางสุมังลา และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์หนีราชภัยลงมาทางใต้พร้อมด้วยเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ก

ต่อมา ปี พ.ศ. 2256 เจ้าแก้วมงคลช่วยเหลือเจ้าหน่อกษัตริย์พระโอรสในเจ้านางสุมังคละ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าสุริยวงษาธรรมิกราช และช่วยเหลือเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ดสถาปนาราชอาณาจักรล้านช้างฝ่ายใต้สำเร็จ เจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งนครกาลจำบากนาคบุรีศรี (จำปาศักดิ์) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร[4] พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าแก้วมงคลนำกำลังคนในสังกัดของตนข้ามแม่น้ำโขงไปยังบริเวณริมแม่น้ำเสียว ซึ่งเป็นทำเลทุ่งกว้างสำหรับทำนาและให้แหล่งเกลือด้วย แล้วตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองทุ่งศรีภูมิ (ปัจจุบันอยู่บริเวณตำบลเมืองทุ่ง และบ้านดงไหม่ ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)[5] ให้เจ้าแก้วมงคลเป็นเจ้าผู้ครองเมืองเสมอกษัตริย์ประเทศราช มีอำนาจสิทธิ์ขาดจัดราชการบริหารบ้านเมืองตามแบบอาญาสี่เช่นเดียวกับนครจำปาศักดิ์ทุกประการ เมื่อครั้งเดินทางมาถึงบริเวณที่จะตั้งเมืองนั้นเป็นเวลาสว่างพอดีคนทั่วไปจึงเรียกบริเวณนั้นว่า แจ้งเมืองท่ง (แจ้งเมืองทุ่ง) หรือแจ้งบ้านท่ง (แจ้งบ้านทุ่ง) พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างวัดชื่อว่า วัดจำปานคร (วัดบ้านดงใหม่) บริเวณบ้านดงใหม่ ตำบลทุ่งศรีเมือง ตามนามของเมืองจำปานครบุรีอันเป็นเมืองเก่าซึ่งร้างไปก่อนตั้งเมืองท่ง ยุคต่อมา ทายาทของพระองค์ได้ย้ายเมืองไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสถาปนาเมืองท่งศรีภูมิใหม่เป็นเมืองประเทศราชออกนามว่า เมืองสุวรรณภูมิราชบุรียประเทศราช หรือเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์[6]

เมืองที่ทรงปกครอง

เมืองทุ่งศรีภูมิหรือเมืองท่งสีพูมนั้นคนทั่วไปออกนามว่าเมืองท่งหรือเมืองทุ่ง เป็นเมืองที่มีนุ่งนากว้างขวางและเป็นอู่อารยธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เดิมเป็นที่ตั้งของนครโบราณในตำนานนามว่า นครจำปานาคบุรี แล้วล่มสลายไป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณีมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1896–1915) ทรงเสด็จมาตีเมืองต่าง ๆ ในเขตอีสาน และปรากฏเมืองสองเมืองในบริเวณแถบนี้คือ เมืองกว้างท่ง และเมืองสะพังสี่แจ[7] เมืองสะพังสี่แจนี้มีแม่น้ำสี่สายล้อมรอบตามมุมทั้งสี่ทิศของเมือง ต่อมาชาวบ้านทั่วไปออกนามว่า บ้านดงเมืองหาง เนื่องจากเป็นเมืองร้างมีป่าทึบ

หลังจากเจ้าแก้วมงคลอพยพไพร่พลมาตั้งเมืองท่งในเขตเมืองกว้างท่งและเมืองสะพังสี่แจเก่าแล้ว จึงมีการออกนามเมืองท่งในพงศาวดารหัวเมืองมลฑลอีสานว่า เมืองสระสี่แจ่ง แฮ้งสี่ตัว แม่ญิงเอาผัว ผู้ชายออกลูก ทายาทในชั้นต่อมาได้ปกครองเมืองต่อจากพระองค์ในบรรดาศักดิ์ พระรัตนาวงษามหาขัติยราช หมายถึง พระราชาผู้เป็นเชื้อสายของเจ้าแก้วมงคล แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองสุวรรณภูมิ หรือเมืองสุวัณณภูมิ หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่นครจำปาศักดิ์แล้ว เมืองสุวรรณภูมิได้ตั้งเป็นเอกราชอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ก่อนจะถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ[8]

พระราชโอรส

เจ้าแก้วมงคลทรงมีพระราชโอรสที่ปรากฏพระนามอยู่ 3 พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าองค์หล่อหน่อคำ เจ้าผู้ครองเมืองน่าน (นันทบุรี) ทรงประสูติแต่พระราชมารดาซึ่งเป็นพระราชธิดาในเจ้าผู้ครองนครน่าน
  2. เจ้ามืดดำดล หรือท้าวมืด หรือท้าวมืดซ่ง เอกสารบางแห่งออกพระนามว่า เจ้ามืดคำดล เนื่องจากทรงประสูติในวันสุริยุปราคา ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์ที่ 2
  3. เจ้าสุทนต์มณี หรือท้าวทน (ทนต์) ดำรงพระยศเป็นอดีตเจ้าอุปฮาดเมืองท่งศรีภูมิ ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์ที่ 3 และเป็นที่พระยาขัติยะวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดพระองค์แรก ทรงเป็นต้นตระกูล ธนสีลังกูร แห่งจังหวัดร้อยเอ็ด[9]

พิราลัย

เจ้าแก้วมงคลทรงถึงแก่พิราลัย ณ เมืองทุ่งศรีภูมิ เมื่อ พ.ศ. 2268 สิริรวมพระชนมายุได้ 84 วัสสา รวมเวลาปกครองเมืองทุ่งศรีภูมิได้ 12 ปี เอกสารบางแห่งกล่าวว่าทรงปกครองเมืองทุ่งศรีภูมิได้ 7 ปี[10] เจ้ามืดดำดล หรือ ท้าวมืด หรือท้าวมืดซ่ง พระราชโอรสพระองค์โตทรงขึ้นครองราชย์เมืองทุ่งศรีภูมิสืบต่อจากพระองค์ต่อไป[11]

ปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว

หลังจากที่เจ้าแก้วมงคลทรงถึงแก่พิราลัยแล้ว ทายาทบุตรหลานของพระองค์ได้ย้ายเมืองใหม่ไปตั้งเป็นเมืองสุวรรณภูมิในบริเวณใกล้เคียงกันกับเมืองท่งเดิม แล้วประกาศตัวเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับเมืองใดทั้งสิ้น จนกระทั่งถูกพระยาตากสินเจ้าเมืองธนบุรีบังคับให้สวามิภักดิ์ เมืองสุวรรณภูมิจึงกลายเป็นเมืองประเทศราชและถูกลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ ทายาทของพระองค์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองจำนวนมาก หลายหัวเมืองที่ทายาทของพระองค์ทรงปกครองได้กลายเป็นจังหวัด อำเภอ และตำบลในภาคอีสานของประเทศไทย เมืองต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิราชบุรีประเทษราช (เมืองสุวรรณภูมิ) เมืองร้อยเอ็ด เมืองชลบถวิบูลย์ (เมืองชลบถ) เมืองขอนแก่น เมืองเพี้ย เมืองรัตนนคร เมืองมหาสารคาม เมืองศรีสระเกษ เมืองโกสุมพิสัย เมืองกันทรวิชัย (เมืองโคกพระ) เมืองวาปีปทุม เมืองหนองหาร เมืองโพนพิสัย เมืองพุทไธสงค์ (เมืองผไทสมัน) เมืองบุรีรัมย์ (เมืองแปะ)[12] เมืองเกษตรวิสัย เมืองพนมไพรแดนมฤค (เมืองพนมไพร) เมืองธวัชบุรี เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (เมืองเสือ) เมืองจตุรพักตรพิมาน (เมืองหงษ์)[13] เมืองขามเฒ่า เมืองเปือยใหญ่ (บ้านค้อ) เมืองนันทบุรี (เมืองน่าน) เมืองรัตนบุรี เมืองเดชอุดม เมืองราษีไศล เมืองรัตนวาปี เมืองสนม และ เมืองประชุมพนาลัย (เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว) ภายหลังได้มีการยุบเมือง เป็น จังหวัด อำเภอ และตำบล ยังคงมีทายาทสายเจ้าจารย์แก้วซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพ่อเมืองอยู่บางท่าน เช่น อำเภอภูเวียง (หลวงภูมิพิริยการ (สำอาง ประจันตเสน) บุตรหลานเจ้าเมืองชลบทวิบูลย์ได้เป็นนายอำเภอภูเวียงคนที่ 2) เป็นต้น

ผังสายพระโลหิต เจ้าแก้วมงคล ปฐมวงษ์เจ้าเมืองศรีภูมิ
ผังสายทายาท ของเจ้าแก้วมงคล ปฐมวงษ์เจ้าเมืองศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ)
แผนผังบรรพบุรุษและสายทายาท ของเจ้าแก้วมงคล ปฐมวงษ์เจ้าเมืองศรีภูมิ

พระราชประวัติในเอกสารประวัติศาสตร์

ในพงศาวดารภาคอีสานของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ)

ในพงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณ เชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2432 กล่าวว่า

...ครั้นครบพรรษาหนึ่ง พระเจ้าเวียงจันทน์ จึงพร้อมพระครูทั้งหลายฮดภิกษุบวชใหม่ให้นามว่า พระครูโพนเสม็ดบ้าง บางคนก็เรียกว่าพระครูสีดาตามนามเดิม ท่านพระครูรักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่ช้านานเท่าใด ก็ได้อภิญญา ๕ อัฐฐสมาบัติ ๘ ประการ สำเร็จไปด้วยฌาน จะว่าสิ่งใดก็แม่นยำโดยบารมีธรรม โปรดสำเร็จดังมโนนึกความปรารถนา น้ำมูตรและอาจมก็หอม พระเจ้าเวียงจันทน์จัดให้มีโยมอุปฐากรักษา ท่านพระครูเอานายแก้ว นายหวดมาเลี้ยงไว้ นายแก้ว นายหวด เรียนศิลปวิชชาความรู้มากฉลาดเฉลียว ครั้นอายุครบ ๒๑ ปี ก็บวชเป็นภิกษุให้ทั้ง ๒ คน ครั้นอยู่มาพระเจ้าเวียงจันทน์ มีโอรสองค์หนึ่ง เรียกว่าเจ้าองค์หล่อ อายุได้ ๓ ปี พระมเหสีมีครรภ์อยู่อีกได้ ๖ เดือน จุลศักราช ๑๐๕๑ ปี พระเจ้าเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงเอาราชสมบัติได้ เจ้าองค์หล่อกับบ่าวไพร่ที่สนิทหนีเข้าไปพึ่งญวน ก็ได้เป็นใหญ่อยู่เมืองญวน แต่มเหสีนั้นเมื่อพระยาเมืองแสนจะรับไปอยู่ด้วย นางไม่ยอม จึงหนีเข้าไปพึ่งอยู่กับพระครูโพนเสม็ด ๆ กลัวความนินทา จึงส่งนางไปไว้บ้านซ่อง่อหอคำ ครั้นคำรบ ๑๐ เดือน นางประสูติพระโอรสออกมาเป็นชาย มารดาญาติพี่น้องถวายนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ท่านพระยาเมือแสน จึงดำริว่า พระครูมีบุญมาก คนนิยมนับถือกลัวจะชิงเอาราชสมบัติ จึงคิดเป็นความลับจะทำอันตรายแก่ท่านพระครู ๆ ก็ล่วงรู้ในความคิดพระยาเมืองแสน ท่านจึงว่ามีมารมาประจญแล้ว จะอยู่มิได้ ต้องหลีกหนีให้พ้นมาร ท่านพระครูจึงใช้ให้คนไปรับเอามารดากับเจ้าหน่อกษัตริย์มาแต่ซ่อง่อหอคำ แล้วจึงปฤกษากับญาติโยมคนอุปฐากพร้อมกันแล้ว รวมได้ชายหญิงใหญ่น้อย ๓๓๓๓ คน พาภิกษุแก้ว ภิกษุหวด อุปยกจากเวียงจันทน์ มาถึงงิ้วพลานลำสมสนุก...

...ท่านพระครูกลัวญาติโยมจะได้ความเดือดร้อน จึงพาครอบครัวหนีขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขง แล้วก็เดิรเลยต่อ ๆ ถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ขณะนั้นนางเพาแม่นางแพงบุตร กับพระยาคำยาด พระยาสองฮาด ไปนิมนต์พระครูให้อยู่รักษาพระศาสนาให้รุ่งเรืองถาวร อนุญาตทั้งพุทธจักร์อาณาจักร์ให้แก่ท่านพระครูปกครองรักษา ต่อ ๆ มาประชาชนพลเมืองมีน้ำใจวิหิงสาบังเบียดแลลักทรัพย์สิ่งของ ช้าง ม้า โค กระบือ เนือง ๆ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ครั้นท่านพระครูจะจับตัวมาลงโทษจำขังเฆี่ยนตี ก็จะผิดบาลีสิกขาบท มีความมัวหมองแก่ท่านพระครูต่อไป ท่านพระครูจึงพร้อมกันปรึกษาเสนากรมการ เห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์สมควรจะครอบครองบ้านเมืองได้ จึงแต่งให้จารแก้ว ท้าวเพี้ยไพร่พลขึ้นไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาลงมาถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ในจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็งเบ็ญจศก อัญเชิญขึ้นครองเมือง ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธกุล เป็นเจ้าเอกราช ครองราชสมบัติณกรุงกาลจำบากนาคบุรีศรี ตามราชประเพณีกษัตริย์มาลาประเทศแต่กาลปางก่อน จึงผลัดนามเมืองใหม่ว่านครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี ท่านพระครูและเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ จัดแจงตั้งแต่งบ้านเมือง คือให้ตั้งบ้านโขงเป็นเมืองโขง จารหวดเป็นเจ้าเมือง ยกบ้านหางโขงขึ้นเป็นเมืองเชียงแตง ให้พ่อเชียงแปลงเป็นเจ้าเมือง แล้วจัดให้จารเสียงสางไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอนเตา เรียกว่าเจ้าเมืองรัตนบุรี ให้จารแก้วเป็นเจ้าเมืองทุ่ง เรียกว่าเมืองสุวรรณภูมิบัดนี้ ปันอาณาเขตต์ให้ปกครองรักษาฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวย หลักทอดยอดยัง ข้างตะวันออกถึงเขาประทัด ต่อแดนกับอ้ายญวน ข้างตะวันตกถึงลำน้ำพังชู ทิศใต้ถึงห้วยลำคันยุงเป็นแดน จารแก้วออกจากนครจำปาศักดิ์มาตั้งเมืองในระหว่างจุลศักราช ๑๐๘๐ ปี มีไพร่พลชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๓๐๐๐ คนเศษ จารแก้วเจ้าเมืองทุ่ง มีบุตรชาย ๓ คน คนที่ ๑ ชื่อท้าวมืด คนที่ ๒ ชื่อท้าวทน คนที่ ๓ ชื่อท้าวเพ จารแก้วครองเมืองทุ่งได้ ๑๖ ปี ระหว่างจุลศักราช ๑๐๙๖ ปี จารแก้วถึงแก่กรรม ท้าวมืดผู้พี่ได้ครองเมืองแทนบิดา ท้าวทนเป็นอุปฮาด ตั้งแข็งเมืองเป็นเอกราช ไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กัน จึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่...[14]

ในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ)

ในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์หรือตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 กล่าวว่า

...ในศักราช ๑๐๗๑ ปีฉลูเอกศก แล้วพระครูโพนเสม็ดจึงชักชวนชาวเมืองหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่ง หน้าตักสิบเก้านิ้วสำเร็จบริบูรณ์ ก็อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดบางซ้ายอยู่มาจนเท่าทุกวันนี้ ครั้นนานมาประชาชนทั้งหลายก็เกิดเป็นโจรผู้ร้ายฉกลักเครื่องอัญญมณีของสมณะและทรัพย์สิ่งของอาณาประชาราษฎรทั้งปวง แล้วก็เกิดฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่งหลายตำบล พระครูโพนเสม็ดจะชำระว่ากล่าวตามอาญาก็กลัวจะผิดด้วยวินัยสิกขาบท ครั้นจะนิ่งเสียไม่ปราบปรามให้ราบคาบ สมณพราหมณาจารย์ราษฎรก็จะได้ความเดือดร้อนยิ่งขึ้นไป พระครูโพนเสม็ดจึงเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าเวียงจันทน์ จะปกครองประชาราษฎรต่อไปได้ พระครูโพนเสม็ดจึงให้ จารียแก้ว จารียเสียงช้างกับท้าวเพี้ยไพร่พลไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุกลงมาเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี.........แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงจัดตั้งบ้านอำเภอโขงขึ้นเป็นเมืองโขง ให้จารียฮวดเป็นเจ้าเมืองรักษาอาณาเขตต์ที่ตำบลนั้น ให้จารียเสียงช้างขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอรเตา ให้จารียแก้วเป็นเจ้าเมืองท่งรักษาเขตต์แดนฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามข้อยหลักทอดยอดยางตะวันออกเขาประทัดต่อแดนกับญวณตะวันตกลำน้ำกระยุงเป็นแดน แล้วก็ยกให้นายมั่นข้าหลวงเดิมเป็นคนใช้สอยสนิทไปเป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพนเรียกว่าเมืองมั่น ให้นายพรมไปเป็นซาบุตตโคตรักษาอำเภอบ้านแก้งอาเฮิม มีพระเจดีย์อยู่ในตำบลนั้นองค์หนึ่งเรียกว่าธาตุกระเดาทึก จึงให้เป็นเมืองคำทองหลวง ให้จารียโสมไปเป็นใหญ่รักษาอำเภอบ้านอิดกระบือ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงมีราชสาส์นให้ท้าวพระยาถือไปยังกรุงกำพุชาธิบดีขอยืมฉะบับพระไตรปิฎก พระเจ้ากำพุชาธิบดีก็ให้พระราชาคณะสงฆ์ผู้ใหญ่จัดพระไตรปิฎกให้แก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปเมืองนครกาลจำปาศักดิ์ เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็ให้จำลองออกแล้วให้พระเถรานุเถระที่รู้อรรถธรรมบอกแก่พระสงฆ์สามเณรให้เล่าเรียนศึกษาในคันธธุระวิปัสสนาธุระ ตั้งแต่นั้นมาเจ้านายท้าวพระยาสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข...[15]

ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร)

ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ภาคที่ 1 คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4 อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก, ม.ม, ท.ช, รัตน ว.ป.ร.๔) พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458 กล่าวว่า

...เจ้าสร้อยศรีสมุท มีโอรส ๓ องค์ คือ เจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ แล้วมีราชสาสนแต่งให้แสนท้าวพระยา นำเครื่องบรรณาการไปขอธิดาเจ้าเขมรณเมืองบรรทายเพ็ชร์มาเปนบาทบริจา มีโอรสอิกองค์หนึ่ง ให้นามว่าเจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งให้จารหวดเปนอำเภอรักษาบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง (ฤๅของ).........ให้ท้าวสุดเปนพระไชยเชฐรักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกองฝั่งโขงตวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้) ให้จารแก้วเปนอำเภอ รักษาบ้านทง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทง (คือเมืองสุวรรณภูมิ์เดี๋ยวนี้) ให้จันทสุริยวงษ์เปนอำเภอรักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง ให้นายมั่นข้าหลวงเดิมของนางแพงเปนหลวงเอกรักษา อำเภอบ้านโพน ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นตามชื่อนายมั่น (คือเมืองสาลวันเดี๋ยวนี้).........ในอำเภอซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้ตั้งแต่งให้มีผู้ไปรักษาปกครองอยู่ดังกล่าว มาแล้วนี้นั้น ดูเหมือนจะให้เปนอย่างเมืองออกกลายๆ ถ้าผู้ใหญ่ซึ่งรักษาในตำบลเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว ทางเมืองปาศักดิก็มักจะตั้งแต่งให้บุตรหลานของผู้ล่วงลับไปนั้น ปกครองเปนใหญ่ในตำบลนั้น ๆ สืบเชื้อวงษ์เนื่องกันต่อ ๆ มา แลตำบลเหล่านั้นก็มักจะปรากฏนามโดยประชุมชนสมมตเรียกกันว่าเมืองนั้นเมือง นี้ ดังเมืองมั่น (สาลวัน) เปนต้นมาแต่เดิม เพราะฉนั้นจะถือว่าตำบลเหล่านั้นได้สมญาตั้งขึ้นเปนเมืองมาแต่เวลานั้นก็จะได้ เพราะเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรีในสมัยนั้น ก็เปนเอกราชโดยความอิศรภาพอยู่ส่วนหนึ่ง สมควรที่จะมีเมืองขึ้นเมืองออกได้อยู่แล้ว แต่หากยังมิได้ตั้งแต่งตำแหน่งกรมการรอง ๆ ขึ้นให้เปนระเบียบดังเมืองเดี๋ยวนี้เท่านั้น แลทั้งอาไศรยความที่มิได้มีปรากฏว่า ในตำบลเหล่านั้นได้เปนอิศรภาพแห่งตน ฤๅตกอยู่ในอำนาจความปกครองของประเทศใดนอกจากอยู่ในอำนาจของเมืองนครจำบากด้วย แลกำหนดเขตรแขวงเมืองนครจำปาศักดิในเวลานั้นมีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวาย หลักทอดยอดยาง ทิศตวันออกถึงแนวภูเขาบันทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฏ ทิศตวันตกต่อเขตรแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกยุง บ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุขเรียบร้อยมา.........จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมเสงสัปตศก จารแก้วอำเภอบ้านเมืองทงป่วยถึงแก่กรรม อายุได้ ๘๔ ปี มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อท้าวมืด ๑ (คลอดเมื่อวันสุริยอุปราคา) ชื่อท้าวทนหนึ่ง เจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งตั้งให้ท้าวมืดบุตรเปนตำแหน่งเจ้าเมือง ให้ท้าวทนเปนอุปฮาด ปกครองรักษาบ้านเมืองทงต่อไป ท้าวมืดได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสน เมืองจัน แลกรมการขึ้น ณ ครั้งนั้น ฝ่ายข้างเมืองปาศักดิ เจ้าสร้อยศรีสมุทป่วยลง จึ่งให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทนแล้วก็ออกจำศีลอยู่...[16]

ปัญหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ

ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) ไม่ได้กล่าวว่าพระราชบิดาของเจ้าแก้วมงคลคือเจ้านายเวียงจันทน์พระองค์ใด หากเเต่มีการระบุพยานอย่างชัดเจนที่สนับสนุนว่าเจ้าเเก้วมงคลสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์เวียงจันทน์ ในพงสาวดาร ฉบับเหลา ณ ร้อยเอ็ด หรือหลักฐานชั้นต้นระบุว่า พระยาพรหม พระยากรมท่า พร้อมด้วยเจ้าราชวงศ์เเห่งเวียงจันทน์ เจ้าธรรมสุนทร เจ้าหมื่นน้อยเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งล้วนเเต่เป็นเจ้านายเเละลูกหลานของกษัตริย์ล้านช้าง ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นพระญาติกันกับเจ้าเมืองสุวรรณภูมิเเละร้อยเอ็ด ซึ่งพวกท่านเหล่านี้เป็นผู้ช่วยจัดการความวุ่นวายปัญหาระหว่างเจ้าเซียงเเละเจ้าทนต์ (หลานกับอา) ซึ่งเป็นหลานเเละบุตรของเจ้าเเก้วมงคลตามลำดับ นอกจากนี้ยังช่วยจัดเเจงบ้านเมืองสุวรรณภูมิเเละร้อยเอ็ดเเละเป็นพยานปากในการระบุตัวตนเเละความเป็นมาของเจ้าเมืองสุวรรณภูมิเเละเจ้าเมืองร้อยเอ็ดให้เเก่กษัตริย์กรุงธนบุรี อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนในการเเต่งตั้งพระนามให้เเก่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิเเละเจ้าเมืองร้อยเอ็ด โดยเจ้าเซียงหรือเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับพระราชทานพระนามว่า พระรัตนวงษา อันหมายถึงผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเเก้วมงคล เเละเจ้าทนต์หรือเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ได้รับพระราชทานพระนามว่า พระขัติยวงษา อันหมายถึง ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ ซึ่งเข้าใจได้ว่าสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ ทั้งนี้ตามจารีตโบราณพระนามของเจ้าเมืองสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์เเละช่วยอธิบายความเป็นมาของเจ้าเมืองซึ่งเป็นการได้รับเกียรติอย่างสูงสุดจากพระมหากษัตริย์ที่เจ้าเมืองนั้นได้ไปขึ้นตรงด้วย เช่นเดียวกับกรณีที่ให้นาม ว่า ปทุม หรือดอกบัว ให้เเก่เจ้าเมืองซึ่งเป็นลูกหลานของพระวอพระตาบางท่าน เพื่ออธิบายว่าพวกท่านมีที่มามาจากเมืองหนองบัวลำภูหรือนครเขื่อนขันธ์ุกาบเเก้วบัวบาน เป็นต้น ในตำนานเมืองมุกดาหารกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพี่น้องร่วมพระบิดากับเจ้าจารย์จันทรสุริยวงศ์ เจ้าเมืองหลวงโพนสิม (ต้นสกุลพระราชทาน จันทรสาขา) ส่วนพื้นเมืองท่งกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพี่น้องฝาแฝดกับเจ้าจารย์หวด เจ้าเมืองโขง และทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์ก่อน ซึ่งสันนิษฐานว่า อาจหมายถึงสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2181–2238)

ในตำนานเมืองขอนแก่นกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพระโอรสในเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม) บ้านเพี้ยปู่ เมืองธุรคมหงส์สถิต (เมืองทุละคม) ในเขตนครเวียงจันทน์ และยังเป็นพี่น้องกับเพียเมืองแพนหรือพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (พัน เสนอพระ) เจ้าเมืองขอนแก่นพระองค์แรกและเจ้าเมืองเพี้ยพระองค์แรก อีกทั้งยังมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 หรือสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร (ครองราชย์ พ.ศ. 2294–2322) พระมหากษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์อีกด้วย[17] ซึ่งในประเด็นนี้พบข้อบกพร่องในเรื่องปี พ.ศ. ที่ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ เจ้าแก้วมงคลประสูติ ณ ปี พ.ศ. 2184 ส่วนพระนครศรีบริรักษ์เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2340 ระยะเวลาห่างกันถึง 156 ปี หากทั้งสองพระองค์เป็นพี่น้องกัน นับว่าพระนครศรีบริรักษ์มีอายุเกือบ 100 ปี ในช่วงครองเมืองขอนแก่น และหากเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสารซึ่งครองราชย์จนถึงปี พ.ศ. 2322 แต่เจ้าแก้วมงคลกลับครองเมืองท่งศรีภูมิจนถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2268 ซึ่งพระราชนัดดาจะพิราลัยก่อนพระราชอัยกาหรือพระเจ้าสิริบุญสารถึง 58 ปี ไม่ได้ ประเด็นนี้จึงเป็นข้อขัดแย้งกัน

การเกี่ยวดองเเละความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์เจ้าจารย์เเก้วกับราชวงศ์หรือตระกูลต่าง ๆ

ตระกูลเจ้าเมืองขุขันธ์

ตระกูลเจ้าเมืองสุรินทร์

ตระกูลเจ้าเมืองภูเวียง

ตระกูลเจ้าเมืองกาฬสินธุ์

  • สายเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเเละเมืองสุวรรณภูมิ มีการเกี่ยวดอง กับ พระยาชัยสุนทร (หมาแพง) เจ้าเมืองกาฬสินธ์ุ ท่านที่ 2 (รายนามของลูกหลานที่เกี่ยวดองด้วยข้อมูลยังไม่ระบุชัดเเจ้งว่าเป็นใคร)

ตระกูลเจ้าเมืองกมลาไสย

  • พระยาขัติยะวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) ผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ดท่านสุดท้าย เป็นบุตรเขยของพระราษฎรบริหาร (ทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย ท่านที่ 2 โดยการสมรสกับนางเหลี่ยม ธิดาของเจ้าเมืองกมลาไสย

สายสกุลของทายาทบุตรหลาน

ทายาทบุตรหลานของเจ้าแก้วมงคลนั้นได้เป็นกลุ่มราชตระกูลใหญ่กลุ่มหนึ่งในภาคอีสานเช่นเดียวกับกลุ่มเจ้าพระวอและเจ้าพระตา ทายาทของพระองค์แยกย้ายกันออกไปสร้างบ้านแปงเมืองหลายแห่ง[20] ดังนั้น พระองค์จึงได้รับยกย่องว่าทรงเป็นปฐมต้นราชตระกูลของภาคอีสานหลายสายสกุล ได้แก่

  • แก้วมงคล
  • ธนสีลังกูร (พระราชทาน)
  • ณ ร้อยเอ็จ (พระราชทาน)
  • ขัติยวงศ์
  • ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม (พระราชทาน)
  • สุวรรณเลิศ
  • เรืองสุวรรณ
  • เจริญศิริ
  • อัตถากร
  • รักษิกกะจันทน์ หรือ รักษิกจันทร์ (พระราชทาน)
  • รัตนะวงศะวัต (พระราชทาน)
  • รัตนวงศา
  • ประจันตะเสน (พระราชทาน)
  • เสนอพระ
  • นครศรีบริรักษ์
  • อุปฮาด
  • สุนทรพิทักษ์
  • สุนทรพิพิธ[21]
  • สุวรรณธาดา (พระราชทาน)
  • สิงหศิริ (พระราชทาน)
  • สิงคศิริ
  • สิงคสิริ
  • สิมะสิงห์
  • สิริสิงห์
  • สิระสิงห์
  • สังขศิลา[22]
  • พิสัยพันธ์
  • พงษ์สุวรรณ
  • ไชยสุกา
  • เรืองสนาม
  • วลัยศรี
  • แสงสุระ
  • รักษาเมือง
  • พิทักษ์เขื่อนขันธุ์
  • หนองหานพิทักษ์
  • วรฉัตร
  • พระวงศ์รัตน์
  • วงศ์ ณ รัตน์[23]
  • สุวรรณวิเศษ[24]
  • จันทรศร (พระราชทาน)[25]
  • อินตะนัย[26]
  • รัตนเวฬุ
  • อัคฮาด
  • อรรคฮาด
  • วงศ์วรบุตร
  • พึ่งมี
  • วรแสน
  • สิงห์ธวัช
  • เเพนพา
  • เศรษฐภูมิรินทร์
  • ธรรมเสนา

นอกจากนี้ยังมี หม่อมเจ้าชมิยบุตร ชุมพล พระโอรสในพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์กับหม่อมคำเมียง ชุมพล ณ อยุธยา ซึ่งหม่อมคำเมียงมีศักดิ์เป็นหลานของ พระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์สะเกษท่านสุดท้าย ทายาท พระยารัตนวงษา (อุ่น) พระนัดดา เจ้าแก้วมงคล[27]

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. ประวัติอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  2. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พงสาวดารเมือง (บั้งจุ้มหรือตำนานเมือง) ฉบับวัดโพนกอก บ้านปากกะยุง เมืองทุละคม นครเวียงจัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อักษรธรรมลาว มี ๓๕ หน้าลาน
  3. 19120.หลวงพ่อพระลับ วัดธาตุ จ.ขอนแก่น
  4. ประวัติ เจ้าเมืองท่ง
  5. ประวัติความเป็นมาวัดจำปานคร(วัดบ้านดงไหม่ )
  6. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ (กรุงเทพฯ : สำนักธรรมเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๔).
  7. กะซวงถะแหลงข่าวและวัดทะนะทำ เวียงจันง, พะยาฟ้างุ่มแหล่งหล้าทอละนี ผู้นำพาสะถาปะนาอานาจักล้านซ้างเอกะพาบ คบฮอบ ๖๕๐ ปี (เวียงจัน : โฮงพิมแห่งรัด, ๒๐๐๒).
  8. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๘
  9. "ประวัติเมืองร้อยเอ็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-20. สืบค้นเมื่อ 2017-06-06.
  10. ประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองหงส์ โดยสังเขป เรียบเรียงข้อมูลโดย พระสมนึก ภูริปัญโญ
  11. ประวัติความเป็นมาเมืองทุ่งศรี[ลิงก์เสีย]
  12. "ประวัติของจังหวัดบุรีรัมย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-10. สืบค้นเมื่อ 2017-06-06.
  13. ปฐมพงศ์ ลิ้มเจริญ. หมอธรรม : ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และเครือข่ายทางสังคมในภาคอีสาน. ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา. ๒๕๕๘ น. ๒๑-๒๖
  14. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๓-๕, ๖-๘
  15. พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ)[ลิงก์เสีย]
  16. พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร)[ลิงก์เสีย]
  17. ประวัติความเป็นมาของจังหวัดขอนแก่น
  18. พงศาวดารเมืองน่าน (เชียงใหม่ : ธนุชพริ้นติ้ง (โรงพิมพ์ดาว), ๒๕๔๓) น. ๖๒
  19. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๘-๙
  20. สายสกุลของทายาทบุตรหลานเจ้าแก้วมงคล
  21. ประวัติความเป็นมาเจ้าแก้ว[ลิงก์เสีย]
  22. ประวัติย่อเจ้าแก้ว
  23. "ชาวสุวรรณภูมิเฮ! "ผุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ อนุสาวรีย์เจ้าแก้วมงคลและอุทยานประวัติศาสตร์เมืองท่งศรีภูมิ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-23. สืบค้นเมื่อ 2018-04-18.
  24. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ
  25. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ
  26. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ
  27. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ
Kembali kehalaman sebelumnya