พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก[2] (ภาษานอร์สเก่า: Sveinn Ástríðarson, เดนมาร์ก: Svend Estridsen) (ราว ค.ศ. 1019 - 28 เมษายน ค.ศ. 1076[3][4]) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กตั้งแต่ค.ศ. 1047 จนกระทั่งพระองค์สวรรคตในค.ศ. 1076 พระองค์เป็นบุตรชายในอูล์ฟ ทอร์กิลส์สันและเจ้าหญิงแอสตริด สเวนสแด็ทเทอร์ ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดผ่านทางสายพระราชชนนี พระองค์อภิเษกสมรสสามครั้ง และเป็นพระราชบิดาของพระราชบุตร 20 พระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุตรนอกสมรส พระโอรสนอกสมรส 5 พระองค์ได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ได้แก่ พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3, พระเจ้าคนุตที่ 4, พระเจ้าโอลาฟที่ 1, พระเจ้าอีริคที่ 1 และพระเจ้านีลส์ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความกล้าหาญในการสู้รบ แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จมากนักในฐานะผู้บัญชาการทหาร[5] โครงกระดูกของพระองค์เผยให้เห็นว่าทรงเป็นบุรุษร่างสูงที่มีร่างใหญ่แข็งแรงแต่ทรงเดินกะเผลก พระราชประวัติสืบราชบัลลังก์สเวนประสูติในอังกฤษ[5] เป็นบุตรชายในอูล์ฟ ทอร์กิลส์สันและเจ้าหญิงแอสตริด สเวนสแด็ทเทอร์ ซึ่งเจ้าหญิงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด และเป็นพระภคินีในพระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กและพระเจ้าคนุตมหาราช สเวนเติบโตเป็นผู้นำกองทัพและรับใช้พระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดนในชั่วระยะหนึ่ง[5] สเวนปล้นสะดมพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเอ็ลเบอ-เวเซอร์ในปีค.ศ. 1040 แต่ถูกจับกุมโดยอาร์กบิชอปแห่งฮัมบูร์ก-เบรเมิน ซึ่งปล่อยตัวเขาหลังจากนั้นไม่นาน[6] สเวนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ยาร์ล ในรัชกาลของพระเจ้าฮาร์ธาคนุต (ซึ่งสเวนเป็นพระญาติของพระองค์)[5] และทรงให้สเวนระดมกองทัพต่อต้านนอร์เวย์เพื่อพระองค์ แต่สุดท้ายกองทัพก็ถูกโจมตีอย่างย่อยยับโดยพระเจ้ามักนุสที่ 1 แห่งนอร์เวย์[6] เมื่อกษัตริย์ฮาร์ธาคนุตสวรรคตใน ค.ศ. 1042 กษัตริย์มักนุสได้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์ก และทรงแต่งตั้งให้สเวนเป็น "ยาร์ล" แห่งจัตแลนด์[7] ในค.ศ. 1043 สเวนได้ก่อกบฏและสู้รบกับกษัตริย์มักนุสที่ยุทธการลีร์สคอฟฮีธในเฮอเดอบี ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้ชายแดนเดนมาร์กและเยอรมนี[6] สเวนได้รับชื่อเสียงอย่างมากในชัยชนะที่ลีร์สคอฟฮีธ และทรงให้ขุนนางเดนมาร์กประกอบพิธีราชาภิเษกให้พระองค์ที่วีบอร์กในจัตแลนด์[7] แต่กษัตริย์สเวนทรงพ่ายแพ้กษัตริย์มักนุสหลายครั้ง พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยไปยังสวีเดน พระองค์เสด็จกลับมาในที่สุดและตั้งฐานทัพที่แคว้นสคาเนีย[6] สงครามระหว่างกษัตริย์สเวนและกษัตริย์มักนุสกินเวลาถึงค.ศ. 1045 เมื่อสมเด็จน้าของกษัตริย์มักนุสคือ ฮารัลด์ ฮาร์ดราดากลับมายังนอร์เวย์หลังจากลี้ภัย ฮารัลด์ร่วมกองทัพกับกษัตริย์สเวน ดังนั้นกษัตริย์มักนุสต้องทรงยอมแบ่งปันพระราชบัลลังก์ให้สมเด็จน้าฮารัลด์[5] ในปีค.ศ. 1047 กษัตริย์มักนุสเสด็จสวรรคต ทรงกล่าวบนพระะแท่นบรรทมก่อนสวรรคตว่า ให้แบ่งอาณาจักรของพระองค์ โดยฮารัลด์จะได้ราชบัลลังก์นอร์เวย์ ส่วนสเวนจะได้ราชบัลลังก์เดนมาร์ก[7] เมื่อทราบข่าวการสวรรคตของกษัตริย์มักนุส กษัตริย์สเวนทรงตรัสว่า "ตอนนี้ขอพระเจ้าช่วยข้าฯ ด้วย ข้าฯ จะไม่ยอมโรยราต่อแผ่นดินเดนมาร์ก"[8] ความแตกร้าวกับกษัตริย์ฮารัลด์ ฮาร์ดราดากษัตริย์ฮารัลด์ไม่ทรงพอพระทัยที่ต้องสละสิทธิในเดนมาร์ก พระองค์เข้าโจมตีกษัตริย์สเวนและทำสงครามอย่างยาวนาน กษัตริย์ฮารัลด์ปล้นสะดมเฮอเดอบีใน ค.ศ. 1050 และยังเข้าปล้นออร์ฮูส[6] กษัตริย์สเวนเกือบจับตัวกษัตริย์ฮารัลด์ได้ใน ค.ศ. 1050 ในตอนที่กษัตริย์ฮารัลด์เข้าโจมตีชายฝั่งจัตแลนด์และบรรทุกสิ่งของและเชลยขึ้นเรือ กองเรือรบของกษัตริย์สเวนตามทันกองเรือของนอร์เวย์ และกษัตริย์ฮารัลด์ทรงสั่งให้ทหารทิ้งสินค้าที่ยึดมา โดยทรงคาดการณ์ว่าชาวเดนส์จะทำการหยุดไล่เก็บสินค้า กษัตริย์สเวนทรงสั่งให้ทหารของพระองค์ไม่ต้องสนใจสินค้าและตามไล่ล่ากษัตริย์ฮารัลด์ จากนั้นกษัตริย์ฮารัลด์ทรงสั่งให้ทหารโยนเชลยลงน้ำ แต่สำหรับประชาชน กษัตริย์สเวนยินดีช่วยพวกเขาและปล่อยให้กษัตริย์ฮารัลด์หลบหนีไปได้[8] กษัตริย์สเวนเกือบสวรรคตในการต่อสู้ทางเรือที่ยุทธนาวีที่นีซือ บริเวณชายฝั่งฮัลลันด์ใน ค.ศ. 1062[5] ตามพงศาวดารระบุว่า กษัตริย์ฮารัลด์ทรงยั่วยุให้กษัตริย์สเวนไปเผชิญหน้าเพื่อทำการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในสมรภูมิที่เอลฟ์ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1062[9] แต่เมื่อกษัตริย์สเวนและกองทัพเดนมาร์กไม่ปรากฏตัว กษัตริย์ฮารัลด์จึงส่งกองทัพส่วนใหญ่กลับนอร์เวย์ โดยเหลือเพียงนักรบมืออาชีพในกองเรือของพระองค์เท่านั้น เมื่อกษัตริย์สเวนมาเผชิญหน้ากับกษัตริย์ฮารัลด์ในที่สุด กองเรือของพระองค์มี 300 ลำ ส่วนกษัตริย์ฮารัลด์มี 150 ลำ[10] กองเรือเผชิญหน้ากันในเวลากลางคืนและการสู้รบดำเนินไปจนถึงเช้า เมื่อชาวเดนส์เสียเปรียบและจะหลบหนี ตามพงศาวดารชัยชนะของนอร์เวย์ครั้งนี้ถูกมองว่าผลงานส่วนใหญ่เป็นของเอิร์ลโฮกุน อีวาร์สัน ผู้ปลดเรือของเขาออกจากปีกเรือของนอร์เวย์และเข้าโจมตีปีกเรือส่วนที่อ่อนแอของเดนมาร์ก[11] สิ่งนี้อาจเป็นตัวช่วยฝ่ายนอร์เวย์ โดยแซ็กโซ แกรมมาติคัสกล่าวถึงว่าเป็นการพลิกกระแสให้นอร์เวย์ได้ชัย[12] กษัตริย์สเวนทรงพยายามหลบหนีออกจากสมรภูมิ พระองค์ลงเทียบท่าที่ชายฝั่งและเสด็จดำเนินไปหยุดที่บ้านของชาวนาหลังหนึ่งเพื่อขออาหารกินจากชาวบ้าน หญิงชาวนาถามพระองค์ว่า "เมื่อคืนมีเสียงดังน่าสยดสยองอะไรขนาดนั้น?" หนึ่งในทหารของกษัตริย์สเวนถามว่า "เจ้าไม่รู้หรือว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่อสู้กันทั้งคืน?" เธอถามต่อว่า "แล้วใครชนะล่ะ?" ทหารคนนั้นตอบว่า "พวกชาวนอร์เวย์" เธอพูดต่อว่า "ช่างน่าละอายเหลือเกินสำหรับกษัตริย์ของเรา พระองค์เดินกะโผลกกะเผลกแถมยังขี้ขลาดตาขาวเสียอีก" กษัตริย์สเวนสดับดังนั้นทรงตอบว่า "ไม่" "กษัตริย์แห่งเดนมาร์กไม่ขี้ขลาดตาขาวแน่นอน" ทหารนายหนึ่งได้พูดปกป้องพระองค์ว่า "แต่พระองค์โชคไม่ดี และนั่นทำให้พระองค์ไม่ได้ชัยชนะ" ราชองครักษ์ได้นำน้ำและผ้าเช็ดตัวมาให้เหล่าทหารชำระร่างกาย ขณะที่กษัตริย์ทรงเช็ดพระหัตถ์ หญิงชาวนาฉีกทึ้งผ้าที่พระองค์กำลังใช้อยู่และดุพระองค์ว่า "เจ้าควรละอายใจตัวเอง ที่เจ้าใช้ผ้าเช็ดตัวนั้นทั้งผืนคนเดียว" กษัตริย์ทรงตรัสตอบว่า "วันนั้นจะมาถึง วันที่ข้าได้รับอนุญาตจากเจ้าให้ใช้ผ้านี้ได้ทั้งผืน" สามีของหญิงชาวนามอบม้าให้กษัตริย์ และคณะของกษัตริย์สเวนเดินทางตอไปยังเชลลันด์ ต่อมาไม่นาน ชาวนาคนนั้นถูกเรียกตัวไปยังเชลลันด์ และทรงประทานที่ดินให้สำหรับการรับใช้กษัตริย์ แต่ภรรยาของเขายังอยู่ในฮัลลันด์ไม่ได้เดินทางตามมา[8] กษัตริย์สเวนทรงมีชื่อเสียงในด้านความโอบอ้อมอารีและความเมตตาอันเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตพระองค์ได้หลายครั้ง ทำให้พระองค์สามารถชนะใจประชาชนได้ กษัตริย์ฮารัลด์ทรงสละการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์กในค.ศ. 1064[5] เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่กษัตริย์สเวนทรงยอมรับพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์นอร์เวย์[7] จากนั้นกษัตริย์ฮารัลด์ทรงระดมกองทัพเรือเพื่ออ้างสิทธิในตำแหน่งพระมหากษัตริย์อังกฤษและพระองค์ถูกปลงพระชนม์ในยุทธการที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ การกระชับพระราชอำนาจกษัตริย์สเวนทรงเชื่อมโยงกับสายสืบราชสันตติวงศ์เดนมาร์กผ่านทางพระราชชนนีของพระองค์ คือ เจ้าหญิงแอสตริด สเวนสแด็ทเทอร์ พระองค์จึงใช้พระสกุลทางพระชนนีว่า "แอสตริดเซน" เพื่อให้ทรงเชื่อมโยงกับพระราชวงศ์เดนมาร์ก[6] พระองค์ยังทรงโปรดให้มีการทำเหรียญกษาปณ์ของพระองค์เอง กษัตริย์สเวนที่ 2 ทรงพยายามกระชับพระราชอำนาจของพระองค์ผ่านทางคริสตจักรและอำนาจจากต่างชาติ และทรงแสวงหาความเป็นมิตรไมตรีกับสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างแข็งขัน[5] พระองค์มีพระราชประสงค์ให้เจ้าชายคนุต มักนุส พระราชโอรสองค์ใหญ่ได้รับการสวมมงกุฎจากพระสันตะปาปา แต่เจ้าชายคนุตกลับสิ้นพระชนม์ในช่วงการเสด็จไปยังโรม พระองค์ประสบความล้มเหลวในการรณรงค์ให้พระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท กษัตริย์ที่นับถือคริสต์พระองค์แรกของเดนมาร์กให้ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ กษัตริย์สเวนที่ 2 ทรงเป็นพันธมิตรกับจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในการสู้รบกับบาลด์วินที่ 5 เคานต์แห่งฟลานเดอส์ใน ค.ศ. 1049 และกษัตริย์สเวนทรงช่วยเหลือพระราชบุตรเขย คือ ก็อตส์ชอล์คแห่งโอบอทริเทสในสงครามกลางเมืองลูทีซี ค.ศ. 1057[6] หลังจากกษัตริย์ฮารัลด์ ฮาร์ดราดาถูกปลงพระชนม์ในสนามรบ และวิลเลียม ผู้พิชิตได้ยึดครองอังกฤษ กษัตริย์สเวนทรงหันไปสนพระทัยอังกฤษ ที่ครั้งหนึ่งกษัตริย์คนุตมหาราช สมเด็จลุงของพระองค์เคยปกครอง พระองค์จึงทรงร่วมกองทัพกับเอ็ดการ์ เอเธลลิง รัชทายาทองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาวแองโกล-แซกซัน และทรงส่งกองทัพไปโจมตีกษัตริย์วิลเลียมในค.ศ. 1069 แต่หลังจากทรงยึดครองยอร์กได้ กษัตริย์สเวนกลับทรงตกลงรับเงินจากกษัตริย์วิลเลียมเพื่อให้ละทิ้งเอ็ดการ์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสกอตแลนด์ กษัตริย์สเวนทรงพยายามโจมตีอังกฤษอีกครั้งใน ค.ศ. 1074/1075 แต่ล้มเหลว[6] ความสัมพันธ์กับศาสนจักรกษัตริย์สเวนที่ 2 ทรงกลัวว่าอาร์กบิชอปอาดัลแบร์ทแห่งฮัมบูร์กจะเป็นชาวเยอรมันที่เข้ามาปกครองคริสตจักรเดนมาร์ก ดังนั้นพระองค์จึงนำชาวแองโกล-เดนส์ออกจากอังกฤษเพื่อให้คริสตจักรเดนมาร์กมีสถานะอิสระ ด้วยอิทธิพลของกษัตริย์สเวน[13] ทำให้เดนมาร์กมีการแบ่งเขตออกเป็นแปดสังฆมณฑลในช่วง ค.ศ. 1060[14] พระองค์ทรงตั้งสังฆมณฑลด้วยการบริจาคที่ดินผืนใหญ่ให้ โดยสังฆมณฑลรอสคิลด์เป็นแห่งที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด เนื่องจากทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับบิชอปวิลเฮล์มแห่งรอสคิลด์[6] เมื่ออาร์กบิชอปอาดัลแบร์ทมรณภาพใน ค.ศ. 1072 กษัตริย์สเวนจึงทรงสามารถติดต่อกับสันตะสำนักได้โดยตรง พระองค์ทรงนำเหล่านักวิชาการมาที่เดนมาร์กเพื่อสอนพระองค์และคนของพระองค์เกี่ยวกับภาษาละติน เพื่อให้พระองค์สามารถสนทนากับกลุ่มชาติยุโรปได้อย่างทัดเทียม อดัมแห่งเบรเมินเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ผู้รอบรู้พระองค์นี้และเขาเคารพพระองค์อย่างมากในด้านของอดทนและสติปัญญกาของกษัตริย์ กษัตริย์สเวนทรงสนับสนุนให้สร้างโบสถ์ทั่วเดนมาร์ก และอดัมแห่งเบรเมินรู้สึกประหลาดใจที่มีโบสถ์ 300 แห่งในแคว้นสคาเนียที่เดียว ซึ่งมากกว่าประเทศทางตอนเหนืออื่นๆ รวมกันเสียอีก สวรรคตกษัตริย์สเวนที่ 2 เสด็จสวรรคตในพระตำหนักที่ซือเดอรัป อยู่ทางตะวันตกของโอเบินโรราว 10 กิโลเมตรที่ช่องแคบลิตเติลเบลท์ พงศาวดารเดนมาร์กระบุปีที่สวรรคตของพระองค์คือ ค.ศ. 1074 ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นที่ทราบว่าพระองค์ทรงได้รับและตอบจดหมายอยู่เลยใน ค.ศ. 1075 และพระองค์สวรรคต ค.ศ. 1076[4][3] พระบรมศพได้รับการฝังในมหาวิหารรอสคิลด์ โดยถูกฝังที่เสาฝ่ายคณะร้องประสานเสียงถัดจากศพของบิชอปวิลเฮล์ม (ซึ่งมรณภาพใน ค.ศ. 1074) ต่อมาพระองค์ได้รับสมัญญานามว่า "พระบิดาของเหล่ากษัตริย์" เนื่องจากพระโอรส 5 พระองค์ จาก 15 พระองค์ ได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก[8] พระองค์เป็นผู้ปกครองชาวไวกิงคนสุดท้ายของเดนมาร์กและเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์เดนมาร์กทั้งมวล[15] พระบรมศพของกษัตริย์เดนมาร์กองค์อื่นๆ ก็ถูกฝังในวิหารรอสคิลด์ด้วย ตามพงศาวดารระบุว่า พระศพพระชนนีของกษัตริย์สเวนได้ถูกฝังตรงเสาที่อยู่ตรงข้ามแท่นบูชา แต่การวิเคราะห์ของดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียพิสูจน์ว่าร่างนี้ไม่ใช่พระชนนีของกษัตริย์ เนื่องจากดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียบ่งชี้ว่าเป็นกลุ่ม Haplogroup H ที่ HVR1 7028C[15] พระราชมรดกหนึงในพระราชมรดกของกษัตริย์สเวน คือ การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของสังคมเดนมาร์ก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นเป็นอิสระหรือเป็นทาส กษัตริย์สเวนมักจะทรงถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ยุคไวกิงพระองค์สุดท้ายและเป็นกษัตริย์ยุคกลางพระองค์แรก คริสตจักรที่มีความเข้มแข็งขึ้นกอปรกับตระกูลขุนนางผู้ครองที่ดินเริ่มเข้มแข็งได้เริ่มบ่อนทำลายอำนาจของราชวงศ์ เหล่าชาวนาถูกละทิ้งให้ดูแลตนเอง[16] กษัตริย์สเวนทรงสร้างรากฐานอำนาจที่แข็งแกร่งสำหรับอำนาจของราชวงศ์ผ่านความร่วมมือกับคริสตจักร พระองค์ประสบความสำเร็จในการแบ่งพื้นที่เดนมาร์กเป็นสังฆมณฑล โดยทรงร่วมมือกับสมเด็จพระสันตะปาปาโดยตรง และข้ามอำนาจของอาร์คบิชอปแห่งฮัมบูร์ก-เบรเมิน ในช่วงรัชสมัยของพระองค์ โบสถ์ไม้เล็กๆ หลายร้อยแห่งถูกสร้างขึ้นทั่วราชอาณาจักร หลายแห่งถูกสร้างด้วยหินในศตวรรษที่ 12[6] กษัตริย์สเวนทรงพยายามสถาปนาตำแหน่งอาร์คบิชอปของเขตนอร์ดิกให้อยู่ภายใต้ชาวเดนมาร์ก และสุดท้ายพระโอรสของพระองค์คือ กษัตริย์อีริคที่ 1 ทรงสามารถบรรลุงานนี้อย่างสำเร็จ[13] ดูเหมือนกษัตริย์สเวนที่ 2 จะทรงสามารถอ่านออกและเขียนได้ และทรงได้รับการบรรยายว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีการศึกษา เป็นคำบรรยายจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 พระสหายของพระองค์[13] พระองค์เป็นต้นกำเนิดองค์ความรู้ที่ทำให้ให้ผู้คนในปัจจุบันรับรู้ประวัติศาสตร์เดนมาร์กและสวีเดนในศตวรรษที่ 9 และ 10 โดยเป็นเรื่องราวบรรพบุรุษของพระองค์ที่มีการบอกเล่าผ่านอดัมแห่งเบรเมินในช่วงค.ศ. 1070 พระราชวงศ์
กษัตริย์สเวนอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าหญิงกูดาแห่งสวีเดน พระราชธิดาในพระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดน ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สองกับสมเด็จพระพันปีหลวงกุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์แห่งสวีเดน พระมารดาเลี้ยงของพระราชินีกูดา หรือบางหลักฐานกล่าวว่าทรงเป็นพระมารดาแท้ๆ แต่การอภิเษกสมรสครั้งที่สองนี้ อาร์กบิชอปแห่งฮัมบูร์ก-เบรเมินมีคำสั่งให้การเสกสมรสเป็นโมฆะ[6] ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 9[13] หลังจากกษัตริย์ฮารัลด์ ฮาร์ดราดาแห่งนอร์เวย์สวรรคต พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับทอรา ทอร์เบรกสแด็ทเทอร์ พระสนมม่ายในกษัตริย์นอร์เวย์ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่ามีการสถาปนาพระนางขึ้นเป็นพระราชินีหรือไม่ พระองค์ทรงมีพระสนมคนหนึ่งที่ให้กำเนิดโอรสธิดาอย่างน้อย 20 คน และมีพระโอรส 1 พระองค์ประสูติแต่พระราชินีกุนน์ฮิลด์ ประสูติแต่พระราชินีกุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์
ประสูติแต่พระสนมหลายพระองค์[5]
อ้างอิง
|