มหาวิทยาลัยบรูเนล
มหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอน (Brunel University London) เป็นมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เน้นทางด้านการสอนและวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบ และการจัดการ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2509 จากวิทยาลัยเทคนิคแอกตันที่มีมาแต่เดิม ชื่อมหาวิทยาลัยตั้งตามชื่อของอิซัมบาร์ด คิงดอม บรูเนล วิศวกรชาวอังกฤษ (พ.ศ. 2349 - 2402) ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลอักซบริดจ์ ในท้องที่อำเภอฮิลลิงดอนซึ่งอยู่ชานเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือของนครหลวงลอนดอน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยได้จดสิทธิบัตรครีเอทีฟบาร์โค้ด (Creative Barcode) ซึ่งเป็นรหัสแท่งธรรมดาแต่เปลี่ยนรูปทรงภายนอกให้เป็นไปตามใจผู้สร้างสรรค์[1] ประวัติมหาวิทยาลัยบรูเนลจัดเป็นมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ หรือที่เรียกกันว่า "มหาวิทยาลัยเล่นกระจก" (Plate glass university) ซึ่งได้ชื่อนี้มาจากสถาปัตยกรรมอาคารสมัยใหม่ที่เน้นการติดกระจกที่ผนังด้านนอกและซ่อนโครงสร้างไว้ภายใน สถาปัตยกรรมส่วนมากในมหาวิทยาลัยนอกจากจะใช้กระจกเป็นส่วนประกอบแล้ว ยังมีรายละเอียดทางศิลปะค่อนข้างน้อย แข็งกระด้าง เน้นประโยชน์ใช้สอย ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบรูทัลลิสต์ (Brutalist) ในชั้นแรกมหาวิทยาลัยยังมีสถานะเป็นวิทยาลัยเทคนิคชื่อ วิทยาลัยเทคนิคแอกตัน (Acton Technical College) ตั้งที่ตำบลแอกตัน อำเภออีลิง (Ealing) กรุงลอนดอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 วิทยาลัยได้มีส่วนงานที่แยกออกไปคือวิทยาลัยเทคโนโลยีบรูเนล (Brunel College of Technology) เพื่อให้การศึกษาแก่วิศวกรควบคุม ส่วนวิทยาลัยเทคนิคแอกตันเดิมลดการสอนเหลือสอนเฉพาะช่างเทคนิคและช่างฝีมือเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 วิทยาลัยเทคโนโลยีบรูเนลยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูง (College of Advanced Technology)ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ แห่งอื่น วิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงบรูเนลจัดเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งที่สิบ และเป็นแห่งสุดท้ายในสหราชอาณาจักร ก่อนที่ทุกแห่งจะยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นเอง วิทยาลัยได้ย้ายที่ตั้งจากเดิมมาตั้งที่ตำบลอักซบริดจ์ ชานกรุงลอนดอนด้านตะวันตก โดยซื้อที่ดินที่เคยเป็นทางรถไฟสายเหนือเดิมของบริษัทเกรตเวสเทิร์น (Great Western) จากเทศบาลในราคา 65,000 ปอนด์[2] เมื่อวิทยาลัยดำเนินกิจการไปได้สักระยะก็ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2509 กิจการของมหาวิทยาลัยที่ตำบลแอกตันดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2514 ก็ได้ย้ายมารวมกันที่ตำบลอักซบริดจ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 มหาวิทยาลัยได้รับวิทยาลัยการศึกษาชอร์ดิช (Shoreditch College of Education) ซึ่งตั้งอยู่ที่คูเปอร์สฮิล (Cooper's Hill) ตำบลรันนีมีด ในจังหวัดเซอร์รีย์ เข้ารวมเป็นส่วนงานหนึ่ง ทำให้มหาวิทยาลัยมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีมหาวิทยาลัยยังคงเปิดสอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ ต่อมามหาวิทยาลัยได้ขยายขอบเขตการศึกษาออกไป โดยรวมตัวเข้ากับสถาบันอุดมศึกษาเวสต์ลอนดอน (West London Institute of Higher Education) ในปี พ.ศ. 2538 ส่งผลให้สามารถเปิดสอนในสาขาวิชามนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โลกศาสตร์ สุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์การกีฬาเพิ่มเติมจากสาขาเดิมที่มีมาด้วย ในขณะเดียวกันจำนวนนักศึกษาก็เพิ่มขึ้นนับหมื่นคน กิจการของมหาวิทยาลัยดำเนินได้ด้วยดี แต่มีคราวหนึ่งที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรี แต่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปฏิเสธ จนต้องจัดพิธีมอบปริญญาในห้องสภาขุนนางแทนที่หอประชุมมหาวิทยาลัย ต่อมาราวปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยเห็นสมควรปรับปรุงส่วนงาน จึงยุบเลิกภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาเคมี และภาควิชาวิศวกรรมวัสดุลง แล้วจัดหน่วยงานทางวิชาการใหม่ในรูปแบบสำนักวิชาแทนภาควิชาที่มีมาแต่เดิม วิทยาเขตมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ที่ชานกรุงลอนดอนด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในชั้นแรกยังมีอาคารไม่มากนัก ต่อมาราว ๆ ปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยจัดทำแผนแม่บทปรับปรุงอาคารพร้อมกับขายที่ดินที่ตำบลรันนีมีด รายได้ที่ได้จากการขายที่ดินได้นำมาปรับปรุงอาคารและสาธารณูปโภคในมหาวิทยาลัยที่ตำบลอักซบริดจ์ ทั้งสร้างอาคารเรียนใหม่ สร้างศูนย์กีฬา-หอพักนักศึกษา ปรับปรุงหอสมุด นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้ลงทุนอีก 50 ล้านปอนด์เพื่อซ่อมสร้างอาคาร และสร้างอาคารอีสเทิร์นเกตเวย์ ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์เรียนรวมและเป็นที่ตั้งของสำนักวิชาบริหารธุรกิจ[3] สถาปัตยกรรมส่วนมากในมหาวิทยาลัย เป็นรูปแบบบรูทัลลิสต์ซึ่งมีรายละเอียดศิลปะน้อย เน้นประโยชน์ใช้สอย ตึกหลายตึกของมหาวิทยาลัยปรากฏในภาพยนตร์เรื่องอะคล็อกเวิร์คออเรนจ์ ส่วนงานมหาวิทยาลัยประกอบด้วยส่วนงานบริหารและส่วนงานทางวิชาการ ส่วนงานทางวิชาการมีด้วยกันทั้งหมด 3 คณะ[4] ได้แก่
ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตจากสำนักมุรธาธรแห่งสหราชอาณาจักร (College of Arms) ให้ใช้ตราโล่หรือตราอาร์มเมื่อ พ.ศ. 2509 ดวงตราที่สำนักฯ ออกแบบประกอบด้วยโล่บนราบท้ายแหลมพื้นสีฟ้า ตอนบนมีสะพานโค้งก่ออิฐ แทนทักษะทางช่างของบรูเนล ตอนกลางมีวงเวียน เป็นตัวแทนของการออกแบบ ตอนล่างมีสี่เหลี่ยมรูปว่าวสีทอง ภายในสี่เหลี่ยมรูปว่าวมีสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีขาวประดับด้วยลายขนสัตว์ ซึ่งเป็นตัวแทนของจอห์น กิฟฟาร์ด (John Giffard) เอิร์ลแห่งฮาลสบรี (Earl of Halsbury) ภายนอกโล่ประดับด้วยหมวกเกราะและผ้าแพรลายสีฟ้า-ทอง บนหมวกมีหงส์ ซึ่งเป็นตัวแทนของตำบลอักซบริดจ์ ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เท้าของหงส์เหยียบเฟืองกล ซึ่งแทนการเคลื่อนไหวและเครื่องจักรกล[5] วิชาการและวิจัยเนื่องจากมหาวิทยาลัยเน้นด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้มีการสร้างห้องปฏิบัติการภาพถ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (electronic imaging) ห้องปฏิบัติการกระบวนการชีวภาพ ห้องปฏิบัติการ MRI รวมถึงห้องจำลองการขับเครื่องบิน รถยนต์ และรถไฟอีกด้วย[6] งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยส่งเข้าตีพิมพ์กว่า 90 % ถือเป็นงานที่มีคุณภาพยอมรับในระดับนานาชาติ[7] จากผลการประเมินงานวิจัยระดับชาติ มหาวิทยาลัยได้ลำดับที่ 37–39 ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น[8] นอกจากด้านวิศวกรรมศาสตร์แล้ว มหาวิทยาลัยยังได้มีหน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านพันธุศาสตร์มะเร็ง วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การออกแบบโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centred Design) การประมวลผลวัสดุ ดนตรีร่วมสมัย ประสิทธิผลทางดิจิทัล (Digital Performance) การศึกษาปฐมวัย และวิทยาศาสตร์การกีฬาด้วย[6] อ้างอิง
|