Share to:

 

มหาวิทยาลัยเลสเตอร์

University of Leicester
มหาวิทยาลัยเลสเตอร์
คติพจน์ลาติน: Ut Vitam Habeant
อังกฤษ: So that they may have life
ไทย: ขอ(เขาทั้งหลาย)จงมีชีวิต
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล
สถาปนาพ.ศ. 2500 - มีพระบรมราชโองการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2464 - วิทยาลัยอุดมศึกษาเลสเตอร์เชอร์และรัตแลนด์
ที่ตั้ง
เลสเตอร์, เลสเตอร์เชอร์
,
วิทยาเขตสวนในเมือง
สีลวดลายผ้าพันคอ
           
เครือข่ายAMBA
EUA
ACU
EMUA
M5
เว็บไซต์le.ac.uk

มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (อังกฤษ: University of Leicester) เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่เน้นวิจัยในเมืองเลสเตอร์ แคว้นเลสเตอร์เชอร์ สถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยยกฐานะจากวิทยาลัยอุดมศึกษาเลสเตอร์ เลสเตอร์เชอร์ และรัตแลนด์ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2464[1]

มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในฐานะผู้คิดค้นการพิมพ์ลายนิ้วมือพันธุกรรมจนนำไปสู่การค้นพบโครงพระบรมอัฐิของสมเด็จพระราชาธิบดีริชาร์ดที่ 3 ซึ่งสิ้นพระชนม์ในที่รบ[2]

ประวัติ

บริเวณมหาวิทยาลัยถ่ายจากสวนวิกตอเรีย จากซ้ายไปขวาเป็น ตึกวิศวกรรม ตึกแอตเทนบะระห์ และตึกชาลส์วิลสัน ตามลำดับ

แรกเริ่มนั้นเมืองเลสเตอร์ไม่มีสถานอุดมศึกษาใด ๆ จะมีก็แต่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอุดมศึกษา (คือ วิทยาลัยที่จัดการสอนในระดับปริญญาได้แต่ไม่มีอำนาจให้ปริญญา ต้องให้มหาวิทยาลัยอื่นเป็นผู้ออกให้) ในเมืองข้างเคียง อาทิ มหาวิทยาลัยวิกตอเรียแมนเชสเตอร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์) มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม และวิทยาลัยอุดมศึกษานอตทิงแฮม[3] ต่อมาปลายศตวรรษที่ 18 ผู้อำนวยการโรงเรียนวิกสตันและเอลิซาเบทที่หนึ่ง (Wyggeston and Queen Elizabeth I College) คือภราดาเจมส์ เวนต์ (James Went) ได้เรียกร้องให้มีสถานศึกษาขึ้นแต่ก็ไม่เป็นผล[4][5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 แอชลี คลาร์ก (Ashley V Clarke) บัณฑิตมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เรียกร้องให้มีการจัดสร้างมหาวิทยาลัย แต่ผู้คนบางส่วนไม่เห็นด้วยเนื่องจากเลสเตอร์เป็นเมืองขนาดเล็กนักศึกษาน้อย ครั้นเกิดสงคราม จึงมีการเรียกร้องให้สร้างมหาวิทยาลัยแทนอนุสรณ์ผู้ตายในสงคราม และเริ่มมีการเรี่ยไรเงินจัดหาที่ดินขึ้น นอกจากคลาร์กแล้ว คหบดีและพ่อค้าชื่อโทมัส ฟีลดิง จอห์นสัน (Thomas Fielding Johnson) ได้จัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างวิทยาลัยฯ และโรงเรียนเน้นวิชา (grammar school) เมื่อเรื่องเข้าพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ห้า ก็ทรงอนุโมทนาในความพยายามนี้[6]

ครั้นได้สถานที่แล้ว มีการถกเถียงเรื่องหลักสูตรว่าจะเป็นเช่นใด จะเน้นวิชาอุตสาหกรรมหรือวิชาช่าง นอกจากนี้ยังมีการเสนอความคิดเรื่องรวมมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเดียวกันเป็นเครือข่าย แต่ล้มเหลว จึงทำให้ได้วิทยาลัยอุดมศึกษาภายใต้การควบคุมของมหาวิทยาลัยลอนดอน มี อาร์.เอฟ. แรตเทรย์ (R.F Rattray) เป็นผู้อำนวยการคนแรก[7] ต่อมาวิทยาลัยฯ รวมเข้ากับโรงเรียนผู้ใหญ่วอกันเวิร์กกิงเมน (Vaughan Working Men's College) ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2405[8] จนมีขนาดใหญ่มากขึ้น กิจการของวิทยาลัยก้าวหน้าโดยลำดับก่อนที่แรตเทรย์จะลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ครั้งนั้นเฟรเดอริก แอทเทนบะระห์ (Frederick Attenborough) บิดาของเดวิด แอทเทนบะระห์ ขึ้นเป็นผู้อำนวยการสืบแทน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2495 ชาลส์ วิลสัน (Charles Wilson) รับตำแหน่งผู้อำนวยการสืบแทน ห้าปีต่อมามีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะวิทยาลัยอุดมศึกษาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย

คติพจน์ Ut Vitam Habeant หรือ ขอจงมีชีวิต นั้น มีที่มาจากการที่มหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลทหารบาดเจ็บ และได้รับเงินทุนประเดิมจากบรรดาผู้สูญเสียญาติในสงคราม ตลอดถึงผู้รอดชีวิตด้วย[9]

ส่วนงาน

มหาวิทยาลัยเริ่มแรกมีห้าคณะวิชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ลดเหลือสี่คณะ หกปีต่อมาจึงลดจำนวนคณะลงเสียหนึ่ง โดยควบรวมคณะสังคมศาสตร์เข้ากับคณะศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คงเหลือส่วนงานทางวิชาการดังนี้[10]

  • คณะสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และจิตวิทยา
  • คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

คณะทั้งหมดมีรองอธิการบดี (pro-vice chancellor) แทนที่จะเป็นคณบดี (dean) บังคับบัญชา[11]

ที่ตั้ง

มหาวิทยาลัยตั้งห่างจากใจกลางเมืองไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร ติดกับสวนวิกตอเรียและโรงเรียนวิกสตัน (มหาวิทยาลัยอีกแห่งคือ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองด้านเหนือ) ประกอบด้วยอาคารสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

อาคารฟีลดิง จอห์นสัน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2380 ด้วยอิฐจากเมาต์ซอร์เรล (ทิศใต้ของเมืองลัฟบะระ) และหินชนวนจากแบงกอร์ ออกแบบโดยวิลเลียม พาร์สัน (William Parsons) สำหรับใช้เป็นโรงพยาบาลจิตเวชสืบมาจนถึง พ.ศ. 2451[12]ปัจจุบันเป็นโบราณสถานประเภทสอง และเป็นที่ตั้งของสำนักงานมหาวิทยาลัย[13]

อาคารเคน เอดเวิดส์ (Ken Edwards) อยู่ติดกับอาคารฟีลดิง จอห์นสัน เป็นอาคารภาควิชาการจัดการ

อาคารแอชลี คลาร์ก (Astley Clarke) ตั้งตามนามบูรพาจารย์ของมหาวิทยาลัย อยู่ตรงข้ามอาคารฟีลดิง จอห์นสัน เป็นอาคารภาควิชาเศรษฐศาสตร์และศูนย์กีฬา

อาคารเพอร์ซี กี (Percy Gee) ตั้งตามชื่อผู้อำนวยการฝ่ายการคลังคนแรกของวิทยาลัยอุดมศึกษา สร้าง พ.ศ. 2500 เป็นสโมสรนักศึกษา

ห้องสมุดเดวิด วิลสัน (David Wilson) เปิดโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551[14]

อ้างอิง

  1. "History". University of Leicester.
  2. "Richard III Society pays tribute to exemplary archaeological research". University of Leicester. 15 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-19. สืบค้นเมื่อ 12 February 2013.
  3. Simmons 1958, p. 51
  4. Simmons 1958, p. 58
  5. "History". Leicester Lit and Phil Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-20.
  6. Simmons 1958, p. 69
  7. Burch 1996, p. 16
  8. Brown, Cynthia (2012). A Blessing to the Town: 150 Years of Vaughan College, Leicester. University of Leicester. p. 42. ISBN 9780901507723.
  9. Simmons 1958, p. 93
  10. "Pro-Vice-Chancellors and Heads of College". University of Leicester. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-04. สืบค้นเมื่อ 12 September 2016.
  11. "University of Leicester - Leicester strengthens management team and announces new academic structure". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-02. สืบค้นเมื่อ 29 June 2015.
  12. "Fielding Johnson Building". Story Of Leicester. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-04..
  13. "Building by Building". University Leicester Framework Plan. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-09-04.
  14. "Key Facts and Figures - University of Leicester". University of Leicester. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-25. สืบค้นเมื่อ 22 September 2014.
  • Simmons, Jack (1958), New University, Leicester University Press
  • Burch, Brian (1996), The University of Leicester, A History, 1921-1996, University of Leicester

แหล่งข้อมูลอื่น


Kembali kehalaman sebelumnya