Share to:

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก
ชื่อย่อRMUTL Tak
คติพจน์สร้างคนดี คนเก่ง สู้งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี
ประเภทวิทยาเขต
สถาปนาพ.ศ. 2481
ที่ตั้ง
41/1 หมู่ที่ 7 ถนนพหลโยธิน ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก 63000
เว็บไซต์http://www.tak.rmutl.ac.th

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เป็นวิทยาเขต ในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตั้งอยู่ที่ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เป็นวิทยาเขตที่มีจำนวนนักศึกษามากที่สุดรองจาก ภาคพายัพเชียงใหม่ คือ มีนักศึกษาจำนวน 3,110 คน[1]

ประวัติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เดิมคือ "โรงเรียนช่างไม้ตาก" เมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ขึ้นในปี พ.ศ. 2481 โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนตากพิทยาคม เปิดสอนวิชาช่างไม้ชั้นต้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2484 จึงย้ายสถานที่ตั้งมาที่บริเวณวัดเวฬุวัน (ไผ่ล้อม) ถนนมหาดไทยบำรุง ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ทำการสอนเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2500 จึงเปิดสอนถึงระดับประโยคอาชีวะศึกษาชั้นสูง แผนกช่างไม้และก่อสร้าง ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นโรงเรียนการช่างตาก และย้ายสถานที่ตั้งมาที่บ้านหนองกะโห้ ต.ไม้งาม อ.เมือง จ.ตาก

  • พ.ศ. 2481 รัฐบาลได้จัดตั้งโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ขึ้น ดังบันทึกจดหมายเหตุรายวัน ของครูใหญ่ถาด คำพุฒ ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2481 เป็นวันเปิดโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ โดยอาศัยโรงเรียนประจำจังหวัดตาก "ตากพิทยาคม" เรียนไปพลางก่อน มีนักเรียนมาเรียน 7 คน ให้นายฉาย เชื้อปราง ครูน้อย เป็นผู้สอนทางภาคปฏิบัติ วันที่ 19 สิงหาคม 2481 เริ่มสอนทางทฤษฎีช่างและวิชาสามัญ ตอนบ่ายปฏิบัติงาน
  • พ.ศ. 2484 ได้ย้ายสถานที่ไปตั้งที่ บริเวณวัดเวฬุวัน (วัดไผ่ล้อม) ถนนมหาดไทยบำรุง ต.ระแหง อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเพชรวิทยท์ (กิตติขจร) มีอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น หนึ่งหลัง ชั้นบนใช้เป็นหอพักนักเรียนประจำมีประมาณ 80 คน ชั้นล่างเป็นห้องทำงานของครู ห้องอาจารย์ใหญ่ และห้องเรียน 1 ห้อง มีโรงฝึกงานเป็นอาคารไม้ถาวร อยู่ 3 หลัง มีโรงฝึกงานแบบชั่วคราวโครงหลังคาเป็นไม้ไผ่มุงด้วยหญ้าคา 2 หลัง รั้วด้านหน้าทิศตะวันตกและด้านหลัง (ทิศเหนือ) เป็นรั้วลวดหนาม และปลูกต้นพู่ระหงหนาทึบ มีต้นสนเป็นแนวยาวคู่กับพู่ระหง ด้านหน้าโรงฝึกงาน มีบ้านพักครู บ้านพักภารโรง โรงครัว และโรงอาหาร เป็นแถวยาวเรียงกันไป ตรงมุมหลังด้านทิศใต้เป็นที่วางเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ และเป็นที่ตั้งหอสูงสำหรับเก็บน้ำ มีครู 10 กว่าคน มีนักเรียน 400-500 คน กรมอาชีวศึกษาอนุมัติให้โรงเรียนการช่างตาก ปรับปรุงและขยายการศึกษาให้สูงขึ้น ยกฐานะเป็นโรงเรียนการช่างตาก
  • พ.ศ. 2501 อาจารย์วีระพล ส.สุจริตจันทร์ พร้อมคณะครูลงความเห็นว่า ควรใช้พื้นที่โรงเรียนเกษตรกรรมตาก เก่า ซึ่งได้ล้มเลิกกิจการไปแล้ว เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนการช่างตากแห่งใหม่ อยู่ที่บ้านหนองกระโห้ ตำบลไม้งาม ติดถนนพหลโยธิน มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ในปัจจุบัน โดยกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำแผนผังแม่บท วันที่ 2 มิถุนายน 2501 จึงได้ย้ายออกจากสถานที่เดิม มาอยู่ที่ตั้ง ณ ปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2503 โรงเรียนการช่างตาก ได้รับการพิจารณาและส่งเสริมเพื่อเตรียมเปิดสอนวิชาช่างอุตสาหกรรม ตามโครงการ ส.ป.อ. โดยได้รับงบประมาณมาดำเนินการปรับปรุงอาคารโรงฝึกงาน รวมทั้งจัดฝึกอบรมครูช่างแผนกต่าง ๆ การจัดส่งเครื่องมือและติดตั้งเครื่องจักร การช่วยเหลือเกี่ยวกับโครงการสอน, การแนะแนว, การจัดทำระเบียบสะสม, และการติดตามผลเป็นต้น
  • พ.ศ. 2504 ได้เปิดสอนวิชาช่างอุตสาหกรรม 5 แผนกวิชา คือ ช่างก่อสร้าง ช่างกลโรงงาน ช่างเครื่องยนต์ ช่างเชื่อมและโลหะแผ่น และช่างไฟฟ้า
  • พ.ศ. 2505 ได้เปิดสอนเพิ่มเติมอีกแผนกวิชา คือ ช่างวิทยุและโทรคมนาคม
  • พ.ศ. 2509 ได้มีการโอนโรงเรียนการช่างสตรีตาก มาอยู่กับโรงเรียนการช่างตาก แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น แผนกวิชาคหกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการเตรียมตัวของโรงเรียนการช่างตาก ที่จะได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเทคนิคตาก ในปีต่อไป
  • พ.ศ. 2510 ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเทคนิคตาก สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดให้มีการสอนทั้งในระดับประกาศนียบัตร (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และในปีนี้ ได้เปิดสอนในระดับ ปวส. แผนกวิชาช่างก่อสร้าง คณะวิชาช่างโยธา เพิ่มขึ้นอีก 1 แผนกวิชา
  • พ.ศ. 2520 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และประกาศรวมเอาวิทยาลัยเทคนิคตาก เข้าเป็นวิทยาเขตหนึ่งในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2531 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็น " สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล " และวิทยาเขตตาก เป็นสถานศึกษาหนึ่งในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันเปิดสอนสอนนักศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี
  • พ.ศ. 2534 เปิดสอนระดับปริญญาตรีคณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ต่อมาเปิดสอนระดับปริญญาตรีมากขึ้น
  • พ.ศ. 2548 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประกอบด้วยวิทาเขตภาคพายัพ วิทยาเขตตาก วิทยาเขตลำปาง วิทยาเขตน่าน วิทยาเขตพิษณุโลก และวิทยาเขตเชียงราย
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เคยได้รับการเสนอให้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ โดยใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยตากสิน" [2]

ตราประจำเขตพื้นที่

ราชมงสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายในวงกลมเป็นรูปดอกบัวบาน 8 กลีบ หมายถึง ปัญญาอันเป็นแสงสว่างในโลก ภายในรูปดอกบัวบานเป็น รูปพระราชลัญจกร อันเป็นตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้พระราชทานนามให้ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล" และมีรูปดอกไม้ทิพย์ สองข้างที่ปลายแถบ ซึ่งหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง แจ่มใส เบิกบาน

ความวิจิตรแห่ง "ราชมงคลสัญลักษณ์" จักเป็นที่ประจักษ์และชื่นชมจาก ชาวราชมงคลและบุคคลทั่วไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งนี้ จักเป็นมหาวิทยาลัยที่ตระหนักในภารกิจที่จะเสริมสร้างให้การศึกษาในทางวิชาชีพเจริญรุดหน้า แตกกิ่งก้านสาขา สมดั่งเจตนาที่ถือกำเนิดมา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามไว้เป็นสิริมงคลสืบไป

สีประจำเขตพื้นที่

สีประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก คือ สีน้ำเงิน หมายถึง โลกแห่งการเรียนรู้เปรียบได้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมอันเป็นฐานความพร้อมในการเสริมสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ให้เจริญก้าวหน้าเป็นศูนย์การเรียนรู้สืบไป

ต้นไม้ประจำเขตพื้นที่

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก คือ ต้นทองกวาว ซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาฯ 10-15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปทรงไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะกลม หรือเป็นทรงกระบอก ใบประกอบมี 3 ใบ ขนาดไม่เท่ากัน ใบหนาและมีขน ใต้ใบมีสีเขียวอมเทา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง คล้ายดอกถั่วสีแสดแดงหรือเหลือง มีขน ออกดอก เดือนธันวาคม-มีนาคม ผลเป็นฝักแบน มีขนนุ่ม เมล็ด 1 เมล็ดอยู่ที่ปลายฝัก ต้นทองกวาวมีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามแต่ละภาค ภาคเหนือเรียกว่า "กวาว หรือก๋าว" ภาคใต้เรียกว่า "จอมทอง" ภาคกลางเรียกว่า "ทองธรรมชาติ หรือทองต้น" และภาคอีสานเรียกว่า "ดอกจาน" ช่อดอกทองกวาวสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ซึ่งแสดงถึง ความสว่างของปัญญาและการแผ่กระจายของความรู้ในวิชาการด้านต่าง ๆ

สาขาวิชาที่เปิดสอน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เปิดสอน 3 ระดับ คือ เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ 1 วิทยาลัย คือ

หน่วยงานของนักศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้กำหนดให้มีองค์กรของนักศึกษาในระดับเขตพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงาน และการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา[3] ได้แก่

  • หน่วยดำเนินกิจกรรม
    • สโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับเขตพื้นที่ มีนายกสโมสรนักศึกษาคณะในเขตพื้นที่ และผู้แทนนักศึกษา เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • สโมสรนักศึกษาคณะ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับคณะในแต่ละเขตพื้นที่ มีผู้แทนนักศึกษาในคณะ เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาคณะ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • ชมรม เป็นหน่วยดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา โดยมีประธานชมรม เป็นผู้อำนวยการดำเนินงาน
  • หน่วยตรวจสอบ
    • สภานักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นตัวแทนรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของนักศึกษา ควบคุม ตรวจสอบการบริหารงานและการดำเนินงานขององค์กรนักศึกษา (สโมสรนักศึกษา และชมรม) เป็นศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา

อ้างอิง

  1. สรุปข้อมูลจำนวนนักศึกษา ปีการศึกษา 1/2566
  2. อดีต ส.ว.เผยเตรียมยุบรวม 2 สถาบันตั้ง ม.ตากสิน[ลิงก์เสีย]
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-08-27. สืบค้นเมื่อ 2010-04-26.
Kembali kehalaman sebelumnya