ยุคโลหะ
ยุคโลหะ (อังกฤษ: Metal Age) เป็นยุคที่อยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,000 − 900 ปีก่อนพุทธศักราช ยุคที่มนุษย์รู้จักนำเอาแร่โลหะมาจากธรรมชาตินำมาใช้เพื่อประโยชน์ เช่น ทองแดง, สำริด และเหล็ก นำมาหล่อหรือขึ้นเป็นมีด, หอก และดาบ เพื่อใช้ในการล่าสัตว์ หรือมาประกอบเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ มนุษย์สมัยนี้พัฒนาการเป็นอยู่อาศัยและการเกษตรกรรมให้ดียิ่งขึ้น เช่น การสร้างบ้านให้ใต้ถุนบ้านสูง[1][2] มีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์[3] โดยยุคโลหะ แบ่งออกเป็น 3 ยุคย่อยคือ ยุคทองแดงปนหิน ยุคสำริด และยุคเหล็ก จุดเริ่มต้นของยุคโลหะยุคโลหะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,000 - 6,000 ปีก่อนพุทธศักราช แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่พบในขณะนี้ ยังไม่สามารถนำมายืนยันแน่ชัดว่ายุคโลหะเริ่มที่ใด แต่สันนิษฐานว่า ยุคโลหะเริ่มในเอเชียตอนกลาง บริเวณประเทศอียิปต์ มนุษย์ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องของโลหะวิทยาเกี่ยวกับการถลุง, การหล่อ และการขึ้นรูปโลหะ โดยส่วนมากจะเป็น ทองแดง ต่อมาประมาณ 3,500 ปีก่อนพุทธศักราช มนุษย์หันมาใช้สำริด โดยใช้ทำอาวุธ, เสื้อเกราะ, ภาชนะต่าง ๆ, ของใช้ และเครื่องประดับ แม้ในยุคต่อมาได้มีการใช้เหล็กเป็นโลหะหลักก็ตาม แต่สำริดยังเป็นโลหะที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน[4] และต่อมาประมาณ 900 ปีก่อนพุทธศักราช ชาวฮิตไทต์ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีอำนาจในเอเชียไมเนอร์ บริเวณตอนใต้ของทะเลดำ ได้พบวิธีถลุงเหล็กจากแร่เหล็ก หลังจากนั้นความรู้เกี่ยวกับการถลุงเหล็กได้กระจายไป ยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป จนเกิดอุตสาหกรรมการถลุงเหล็กขึ้น เนื่องจากเหล็กมีคุณสมบัติหลายอย่างดีกว่าสำริด เช่น แข็งกว่า ใช้ทำอาวุธทุกชนิดที่มีอำนาจการทำลายเหนือกว่า มนุษยจึงหันมาใช้เหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือในงานช่าง และที่นิยมมากที่สุดคือ ใช้ทำอาวุธ เช่น ดาบ หอก อุตสาหกรรมเหล็กได้พัฒนาไปถึงการทำเหล็กกล้า ซึ่งมีคุณสมบัติดีกว่าเหล็กธรรมดา เพราะนอกจากจะแข็งและเหนียวกว่าแล้ว ยังสามารถเพิ่มความแข็งโดยการอบชุบได้ดี[4] ยุคโลหะในประเทศไทยยุคโลหะในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 – 5,000 ปีที่ผ่านมา โดยมนุษย์ในสมัยนั้นมีการนำโลหะสำริด ทองคำ และเหล็ก มาหล่อและตีขึ้นรูปเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้เท่าหรือดีกว่ามนุษย์ยุคเดียวกันในส่วนอื่นของโลก ซึ่งมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายที่ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง[1] โดยนักโบราณคดีจะพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ โดยเฉพาะที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่เกิดปัญหาว่า ขุดค้นพบเครื่องมือ เครื่องใช้ ซึ่งตัดสินว่าเป็นของมนุษย์ยุคโลหะตอนปลาย แต่เมื่อได้ส่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปพิสูจน์อายุ โดยวิธีเทอโมลูเนสเซ็นส์ (thermoluminescence) แล้วปรากฏผลว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดได้จากระดับความลึก 70-80 เซนติเมตรจากผิวดิน มีอายุประมาณ 5,554–460 ปีมาแล้ว และอีกชิ้นส่วนได้จากระดับความลึก 120 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 5,574–175 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีบางท่าน จึงสรุปว่ามนุษย์ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมเหล่านี้ไว้เมื่อประมาณ 5,000–7,000 ปีมาแล้ว[5] นอกจากนี้ในภาคใต้ของประเทศไทยพบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินต่อเนื่องมาจนถึงยุคโลหะ สำหรับในจังหวัดชุมพรพบร่องรอยของมนุษย์ยุคหินใหม่ ในแถบภูเขาหินปูนทางทิศตะวันตกของจังหวัด ในยุคโลหะพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรที่ชุมชนโบราณเขาสามแก้ว[6] ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ เช่น เครื่องมือโลหะ หุ่นจำลองสำริดรูปคนและสัตว์ และกลองมโหระทึก เป็นต้น ชุมชนโบราณเขาสามแก้วมีลักษณะเป็นเมืองท่าค้าขาย พบหลักฐานการติดต่อกับจีน เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งกลุ่มพ่อค้าต่างชาติเหล่านี้อาจเป็นผู้นำวิธีการผลิตโลหะมาเผยแพร่ให้กับคนพื้นเมือง[7] อ้างอิง
|