ระบบมรดกทางการเกษตรโลกระบบมรดกทางการเกษตรของโลก (อังกฤษ: Globally Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปกป้อง และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน[1] การรับรองสถานที่แห่งใดเป็นแหล่งมรดกทางการเกษตร (agricultural heritage sites) นั้น ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่สร้างวิถีชีวิตในพื้นที่ชนบท โดยผสมผสานความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศน์ที่ยืดหยุ่น ประเพณี และนวัตกรรมในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา FAO ได้รับรอง 62 ระบบ ใน 22 ประเทศเป็นแหล่งมรดกโลกทางการเกษตร และในปัจจุบัน (มกราคม 2565) กำลังพิจารณา 15 ข้อเสนอจาก 8 ประเทศทั่วโลก[2] ในส่วนของประเทศไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้ "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย (พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย)" ในจังหวัดพัทลุง ภายใต้ชื่อ "Thale Noi Wetland Pastoral Buffalo Agro-ecosystem" (แปล: ระบบนิเวศ-เกษตรการเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย)[3][4] เป็นมรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของประเทศในปี พ.ศ. 2565[5] และมีโครงการเสนอระบบการปลูกชาแบบดั้งเดิมในรูปวนเกษตรในพื้นที่ป่าเมี่ยง หรือ ชาเมี่ยง ในจังหวัดน่าน[6] ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |