ราโมนส์ (อัลบั้ม)
ราโมนส์ (อังกฤษ: Ramones) เป็นสตูดิโออัลบั้มเปิดตัวของวงพังก์ร็อกสัญชาติอเมริกา ราโมนส์ เปิดตัวในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1976 ผ่านทางค่ายไซร์ จุดเริ่มต้นของอัลบั้มนี้เริ่มขึ้นจาก ลิซา โรบินสัน บรรณาธิการของนิตยสารฮิตพาราเดอร์ ได้ชมการแสดงของราโมนส์ในนิวยอร์ก โรมบินสันจึงได้เขียนบทความเกี่ยวกับพวกเขาและได้ติดต่อกับแดนนี ฟีลด์ส เพื่อให้เขามาเป็นผู้จัดการวง ฟีลด์ส ก็ได้ตอบตกลงและโน้มน้าวเคร็ก ลีออน ให้มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวง ราโมนส์ได้เริ่มทำการบันทึกเสียงในรูปแบบของเดโม เพื่อหาค่ายเพลงในอนาคต ลีออน ได้ชักชวนเซย์มัวร์ สไตน์ ประธานค่ายไซร์ มารับชมการแสดงของพวกเขา จนในที่สุดในเวลาต่อมาเขาก็ยินดีเซนต์สัญญาบันทึกเสียงผ่านทางค่าย ราโมนส์ ได้เริ่มบันทึกเสียงในเดือนมกราคม ค.ศ. 1976 โดยมีเวลาให้เพียง 7 วัน กับเงินสดสนับสนุน $6,400 เพื่อใช้ในการบันทึกเสียงครั้งนี้ ราโมนส์ได้ใช้เทคนิคเสียงที่คล้ายคลึงกับเดอะบีเทิลส์ บวกกับเทคนิคขั้นสูงที่คิดค้นโดยลีออน หน้าปกหน้าอัลบั้ม เป็นรูปสมาชิกวงทั้งสี่คนยืนพิงผนังอิฐในนิวยอร์ก ซึ่งถูกถ่ายขึ้นโดย โรเบอร์ทา เบย์ลีย์ จากนิตยสารพังก์ ด้วยงบประมาณที่ค่ายเพลงให้สำหรับทำหน้าปกหน้าเพียง 125 ดอลลาร์เท่านั้น แต่มันกลับกลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ถูกนำมาเลียนแบบมากที่สุดตลอดกาล[1] ส่วนปกหลังเป็นหัวเข็มขัดรูปนกอินทรี พร้อมกับรายละเอียดต่างๆ ภายหลังอัลบั้มนี้ได้ถูกจำหน่ายออกไป กลับไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยการไม่ติดอันดับชาร์ตบนๆ จนราโมนส์ได้ใช้การทัวร์คอนเสิร์ต เพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย โดยส่วนมากมักแสดงสดในสหรัฐอเมริกา และก็มีสองครั้งในอังกฤษ เนื้อหาหลักของอัลบั้มพูดถึง ความรุงแรง สารเสพติด ปัญหาความสัมพันธ์ ความตลก และลัทธินาซี โดยมีซิงเกิลเปิดอัลบั้ม คือ "Blitzkrieg Bop" ที่ถือว่าเป็นเพลงที่ได้รับการจดจำมากที่สุดของวง ซิงเกิลส่วนใหญ่ในอัลบั้มใช้จังหวะที่เร็ว (uptempo) ด้วยจังหวะของหลายเพลงมีอัตราเฉลี่ยที่ 160 บีตส์ต่อนาที และเพลงส่วนใหญ่มักสั้นๆ คือเพียง 1 นาทีครึ่งจนถึง 2 นาทีเท่านั้น โดยซิงเกิล "I Don't Wanna Go Down to the Basement" เป็นซิงเกิลที่ยาวที่สุดของอัลบั้มนี้ (2.35 นาที) ราโมนส์ยังมีการโคเวอร์เพลงของคริส มอนเทซ ในซิงเกิล "Let's Dance" อัลบั้ม ราโมนส์ ติดอันดับ 111 บนบิลบอร์ด 200 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จทางพาณิชย์เลย แต่ก็ได้รับคำชมมากมายจากนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียง จนในเวลาต่อมาก็ได้ยกย่องเป็นการบันทึกเสียงที่ทรงอิทธิพลอย่างสูง และได้รับยกย่องอันทรงเกียรติมากมาย ทั้ง การติดท็อปในหัวข้อ "50 การบันทึกเสียงพังก์ที่สำคัญที่สุด" ของนิตยสารสปิน ราโมนส์ ได้กลายเป็นแรงบรรดาลใจให้กับวงดนตรีมากมาย เช่น เซ็กซ์พิสทอลส์, บัซซ์คอกส์ และเดอะแคลช รวมไปถึงวงอื่นๆ อีกมากมาย ราโมนส์ ได้จุดประกายคลื่นพังก์ร็อก ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมไปถึงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวเพลงร็อก ทั้งแนวกรันจ์ และเฮฟวี่เมทัล อัลบั้มได้ติดอันดับ 33 บนหัวข้อ "500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล" โดยนิตยสารโรลลิงสโตนส์ ในปี ค.ศ. 2012[2] และได้รับการยืนยันยอดจำหน่ายจากสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา ในระดับทองคำ ในปี ค.ศ. 2014[3] รายชื่อเพลง
ชาร์ตอัลบั้ม
ยอดจำหน่าย
อ้างอิง
|