วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร |
---|
|
|
ชื่อสามัญ | วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร |
---|
ที่ตั้ง | เลขที่ 170/1 ริมคลองบางพรมฝั่งเหนือ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร |
---|
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
---|
นิกาย | มหานิกาย (เถรวาท) |
---|
พระประธาน | พระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดพระเพลากว้าง 4 ศอก สูงตลอดพระรัศมี 5 ศอก 10 นิ้ว |
---|
เจ้าอาวาส | พระครูกาญจนกิจจารักษ์ (บัณฑิต ปภสฺสโร) |
---|
จุดสนใจ | สักการบูชา พระพุทธศิริกาญจโนภาส, หลวงพ่อทอง |
---|
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 170/1 ริมคลองบางพรมฝั่งเหนือ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย[1]
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (กาญจนสิงหาสน์ อุปถัมภ์)
- ทิศตะวันออก จรดสวนราษฎร
- ทิศใต้ จรดคลองบางพรม
- ทิศตะวันตก ติดถนนแก้วเงินทอง
บริเวณวัดมีเนื้อที่รวมเขตธรณีสงฆ์แล้วประมาณ 21 ไร่[2]
ประวัติ
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เดิมชื่อ วัดทอง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและปีที่สร้าง[3] แต่ตามประวัติที่เล่าสืบต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพ่อค้าชาวจีนสองพี่น้อง แซ่ตัน ชาวบ้านเรียกกันว่า เจ้าขรัวเงินและเจ้าขรัวทอง'ได้เข้ามาตั้งรกรากค้าขายจนร่ำรวยแล้วจึงได้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณสองฝั่งปากคลองนี้[4] คือ วัดเงินกับวัดทอง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 วัดนี้ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี โปรดให้ทำการบูรณะเสียใหม่ และโปรดให้สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นเป็น 3 คณะ คือ คณะกลาง สร้างเป็นกุฏิชนิด 4 ห้อง ปลูกขวางทิศเหนือกับกุฏิชนิดแถว 2 แถว แถวละ 6 ห้อง โดยมีหอฉันอยู่ตรงกลาง และสร้างหอระฆังไว้ด้านหน้า ส่วนคณะตะวันออกและคณะตะวันตก สร้างเป็นหอฉันขวางทางทิศเหนือ 2 คณะ ทางทิศใต้ สร้างหอพระไตรปิฏกอยุ่ติดกับกำแพง นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างศาลาการเปรียญไว้ริมคลองหน้าพระอุโบสถ ศาลาสามหน้า และศาลา 2 หลัง หลังหนึ่งตั้งอยู่หน้าปรก อีกหลังหนึ่งอยู่ข้างศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออก พร้อมทั้งโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ จนครบบริบูรณ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม แล้วทรงสถาปนาวัดทองขึ้นเป็นพระอารามหลวง ทั้งยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่ออุทิศถวายแด่ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีด้วย[5]
เมื่อ พ.ศ. 2397 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า "วัดกาญจนสิงหาสน์" ต่อมาใน พ.ศ. 2406 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วลงรักปิดทองพระประธานและฐานชุกชี นับจากนั้นมาก็ไม่ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกทำให้เสนาสนะชำรุดทรุดโทรมและหักพังลงเป็นส่วนมาก มีเพียงพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และศาลาสามหน้า ที่ยังคงเป็นรูปเดิมอยู่[6]
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา จนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทำให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
เสนาสนะ
- อุโบสถหลังเก่า (พระวิหาร) มีลักษณะแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง ยาว 14 วา กว้าง 5 วา 1 คืบ สูงตั้งแต่พื้นถึงเพดาน 3 วา 2 ศอก ตั้งแต่เพดานถึงอกไก่ 3 วา ด้านในกว้าง 4 วา 15 นิ้ว ยาว 8 วา 1 ศอก 11 นิ้ว เพดานเขียนลวดลายดาว มีหน้าต่าง 12 หน้าต่าง เขียนลายรดน้ำเป็นลายดอกลอยพุ่มข้าวบิณฑ์ มีประตู 4 ประตู เขียนลายรดน้ำเป็นภาพต้นไม้และรูปสัตว์ต่าง ๆ หน้าบรรณเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษา ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ มีประตูกำแพงแก้ว 4 ประตู ซุ้มประตูเป็นลายอย่างฝรั่งและจีน มุมกำแพงแก้วเป็นเสาหัวเม็ด ทรงมัณฑ์ ภายในกำแพงแก้วมีพระปรางค์แลเจดีย์ พระอุโบสถหลังนี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และมีการวางแนวเขตใน พ.ศ. 2528 ปัจจุบันพระอุโบสถหลังเก่านี้ได้ทำพิธีถอนสีมาแล้ว ใช้เป็นพระวิหาร และได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาแทน
- พระอุโบสถหลังใหม่ กว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร มุงกระเบื้องเกล็ดปลา ลักษณะ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงจีนแบบโบราณ มีระเบียงครอบหลังคาเป็นแบบหลังคากันสาด ภายในสร้างเลียนแบบพระอุโบสถหลังเดิม[7]
- ศาลาการเปรียญ กว้าง 4 วา 3 ศอก 11 นิ้ว ยาว 8 วา 11 นิ้ว สูงตั้งแต่พื้นถึงอกไก่ 15 วา 3 ศอก 3 นิ้ว
- ศาลาอเนกประสงค์ เป็นอาครก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มีกระจกรอบ หลังคาเป็นกันสาดรอบ หน้าบันลายปูนปั้นเขียนสีทอง ไม่มีช่อฟ้าใบระกา
- ศาลาท่าน้ำ มี 2 หลัง เป็นอาคารโถง เครื่องไม้ มีมาแต่เดิม และได้รับการบูรณะซ่อมแซมบ้าง หลังคาจั่ว เครื่องปิดเครื่องมุงเป็นเครื่องลำยองประดับกระจก หน้าบันแกะสลักเขียนสีทองเป็นลายใบไม้ดอกไม้
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 4 ชั้น แบบสถาปัตยกรรมไทย มีมุขด้านหน้า แต่ละชั้นมีคันทวยรองรับหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องปิดเครื่องมุงเป็นรวยระกา[8]
นอกจากนี้ ยังมี ศาลาขวางทางริมคลอง 1 หลัง ศาลาขวางทางทิศเหนือ 1 หลัง กุฏิ 18 หลัง เตียงอาสนสงฆ์ 12 เตียง ธรรมาสน์ของเดิม 1 ธรรมาสน์ และยังมีของที่ได้รับพระราชทานและมีผู้ให้ไว้สำหรับวัดคือ ธรรมาสน์ลายทองในงานถวายพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 ธรรมาสน์ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ 5 พร้อมทั้งตู้สำหรับบรรจุ 1 ตู้ ธรรมาสน์ปาติโมกข์และเชิงเทียนทองเหลืองในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร 1 ชุด พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องยศจอมพลทหารบก 1 องค์ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 องค์ โต๊ะหมู่ลายทองในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ 1 ชุดกุฏิเจ้าอาวาส หอระฆัง ศาลาบำเพ็ญกุศล ฌาปนสถาน โรงครัว เรือนเก็บพัสดุอีกด้วย[9]
ศาสนวัตถุ
- พระประธานในอุโบสถ พระพุทธศิริกาญจโนภาส พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดพระเพลากว้าง 4 ศอก สูงตลอดพระรัศมี 5 ศอก 10 นิ้ว
- หลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอยุธยา[10]
ลำดับเจ้าอาวาส
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสในปัจจุบัน
- พระครูอนุกูลวิบูลกิจ (อุดม รกฺขิโต)
- พระมหาโสมินทร์ อคฺคธมฺโม ป.ธ.๙
- พระครูศรีกาญจนสุนทร (วันทอง มหาปญฺโญ)
- พระครูใบฎีกาเทเลอร์ สุเมโธ
- พระมหาอุบล ญาณเมธี ป.ธ.๓
- พระปลัดพิเชฐ ปญฺญาธโร
ระเบียงภาพ
-
อุโบสถวัดกาญจนสิงหาสน์
-
อุโสถหลังเก่า
-
ซุ้มประตูวัด
อ้างอิง
- ↑ หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร]], ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 7, ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ:ราชบัณฑิตยสถาน.
- ↑ หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 7, ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ:ราชบัณฑิตยสถาน.
- ↑ http://wattong-library.freeoda.com/
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-28. สืบค้นเมื่อ 2021-09-30.
- ↑ http://wattong-library.freeoda.com/
- ↑ http://wattong-library.freeoda.com/
- ↑ หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 22-25, ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.
- ↑ หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 28-32, ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.
- ↑ หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 22-25, ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.
- ↑ หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 21, 26, ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.