Share to:

 

วัดพระยาทำวรวิหาร

วัดพระยาทำวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 47 ซอยอรุณอมรินทร์ 15 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระวชิรสุตาภรณ์ (ประทุม จินฺตคุโณ)[1]
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระยาทำวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ แบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง (ประมาณครึ่งหนึ่ง) แบ่งให้ทางราชการสร้างโรงเรียน

ประวัติ

เดิมเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด แต่คาดว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานที่พบในธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญ เดิมชื่อ วัดนาค เป็นวัดคู่กับ วัดกลาง ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย พระพุทธจารย์ (อยู่) วัดบางหว้าใหญ่หรือวัดระฆัง ปรึกษากับพระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) วัดหงส์รัตนาราม แล้วนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า วัดนาคกับวัดกลาง มีอุปจารย์ใกล้กัน จึงควรมีพุทธสีมาเดียวกัน แต่พระราชาคณะประชุมพิจารณาวินิจฉัยกันในที่สุดพระราชาคณะมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าวัดทั้งสองนี้มีคลองคั่นเป็นเขตอยู่ จึงไม่ควรที่จะให้พุทธสีมาร่วมกัน วัดจึงเป็น 2 วัด[2] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สมุหนายก รับบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปนาเป็นวัดหลวง และเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดพระยาทำ" หมายถึงเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์สร้างขึ้น

ในปี พ.ศ. 2555 หอระฆังได้รับความชำรุดเสียหายมากตั้งแต่ชั้นปูนฉาบถึงชั้นโครงสร้างอิฐ และได้รับการถมพื้นที่โดยรอบโดยปิดทับองค์ประกอบชั้นฐานหอระฆังบางส่วน ทำให้โบราณสถานสูญเสียคุณค่าในด้านสถาปัตยกรรม[3] ในปี พ.ศ. 2561 ในระหว่างการบูรณะก่อสร้าง เจดีย์ภายในวัดพังถล่มลงมา[4]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

พระอุโบสถมีลักษณะตกท้องช้างหรือหย่อนท้องสำเภา คาดว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยา พระอุโบสถมีมีกำแพงแก้วล้อมรอบ หน้าบันเป็นลายพระอินทร์ประทับอยู่บนช้างเอราวัณ มีช่อฟ้าใบระกา ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นงานปูนปั้น ลงรักปิดทองประดับกระจก ประตูหน้าต่างภายในเขียนเป็นลายภาพทวารบาล พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของเจดีย์คูหา 2 องค์ ภายในเป็นที่ตั้งของหลวงพ่อคูหาศักดาเดช

หอระฆังหรือที่เรียกกันติดปากว่า เจดีย์ยักษ์ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ประดับกระเบื้องเคลือบ ส่วนฐานเป็นช่องโค้งแหลมทั้ง 4 ด้าน กรอบของช่องโค้งนี้ มีรูปครุฑเหยียบนาคทั้ง 4 ช่อง ตรงมุมล่างติดพื้นดินมีรูปปั้นยักษ์ยืนประจำทั้ง 4 มุม มุมละ 4 ตน ชั้นบนมีรูปปั้นยักษ์ทั้ง 4 ทิศ ยอดหอระฆังทำเป็นทรงปราสาท

อ้างอิง

  1. "เสนอแต่งตั้ง พระครูสุธีสุตกิจ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระยาทำ พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
  2. "ประวัติ วัดพระยาทำวรวิหาร". สปริงนิวส์.
  3. "กรมศิลปากรชี้แจงโครงการบูรณะหอระฆัง หรือ "เจดีย์ยักษ์" วัดพระยาทำวรวิหาร". ศิลปวัฒนธรรม. 26 กันยายน 2561.
  4. "เรื่องเล่าวัดเก่า "พระยาทำวรวิหาร" พระอารามหลวง สมัยรัชกาลที่ 2". นิว 18.
Kembali kehalaman sebelumnya