Share to:

 

วัดแจงร้อน

วัดแจงร้อน
วัดแจงร้อน
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 2 ซอยราษฎร์บูรณะ 37 ถนนราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร 10140
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดแจงร้อน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร บริเวณปากคลองแจงร้อน

ประวัติ

สันนิษฐานว่าสร้างวัดขึ้นราวปี พ.ศ. 2300 ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เดิมมีนามว่า วัดพารา บ้างก็ว่าชื่อ วัดหงษ์ร่อน มีเรื่องเล่าว่าขณะกำลังสร้างวัด มีหงส์ตัวหนึ่งบินร่อนมาอยู่เหนือบริเวณวัด ผู้ที่เคยเห็นอุโบสถหลังเก่า เล่าว่ามีเสาคู่หนึ่งด้านหน้า ยอดเสาหารทำเป็นรูปหงส์กางปีกทั้งสองเสา แต่อุโบสถได้ถูกรื้อไปในปี พ.ศ. 2461 ส่วนชื่อ แจงร้อน ไม่มีใครทราบว่าหมายถึงอะไร บ้างว่าเพี้ยนมาจาก แจงร้อย บ้าง แร้งร่อน บ้าง วัดแจงร้อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2461[1]

อาคารเสนาสนะ

พระอุโบสถของวัดแจงร้อนปัจจุบัน อาจจะเป็นพระอุโบสถหลังที่ 4 หรือ 5 ที่ได้ปลูกสร้างขึ้นมาบนที่เดียวกัน พระอุโบสถปัจจุบันสร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยมี พระครูประสิทธิ์สิกขการ (หลวงพ่อจวน) เป็นผู้ดำริสร้างขึ้น อุโบสถมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 23 เมตร หันหน้าลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันออก

วิหารก่ออิฐถือปูนกว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร ผนังก่อทึบไม่มีหน้าต่าง เข้าใจว่าวิหารนี้สร้างคู่กับพระอุโบสถหลังเดิมที่ถูกรื้อไป เมื่อ พ.ศ. 2461 ลวดลายภายในกรอบหน้าบัน และบนกรอบซุ้มประตู เป็นลวดลายปูนปั้นที่งดงาม ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อหินแดง พระพุทธรูปปางสมาธิทำมาจากศิลาแลงสีแดง[2]

วิหารเป็นแบบพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 ที่หน้าบันทำเป็นลายปูนปั้นหมูป่ากำลังโผล่หน้าออกมาจากปากถ้ำโดยประดับด้วยกระจกสีเป็นรูปป่า[3]

อ้างอิง

  1. "ประวัติและความสำคัญของวัดแจงร้อน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
  2. "วัดแจงร้อน". ฐานข้อมูลท้องถิ่นธนบุรี.[ลิงก์เสีย]
  3. "ประวัติวัดแจงร้อน".
Kembali kehalaman sebelumnya