วิตนีย์ ฮิวสตัน
วิตนีย์ ฮิวสตัน (อังกฤษ: Whitney Houston) หรือชื่อจริงว่า วิตนีย์ เอลิซาเบธ ฮิวสตัน (Whitney Elizabeth Houston; 9 สิงหาคม 2506 — 11 กุมภาพันธ์ 2555) เป็นนักร้อง นักแสดง และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2552 เธอถูกยกให้เป็นศิลปินหญิงที่ได้รับรางวัลมากที่สุดตลอดกาลจากบันทึกสถิติโลกกินเนสส์[1] ฮิวสตันยังเป็นหนึ่งในศิลปินเพลงที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาล โดยประมาณ 200 ล้านแผ่นเสียงทั่วโลก[2][3] ฮิวสตันมีอัลบั้มสตูดิโอ 7 อัลบั้มและอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ 2 อัลบั้ม ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการรับรองระดับเพชร มัลติแพลทินัม แพลทินัมหรือทองโดยสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา (RIAA) ความนิยมของเธอในชาร์ตเพลงยอดนิยมต่าง ๆ รวมถึงความโดดเด่นของเธอในเอ็มทีวี มีอิทธิพลต่อศิลปินหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาจำนวนมาก ฮิวสตันเริ่มร้องเพลงในโบสถ์ตั้งแต่ยังเป็นเด็กและกลายเป็นนักร้องเบื้องหลังในช่วงมัธยมปลาย ด้วยคำแนะนำของ Clive Davis ประธานบริษัท Arista Records เธอได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงเมื่ออายุ 19 ปี อัลบั้มสตูดิโอสองชุดแรกของเธอคือ Whitney Houston (1985) และ Whitney (1987) โดยทั้งสองอัลบั้มขึ้นอันดับหนึ่งในบิลบอร์ด 200 และอยู่ในอันดับอัลบั้มยอดขายสูงสุดตลอดกาล เธอเป็นศิลปินเพียงคนเดียวที่มีซิงเกิลอันดับหนึ่ง 7 ครั้งติดต่อกันบนบิลบอร์ดฮอต 100 ของสหรัฐอเมริกา จาก "Saving All My Love for You" ในปี 1985 ถึง "Where Do Broken Hearts Go" ในปี 1988 ฮิวสตันเริ่มต้นการแสดงในภาพยนตร์โรแมนติกเขย่าขวัญเรื่อง The Bodyguard (1992) โดยเธอปล่อยเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้งหมด 6 เพลง รวมถึง I Will Always Love You ซึ่งได้รับรางวัลแกรมมี สาขาบันทึกเสียงแห่งปี และกลายเป็นเพลงที่ขายดีที่สุดโดยผู้หญิงคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการดนตรี อัลบั้มประกอบภาพยนตร์นี้ยังได้รับรางวัลแกรมมี สาขาอัลบั้มแห่งปี และยังคงเป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 ฮิวสตันถูกพบเสียชีวิตในห้องพักของเธอที่โรงแรมเบเวอร์ลีฮิลตัน ซึ่งตั้งอยู่ในเบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย รายงานการชันสูตรศพได้พิจารณาว่าเธอเสียชีวิตจากการจมน้ำในอ่างอาบน้ำ โดยคาดว่าโรคหัวใจและการใช้โคเคนเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เธอเสียชีวิต[4] การเสียชีวิตของเธอก่อนงานประกาศผลรางวัลแกรมมี ครั้งที่ 54 ในอีกไม่กี่วัน ทำให้สื่อทั่วโลกต่างนำเสนอข่าวอย่างใหญ่โต[5] ชีวิตในวัยเด็กและการเริ่มต้นอาชีพวิตนีย์ ฮิวสตันเกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1963 ในครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางในเมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์[6] เธอเป็นลูกสาวของทหารและผู้บริหาร จอร์จ รัสเซล ฮิวสตัน จูเนียร์ และนักร้องเพลงกอสเปล เอมิลี ซิสซี ฮิวสตัน [7] พี่ชายของเธอชื่อไมเคิลเป็นนักร้อง และพี่น้องร่วมมารดายังเป็นอดีตผู้เล่นบาสเกตบอล แกรี การ์แลนด์[8][9] พ่อแม่ของเธอทั้งสองคนเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาแต่แม่ของเธอมีเชื้อสายดัตช์อีกด้วย[10] ฮิวสตันเป็นลูกพี่ลูกน้องของนักร้อง ดิออน วอร์วิค และดีดี วอร์วิกเมื่อนับจากฝ่ายมารดา ส่วนแม่อุปถัมภ์ของเธอคือ ดารลีน เลิฟ[11] และป้ากิตติมศักดิ์ของเธอคือ อารีทา แฟรงคลิน[12][13] เธอได้พบกับแฟรงคลินเมื่อเธออายุ 8-9 ขวบ เมื่อแม่ของเธอพาเธอยังห้องอัดเพลง[14] หลังจากนั้นครอบครัวของเธอย้ายไปยังอีสต์ออเรนจ์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ เมื่อเธออายุสี่ขวบ[15] เมื่ออายุ 11 ปี ฮิวสตันเริ่มการแสดงในฐานะศิลปะเดี่ยวกับคณะประสานเสียงกลุ่มกอสเปล ในโบสถ์ New Hope Baptist ในนวร์ก ซึ่งเธอได้เริ่มฝึกเล่นเปียโนเป็นครั้งแรกอีกด้วย[16] ผลงานการแสดงของเธอในโบสถ์คือเพลง "Guide Me, O Thou Great Jehovah"[17] เมื่อโตขึ้น เธอได้เข้าเรียนที่ Mount Saint Dominic Academy และทำให้เธอได้พบ ร็อบบิน แคลทฟอร์ด ซึ่งเธอกล่าวว่าเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของเธอ[18] ฮิวสตันกล่าวว่าแม่ของเธอเป็นผู้สอนร้องเพลงและทำให้เธอได้รู้จักเพลงจากศิลปินหลายคน เช่น ชากา คาน, แกลดีส์ ไนต์ และโรเบอร์ตา แฟล็ก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมามีอิทธิพลต่อเธอในฐานะนักร้องและนักดนตรีอย่างมาก[19] ฮิวสตันในช่วงวัยเด็กได้ใช้เวลาบางส่วนไปผับที่แม่ของเธอเปิดบริการ โดยเธอมักจะขึ้นไปบนเวทีและทำการแสดงเป็นบางครั้ง ในปี 1977 ขณะอายุ 14 ปี เธอเป็นนักร้องแบ็กอัพให้กับวงไมเคิล เซเจอร์ ในเพลง Life's a Party[20] ในปี 1978 ขณะอายุ 15 ปี เธอได้ร่วมร้องประสานในเพลง I'm Every Woman ของชากา คาน โดยเพลงนั้นได้เริ่มทำให้ฮิวสตันเป็นที่รู้จัก[21][22] เธอยังร้องแบ็กอัพให้กับอัลบั้มของศิลปินอีกหลายคน เช่น Lou Rawls และ Jermaine Jackson[21] ในต้นยุค 1980 ฮิวสตันทำงานเป็นนางแบบหลังจากที่มีตากล้องไปเห็นเธอใน Carnegie Hall ร้องเพลงกับแม่ ทำให้เธอได้ลงนิตยสารเซเวนทีน[23] และกลายเป็นหนึ่งในผู้หญิงผิวสีคนแรกในหน้าปกของนิตยสาร[24] เธอยังเป็นจุดเด่นในหน้าปกนิตยสารอย่าง Glamour, Cosmopolitan และ Young Miss รวมถึงในโฆษณาเครื่องดื่ม Canada Dry[21] รูปลักษณ์และความมีเสน่ห์ของเธอทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในนางแบบวัยรุ่นที่โด่งดังในช่วงเวลาขณะนั้น[21] ในขณะที่เป็นนางแบบ เธอก็ยังเดินหน้าอัดเพลงโดยมีไมเคิล เบิร์นฮอร์น, บิล ลาสเวล และมาร์ติน บีซีเป็นโปรดิวเซอร์ โดยมี One Down เป็นอัลบั้มแรกจากวงแมททีเรียล หลังจากนั้น ฮิวสตันมีส่วนในการร้องเพลง Memerois เพลงคัฟเวอร์โดยฮิว ฮอปเปอร์ จากวงซอฟท์แมชชีน โดยโรเบิร์ต คริสต์กัล จากวงดิวิลเลจวอยซ์ อธิบายผลงานของเธอว่าเป็น หนึ่งในเพลงที่งดงามที่เคยได้ยิน[25] เธอยังได้ร่วมร้องเพลงในอัลบั้ม Paul Jabara and Friends ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 4 ของพอล จาบารา วางจำหน่ายโดยโคลัมเบียเรเคิดส์ เมื่อปี 1983[26] วันที่เสียชีวิตในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 วิทนีย์ถูกพบเสียชีวิตที่โรงแรมเบเวอร์ลีฮิลตัน ในเบเวอร์ลี ฮิลส์, รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของเบเวอร์ลีฮิลส์ระบุว่าพบนักร้องสาวในร่างซึ่งไร้การตอบสนองและได้ทำการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพเป็นเวลาประมาณ 20 นาที ก่อนที่จะประกาศว่าเธอได้เสียชีวิตลงแล้ว ณ เวลา 15:55 นาฬิกา[27] ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า "ไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่แน่ชัดว่าการเสียชีวิตเป็นเหตุอาชญากรรม" ผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายแขนงต่างกันร่วมแสดงความเสียใจต่อการตายของวิทนีย์ เช่น ดอลลี พาร์ตันผู้ที่ร้องเพลง ไอวิลออลเวย์สเลิฟยู ซึ่งวิทนีย์นำมาร้องคัฟเวอร์ใหม่แสดงความเห็นว่า "จะยังคงรู้สึกสำนึกและเกรงขามต่อการแสดงอันน่าตื่นตะลึงที่เธอได้กระทำกับเพลงของฉัน และขอพูดมันจากก้นบึ้งของหัวใจ 'วิทนีย์ ฉันจะยังคงรักคุณเสมอไป คุณจะยังคงเป็นที่โหยหาจากผู้คน'." ส่วนแม่บุญธรรมของวิทนีย์ อาเรธา แฟรงคลิน กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อและชวนตกตะลึง ฉันไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองเพิ่งจะได้อ่านข่าวนี้ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ไป"[28] ทางด้านอดีตสามีของวิทนีย์อย่าง บ็อบบี้ บราวน์ ระบุว่าเขา "ร้องไห้ไม่หยุด" หลังจากที่ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิต เขาไม่ได้ยกเลิกตารางการแสดงของตัวเองที่กำลังดำเนินอยู่ ภายในหนึ่งชั่วโมงของการตาย บ็อบบี้ได้จุมพิตแล้วโบกไปยังท้องฟ้าพร้อมกับหลั่งน้ำตาก่อนจะพูดว่า "วิทนีย์, ผมรักคุณ" ซึ่งผู้ชมการแสดงของเขาในมิสซิสซิปปีต่างร่วมเป็นสักขีพยาน[29][30][31][32] ผลงานสตูดิโออัลบั้ม
ภาพยนตร์
อัลบั้มรวมเพลงอย่างเป็นทางการ
รายการอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ วิตนีย์ ฮิวสตัน
|