วิลเฮ็ล์ม เอดูอาร์ท เวเบอร์
วิลเฮ็ล์ม เอดูอาร์ท เวเบอร์ (เยอรมัน: Wilhelm Eduard Weber; 24 ตุลาคม ค.ศ. 1804 – 23 มิถุนายน ค.ศ. 1891) เป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ประวัติวิลเฮ็ล์ม เอดูอาร์ท เวเบอร์เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1804 ที่เมืองวิทเทินแบร์ค เป็นหนึ่งในบุตรจำนวน 13 คนของไมเคิล เวเบอร์ ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยวิทเทินแบร์ค มีเพียงบุตรชาย 4 คนและบุตรสาว 1 คนที่มีชีวิตเติบโตเป็นผู้ใหญ่[1] เวเบอร์มีพี่น้องที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เช่นกันคือ แอ็นสท์ ไฮน์ริช เวเบอร์ (ค.ศ. 1795–1878) และเอดูอาร์ท เวเบอร์ (ค.ศ. 1806–1871) หลังได้รับการศึกษาจากบิดา เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมาร์ติน ลูเทอร์ แห่งฮัลเลอ-วิทเทินแบร์คและต่อมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษด้านปรัชญาธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว ในปี ค.ศ. 1831 เวเบอร์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงินตามคำแนะนำของคาร์ล ฟรีดริช เกาส์ ในปี ค.ศ. 1833 เวเบอร์และเกาส์ร่วมกันคิดค้นโทรเลขแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อใช้ติดต่อระหว่างหอดูดาวเกิททิงเงินและสถาบันฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยในระยะ 1 กิโลเมตร[2] ในปี ค.ศ. 1837 เวเบอร์ถูกปลดจากตำแหน่งศาสตราจารย์เนื่องจากเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียง 7 คนที่ปฏิเสธไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแอ็นสท์ เอากุสท์ที่ 1 แห่งฮันโนเฟอร์[1] เขาจึงเดินทางไปหลายประเทศก่อนจะดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ระหว่างปี ค.ศ. 1843–1849 หลังจากนั้นเวเบอร์พำนักที่เมืองเกิททิงเงินและศึกษาด้านแม่เหล็กไฟฟ้ากับเกาส์และคาร์ล ว็อล์ฟกัง เบ็นยามีน ก็อลท์ชมิท ในปี ค.ศ. 1856 เวเบอร์และรูด็อล์ฟ โคลเราช์ วัดอัตราเร็วของแสงจากอัตราส่วนของแม่เหล็กไฟฟ้าและประจุไฟฟ้าสถิตและพบว่าค่าที่ได้ใกล้เคียงกับที่อีปอลิต ฟีโซ นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสวัดได้[3] เวเบอร์ยังริเริ่มการใช้ตัว "c" แทนอัตราเร็วของแสงเป็นครั้งแรกจากผลงานนี้[4] เวเบอร์เสียชีวิตที่เมืองเกิททิงเงินในปี ค.ศ. 1891 ต่อมาชื่อของเขาได้รับการนำไปตั้งเป็นหน่วยเอสไอของความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็ก[5] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|