ศรีธนญชัยศรีธนญชัย เป็นนิทานพื้นบ้านที่รู้จักกันแพร่หลายของไทย มีตัวเอกของเรื่องคือศรีธนญชัยที่มีภาพลักษณ์เจ้าปัญญา ฉลาดแกมโกง และเป็นตัวตลก[1] วรรณกรรมเรื่องศรีธนญชัยมีลักษณะเป็นมุขปาฐะหรือเรื่องเล่าของชาวบ้าน ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิด สมัยที่แต่งและผู้แต่ง ต่อมาแพร่หลายในราชสำนักของกรุงเทพฯ ปรากฏในประเทศไทยมากมายหลายสำนวน ทั้งแต่งเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง จากการศึกษาของกัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2521 ปรากฏว่ามีไม่น้อยกว่า 24 สำนวน ในทุกภาคของประเทศไทย ฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่ซึ่งพระปฏิเวทวิศิษฐ์ (สาย เลขยานนท์) มอบให้แก่หอสมุดแห่งชาติ เป็นฉบับที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากมีเหตุการณ์ตั้งแต่กำเนิดศรีธนญชัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ ครบถ้วน จนถึงจุดจบของศรีธนญชัย ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอสมิธ[2] (น่าจะพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2411–2453) อย่างไรก็ดีหากวิเคราะห์จากเนื้อหาของเรื่องที่มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศโดยเฉพาะโปรตุเกส ฮอลันดา และฝรั่งเศส ก็มีความเป็นไปได้ว่าเรื่องศรีธนญชัยแต่งขึ้นหลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นสมัยที่ชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาครั้งแรก[3] นอกจากนั้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีนิทานพื้นบ้านเนื้อเรื่องแบบเดียวกัน อย่างในกัมพูชาและเวียดนามใช้ชื่อว่า ธนัญชัย หรือ เธฺมยชย ในลาวเรียกว่า เชียงเมี่ยง ในอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ เรียกว่า อาบูนาวัซ (Abu Nawas) ในฟิลิปปินส์เรียกว่า ฮวน ปูซอง (Juan Pusong)[4] และในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า จ้อเกอะโด่[5] อ้างอิง
|