สมคิด ศรีสังคม
พันเอก สมคิด ศรีสังคม (1 สิงหาคม พ.ศ. 2460 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุดรธานี และอดีตประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) เคยถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่แพ้ให้ ศาสตราจารย์ พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 59 ต่อ 135 ประวัติสมคิด เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2460 (บางแห่งระบุเป็น พ.ศ. 2459) ที่ตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ในครอบครัวชาวนา และสมรสกับนางฟรานเซสกา ศรีสังคม มีบุตรธิดา 4 คน สมคิด เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 ในโรงเรียนบ้านสร้างคอม และจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี พ.ศ. 2478 โดยได้รับคะแนนระดับดีเยี่ยมของประเทศ (ได้คะแนนเกินร้อยละ 75) ต่อมาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯ จนจบหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคประถม (ป.ป.) และกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนเดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 พร้อมทั้งได้เรียนปริญญาตรีวิชากฎหมาย จนสำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2492 ได้ไปศึกษาต่อปริญญาตรีทางด้านสังคมศาสตร์ ที่ประเทศอังกฤษ ใช้เวลา 8 ปี จึงกลับมาประเทศไทย[1] การทำงานสมคิด ศรีสังคม เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นครูในปี พ.ศ. 2480 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ต่อมาหลังจบปริญญาวิชากฎหมายแล้ว เขาสอบได้เป็นข้าราชการกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ แต่ทำงานได้เพียง 6 เดือน ก็สอบแข่งขันได้เป็นทหารในกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2484 จากนั้นเขาได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และกลับมารับราชการจนมียศสูงสุดเป็น พันเอก หลังจากนั้นเขาจึงลาออกจากราชการไปทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2506 โดยการชักชวนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 ในสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เขาได้รับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ต่อมาเขาได้ก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2514 แต่ก็ต้องยุบไปในปีเดียวกันเนื่องจากการปฏิวัติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 เขาจึงได้จัดตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้นมา และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค[2] ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 ต่อมาได้จัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย ขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ภายหลังในปี พ.ศ. 2529 จึงย้ายมาร่วมงานกับนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร หัวหน้าพรรคแรงงานประชาธิปไตย พ.อ.สมคิด เป็นประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หรือ ครป. ในปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2529 ถึงแก่อนิจกรรมพ.อ. สมคิดถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร[3] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ วัดทิพยรัฐนิมิต ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|