สาธารณรัฐบาตาเวีย
สาธารณรัฐบาตาเวีย (ดัตช์: Bataafse Republiek; ฝรั่งเศส: République Batave) เป็นรัฐสืบทอดจากสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์แห่งมณฑลทั้งเจ็ด โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1795 และสิ้นสุดลงเมื่อ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1806 เมื่อ หลุยส์ โบนาบาร์ต ได้รับการราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรฮอลแลนด์ โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1801 สาธารณรัฐได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เครือจักรภพบาตาเวีย (ดัตช์: Bataafs Gemenebest) โดยคำว่า "บาตาเวีย" เป็นชื่อของกลุ่มชนเจอร์แมนิก ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษดัตช์ที่ก่อตั้งดินแดนในแถบนี้ โดยวัตถุประสงค์ในการใช้ชื่อนี้ก็เพื่อปลุกความเป็นชาตินิยม ในช่วงต้น ค.ศ. 1795 ดินแดนเนเธอร์แลนด์ได้ถูกเข้าแทรกแซงโดยสาธารณรัฐฝรั่งเศส นำไปสู่การล่มสลายลงของสาธารณรัฐดัตช์เก่า ในขณะที่สาธารณรัฐใหม่นั้นได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากชาวดัตช์ ซึ่งถือเป็นผลพวงจากการปฏิวัติที่ได้รับการสนับสนุนโดยประชาชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปฏิวัติในครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพปฏิวัติฝรั่งเศส จึงทำให้สาธารณรัฐบาตาเวียกลายเป็นรัฐบริวารแห่งแรกในบรรดาสาธารณรัฐพี่น้องของฝรั่งเศส และต่อมาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศสของนโปเลียนในที่สุด การเมืองการปกครองจึงได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสที่สนับสนุนให้มีการรัฐประหารยึดอำนาจอย่างน้อยสามครั้งจนกว่าจะได้ขั้วอำนาจที่ฝรั่งเศสต้องการในขณะนั้น แต่ถึงกระนั้นการร่างรัฐธรรมนูญดัตช์นั้นขับเคลื่อนโดยตรงจากการเมืองภายในประเทศโดยปราศจากอิทธิพลของฝรั่งเศส จนกระทั่งจักรพรรดินโปเลียนได้บังคับรัฐบาลดัตช์ในการรับรองพระอนุชาของพระองค์ หลุยส์ โบนาปาร์ต ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์[3] การปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้นของสาธารณรัฐบาตาเวียนี้ส่งผลในระยะยาวต่อชาวดัตช์ โครงสร้างการปกครองแบบสมาพันธรัฐของสาธารณรัฐดัตช์เก่านั้นได้ถูกแทนที่ด้วยระบบรัฐเดี่ยว โดยรัฐธรรมนูญที่รับร่างกันเมื่อปีค.ศ. 1798 ถูกยอมรับกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งในชั่วขณะหนึ่งได้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยจนกระทั่งการรัฐประหาร ค.ศ. 1801 ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในปกครองของกลุ่มอำนาจต่างๆ ซึ่งก็ตามมาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้นได้ช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปีค.ศ. 1848 โดยโยฮาน รูดอล์ฟ ธอร์เบก ที่มีสาระสำคัญในการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ นั้นราบรื่นไปได้ด้วยดี โดยได้มีการก่อตั้งกระทรวงต่างๆ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์ที่ยังคงเป็นรากฐานการปกครองมาจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีสถานะเป็นรัฐบริวารของฝรั่งเศส แต่รัฐบาลบาตาเวียในวาระต่างๆ กันที่อยู่ในอำนาจก็พยายามที่จะปกครองประเทศอย่างอิสระเพื่อผลประโยชน์ของชาวดัตช์มากกว่าชาวฝรั่งเศสที่เป็นผู้ปกครอง ซึ่งการแข็งข้อนี้นำไปสู่จุดจบของสาธารณรัฐใหม่นี้ ภายหลังจากที่ได้มีการทดลองการปกครองแบบเผด็จการภายใต้การนำของ "Grand Pensionary" ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในสายตาของจักรพรรดินโปเลียน แม้แต่กษัตริย์พระองค์ใหม่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮอลแลนด์ (พระอนุชาในพระจักรพรรดินโปเลียน) ก็ยังปฏิเสธที่จะอ่อนน้อมต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่จุดจบของพระองค์ในที่สุด ภูมิหลังวาระสุดท้ายของสาธารณรัฐดัตช์ซึ่งปกครองเนเธอร์แลนด์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มีมูลเหตุมาจากผลลัพธ์ของสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สี่ โดยพรรคผู้รักชาติ (Patriottentijd) ได้ทำการก่อปฏิวัติต่อการปกครองของสตัดเฮาเดอร์วิลเลิมที่ 5 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ แต่ไม่สำเร็จเพราะถูกเข้าแทรกแซงจากพระเทวัน (พี่เขย) พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1787 เป็นผลทำให้เหล่าผู้ปฏิวัติได้ลี้ภัยในฝรั่งเศส ในขณะที่ฝั่งเนเธอร์แลนด์โดยระบอบเก่านั้นได้ปรับการปกครองให้เข้มงวดขึ้นโดยผ่านทางผู้สำเร็จราชการ (Grand Pensionary) ลอเรนส์ ปีเตอร์ แวน เดอ สปีเกิล ผู้นิยมระบอบกษัตริย์ และทำให้เนเธอร์แลนด์มีสถานะเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ-ปรัสเซียโดยพฤตินัย และต่อมาได้ลงนามในพระราชบัญญัติรับรอง (Act of Guarantee) อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1788 โดยที่บริเตนใหญ่ และปรัสเซีย เป็นผู้รับรองสถานะ อีกทั้งยังได้ร่วมในกลุ่มไตรภาคีเป็นพันธมิตรกันทั้งสามประเทศ การปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งรับเอาแนวคิดทางการเมืองต่างๆ มาหล่อหลอมเหล่าคณะผู้รักชาติชาวดัตช์ทำให้ปลุกแนวคิดปฏิวัติขึ้นอีกครั้ง โดยได้สนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศส และเมื่อกองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสได้เริ่มก่อการเหล่าคณะผู้รักชาติก็มิได้ลังเลเพื่อร่วมปลดปล่อยจากการปกครองอันกดขี่โดยระบอบเก่า ฝั่งเนเธอร์แลนด์ นำโดยสตัดเฮาเดอร์ ก็ได้นำประเทศเข้าร่วมกลุ่มประเทศสหสัมพันธมิตรเพื่อต่อต้านการรุกรานโดยกองทัพของสาธารณรัฐฝรั่งเศส แต่ก็พ่ายแพ้ในที่สุด การก่อตั้งสาธารณรัฐสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ลุกลามเข้าสู่เนเธอร์แลนด์ในช่วงฤดูหนาวปีค.ศ. 1794 กองทัพฝรั่งเศสได้รุกข้ามแม่น้ำที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งอันเคยเป็นพรมแดนทางธรรมชาติป้องกันการรุกรานจากข้าศึกภายนอก และได้รับความช่วยเหลือจากภายใน โดยเฉพาะเหล่าประชาชนจำนวนมากที่ทนไม่ไหวต่อการปกครองในระบอบเก่าโดยต้องการการปลดปล่อย[4]และน้อมรับการช่วยเหลือของฝรั่งเศส กองทัพฝรั่งเศสสามารถตีฝ่าแนวป้องกันของกองทัพสหสัมพันธมิตร ได้แก่ บริเตนใหญ่ และปรัสเซีย ได้อย่างราบคาบ แต่อย่างไรก็ตาม ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นแล้วในหัวเมืองต่างๆ ก่อนที่ทัพฝรั่งเศสจะเข้ามาถึงโดยมีคณะกรรมาธิการปฏิวัติเป็นผู้ปกครองชั่วคราวตามเมืองที่ก่อการสำเร็จ และยังจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวด้วยในเวลาไล่เลี่ยกัน[5] วิลเลิมที่ 5 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ได้หลบหนีลี้ภัยที่อังกฤษผ่านทางเรือหาปลาเมื่อ 18 มกราคม ค.ศ. 1795[6]
ที่มา
อ้างอิง
|