สาธารณรัฐเชเชน
เชชเนีย (อังกฤษ: Chechnya; รัสเซีย: Чечня́, อักษรโรมัน: Chechnyá, สัทอักษรสากล: [tɕɪtɕˈnʲa]; เชเชน: Нохчийчоь, อักษรโรมัน: Noxçiyçö) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐเชเชน (อังกฤษ: Chechen Republic; รัสเซีย: Чече́нская Респу́блика, อักษรโรมัน: Chechenskaya Respublika; เชเชน: Нохчийн Республика, อักษรโรมัน: Noxçiyn Respublika) เป็นสาธารณรัฐหนึ่งของประเทศรัสเซีย เชชเนียตั้งอยู่ในคอเคซัสเหนือ ตั้งอยู่ส่วนใต้สุดของยุโรปตะวันออก และอยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรจากทะเลแคสเปียน[11] เมืองหลวงของสาธารณรัฐคือกรอซนืย ตามสำมะโน พ.ศ. 2553 สาธารณรัฐมีประชากร 1,268,989 คน[12] หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายใน พ.ศ. 2534 สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตนเองเชเชน-อินกุช (Chechen-Ingush ASSR) แบ่งออกเป็นสองสาธารณรัฐ คือ สาธารณรัฐอินกูเชเตียและสาธารณรัฐเชเชน สาธารณรัฐเชเชนได้รับการประกาศเป็นสาธารณรัฐเชเชนแห่งอิชเคเรีย ซึ่งแสวงเอกราช หลังสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่งกับประเทศรัสเซีย เชชเนียได้รับเอกราชโดยพฤตินัยเป็นสาธารณรัฐเชเชนแห่งอิชเคเรีย การควบคุมจากส่วนกลางของรัสเซียได้รับการฟื้นฟูระหว่างสงครามเชชเนียครั้งที่สอง นับแต่นั้น มีกระบวนการบูรณะและสร้างใหม่อย่างเป็นระบบ แม้การสู้รบประปรายยังดำเนินต่อไปในเขตภูเขาและทางใต้ของสาธารณรัฐ ปัญหาความขัดแย้งของเชชเนียเชชเนียเป็นสาธารณรัฐของสหพันธรัฐรัสเซีย มีประชากรก่อนสงคราม 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ตั้งอยู่ทางทิศ ตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซียบริเวณเทือกเขาคอเคซัส มีอาณาเขตติดต่อกับจอร์เจีย ในปี 2534 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ขบวนการชาตินิยมกลุ่มมุสลิมหัวใหม่ในรัสเซียต้องการที่จะผนวกดินแดน 4 สาธารณรัฐคือ สาธารณรัฐอิงกูเชเตีย, คาร์บาดีโน-บัลคาเรีย, ดาเกสถาน และนอร์ทออสซีเชีย เข้าด้วยกันเรียกว่า "สหพันธรัฐอิสลามคาลีฟัด" ภายใต้การสนับสนุนจากประเทศในตะวันออกกลาง ปัญหาของเชชเนียเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 นายพลดูดาเยฟ ประธานาธิบดีเชชเนียประกาศให้สาธารณรัฐเป็นเอกราช แต่รัสเซียยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้ดินแดนในปกครองเป็นอิสระ นอกจากนี้กรุงกรอซนืยเมืองหลวงของเชชเนีย ยังเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอีกด้วย สมัยประธานาธิบดีเยลต์ซินของรัสเซียได้มีการส่งทหารจำนวน 40,000 นาย เข้าไปยังเชชเนีย เพื่อปราบปรามการแบ่งแยกดินแดน ทำให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อเป็นเวลาเกือบ 2 ปี (พ.ศ. 2537–2539) แต่ได้สิ้นสุดลง เมื่อรัสเซียตกลงให้สิทธิปกครองตนเองชั่วคราวแก่กลุ่มกบฏและยอมถอนทหารออกจากเชชเนียทั้งหมด และสนับสนุนให้นายอัสลาน มาสคาดอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเชชเนียในเดือนกรกฎาคม 2540 สืบแทนประธานาธิบดีโซคคาร์ ดูคาเยฟที่เสียชีวิตไปในช่วงสงคราม ต่อมาอำนาจของประธานาธิบดีมาสคาดอฟได้ลดลงเป็นลำดับ เนื่องจากอดีตหัวหน้ากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งกระจายอยู่ตามดินแดนส่วนต่าง ๆ ของเชชเนีย เริ่มตั้งตนขึ้นมามีอำนาจอย่างเป็นเอกเทศ และจากการที่ประธานาธิบดีมาสคาดอฟได้ดำเนินนโยบายแยกตัวเป็นเอกราชจากรัสเซียในภายหลัง ทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องการจับกุมตัวประธานาธิบดีมาสคาดอฟ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน สงครามเชชเนียครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2542)เริ่มขึ้นเมื่อนายพลชามิล บาซาเยฟ หัวหน้ากลุ่มกบฏเชชเนียซึ่งมีอำนาจมากที่สุด นำกำลังเข้ายึดสาธารณรัฐดาเกสถาน ทางตะวันออกของเชชเนีย พร้อมประกาศจะปลดปล่อยดินแดนทางตอนเหนือของเทือกเขาคอเคซัสออกจากรัสเซีย และเปลี่ยนให้เป็นรัฐอิสลามทั้งหมด ทำให้รัสเซียต้องส่งทหารเข้าโจมตีที่ตั้งของนายพลบาซาเยฟในเชชเนียตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2542 โดยสามารถยึดพื้นที่ไว้ได้ทั้งหมด รวมทั้งกรุงกรอซนืยเมืองหลวงของเชชเนีย เหลือแต่เพียงบริเวณเทือกเขาตามแนวชายแดนเท่านั้น ที่มักเกิดการสู้รบกับกลุ่มกบฏในลักษณะการซุ่มโจมตี ในการนี้ รัสเซียได้แต่งตั้งนายอัคมัด คาดีรอฟ ขึ้นเป็นผู้นำเชชเนียคนใหม่ การเสียชีวิตของนายอัสลัน มาสคาดอฟ เมื่อ 8 มีนาคม 2548ระหว่างการล้อมจับของกองกำลังรัสเซียในเมืองตอลสตอยยุร์ต (Tolstoi Yurt) ของเชชเนีย หลายฝ่ายมองว่า เป็นการสิ้นสุดกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างเชชเนียกับรัสเซีย เนื่องจากนายมาสคาดอฟ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มกบฏเชชเนียสายกลาง กำลังต้องการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย โดยเป็นฝ่ายเสนอการหยุดยิงฝ่ายเดียวในเชชเนีย ขณะที่รัสเซียกลับมองว่า เป็นการสิ้นสุดผู้นำสูงสุดของกลุ่มกบฏเชชเนียสายกลาง ซึ่งจะทำให้ไม่มีตัวเชื่อมโยงทางการเมือง รวมถึงการขอรับการสนับสนุนด้านอาวุธและการเงินจากต่างประเทศ การสังหารนายชามิล บาซาเยฟ ผู้นำกลุ่มกบฏเชชเนียสายหัวรุนแรง เมื่อ 10 กรกฎาคม 2549 ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของประธานาธิบดีปูตินที่ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในการแก้ไขปัญหาเชชเนียมาตลอด ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้การแพร่กระแสเรียกร้องเอกราชไปยังดินแดนอื่น ๆ ของรัสเซียต้องหยุดชะงักลงบ้าง แม้จะไม่สามารถหยุดยั้งกระบวนการเรียกร้องเอกราชให้แก่เชชเนียได้ เพราะยังคงมีผู้นำกบฏคนใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่ แต่ยังจะช่วยให้การบริหารดินแดนเชชเนียโดยคณะบริหารที่รัฐบาลรัสเซียสนับสนุนอยู่เข้มแข็งขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลรัสเซียได้ส่งกองกำลังและเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำการอยู่ในเชชเนียประมาณ 40,000 นาย โดยไปจากกระทรวงกลาโหม หน่วยความมั่นคงกลาง (FSB) และกองกำลังของกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ นายบาซาเยฟเป็นผู้นำกลุ่มกบฏเชชเนียที่ทางการรัสเซียต้องการตัวมากที่สุด และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจับตัวประกันในโรงละครใจกลางกรุงมอสโก การก่อวินาศกรรมเครื่องบินโดยสารของรัสเซีย การลอบวางระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโก รวมถึงเหตุการณ์ครั้งรุนแรงที่สุด คือ การจับนักเรียนและครูเป็นตัวประกันที่โรงเรียนในเมืองเบสลันในปี พ.ศ. 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 335 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก และก่อนที่นายบาซาเยฟจะถูกสังหารนั้น หน่วย FSB สืบทราบว่า นายบาซาเยฟมีแผนที่จะก่อการร้ายครั้งใหญ่ในช่วงที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G-8) ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในระหว่าง 15-17กรกฎาคม 2549 ด้วย การแก้ไขปัญหาเชชเนียของรัสเซียถูกประณามจากชาติตะวันตกว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เนื่องจากใช้วิธีการกวาดล้างแบบราบคาบ ไม่เลือกเฉพาะพื้นที่ตั้งของฝ่ายกบฏ โดยเน้นการโจมตีทางอากาศเป็นหลัก แม้กระนั้น การก่อการร้ายในรัสเซียยังคงเกิดขึ้นและขยายตัวทั้งในแง่ของพื้นที่ปฏิบัติการและความรุนแรง ทำให้ประธานาธิบดีปูตินดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้น โดยประกาศจะใช้นโยบายชิงโจมตีก่อนต่อผู้ก่อการร้าย ด้านสภาดูมาได้เสนอร่างกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการฉุกเฉินในการสืบสวน แม้จะยังไม่มีการยืนยันว่า กำลังจะมีการก่อการร้ายก็ตาม ซึ่งมาตรการดังกล่าวครอบคลุมการดักฟังโทรศัพท์ การตรวจสอบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และเอกสาร การจำกัดการจราจรและการเดินทาง รวมถึงการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวในพื้นที่ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ปัญหาการก่อการร้ายในประเทศสร้างความชอบธรรมให้กับประธานาธิบดีปูตินในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นการรวมศูนย์อำนาจ โดยเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนทั้งหมด พร้อมกับเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งผู้ปกครองสาธารณรัฐและเขตปกครองตนเองทั้ง 89 แห่ง เป็นการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติท้องถิ่นแทน ซึ่งวิธีการดังกล่าวถูกชาติตะวันตกโจมตีอย่างหนักว่า จะทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยในรัสเซียไม่คืบหน้า อ้างอิง
ข้อมูล
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ สาธารณรัฐเชเชน
|