ส่วนกลางของกระดูกอัลนา
ส่วนกลางของกระดูกอัลนา หรือ ตัวกระดูกอัลนา ส่วนบนมีลักษณะคล้ายแท่งปริซึมสามเหลี่ยม และโค้งนูนด้านหลังและทางด้านข้าง ส่วนกลางมีลักษณะตรง และส่วนล่างมีลักษณะกลม เรียบ และโค้งงอไปทางด้านข้างเล็กน้อย กระดูกนี้มีลักษณะเรียวลงจากด้านบนลงด้านล่าง ส่วนกลางของกระดูกอัลนาประกอบด้วยพื้นผิวสามด้าน และขอบสามขอบ ซึ่งจะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ ขอบกระดูกขอบด้านฝ่ามือ (volar border) หรือ ขอบด้านหน้า (anterior border) (ละติน: margo volaris) ด้านบนเริ่มจากมุมด้านใกล้กลางของโคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process) และสิ้นสุดด้านล่างที่ด้านหน้าของสไตลอยด์ โพรเซส (styloid process) ส่วนบนซึ่งมีลักษณะเป็นขอบแหลมเด่นชัด และส่วนกลางซึ่งมีลักษณะเรียบและกลมเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส (flexor digitorum profundus) ส่วนล่าง 1/4 เป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ ควอดราตัส (pronator quadratus) ขอบด้านฝ่ามือนี้ทำหน้าที่แบ่งพื้นผิวด้านฝ่ามือและพื้นผิวด้านใกล้กลางของกระดูกอัลนา ขอบด้านหลัง (dorsal border หรือ posterior border) (ละติน: margo dorsalis) ด้านบนเริ่มจากยอดพื้นผิวรูปสามเหลี่ยมที่ด้านหลังของโอเลครานอน (olecranon) และสิ้นสุดด้านล่างที่ด้านหลังของสไตลอยด์ โพรเซส ด้านบน 3/4 มีลักษณะเป็นสันเด่นชัดซึ่งเป็นจุดเกาะของเอ็นแผ่ (aponeurosis) ซึ่งให้เป็นจุดเกาะต้นร่วมของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (flexor carpi ulnaris) , กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (extensor carpi ulnaris) , และกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส (flexor digitorum profundus) ส่วนด้านล่าง 1/4 มีลักษณะเรียบและกลม ขอบด้านหลังมือนี้ทำหน้าที่แบ่งพื้นผิวด้านใกล้กลางและพื้นผิวด้านหลังของกระดูกอัลนา สัน หรือขอบด้านเยื่อระหว่างกระดูก หรือ ขอบด้านนอก (interosseuous border or crest หรือ external border) (ละติน: crista interossea) ด้านบนเกิดจากการบรรจบกันของเส้น 2 เส้นซึ่งเป็นส่วนปลายของรอยเว้าเรเดียส (radial notch) ซึ่งเส้นทั้งสองนี้อยู่รอบด้านข้างของที่ว่างรูปสามเหลี่ยมอันเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์ (Supinator) ด้านล่างสิ้นสุดลงที่ปุ่มหัวกระดูกอัลนา (head of the ulna) ส่วนบนของขอบด้านนี้มีลักษณะแหลม ส่วนล่าง 1/4 มีลักษณะเรียบและกลม สันดังกล่าวให้เป็นจุดเกาะของเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก (interosseous membrane) สันนี้ทำหน้าที่แบ่งพื้นผิวด้านฝ่ามือและพื้นผิวด้านหลังมือของกระดูกอัลนา พื้นผิวพื้นผิวด้านฝ่ามือ (volar surface) หรือ พื้นผิวด้านหน้า (anterior surface) (ละติน: facies volaris) ส่วนบนมีลักษณะกว้างกว่าส่วนล่าง ด้านบน 3/4 มีลักษณะเว้าและเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส (flexor digitorum profundus) ด้านล่าง 1/4 มีลักษณะเว้าถูกปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ ควอดราตัส (pronator quadratus) ระหว่างด้านบน 3/4 และด้านล่าง 1/4 ถูกแบ่งด้วยสันซึ่งวิ่งในแนวเฉียงไปด้านล่างและด้านใกล้กลาง ซึ่งเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ ควอดราตัส ที่รอยต่อระหว่างด้านบน 1/3 และส่วนกลาง 1/3 ของกระดูกนี้มีช่องสารอาหาร (nutrient canal) ซึ่งวิ่งในแนวเฉียงขึ้น พื้นผิวด้านหลัง (dorsal surface หรือ posterior surface) (ละติน: facies dorsalis) มีทิศทางไปทางด้านหลังและด้านข้าง ด้านบนมีลักษณะกว้างและเว้า ตรงกลางนูนและบางครั้งคอดเข้า ส่วนด้านล่างแคบ เรียบ และกลม บริเวณส่วนบนมีสันเฉียงวิ่งจากปลายด้านหลังของรอยเว้าเรเดียส (radial notch) ลงมายังขอบด้านหลัง (dorsal border) โดยพื้นผิวรูปสามเหลี่ยมเหนือสันนี้เป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อแอนโคเนียส (Anconæus) ในขณะที่ส่วนบนของสันนี้เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์ ส่วนล่างของพื้นผิวนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยสันแนวนอน (บางครั้งอาจเรียกว่า เส้นตั้งฉาก (perpendicular line)) ได้แก่ ส่วนใกล้กลางมีลักษณะเรียบ ปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (extensor carpi ulnaris) และส่วนด้านข้างซึ่งมีลักษณะกว้างและขรุขระกว่า เป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อต่างๆ เรียงจากด้านบนลงล่างดังนี้ กล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์, กล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส ลองกัส (abductor pollicis longus) , กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ พอลิซิส ลองกัส (extensor pollicis longus) และกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ อินดิซิส (extensor indicis proprius) พื้นผิวด้านใกล้กลาง (medial surface) หรือ พื้นผิวด้านใน (internal surface) (ละติน: facies medialis) ด้านบนมีลักษณะกว้างและเว้า ด้านล่างมีลักษณะแคบและนูน ส่วนบน 3/4 เป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส แต่ส่วนล่างอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ภาพอื่นๆ
|