Share to:

 

หมากสง

หมากสง
ผลหมาก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Liliopsida
อันดับ: Arecales
วงศ์: Arecaceae
สกุล: Areca
สปีชีส์: A.  catechu
ชื่อทวินาม
Areca catechu
L.

หมากสง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Areca catechu) หรือที่เรียกทั่วไปว่า "หมาก" (พืชที่เรียกว่า "หมาก" นั้น มีด้วยกันหลายชนิด นักพฤกษศาสตร์จึงเรียกหมากที่ใช้กินกับใบพลูว่า "หมากสง") เป็นพืชจำพวกปาล์ม เป็นชนิดหนึ่งในสกุล Arecaceae นับว่ามีความสำคัญมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในหลายท้องถิ่น ในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ส่วนสำคัญของพืชชนิดนี้ คือ เมล็ด ซึ่งมีสารจำพวก อัลคาลอยด์ (alkaloid) อันประกอบด้วย อาเรเคน (arecaine) และ อาเรโคลีน (arecoline) นิยมนำมาเคี้ยวกับหมากใบและใบพลู ซึ่งนับว่าเป็นสารเสพติดอย่างอ่อน หมากพบได้ในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ แถบมหาสมุทรแปซิฟิกในส่วนที่เป็นเขตร้อน และบางส่วนของทวีปแอฟริกา

ในภาษาอังกฤษ เรียกหมากว่า "Betel palm" หรือ "Betel nut" ทั้งๆ ที่ คำว่า " betel" แปลว่า พลู ที่เรียกเช่นนี้ เพราะชาวอังกฤษ (ในสมัยโบราณ) เห็นว่าหมากนิยมเคี้ยวกับพลูนั่นเอง

ลักษณะ

ลำต้น

หมากเป็นที่มีลำต้นเล็ก มีความสูงปานกลาง (ประมาณ 20 เมตร) แต่ด้วยขนาดลำต้นที่เล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร) ทำให้ดูสูงมาก เป็นไม้ประดับได้ด้วย

ใบ

ใบยาว 1.5 - 2 เมตร ลักษณะเหมือนใบมะพร้าว มีใบดก แต่มีความบอบบาง ก้านใบและส่วนใบไม่นิยมใช้ประโยชน์ ส่วนของกาบใบ เรียกว่า กาบปูเล มีความหนา และแข็งพอสมควร นิยมนำมาใช้ห่อของ ทำซองใส่มีด และชาวบ้านในภาคใต้ทำพับห่อทำเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำ เรียกว่า หมา หรือ หมาตักน้ำ ขณะที่เด็กๆ ยังนำไปรองนั่ง ผลัดกันลาก เป็นของใช้เล่นอีกอย่างหนึ่งของเด็กไทยสมัยก่อน

ผล

ภาพวาดหมากในคริสต์ศวรรษ ที่19

ผลของหมากเป็นรูปกลมรีคล้ายลูกรักบี้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านกว้างประมาณ 1 - 2 นิ้ว ด้านยาวประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว เปลือกนอกเป็นเส้นใย ผิวของผลเมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่แล้วออกสีส้มแดง เรียกว่า สีหมากสุก เมื่อผลสุกจะร่วงจากขั้ว หากปล่อยไว้ เปลือกจะเหี่ยวแห้ง ยุ่ย สามารถดึงออก เหลือแต่เมล็ดข้างในได้โดยง่าย หมากเป็นพืชที่มีเกษรตัวผู้และเกษรตัวเมียอยู่ในทะลายดียวกัน

ส่วนที่เรียกว่าหมากจริงๆ ก็คือ ส่วนเมล็ดข้างในผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เมื่อยังอ่อนมีสีขาวนวลจนถึงเหลือง เนื้อนิ่ม พอแก่ลงจะหนามากขึ้น และสีคล้ำ จนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ใช้กินกับปูนแดงและพลู เป็นของกินเล่นที่สำคัญของชาวไทยและหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน

การเก็บหมากนั้น ไม่สามารถใช้ไม้สอยได้อย่างมะพร้าว เพราะหมากมีต้นสูง จึงต้องใช้คนปีนขึ้นไปเก็บ แต่คนปีนหมากจะมีเทคนิคการปีน เมื่อขึ้นไปถึงข้างบนต้นหนึ่ง และเก็บหมากโยนลงมาแล้ว จะไม่ไต่ลงมายังโคนต้น แต่จะโยกต้นหมากให้เอนไปหาต้นอื่น แล้วกระโดดจับต้นอื่น เป็นอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าจะไม่มีต้นหมากที่อยู่ใกล้กัน

วัฒนธรรมหมาก

หมากนับเป็นพืชสำคัญในหลายวัฒนธรรม สำหรับในวัฒนธรรมไทยนั้น การกินหมาก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ ประเพณีที่สำคัญ ดังนี้

การกินหมาก

กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าชาวไทยนิยมกินหมากกับพลู (และปูนแดง) โดยมากจะนำใบพลูที่ไม่แก่ หรืออ่อนจนเกินไป มาทาด้วยปูนแดง แล้วกินกับหมากที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคี้ยวด้วยกัน จะมีน้ำหมากสีแดง ซึ่งจะต้องบ้วนทิ้ง การกินหมากทำให้ฟันดำ แต่ปากแดง ในสมัยโบราณ ชาวไทยทั้งหญิงชาย ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยชรา ล้วนแต่กินมากทั้งสิ้น ส่วนต้นหมากนั้น เป็นพืชที่ขึ้นง่าย พบได้ทั่วไปในสวน หาหมากกินได้ไม่ยาก

เครื่องใช้ในการกินหมาก
เครื่องใช้ในการกินหมาก

การกินหมากจนเป็นธรรมเนียมเช่นนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมหมากอย่างจริงจัง นั่นคือ ใช้หมาก เป็นเครื่องต้อนรับแขก การเตรียมหมากพลูเพื่อต้อบรับแขก จึงนับเป็นการต้อบรับที่ดี ผู้ที่มีฐานะ จะมีอุปกรณ์เกี่ยวกับหมากที่สวยงาม ปัจจุบันนี้ คนไทยกินหมากน้อยลง แต่ยังมีหมากพลูจัดเป็นชุดขาย โดยมากนิยมนำไปเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

  • เชี่ยนหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่อุปกรณ์เกี่ยวกับการกินหมาก รวมทั้ง หมาก ใบพลู และปูน ผู้ที่มีฐานะอาจใช้เครื่องโลหะ หรือเครื่องฝังมุก มีลวดลายสวยงาม
  • กรรไกรคีบหมาก เป็นกรรไกรทำด้วยเหล็ก ลักษณะคล้ายคีมมีคมด้านเดียว เอาไว้หั่นหมาก เมื่อจะใช้เอาหมากสอดระหว่างกรรไกรแล้วใช้มือบีบเพื่อผ่าหมาก หรือแบ่งหมากออกเป็นส่วนๆ
  • เต้าปูน นิยมใช้เครื่องเคลือบ สำหรับใส่ปูนแดง
  • ตะบันหมาก เป็นกระบอกทองเหลือง มีวัสดุด้ามยาว ปลายแบนทำหน้าที่คล้ายสิ่ว เอาไว้สำหรับตำลงไปในกระบอกให้แหลก เหมาะสำหรับคนชรา ที่ไม่สามารถเคี้ยวหมากแก่ได้ ภาษาถิ่นใต้เรียกตะบันหมาก ว่า ยอนหมากหรือ ยอน กระบอกที่ทำด้วยทองเหลืองจัดเป็นยอนสำหรับผู้มีอันจะกิน หากเป็นชาวบ้านทั่วไปอาจใช้กระบอกไม้ไผ่เล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอกไม่เกิน 1 นิ้ว เหล็กที่ไว้ตำหมากกับยอน เรียกว่า ตายอน
  • ไหหมาก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดองหมากไว้กินนอกฤดู โดยการเอาหมากสุกใส่ลงในโอ่งหรือไห เติมน้ำสะอาดจนท่วมเก็บไว้กินนอกฤดู ทิ้งไว้ได้เป็นปีจนกว่าฤดูกาลใหม่จะมาถึง

ขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับหมากมีดังนี้

  • ขันหมาก เป็นขันใส่หมากพลู เพื่อแสดงความเคารพ เช่น หากเชิญหมอทำพิธีจะต้องยกขันหมาก ซึ่งในขันหมากดังกล่าวนอกจากมีหมากพลูแล้วยังต้องมีดอกไม้ธูปเทียนและ เงินหัวขันหมาก ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวรวมถึงการที่เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมขันหมาก มอบให้พ่อแม่ของเจ้าสาวในวันหมั้น หรือสู่ขอ หรือวันแต่ง การแห่หรือการไปสู่ขอ เรียกว่า แห่ขันหมาก หาก หมั้นแล้วไม่แต่งงาน เรียกว่า หม้ายขันหมาก
การใช้ประโยชน์อย่างอื่น

สารสกัดด้วยเอทานอลจากเนื้อผลหมากสงสามารถยับยั้งการเจริญของคะน้าได้[1]

อ้างอิง

  1. ศานิต สวัสดิกาญจน์ สุวิทย์ เฑียรทอง เนาวรัตน์ ประดับเพ็ชร์ สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์ และวริสรา ปลื้มฤดี. 2553. ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48. 3-5 ก.พ. 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 412-421

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya