อองซาน
โบโชะ อองซาน หรือ พลตรี อองซาน (พม่า: ဗိုလ်ချုပ် အောင်ဆန်း; เอ็มแอลซีทีเอส: aung hcan:, ออกเสียง: [àʊɰ̃ sʰáɰ̃]; 13 กุมภาพันธ์ 1915 – 19 กรกฎาคม 1947) เป็นนักการเมือง, นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช และนักปฏิวัติชาวพม่า ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า และได้รับการขนานให้เป็นบิดาแห่งรัฐพม่าสมัยใหม่ เขามีบทบาทมากในการได้รับเอกราชของพม่า แต่ถูกลอบสังหารราวหกเดือนก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช อองซานทั้งก่อตั้งและมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับกลุ่มและขบวนการทางการเมือง และเข้าใช้ชีวิตไปกับการศึกษาแนวคิดทางการเมืองต่าง ๆ ตลอด เขาเป็นผู้นิยมการต่อต้านลัทธิจักรวรรดิ และเมื่อเป็นนักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ต่อมาได้ศึกษาเกี่ยวกับวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่นเมื่อครั้งเป็นสมาชิกของกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น เขาได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการระดับสูงของสภานักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งตั้งแต่ปีแรกที่เข้าเรียน และเป็นบรรณาธิการประจำหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย อองซานเข้าร่วมสมาคมทะขิ่นในปี 1938 ในตำแหน่งเลขาธิการ และต่อมาได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และพรรคสังคมนิยมพม่า ชีวิตช่วงต้นอองซานเกิดที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อนะเมาะในภาคมะกเว เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1915 ในครอบครัวชนชั้นกลาง[1] เข้ามีพี่น้องรวมตัวเอง 9 คน โดยเป็นคนสุดท้อง ในจำนวนนี้เป็นพี่สาวสามคน และพี่ชายห้าคน[2] ชื่อ "อองซาน" นั้นตั้งโดยพี่ชายคนหนึ่งของเขา Aung Than อองซานเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพุทธของสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งใน นะเมาะ แต่ต่อมาได้ย้ายไปเยนานช่อง ตอนอยู่ประถมสี่ หลังพี่ชายคนโตสุด Ba Win ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมที่เมืองนั้น[3] เมื่อเป็นวัยรุ่น อองซานมักอ่านหนังสือและครุ่นคิดกับตัวเองอยู่คนเดียวเป็นเวลาหลายชั่วโมง ในบทความชิ้นแรกสุดที่เขาได้เขียน ซึ่งตีพิมพ์ในส่วน "ความเห็น" ของ The World of Books เขาต่อต้านแนวคิดปัจเจกนิยมของตะวันตกซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยอู้ตั่น แต่ต่อมาอองซานและอู้ตั่นก็เป็นเพื่อนกัน[4] การปฏิวัติตะคีนในเดือนตุลาคม ปี 1938 อองซานออกจากการศึกษานิติศาสตร์และเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติ ในเวลานี้เขามีจุดยืนต่อต้านอังกฤษและต่อต้านลัทธิจักรวรรดิอย่างมั่นคง เขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ สมาคมทะขิ่น และเป็นเลขานุการของสมาคมจนถึงเดือนสิงหาคม 1940 ขณะดำรงตำแหน่ง เขาได้มีส่วนช่วยจัดการชุดการนัดประท้วงหยุดงานซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อการปฏิวัติ ME 1300 ซึ่งตั้งตามปฏิทินพม่า 1300 ตรงกับเดือนสิงหาคม 1938 ถึงกรกฎาคม 1939[5] วันที่ 18 มกราคม 1939 สมาคมเราชาวพม่าประกาศเจตจำนงที่จะใช้กำลังเพื่อล้มรัฐบาล ส่งผลให้ประชาคมถูกเพ่งเล็งและกำจัดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในวันที่ 23 มกราคม ตำรวจบุกเข้าสำนักงานของสมาคมที่เจดีย์ชเวดากอง และอองซานถูกจับกุมและคุมขังในคุกเป็นเวลา 15 วัน ฐานอั้งยี่และสมรู้ร่วมคิดล้มล้างรัฐบาล แต่ต่อมาได้ถูกเพิกถอนข้อกล่าวหา[6] หลังเขาถูกปล่อยตัว เขาได้วางแผนการเพื่อขับเคลื่อนการได้รับเอกราชของพม่าโดยการเตรียมจัดการนัดประท้วงหยุดงานใหญ่ทั่วประเทศ, การรณรงค์ไม่จ่ายภาษี และจัดความไม่สงบผ่านการรบแบบกองโจร[7] ในเดือนสิงหาคม 1939 อองซานร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการประจำพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่ซึ่งในภายหลังเขายอมรับว่าความสัมพันธ์กับพรรคไม่ค่อยราบรื่นนัก เขาเข้าร่วมและลาออกจากพรรคถึงสองครั้ง ไม่นานหลังตั้งพรรค เขาได้ตั้งองค์กรคล้ายคลึงขึ้นอีก คือ "พรรคประชาปฏิวัติ" (People's Revolutionary Party) หรืออีกชื่อคือ "พรรคปฏิวัติพม่า" (Burma Revolutionary Party) ซึ่งมีจุดยืนมาร์กซิสต์ มีเป้าหมายเพื่อล้มล้างการปกครองของอังกฤษเหนือพม่า ต่อมาพรรคนี้กลายเป็นพรรคสังคมนิยมพม่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[8] นับตั้งแต่เป็นนักเรียนจนถึงสมัยทำงานทางการเมือง อองซานแทบไม่ได้รับค่าตอบแทนมากนัก เขาจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในช่วงนี้อยู่ในความยากจน สมาชิกและผู้ร่วมงานกับเขาชื่นชมเขามากในฐานะบุคคลที่มีความสามารถในการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมและจรรยาบรรณการทำงานที่แข็งแกร่ง แต่บางครั้งเขาก็ถูกวิจารณ์ว่าขาดทักษะการประชาสัมพันธ์ และบ้างถึงกับว่าเขาเป็นคนหยิ่งยโส ตลอดช่วงนี้เขาปฏิเสธการดื่มแอลกอฮอล์และไม่เคยมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว[9] สงครามโลกครั้งที่สองหลังสงครามโลกครั้งที่สองปะทุในเดือนกันยายน 1939 อองซานมีส่วนร่วมก่อตั้งองค์การชาตินิยมอีกแห่ง คือ กลุ่มเสรีภาพ ซึ่งเชื่อมการทำงานของตะคีน, สหพันธ์นักเรียนนักศึกษาพม่า, พระสงฆ์ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง และพรรคยาจกของ ดร. Ba Maw[10] โดยมี Ba Maw เป็น anarshin ("เผด็จการ") ของฟรีดอมบล็อก ส่วนอองซานเป็นเลาธิการของกลุ่ม กิจกรรมและเป้าหมายของกลุ่มมีใจกลางอยู่ที่แนวคิดการใช้ประโยชน์จากสงครามเพื่อให้พม่าได้รับเอกราช[11] ซึ่งนำเอาแบบอย่างในการดำเนินการมาจาก "กลุ่มก้าวหน้า" ของอินเดีย ซึ่งนำโดยจันทระ โพส ผู้ที่มีการติดต่อเสมอ ๆ กับ Ba Maw[12] ในปี 1939 ถูกจับกุมฐานล้มรัฐบาล แต่ต่อมาก็ถูกปล่อยตัว[13] หลังเพียงสิบเจ็ดวัน[14] ในเดือนมีนาคม 1940 เขาเข้าร่วมการประชุมของคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ที่รามคฤห์ในประเทศอินเดีย[15] พร้อมทั้งสมาชิกตะคีน เช่น Than Tun และ Ba Hein ระหว่างนั้น อองซานได้พบกับผู้นำขบวนการเอกราชอินเดียจำนวนมาก เช่น ชวาหะร์ลาล เนห์รู, มหาตมะ คานธี และ สุภาษ จันทระ โพส[16] หลังสงครามโลกครั้งที่สองหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สมาชิกของกองทัพพม่าที่ตั้งขึ้นเองบางส่วนได้รับข้อเสนอรับตำแหน่งในกองทัพแห่งชาติของพม่าถายใต้บังคับการของอังกฤษ ข้อตกลงมีขึ้นที่ซีลอนโดยลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเติน เมื่อกันยายน 1945 อองซานไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการตกลงนี้เพราะเขากำลังตกเป็นประเด็นถกเถียงว่าเขาควรถูกนำเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมหรือไม่ จากบทบาทของเขาในการประหารชีวิตผู้นำมุสลิมใน สะเทิม ระหว่างสงคราม[17] การลอบสังหารในช่วงปีท้าย ๆ ของพม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร อองซานได้ผูกมิตรกับผู้ว่าการพม่า เรจินัลด์ ดอร์มัน-สมิธ ในปี 1946 ราวหนึ่งปีก่อนเขาถูกลอบสังหาร อองซานเคยกล่าวว่าเขารู้สึกกลัวว่าตนเองอาจถูกลอบสังหาร[18] เวลาราว 10:30 นาฬิกา ของวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 รถจีปของกองทัพคันหนึ่งพร้อมกลุ่มชายติดอาวุธขับเข้ามาในสวนของอาคารรัฐมนตรี ขณะอองซานกำลังมีประชุมกับสมาชิกรัฐบาลชุดใหม่ อาคารนี้ไม่มีกำแพงหรือรั้วล้อมในเวลานั้น[19] และถึงแม้จะมีคนเตือนแล้วว่าอองซานกำลังถูกวางแผนฆาตกรรม[20] ยามรักษาประตูเข้าออกของอาคารก็ไม่มีทีท่าจะกังวลกับชายติดอาวุธกลุ่มนี้ที่เข้ามาในอาคาร[19] ชายสี่คนลงจากรถพร้อมปืนปืนกลมือทอมป์สันสามลำ และ สเตนหนึ่งลำ[21] พร้อมระเบิด วิ่งขึ้นบนบันไดเข้าไปยังโถงประชุม ยิงยามรักษาประตูด้านนอกห้อง และบุกเข้าไปในโถงประชุม[19] มือปืนตะโกนว่า "อยู่กับที่! อย่าขยับ!"[20] อองซานลุกขึ้นและถูกยิงเข้าที่อก เสียชีวิตโดยทันที และมีสมาชิกสภาอีกสี่คนที่ถูกกราดยิง สามคนได้รับบาดเจ็บ และสามคนเท่านั้นที่รอดชีวิต[19] ยู ซอว์ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าก่อนสงครามโลกครั้งที่สองคนสุดท้าย ถูกจับกุมฐานก่อการฆาตกรรมในวันเดียวกัน[22] ต่อมา ยู ซอว์ถูกตัดสินกระทำผิดจริงและประหารชีวิตโดยการแขวนคอ อย่างไรก็ตามมีการถกเถียงถึงกลุ่มหรือพรรคอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมในการก่อการลอบสังหารอองซานในครั้งนี้ บางส่วนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของอังกฤษเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[23] มรดกสุสานผู้พลีชีพสร้างขึ้นที่ฐานของเจดีย์ชเวดากองในปี 1947 และวันที่ 19 กรกฎาคม วันที่อองซานถูกลอบสังหาร ได้รับการประกาศเป็นวันผู้เสียสละแห่งพม่า วันหยุดทางการของรัฐบาลพม่า[24][25] สุสานของอองซานหลังเดิมถูกทำลายจากเหตุระเบิดเมื่อ 9 ตุลาคม 1983 ในระหว่างความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ช็อน ดู-ฮวัน โดยเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ[25][26] ไม่กี่เดือนหลังอองซานเสียชีวิต พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม 1948 แต่ต่อมาในเดือนสิงหาคม 1948 ได้เกิดความขัดแย้งภายในพม่าระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน[27][28] ธนบัตรจัต พม่าตีพิมพ์ภาพของอองซานบนธนบัตรครั้งแรกในปี 1958 ราวสิบปีหลังเขาถูกฆาตกรรม หน้าของเขาปรากฏบนธนบัตรพม่าจนกระทั่งพม่าถูกระฐประหารโดยกองทัพ ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา รูปของอองซานถูกแทนที่ด้วยภาพวิถีชีวิตพม่า เป็นไปได้ว่าเพื่อลดความนิยมของลูกสาวของอองซาน อองซานซูจี ซึ่งกำลังมีบทบาททางการเมืองต่อต้านการรัฐประหารและเผด็จการในเวลานั้น ในปี 2017 สมัชชาแห่งสหภาพลงคะแนนเสียง 286 ต่อ 107 เพื่อนำภาพของอองซานกลับมา โดยมีธนบัตร 1,000 จัต ที่มีภาพของอองซานออกสู่สาธารณะอีกครั้งเมื่อ 4 มกราคม 2020 วันครบรอบการได้รับเอกราช[29] ครอบครัวขณะอองซานดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการรบในปี 1942 เขาพบและสมรสกับ Khin Kyi ทั้งคู่มีลูกด้วยกันสี่คน หลังอองซานถูกสังหาร ภรรยาหม้ายของเขาได้รับแต่งตั้งเป็นทูตพม่าประจำอินเดีย และจากนั้นครอบครัวก็ย้ายออกจากพม่า[30] ลูกคนที่อายุน้อยที่สุดที่มีชีวิตรอดคือ อองซานซูจี ขณะเกิดเหตุลอบสังหารอองซาน เธออายุเพียงสองขวบเท่านั้น[31] ต่อมาอองซานซูจีได้ก้าวเข้าสู่การเมืองพม่าและเป็นบุคคลสำคัญในการเมืองพม่าจนกระทั่งเธอถูกรัฐประหารในปี 2021 อ้างอิง
บรรณานุกรม
|