Share to:

 

อัตติลา

อัตติลา
Attila the Hun
ภาพจินตนาการเกี่ยวกับอัตติลา โดยเออแฌน เดอลาครัว
(1843–1847)
จักรพรรดิแห่งชาวฮัน
ครองราชย์ค.ศ. 434 - 453
พระราชสมภพค.ศ. 406
สวรรคตค.ศ. 453
ราชวงศ์Ellac

อัตติลา หรือ อัตติลาชาวฮัน (อังกฤษ: Attila the Hun) (ค.ศ. 406 — ค.ศ. 453) เป็นประมุขแห่งชาวฮันผู้ครองจักรวรรดิฮัน (Hunnic Empire) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ทั้ง ชาวฮัน ชาวออสโตรกอท อลานส์ และเผ่าอนารยชนอื่นๆ ในดินแดนยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ระหว่าง ค.ศ. 434 จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 453 ที่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตลง ในรัชสมัยของพระองค์สามารถครอบครองดินแดนตั้งแต่ประเทศเยอรมนีไปจนถึงแม่น้ำยูรัล และจากแม่น้ำดานูบไปจนถึงทะเลบอลติก กินพื้นที่มากกว่า 4 ล้านตารางกิโลเมตร[1] นับเป็นการครอบครองดินแดนที่มากที่สุดอาณาจักรหนึ่งในยุคมืด

ในรัชสมัยการปกครองของอัตติลาทรงเป็นประมุขผู้สร้างความหวาดหวั่นและถือเป็นศัตรูที่อันตรายที่สุดแก่จักรวรรดิโรมันตะวันออกและจักรวรรดิโรมันตะวันตก พระองค์ทรงรุกรานคาบสมุทรบอลข่านถึงสองครั้ง แต่พระองค์ไม่สามารถรุกรานกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ และจากผลพวงของการพ่ายแพ้ในเปอร์เซีย ในปี ค.ศ. 441 พระองค์ได้ทำการรุกรานยังดินแดนจักรวรรดิโรมันตะวันออก (จักรวรรดิไบแซนไทน์) ซึ่งประสบผลสำเร็จในฝั่งตะวันตก พระองค์ยังทรงนำทัพเข้าไปยังดินแดนกอล (ประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) ไปจนถึงออร์เลอ็อง ก่อนที่พระองค์จะทรงพ่ายแพ้ในยุทธการที่ชาลง (Battle of Chalons)

พระองค์ได้รุกรานต่อไปยังประเทศอิตาลี ได้ทำลายเมืองทางเหนือจนพินาศ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกรุงโรมได้ พระองค์ได้ทรงดำริที่จะรุกรานโรมันอีกครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากได้เสด็จสวรรคตลงในปี ค.ศ. 453 ภายหลังการสวรรคตของอัตติลา ได้ส่งผลให้ อาร์ดาริก ซึ่งเดิมเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของอัตติลา ได้ทำการแย่งชิงอำนาจกับพระโอรสของอัตติลาขึ้น ใน ยุทธการที่เนเดา (Battle of Nedao) ส่งผลให้อิทธิพลของจักรวรรดิฮันได้ค่อยๆยุติลงในดินแดนยุโรปตะวันออก ชาวยุโรปตะวันตกมองพระองค์ ว่าป่าเถื่อน ทารุณและไร้ความปราณี แต่ในฮังการี, ตุรกี และประเทศในกลุ่มเตอร์กิกต่าง ๆ ในเอเชีย พระองค์ทรงได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษ นักประวัติศาสตร์และนักบันทึกเหตุการณ์บางท่านบรรยายพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และผู้ทรงคุณธรรม นอกจากนั้นแล้วอัตติลาก็ยังทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตำนานของชาวนอร์สเรื่อง Atlakviða, Volsunga saga และ Atlamál[2]

อัตติลาได้รับการบรรยายโดยนักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนสว่าทรงมี "พระวรการที่เตี้ย, พระอุระกว้างและพระเศียรใหญ่; พระเนตรเล็ก, พระมัสสุบางและประปรายด้วยสีเทา; พระนาสิกแบน และ พระฉวีคล้ำ แสดงถึงที่มาของพระองค์..."[3] นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นที่รู้จักในเรื่องของ "ดาบแห่งอัตติลา" ที่ได้รับการแต่งขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์โรมันนาม พริสคัส[4] (Priscus) อีกด้วย

เบื้องหลัง

ชาวฮันเป็นชนร่อนเร่สันนิษฐานว่าจะมาจากบริเวณที่ไกลออกไปทางแม่น้ำวอลกา ที่อพยพเข้ามาในยุโรปราวปี ค.ศ. 370 และมาก่อตั้งจักรวรรดิขนาดใหญ่ขึ้นในยุโรป ยุทธวิธีสำคัญในการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงของฮันคือความสามารถในการยิงธนูจากหลังม้าที่กำลังวิ่งอย่างรวดเร็วได้อย่างแม่นยำ ชนฮันอาจจะสืบเชื้อสายมาจากชาวซฺยงหนูที่มีถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีนก่อนหน้านั้น[5] และการอพยพเข้ามาในยุโรปอาจจะเป็นการขยายตัวครั้งแรกของกลุ่มชนเตอร์กิกเข้ามาใน ยูเรเชีย[6][7][8][9][10] ที่มาและภาษาของชนฮันเป็นหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ทฤษฎีปัจจุบันกล่าวว่าอย่างน้อยก็ผู้นำของชนฮันพูดภาษากลุ่มเตอร์กิก

กษัตริย์คู่

จักรวรรดิฮันมีอาณาบริเวณตั้งแต่ทุ่งหญ้าสเตปป์ในเอเชียกลางทางตะวันออกไปจนถึงเยอรมนีปัจจุบันทางตะวันตก และแม่น้ำดานูบทางตอนใต้ไปจนจรดทะเลบอลติกทางตอนเหนือ

การเสียชีวิตของขุนศึกรูจิลา (หรือ รูอา หรือ รูกา) ในปี ค.ศ. 434 ทำให้หลานสองคน อัตติลา และ เบลดา (หรือ Buda) บุตรชายของน้องชาย มุนด์ซุค (ฮังการี: Bendegúz, ตุรกี: Boncuk) มีอำนาจปกครองกลุ่มชนฮันทั้งหมด ในเวลาที่อัตติลาและเบลดาขึ้นครองราชย์ ชนฮันกำลังทำการเจรจาต่อรองกับราชทูตของจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 2แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ขอตัวคนทรยศ (อาจจะเป็นขุนนางที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของอัตติลาและเบลดา) ที่หลบหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารในบริเวณที่เป็นจักรวรรดิไบแซนไทน์ ปีต่อมาอัตติลาและเบลดาก็ไปพบกับคณะราชทูตที่มาร์กุส (ปัจจุบันโพซาเรอวัค) โดยทุกคนต่างก็ยังคงนั่งอยู่บนหลังม้าตามประเพณีของฮัน[11] การต่อรองประสบความสำเร็จโดยการลงนามในสนธิสัญญา: ฝ่ายไบแซนไทน์ไม่แต่จะตกลงคืนตัวผู้ลี้ภัยแต่ยังเพิ่มบรรณาการเป็นสองเท่าจากเดิมเป็นทอง 350 โรมันปอนด์ (ราว 115 กิโลกรัม), เปิดตลาดไบแซนไทน์แก่พ่อค้าฮัน, และจ่ายค่าไถ่เป็นจำนวน 8 เหรียญโซลิดุสสำหรับทหารแต่ละคนที่ถูกจับโดยชนฮัน ฝ่ายฮันเมื่อพอใจในข้อตกลงในสนธิสัญญาก็รื้อค่ายออกจากไบแซนไทน์กลับไปยังบ้านเมืองที่ไปตั้งอยู่ในทุ่งราบใหญ่ฮังการี เพื่ออาจจะไปรวมรวมตัวและเสริมสร้างความมั่นคงแก่จักรวรรดิ จักรพรรดิธีโอโดเซียสจึงทรงฉวยโอกาสในช่วงเดียวกันในการเสริมสร้างกำแพงเมืองคอนสแตนติโนเปิลให้แข็งแรงขึ้น, สร้างกำแพงทะเลป้องกันตัวเมืองคอนสแตนติโนเปิลขึ้นเป็นครั้งแรก และเสริมสร้างระบบการป้องกันตามชายแดนริมฝั่งแม่น้ำดานูบเพิ่มขึ้น

ชนฮันออกไปจากจักรวรรดิโรมันตะวันออกอยู่สองสามปี ขณะที่นำกองทัพไปรุกรานจักรวรรดิแซสซานิด ความพ่ายแพ้ในอาร์มีเนียต่อจักรวรรดิซาสซานิยะห์ทำให้ฮันต้องล้มเลิกแผนการรุกรานและหันกลับมาให้ความสนใจต่อยุโรปใหม่ ในปี ค.ศ. 440 กองทัพฮันจำนวนมหาศาลก็มาปรากฏตัวที่พรมแดนของจักรวรรดิโรมัน โจมตีพ่อค้าที่ตลาดบนฝั่งเหนือของแม่น้ำดานูบที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา จากนั้นก็ข้ามแม่น้ำดานูบทำลายเมืองต่าง ๆ ของอิลลิเรียและป้อมตามริมฝั่งแม่น้ำ ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์พริสคัสที่รวมทั้งวิมินาเซียมซึ่งเป็นเมืองเอกของบริเวณโมเซียในอิลลิเรีย การรุกรานเริ่มต้นขึ้นที่มาร์กุสเพราะเมื่อฝ่ายไบแซนไทน์กำลังเจรจาเกี่ยวกับการส่งตัวบิชอปที่ดูหมิ่น บิชอปก็หนีไปหาชนฮันและไปบอกความลับเกี่ยวกับเมืองให้กับชาวฮัน

ชนฮันในยุทธการกับชนอาลัน, โยฮันน์ เนโพมุค ไกเกอร์ ค.ศ. 1873

ขณะที่ฮันประสบกับความสำเร็จในการโจมตีระบบการป้องกันทางทหารตามริมฝั่งแม่น้ำดานูบ แวนดัลภายใต้การนำของเจนเซอริคยึดจังหวัดทางตะวันตกของจักรวรรดิโรมันในแอฟริกาและเมืองหลวงคาร์เธจ ในปี ค.ศ. 440 และชาห์ยัซเดอเกิร์ดที่ 2 แห่งเปอร์เซียแซสซานิดก็เข้ารุกรานอาร์มีเนียในปี ค.ศ. 441 เมื่อฮันทำลายระบบการป้องกันในคาบสมุทรบอลข่านได้แล้วก็เท่ากับเป็นการเปิดทางทางด้านอิลลิเรียเข้าไปทางคาบสมุทรบอลข่านไปโจมตีแวนดัลในแอฟริกา (ซึ่งเป็นมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดทางตะวันตกของจักรวรรดิโรมันและเป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของโรม) ฮันเริ่มทำการโจมตีในปี ค.ศ. 441 หลังจากปล้นทำลายมาร์กัสและวิมินาเซียมก็เข้ายึดซินจิดูนัม (ปัจจุบันเบลเกรด) และ เซอร์เมียมก่อนที่จะหยุดยั้งการโจมตีชั่วคราว ระหว่างนั้นจักรพรรดิธีโอโดเซียสก็เรียกกองทัพมาจากซิซิลีและมีพระบรมราชโองการให้ตีเหรียญกษาปณ์เพิ่มขึ้นเพื่อใช้สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินสงครามกับชนฮัน เมื่อเตรียมตัวแล้วพระองค์ก็มีพระราชดำริว่าคงจะเป็นการปลอดภัยพอที่จะปฏิเสธข้อเรียกร้องของกษัตริย์ฮัน

อัตติลาโต้ตอบด้วยการรณรงค์ทางทหาร ในปี ค.ศ. 443.[12] ในการโจมตีตามริมฝั่งแม่น้ำดานูบ ชนฮันก็ทำลายศูนย์กลางทางด้านการทหารที่ราเทียราและล้อมเมืองไนส์ซัส (นิสปัจจุบัน) ได้โดยใช้ไม้กระทุ้งกำแพง (Battering ram) และหอโจมตีเมือง เคลื่อนที่ (Siege tower) —ซึ่งเป็นอาวุธทางยุทธการใหม่ของชนฮัน—จากนั้นก็ไล่โจมตีเรื่อยไปทางแม่น้ำนิซาวา ยึดเมืองแซร์ดิคา (โซเฟียปัจจุบัน), ฟิลิปโพโพลิส (พลอฟดิฟ) และ อาร์คาดิโอโพลิส กองทัพฮันปะทะและทำลายกองทัพโรมันนอกเมืองคอนสแตนติโนเปิลแต่ถูกหยุดยั้งด้วยกำแพงซ้อนของกรุงคอนสแตนติโนเปิล กองทัพกองที่สองของโรมันพ่ายแพ้ไกล้กับคาลลิสโพลิส (กาลิโปลี) จักรพรรดิธีโอโดเซียสไม่ทรงมีทางเลือกนอกจากจะทรงยอมแพ้โดยการส่งอนาโทเลียสไปเจรจาสงบศึก ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทารุณยิ่งขึ้นกว่าฉบับเดิม ธีโอโดเซียสทรงตกลงส่งทองจำนวนกว่า 6,000 โรมันปอนด์ (ราว 2000 กิโลกรัม) เป็นค่าเสียหายที่ทรงละเมิดข้อตกลงระหว่างการรุกราน, ส่วนบรรณาการประจำปีขึ้นเป็นสามเท่าเป็นทอง 2,100 โรมันปอนด์ (ราว 700 กิโลกรัม) และค่าไถ่ขึ้นเป็นจำนวน 12 เหรียญโซลิดุสสำหรับทหารแต่ละคนที่ถูกจับโดยชนฮัน

เมื่อได้ตามข้อเรียกร้องแล้ว กษัตริย์ฮันก็ถอยทัพกลับไปในจักรวรรดิของตนเอง จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนส (หลังจากพริสคัส) ในช่วงที่สงบสุขหลังจากที่ฝ่ายฮันถอยจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ (อาจจะราว ค.ศ. 445) เบลดามาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการล่าสัตว์ อัตติลาจึงกลายเป็นผู้นำคนเดียวเท่านั้นของชนฮัน[13]

การปกครองโดยพระองค์เอง

ภาพ “งานเลี้ยงของอัตติลา” โดยจิตรกรฮังการีมอร์ ตัน ที่วาดจากชิ้นส่วนของงานของพริสคัส

ในปี ค.ศ. 447 อัตติลานำกองทัพลงทางใต้เข้าไปในจักรวรรดิโรมันตะวันออกผ่านทางโมเซีย ไปปะทะกับกองทัพโรมันภายใต้การนำของขุนพลกอธอาร์เนจิสคลุสในยุทธการที่อูทัส ฝ่ายโรมันได้รับความพ่ายแพ้ต่ออัตติลา กองทัพฮันที่ไม่มีผู้ใดต่อต้านก็ทำการโจมตีทำลายเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทรบอลข่านไปจนถึงเธอร์โมไพเล คอนสแตนติโนเปิลรอดมาได้โดยความช่วยเหลือของเฟลเวียสคอนสแตนตินัสผู้เป็นผู้จัดการสร้างกำแพงเมืองใหม่หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และในบางจุดก็สร้างเสริมแนวป้องกันใหม่หน้าแนวเดิมที่มีอยู่ หลักฐานของการรุกรานครั้งนี้ที่บันทึกโดยคัลลินิคัสยังคงมีเหลืออยู่ให้อ่านว่า:

อนารยชนฮันที่อยู่ในเธรซขยายตัวมีอำนาจมากขึ้นจนสามารถยึดเมืองต่าง ๆ กว่าร้อยเมือง และเกือบจะเสียเมืองคอนสแตนติโนเปิลจนประชากรต้องหนีออกจากเมือง … ในเมืองก็มีการเข่นฆ่าทำร้ายกันอย่างแพร่จนไม่อาจจะนับจำนวนได้ ที่น่าสลดใจคือเมื่อ[ฮัน]บุกเข้าไปในโบสถ์หรืออารามและเข่นฆ่านักบวชและสตรีไปเป็นจำนวนมากมาย[14]

ทางตะวันตก

ในปี ค.ศ. 450 อัตติลาก็ประกาศความตั้งใจที่โจมตีราชอาณาจักรตูลูสวิซิกอธผู้มีอำนาจ โดยหันไปทำสัญญาพันธมิตรทางทหารกับจักรพรรดิวาเล็นติเนียนที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก เดิมอัตติลามีความสัมพันธ์อันดีกับจักรวรรดิโรมันตะวันตกและประมุข “โดยพฤตินัย” ของจักรวรรดิ--เฟลเวียส เอเทียส ผู้ที่หนีไปลี้ภัยอยู่กับชาวฮันอยู่ระยะหนึ่งในปี ค.ศ. 433 และได้รับการช่วยเหลือทางการทหารจากอัตติลาในการต่อสู้กับกอธและบากอแด (Bagaudae) จนได้ตำแหน่งเกียรติยศ “Magister militum”(ผู้บัญชาการนายทหาร) ในตะวันตก นอกจากนั้นแล้วบรรณาการและการติดต่อทางการทูตโดยเจนเซอริคผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อก็อาจจะมีอิทธิพลในการตัดสินใจของอัตติลาด้วย

แต่ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 450 จัสตา กราตา โฮโนเรีย พระขนิษฐาของจักรพรรดิวาเล็นติเนียนผู้พยายามหนีจากการที่จะต้องสมรสกับสมาชิกวุฒิสภาโรมันก็ส่งสาส์นถึงอัตติลาพร้อมกับแหวนหมั้นเพื่อของร้องให้ช่วย โฮโนเรียอาจจะมิได้ตั้งใจที่เสนอการแต่งงาน แต่อัตติลาตีความหมายของการสื่อสารดังว่าและยอมตกลง โดยขอดินแดนครึ่งหนึ่งของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเป็นสินสอดทองหมั้น เมื่อจักรพรรดิวาเล็นติเนียนทราบแผน แทนที่จะทรงสั่งให้ฆ่าโฮโนเรีย พระองค์ก็ทรงสั่งเนรเทศตามคำร้องของของพระราชมารดากาลลา พลาซิเดีย และแล้วก็ทรงส่งพระราชสาส์นไปถึงอัตติลาปฏิเสธความถูกต้องของการขอแต่งงานของโฮโนเรียอย่างแข็งขัน แต่อัตติลาผู้ทรงตั้งใจมานานแล้วที่จะรุกรานโรมก็ทรงส่งราชทูตไปยังราเวนนาเพื่อไปประกาศความบริสุทธิ์ของโฮโนเรีย และยืนยันว่าการขอแต่งงานของโฮโนเรียเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และพระองค์จะทรงเดินทางมารับโฮโนเรียผู้ที่ทรงถือว่าเป็นของพระองค์อย่างถูกต้อง ในปี ค.ศ. 451 อัตติลาจึงใช้ข้ออ้างนี้เดินทางเข้ามารุกรานโรมในฐานะ “สามีผู้ถูกทรยศ” แต่โรมรอดตัวมาได้วยความช่วยเหลือของวิซิกอธ อัตติลาจึงไม่ได้ช่วยโฮโนเรีย และในที่สุดโฮโนเรียก็ถูกส่งตัวกลับโรม แต่จักรพรรดิวาเล็นติเนียนทรงพยายามเลี่ยงข้อครหาโดยมิได้ทรงสั่งให้ประหารชีวิต แต่ก็ไม่ทรงต้องการที่จะเนรเทศโฮโนเรียอีก ในที่สุดโฮโนเรียก็ต้องสมรสกับสมาชิกวุฒิสภาเฟลเวียส บัสซัส เฮอร์คิวลานัสผู้ที่พยายามหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่แรก

จัสตา กราตา โฮโนเรียสวมมงกุฎเป็นออกัสตัสโดยพระหัตถ์ของพระเจ้า
เส้นทางของกองทัพฮันที่เข้าไปรุกรากอล

หลังจากการเสียชีวิตของประมุขของแฟรงค์อัตติลาก็เข้าไปมีบทบาทในความขัดแย้งเกี่ยวกับผู้สืบครองดินแดน อัตติลาสนับสนุนบุตรชายคนโต ขณะที่เฟลเวียส เอเทียสสนับสนุนบุตรชายคนรอง[15] อัตติลารวบรวมบรรดาดินแดนประเทศราชที่บางส่วนรวมทั้ง—เกปิด, ออสโตรกอธ, รูจิอี, ซิริอิ, Heruls, ทูริงเกียน, อาลัน, ชาวเบอร์กันดีและเริ่มยกทัพไปทางตะวันตก ในปี ค.ศ. 451 ก็เดินทัพไปถึงเบจิคาที่นักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนสประมาณจำนวนที่อาจจะเกินเลยไปถึงครึ่งล้านคน นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไบแซนไทน์เจ.บี. เบอรีเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของอัตติลาในการเดินทัพไปทางตะวันตกก็เพื่อทำการขยายดินแดน – ซึ่งขณะนั้นก็เป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งที่สุดอยู่แล้วบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป – เข้าไปในกอลไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก.[16]

เมื่อวันที่ 7 เมษายนอัตติลายึดเมืองเมท์ซได้ เมืองอื่น ๆ ที่ถูกโจมตีทราบได้จากวรรณกรรมนักบุญที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อสรรเสริญพระสังฆราชองค์ต่าง ๆ : นักบุญนิคาเซียสแห่งแรงส์ถูกสังหารหน้าแท่นบูชาในโบสถ์ที่แรงส์; นักบุญเซอร์วาเทียสกล่าวกันว่าช่วยเมืองทองเกอเรนให้รอนมาได้ด้วยการสวดมนต์ เช่นเดียวกับนักบุญเจอเนอวีฟที่ช่วยให้ปารีสรอดมาได้[17] ส่วนนักบุญลูปัสแห่งทรัวส์ก็ช่วยให้เมืองทรัวส์รอดมาได้โดยการพบปะกับอัตติลาโดยตรง[18]

เฟลเวียส เอเทียสหันไปเป็นปฏิปักษ์ต่ออัตติลาโดยรวบรวมกำลังจากกลุ่มชาวแฟรงก์, ชาวเบอร์กันดี และชาวเคลต์ การเคลื่อนไหวของจักรพรรดิอาวิตัส และการคืบเข้าไปทางตะวันตกของอัตติลาทำให้พระมหากษัตริย์วิซิกอธพระเจ้าธีโอดอริคที่ 1 หันไปเป็นพันธมิตรกับโรมัน กองทัพร่วมเดินทางไปถึงออร์เลอองส์ก่อนหน้างกองทัพของอัตติลา[19] ซึ่งทำให้มีโอกาสหยุดยั้งความคืบหน้าของอัตติลาได้ เฟลเวียส เอเทียสไล่ตามกองทัพของชาวฮันจนไปพบกันที่คาทาลอนัม (ปัจจุบันชาลง-อ็อง-ช็องปาญ) กองทัพของทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันในยุทธการชาลงส์ ที่ฝ่ายวิซิกอธ-โรมันได้รับชัยชนะแต่เป็นชัยชนะแบบที่เรียกว่า “ชัยชนะเพียร์ริค” (Pyrrhic victory) หรือชัยชนะที่ผู้มีชัยได้รับความเสียหายอย่างหนัก พระเจ้าธีโอดอริคที่ 1 สิ้นพระชนม์ในสนามรบและเฟลเวียส เอเทียสเองก็ไม่สามารถฉวยประโยชน์จากการได้รับชัยชนะ นักประวัติศาสตร์เอ็ดเวิร์ด กิบบอน และเอ็ดเวิร์ด ครีซีย์มีความเห็นว่าเอเทียสอาจจะพะวงถึงผลสะท้อนที่ได้รับจากชัยชนะอันท่วมท้นของวิซิกอธ พอกับความกลัวที่จะพ่ายแพ้ เฟลเวียส เอเทียสอาจจะพอใจกับผลของสงครามตรงที่ พระเจ้าธีโอดอริคที่ 1 สิ้นพระชนม์, อัตติลาต้องถอยทัพอย่างระส่ำระสาย และโรมันดูเหมือนเป็นผู้ได้รับชัยชนะ

การรุกรานอิตาลีและการสิ้นพระชนม์

การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอกับอัตติลา” โดยราฟาเอล

อัตติลากลับมาอ้างสิทธิในการแต่งงานกับจัสตา กราตา โฮโนเรียอีกครั้งในปี ค.ศ. 452 ในขณะเดียวกันก็เที่ยวรุกรานและทำลายเมืองต่าง ๆ ระมาตามทาง ที่เป็นผลให้ผู้คนอพยพหนีไปอยู่บนเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะในลากูนเวนิส เมืองที่กองทัพของอัตติลาทำลายและเผารวมทั้งอควิเลเอียที่ถูกทำลายจนสิ้นซาก ตำนานกล่าวว่าอัตติลาถึงกับสร้างป้อมบนเนินเหนือเมืองอควิเลเอียเพื่อนั่งดูเพลิงเผาเมืองที่ต่อมากลายเป็นเมืองอูดิเนซึ่งยังคงมีซากปราสาทที่กล่าวกันว่าสร้างโดยอัตติลาอยู่ เฟลเวียส เอเทียสผู้ไม่มีหนทางที่ปะทะกองทัพของอัตติลาโดยตรงได้พยายามก่อกวนเพื่อให้ความคืบหน้าช้าลง ในที่สุดอัตติลาก็หยุดทัพที่แม่น้ำโป เมื่อมาถึงช่วงนี้กองทัพของอัตติลาก็อาจจะประสบกับโรคภัยไข้เจ็บซึ่งทำให้ต้องหยุดการรุกราน

ฝ่ายจักรพรรดิวาเล็นติเนียนที่ 3 ก็ทูลขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 1 พร้อมด้วยกงสุลอาวิเอนัสและพรีเฟ็คท์ทริเจเทียสไปพบกับอัตติลาที่มินชิโอไม่ไกลจากมานตัว พระสันตะปาปาลีโอทรงได้รับสัญญาจากอัตติลาว่าจะถอยทัพจากอิตาลีและทำการเจรจาสันติภาพกับจักรพรรดิวาเล็นติเนียน[20] นักบุญพรอสเพอร์แห่งอาควิเทนบันทึกการพบปะครั้งนี้ที่น่าเชื่อถือได้ไว้อย่างสั้น ๆ แต่คำบรรยายโดยผู้ไม่ทราบนามต่อมา[21] เป็น “ตำนานที่ราฟาเอลนำไปวาด และอัลการ์ดีนำไปสลัก” (ดังที่เอ็ดเวิร์ด กิบบอนกล่าว) บันทึกว่าพระสันตะปาปาด้วยความช่วยเหลือโดยนักบุญปีเตอร์ และ นักบุญพอลแห่งทาซัสหว่านล้อมให้[อัตติลา]ถอยทัพออกจากเมือง และสัญญากับอัตติลาว่าถ้าถอยไปอย่างสงบสุขแล้ว ทายาทก็จะได้รับมงกุฎศักดิ์สิทธิ์แห่งฮังการี[22] พริสคัสบันทึกว่าการสิ้นพระชนม์ของอาลาริคไม่นานหลังจากเข้าตีเมืองและปล้นสดมทำลายกรุงโรมในปี ค.ศ. 410 อาจเป็นลางที่ทำให้อัตติลาต้องหยุดคิดอยู่บ้างก็เป็นได้

ภาพการพบปะระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 1 และอัตติลาจาก “บันทึกพงศาวดารภาพวิจิตรแห่งเวียนนา” (Vienna Illuminated Chronicle) ราว ค.ศ. 1360

หลังจากถอยทัพออกจากอิตาลีกลับไปยังพระราชวังทางอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำดานูบ อัตติลาก็วางแผนที่จะเข้าโจมตีคอนสแตนติโนเปิลอีกครั้งเพื่อไปทวงบรรณาการที่จักรพรรดิมาร์เชียนทรงสั่งให้ยุติ (จักรพรรดิมาร์เชียนผู้ครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิธีโอโดเซียสมีพระบรมราชโองการให้ยุติการส่งบรรณาการเมื่อปลายปี ค.ศ. 450 ขณะที่อัตติลาไปทำการรณรงค์ทางทหารอยู่ทางตะวันตก นอกจากนั้นการรุกรานในคาบสมุทรบอลข่านหลายครั้งของอัตติลาก็ทำให้ไม่เหลืออะไรให้ปล้นสดมอีกเท่าใดนัก) แต่อัตติลามาเสด็จสวรรคตเมื่อต้นปี ค.ศ. 453 เสียก่อน โดยทั่วไปแล้วจากพริสคัสกล่าวว่าในการเลี้ยงเพื่อเฉลิมฉลองการแต่งงานครั้งล่าสุดกับสตรีสาวสวยอิลดิโค (ถ้าเป็นชื่อที่ไม่ได้แผลงมาก็อาจจะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากกอธ) [23] อัตติลามีอาการตกเลือดกำเดาอย่างหนัก และสำลักจนสิ้นพระชนม์ อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าพระองค์ประชวรด้วยเลือดออกภายในหลังจากที่เสวยน้ำจัณฑ์ไปเป็นอันมาก ด้วยอาการที่เรียกว่า หลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร (esophageal varices) เมื่อหลอดเลือดขยายตัวในบริเวณตอนล่างของหลอดอาหารแตกที่ทำให้เสียชีวิตจากการเสียเลือด[24]

อีกทฤษฎีหนึ่งที่บันทึกราว 80 ปีหลังจากการเสด็จสวรรคตโดยนักบันทึกประวัติศาสตร์โรมันเคานท์มาร์เซลลินัสกล่าวว่า “อัตติลากษัตริย์ของชนฮันและผู้ทำลายเมืองต่าง ๆ ในยุโรป ทรงถูกแทงโดยมีดของพระมเหสี”[25]ตำนานโวลซุงกา” (Volsunga saga) และ “กวีนิพนธ์เอดดา” (Poetic Edda) ก็อ้างว่าพระเจ้าอัตลิ (อัตติลา) เสด็จสวรรคตด้วยน้ำมือของพระมเหสีโกดรุนเช่นกัน[26] แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ถือว่าสองเรื่องหลังนี้เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือมากไปกว่าคำบอกเล่า และเลือกที่จะเชื่อที่บันทึกของพริสคัส แต่เมื่อไม่นานมานี้บันทึกของพริสคัสก็ได้รับการวิจัยโดยไมเคิล เอ. แบ็บค็อค[27] จากรายละเอียดทางนิรุกติศาสตร์ แบ็บค็อคสรุปว่าบันทึกของพริสคัสว่าอัตติลาเสด็จสวรรคตโดยโรคธรรมชาติเป็นการ “อำพราง” และกล่าวว่าจักรพรรดิมาร์เชียนผู้ครองจักรวรรดิโรมันตะวันออกระหว่าง ค.ศ. 450 ถึง ค.ศ. 457 ที่เป็นแรงดันทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จสวรรคตของอัตติลา

จอร์ดาเนส กล่าวว่า: “ผู้ยิ่งใหญ่เหนือนักการสงครามทั้งปวงควรจะได้รับความโศรกเศร้าไม่ใช่โดยการตีอกชกหัวอย่างสตรี และการร้องไห้ แต่ด้วยเลือดเนื้อของลูกผู้ชาย” ทหารม้าของพระองค์ควบม้ารอบกระโจมไหมที่เป็นที่ตั้งพระศพของอัตติลาและขับเพลงอาลัย (Dirge) จากบันทึกของนักเขียนชาวโรมันคาสซิโอโดรัส และ จอร์ดาเนส: “Who can rate this as death, when none believes it calls for vengeance?”

หลังจากนั้นก็มีการฉลอง “สตราวา” (strava หรือ การไว้อาลัย) ตรงที่ฝังพระบรมศพโดยมีการเลี้ยงใหญ่ ตามตำนานแล้วกล่าวกันว่าอัตติลาได้รับการฝังในโลงซ้อนสามชั้นที่ทำด้วยทอง, เงิน และ เหล็ก พร้อมด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงได้มาจากการรุกราน ข้าราชบริพารทำการเบี่ยงส่วนหนึ่งของแม่น้ำ และฝังพระศพลงในก้นแม้น้ำ หลังจากนั้นก็ถูกสังหารเพื่อไม่ให้ผู้ใดทราบสถานที่ที่ฝังพระศพ

พระราชโอรสของอัตติลาเอลแล็ค (Ellac) ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทายาท, เดนจิซิค และ แอร์นัคห์ต่อสู้กันในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนระหว่างกันโดยเฉพาะการแบ่งรัฐประเทศราชต่าง ๆ ฉะนั้นจักรวรรดิจึงถูกแบ่งแยก ต่อสู้ระหว่างกัน และในที่สุดก็แตกสลายในปีต่อมาในยุทธการเนดาโอโดยออสโตรกอธ และเกปิดภายใต้การนำของอาร์ดาริค บันทึกของจอร์ดาเนสกล่าวว่าอาร์ดาริคผู้เป็นประมุขของอาณาจักรบริวารอันสำคัญของอัตติลาทรยศต่อพี่น้องเพราะมีความรู้สึกว่าชาติของตนถูกปฏิบัติเยี่ยงทาส

ลูกและญาติพี่น้องของอัตติลาหลายคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในนามและในกิจการที่กระทำ แต่ไม่นานเชื้อสายของอัตติลาก็หายไปโดยไม่อาจจะสืบย้อนหลังได้ แต่กระนั้นนักพงศาวลีวิทยา (Genealogist) ก็ยังพยายามที่จะปะติดปะต่อญาติวงศ์ของประมุขหลายคนในยุคกลาง แหล่งหนึ่งที่พอจะน่าเชื่อถืออ้างว่าข่านแห่งบัลแกเรียสืบเชื้อสายมาจากอัตติลา นอกจากนั้นก็มีการพยายามลำดับญาติวงศ์ของชาร์เลอมาญไปยังอัตติลาแต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นที่แน่นอน

รูปร่างหน้าตา

อัตติลาจากภาพประกอบในหนังสือ “กวีนิพนธ์เอดดา

ลักษณะรูปร่างหน้าตาของอัตติลาไม่มีหลักฐานจากผู้ที่ได้พบอัตติลาด้วยตนเองหลงเหลืออยู่ให้ทราบ แต่มีหลักฐานมือสองจากโดยนักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนสผู้อ้างว่าพริสคัสบรรยายรูปลักษณะของอัตติลาว่า:

พระวรการที่เตี้ย, พระอุระกว้างและพระเศียรใหญ่; พระเนตรเล็ก, พระมัสสุบางและประปรายด้วยสีเทา; พระนาสิกแบน และ พระฉวีคล้ำ แสดงถึงที่มาของพระองค์..."[28]

อัตติลาได้รับการบรรยายในประวัติศาสตร์ตะวันตกว่าเป็น “Flagellum dei” (พระเจ้าแห่งความหายนะ) และพระนามกลายเป็นคำพ้องกับกับความทารุณโหดร้ายของอนารยชน ความเชื่อบางส่วนอาจจะมีรากฐานมาจากความสับสนระหว่างพระองค์กับขุนศึกจากทุ่งหญ้าสเตปป์ต่าง ๆ เช่นเจงกีส ข่าน และ ตีมูร์ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผู้มีสติปัญญา, กระหายเลือด, ทารุณ และชอบรุกรานและปล้นทำลาย แต่อันที่จริงแล้วพระราชบุคคลิกของพระองค์นั้นซับซ้อนกว่าที่ว่า ชนฮันในสมัยอัตติลาในช่วงนั้นมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมโรมันอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนใหญ่ทางโฟเดอราติ (Foederati) ซึ่งเป็นชนเจอร์มานิคตามพรมแดน เมื่อมาถึงสมัยจักรพรรดิธีโอโดเซียสในปี ค.ศ. 448 พริสคัสผู้เป็นราชทูตก็สามารถบ่งได้ว่าชนฮันพูดภาษาหลักอยู่สองภาษา--ภาษากอทิก และ ภาษาฮัน นอกจากนั้นพริสคัสก็ยังกล่าวถึงนักโทษจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ปรับตัวไปเป็นชนฮันและไม่แสดงความต้องการที่จะกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนอีก และคำบรรยายของความถ่อมพระองค์และการทรงไม่มีพิธีรีตองก็ดูจะกำกวมในเชิงชื่นชม

ที่มาของพระนามอัตติลาไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่นอน ทางด้านศัพทมูลวิทยามีการเสนอว่าหมายถึง “ผู้ปกครองเอกภพ” (universal ruler) ถ้ามาจากภาษาฮันซึ่งเป็นภาษาที่มีรากมาจากดานูบ-บัลแกเรีย[29] หรืออาจจะมาจากภาษากลุ่มเตอร์กิก “Atyl/Atal/Atil/Itil” ที่แปลว่าน้ำ หรือ แม่น้ำ (และเป็นชื่อโบราณของแม่น้ำวอลกา) โดยเพิ่มสร้อยคำวิเศษณ์ “-ly” (เปรียบเทียบกับตำแหน่งสำคัญของเตอร์กิกในยุคกลางว่า “atalyk” - “อาวุโสเช่นบิดา”) [30][31][32] นักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวโปแลนด์เรียกอัตติลาว่า “Aquila” ที่มาจากภาษาลาตินว่า “aqua” ที่แปลว่า “น้ำ” อีกทฤษฎีหนึ่งก็ว่าเป็นชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับคำภาษาฮังการีว่ “ítélet” ที่แปลว่า “การตัดสิน” หรือกอธอาจจะนำคำว่า “atta” ที่แปลว่า “พ่อ” ของภาษาเตอร์กิกโบราณมาใช้ และมาเพิ่มสร้อย “-ila” ต่อท้าย[33] การสะกดชื่อ “Attila” ก็มีด้วยกันหลายอย่างที่รวมทั้ง “Atli” หรือ “Atle” ในภาษานอร์ส, “Ætla” “Attle” หรือ “Atlee” ในภาษาอังกฤษ, “Attila/Atilla/Etele” ในภาษาฮังการี, “Etzel” ในภาษาเยอรมัน, หรือ “Attila”, “Atila” หรือ “Atilla” ในภาษาตุรกีปัจจุบัน

อ้างอิง

  1. Rein Taagepera "Size and Duration of Empires: Growth-Decline Curves, 600 B.C. to 600 A.D.", Social Science History Vol. 3, 115–138 (1979)
  2. Dronke, Ursula (Ed. & trans.) (1969). The Poetic Edda, vol. I, Heroic Poems. Oxford: Clarendon. ISBN 0-19-811497-4.
  3. The Goths by Jordanes. Translated by Charles Gaius Mierow. Chapter 35: Attila the Hun. http://www.romansonline.com/Src_Frame.asp?DocID=Gth_Goth_35 เก็บถาวร 2019-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. Jordanes, The Origin and Deeds of the Goths ch. XXXV (e-text) เก็บถาวร 2013-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)
  5. De Guignes, Joseph (1756–1758), Histoire générale des Huns, des Turcs, des Mongols et des autres Tartares
  6. "Transylvania through the age of migrations". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-24. สืบค้นเมื่อ 2009-10-17.
  7. Calise, J.M.P. (2002). 'Pictish Sourcebook: Documents of Medieval Legend and Dark Age History'. Westport, CT: Greenwood Press. p279, ISBN 0-313-32295-3
  8. Peckham, D. Paulston, C. B. (1998). Linguistic Minorities in Central and Eastern Europe. Clevedon, UK : Multilingual Matters. p100, ISBN 1-85359-416-4
  9. Canfield, R.L. (1991). Turko-Persia in Historical Perspective. Cambridge: Cambridge University Press. p49, ISBN 0-521-52291-9
  10. Frazee, C.A. (2002). Two Thousand Years Ago: The World at the Time of Jesus. Wm. B. Eerdmans
  11. Howarth, Patrick (1995). M1 Attila, King of the Huns. New York: Barnes & Noble Publishing. pp. 191–92. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  12. Cawthorne, Nigel (2004). Military Commanders. Enchanted Lion Books. p. 41.
  13. "Priscus of Panium: fragments from the Embassy to Attila". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-12-11. สืบค้นเมื่อ 2009-12-23.
  14. Callinicus, in his Life of Saint Hypatius
  15. The location and identity of these kings is not known and subject to conjecture.
  16. J.B. Bury, The Invasion of Europe by the Barbarians, lecture IX (e-text) เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  17. The vitae are summarized in Thomas Hodgkin, Italy and Her Invaders (New York: Russell & Russell, 1967 reprint of the original 1880–89 edition), volume II pp. 128ff.
  18. St. Lupus - Saints & Angels - Catholic Online
  19. Later accounts of the battle site the Huns either already within the city or in the midst of storming it when the Roman-Visigoth army arrived; Jordanes mentions no such thing. See Bury, ibid.
  20. "Pope St. Leo I (the Great)" in the 1913 Catholic Encyclopedia.
  21. Medieval Sourcebook, Leo I and Attila
  22. Chronicon Pictum, this is the first occasion when an artist presented an angel graphically
  23. Thompson, The Huns, p. 164.
  24. Man, Nigel (2006). Attila. Thomas Dunne Books. p. 264.
  25. Marcellinus Comes, Chronicon (e-text), quoted in Hector Munro Chadwick: The Heroic Age (London, Cambridge University Press, 1926), p. 39 n. 1.
  26. Volsunga Saga, Chapter 39 เก็บถาวร 2006-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; Poetic Edda, Atlamol En Grönlenzku, The Greenland Ballad of Atli
  27. Babcock, Michael A. The Night Attila Died: Solving the Murder of Attila the Hun, Berkley Books, 2005 ISBN 0-425-20272-0
  28. The Goths by Jordanes. Translated by Charles Gaius Mierow. Chapter 35: Attila the Hun. http://www.romansonline.com/Src_Frame.asp?DocID=Gth_Goth_35 เก็บถาวร 2019-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  29. Omeljan Pritsak (1982), "Hunnic names of the Attila clan" (PDF), Harvard Ukrainian Studies, VI: 444, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-05, สืบค้นเมื่อ 2009-12-23
  30. "Europe: The Origins of the Huns", by Kessler Associate, based on conversations with Kemal Cemal, Turkey, 2002
  31. The World of the Huns. Chapter IX. Language - O. Maenchen-Helfen
  32. "Gene Expression". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-14. สืบค้นเมื่อ 2009-12-23.
  33. Maenchen-Helfen, Otto (1973). "Chapter 9.4". The World of the Huns. University of California Press. ISBN 978-0520015968.

แหล่งข้อมูลหลัก

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อัตติลา

Kembali kehalaman sebelumnya