อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว
อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว[1][4][5] (ญี่ปุ่น: 借りぐらしのアリエッティ; โรมาจิ: Kari-gurashi no Arietti, 'The Borrower Arrietty'; อังกฤษ: The Secret World of Arrietty (สากล)[3][6][7] หรือ Arrietty (สหราชอาณาจักร)) เป็นอนิเมะแนวจินตนิมิตอิงนิยายเรื่อง ฅนตัวจิ๋ว (The Borrowers) ของ แมรี นอร์เทิน (Mary Norton)[8] มี ฮิโระมะซะ โยะเนะบะยะชิ (Hiromasa Yonebayashi) กำกับ, ฮะยะโอะ มิยะซะกิ (Hayao Miyazaki) ร่วมกับ เคโกะ นิวะ (Keiko Niwa) เขียนเรื่อง, และสตูดิโอจิบลิ สร้าง เนื้อหาว่าด้วย อาร์เรียตตี (Arrietty, ในชื่ออนิเมะพากย์ไทยสะกดว่า "อาริเอตี้") เด็กสาวซึ่งเป็น "พวกหยิบยืม" (Borrower) หรือคนตัวจิ๋วสูงสิบเซนติเมตร อาศัยใต้พื้นเรือนมนุษย์พร้อมครอบครัว และได้เป็นเพื่อนกับเด็กชายมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าบ้านและเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด อาร์เรียตตีกับครอบครัวต้องเอาตัวรอดเมื่อแม่บ้านพบเจอที่พำนักของพวกเธอ อันหมายความว่า เธอต้องลาจากบ้านที่รักนั้น ปลายปี 2552 สตูดิโอจิบลิแถลงโครงการสร้างอะมิเนะเรื่องดังกล่าว โดยว่า โยะเนะบะยะชิ ผู้กำกับเยาว์วัยที่สุดของสตูดิโอ เป็นผู้กำกับ ส่วนมิยะซะกินั้นจะดูแลการผลิตในฐานะผู้วางแผนการผลิต[9] จิบลิเลือกนักพากย์ได้ในเดือนเมษายน ปีถัดมา และได้เซซีล กอร์แบ็ล (Cécile Corbel) นักพิณชาวฝรั่งเศส สร้างสรรค์เพลงประกอบ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว ฉายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2553 และได้รับการสรรเสริญชื่มชมเป็นอันมาก โดยเฉพาะเรื่องภาพเคลื่อนไหวและเพลงประกอบ ทั้งทำรายได้มากกว่า 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นรายได้มากที่สุดในปีนั้น[10][3] อนิเมะเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันแห่งปีในการประกาศผลรางวัลอะแคเดมีญี่ปุ่น ครั้งที่ 34 ด้วย[11] สำหรับประเทศไทย เอ็ม พิคเจอร์ส นำอนิเมะเรื่องนี้เข้ามาฉายในสองแห่งเท่านั้น คือ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2554 ณ โรงภาพยนตร์ลิโด้ สยามสแควร์[1] และจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์[2] ส่วนในระดับโลก วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์กำหนดฉายตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป เนื้อเรื่องอนิเมะเรื่องนี้มี "คนตัวจิ๋ว" (tiny people) หรือมนุษย์สูงเพียงสิบเซนติเมตร และอาศัยใต้พื้นเรือนมนุษย์ทั่วไป เป็นหัวใจของเรื่องดุจเดียวกับนิยาย ในนิยายว่า คนตัวจิ๋วนั้นเดิมเป็นมนุษย์เช่นมนุษย์ทั่วไป แต่เพราะกลัวและตกใจง่าย ร่างกายจึงหดเล็กลงเรื่อย ๆ อนึ่ง เพราะตื่นคน เหล่าคนตัวจิ๋วจึงพยายามหลบซ่อนตัวเสมอ คนเหล่านี้เรียกตนเองว่า "พวกหยิบยืม" เพราะใช้ชีวิตอยู่ด้วยการหยิบยืมข้าวของของมนุษย์ธรรมดามาบริโภค ซึ่งอันที่จริงก็คือ ขโมยมา อย่างไรก็ดี บรรดาคนตัวจิ๋วไม่เรียกสิ่งที่ตนทำว่า "ขโมย" พวกเขาว่า แค่ "ยืม" เท่านั้น (แม้ไม่ "คืน" แต่ประการใด)[12] ในนิยาย เรื่องเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 24 แต่ในอะมิเมะ เรื่องดำเนินไปในปี 2553 ณ นครโคะงะเน ตะวันตกของกรุงโตเกียว ครั้งนั้น เด็กชายวัยสิบสี่ชื่อ โช เดินทางจากกรุงโตเกียวมายังบ้านที่มารดาเคยอาศัยเมื่อเด็ก เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับซะดะโกะ ยาย (น้องสาวของยาย) ระหว่างเตรียมตัวผ่าตัดอันเนื่องมาจากโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด เมื่อถึงและลงจากรถ โชเห็นแมวตัวหนึ่งกำลังจู่หาบางสิ่งในพุ่มไม้ แล้วแมวก็ผละไปเมื่อกาตัวหนึ่งทำร้ายมัน โชจึงเดินเข้าไปชมดูว่าแมวคุ้ยหาสิ่งอันใดกัน และเห็นเด็กหญิงตัวจิ๋วคนหนึ่ง คือ อาร์เรียตตี อายุสิบสี่ปี อาร์เรียตตีนั้นอาศัยอยู่ใต้พื้นเรือนของซะดะโกะพร้อมพ็อด บิดา และโฮมิลี มารดา คืนนั้น อาร์เรียตตีและพ็อด บิดา ขึ้นจากใต้เรือนเพื่อมา "ยืม" ทรัพย์สินมนุษย์ โดยพ็อดหมายใจจะสอนให้อาร์เรียตตีเรียนรู้วิธียืม จุดหมายแรกคือครัวเพื่อยืมน้ำตาลก้อน และเดินทะลุกำแพงครัวผ่านบ้านตุ๊กตาหลังหนึ่งเข้าสู่ห้องนอนของโชเพื่อยืมกระดาษทิชชู แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะได้กระดาษทิชชู อาร์เรียตตีสังเกตได้ว่าโชตื่นอยู่และมองมาที่เธอ จึงเตรียมหนี ด้วยอารามรีบร้อนจึงทำน้ำตาลก้อนหล่นสู่พื้นห้อง โชว่าอย่ากลัวเขาเลย ทว่า อาร์เรียตตีและบิดาละจากไปโดยทิ้งน้ำตาลก้อนนั้นไว้ รุ่งขึ้น โชเก็บน้ำตาลก้อนดังกล่าวมาส่งให้อาร์เรียตตีที่ช่องอากาศใต้พื้นเรือน แต่โฮมิลี มารดาของอาร์เรียตตี ว่า อย่าได้รับมา มิฉะนั้น มนุษย์จะรู้ว่ามีคนตัวจิ๋วอยู่ และจะเป็นอันตรายต่อคนตัวจิ๋วเอง กระนั้น อาร์เรียตตีแอบออกจากบ้าน แล้วไต่ขึ้นไปหาโชถึงห้องนอนเพื่อคืนน้ำตาลให้ และทั้งคู่ก็ได้เป็นเพื่อนกัน อาร์เรียตตีเจอะบิดาระหว่างทางกลับ พ็อดและโฮมิลีจึงตระหนักว่ามีมนุษย์รู้ถึงการดำรงอยู่ของพวกเขาแล้ว และตัดสินใจย้ายบ้านหนี ซะดะโกะ ยายของโช เล่าให้โชฟังว่า ปู่ยาตาทวดของโช รวมถึงมารดาของโชเอง ก็เคยเห็นคนตัวจิ๋วในบ้านนี้ จึงสั่งทำบ้านตุ๊กตาที่เห็นตั้งอยู่ในห้องนอนโชนั้นเป็นพิเศษ ด้วยหมายจะให้เหล่าคนตัวจิ๋วใช้เป็นที่อยู่อาศัย บ้านตุ๊กตานี้มีห้องครัวซึ่งใช้การได้จริงด้วย แต่คนตัวจิ๋วไม่ยอมปรากฏตัวอีกเลยนับแต่นั้น บ้านตุ๊กตาจึงร้างอยู่ โชจึงรื้อพื้นเรือน ดึงครัวบ้านอาร์เรียตตีออก แล้วติดตั้งครัวจากบ้านตุ๊กตาให้แทน โดยคาดหวังว่าพวกคนตัวจิ๋วคงชอบใจและเป็นมิตรกันได้ คืนนั้น พ็อดบาดเจ็บระหว่างภารกิจยืม และพบเด็กชายตัวจิ๋วคนหนึ่งกลางทาง ชื่อ สปิลเลอร์ สปิลเลอร์หามเขากลับมาส่งบ้าน และบอกกล่าวว่า ยังมีคนตัวจิ๋วอยู่ที่อื่นอีก โดยครอบครัวของอาร์เรียตตีสามารถย้ายไปอยู่ด้วยกันได้ อาร์เรียตตีจึงไปหาโชอีกครั้งเพื่ออำลา ระหว่างนั้น โชและอาร์เรียตตีได้พูดคุยกัน ทำให้อาร์เรียตตีทราบว่า โชเป็นโรคหัวใจ และจะเข้าผ่าตัดในอีกสองสามวัน แต่การผ่าตัดมีทีท่าว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จดังหวัง ขณะนั้น ซะดะโกะไม่อยู่บ้าน และฮะรุ แม่บ้าน สังเกตได้ว่า พื้นเรือนถูกเปิด จึงรื้อดู และพบบ้านของอาร์เรียตตี นางจับโฮมิลีใส่โหลขังไว้ในครัว แล้วเรียกบริษัทกำจัดปลวกมาตรวจดูบ้าน และให้จับคนตัวจิ๋วเป็น ๆ มาให้นาง เพราะนางเข้าใจว่าคนเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ข้าวของในบ้านหายบ่อย นอกจากนี้ นางยังขังโชไว้ในห้องนอนด้วยเกรงโชจะช่วยเหลือพวกเขา อาร์เรียตตีขอให้โชช่วยมารดาของเธอ โดยเธอช่วยโชออกจากห้องได้ โชให้อาร์เรียตตีประทับแล้วพากันไปยังครัว ทั้งคู่ช่วยโฮมิลีสำเร็จ เมื่อบริษัทกำจัดปลวกมาถึง ก็ประจวบกับซะดะโกะกลับบ้านพอดี ซะดะโกะสั่งให้บริษัทกลับไปเสีย ฮะรุจึงพยายามพิสูจน์ให้ซะดะโกะเห็นว่ามีขโมยตัวจิ๋วอยู่ในบ้านจริง ทว่า ไม่มีโฮมิลีอยู่ในโหลแล้ว และก็ไม่มีบ้านคนตัวจิ๋วอยู่ใต้พื้นเรือนด้วย ทั้งนี้ โชนำบ้านดังกล่าวไปซ่อนก่อนหน้าแล้ว อาร์เรียตตีและบิดามารดารีบออกเดินทาง และหยุดพักรับประทานอาหารเย็น แมวของโชตามอาร์เรียตตีเจอ และนำพาโชมาพบเธอ โชมอบน้ำตาลก้อนให้อาร์เรียตตีเป็นของขวัญ โดยกล่าวว่า คราวนี้เธอคงจะรับของของเขา โชยังว่า การที่พวกเธอแม้ตัวเล็กแต่ก็สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาต่อสู้ในการผ่าตัดอย่างมาก อาร์เรียตตีจึงปลดไม้หนีบผ้าซึ่งเธอใช้หนีบผมมอบให้โชเป็นของขวัญ และลาจากกันทั้งน้ำตา ครั้นแล้ว บรรดาคนตัวจิ๋วก็โดยสารกาน้ำชาที่สปิลเลอร์แจวล่องไปในลำน้ำจนลับตาไป ตัวละคร
นักพากย์
การผลิตการพัฒนาวันที่ 16 ธันวาคม 2552 สตูดิโอจิบลิว่าอนิเมะสำหรับปีหน้าคือ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว[17] โดยจะสร้างอิงนิยาย ฅนตัวจิ๋ว ของ แมรี นอร์เทิน[17] สำหรับนิยายเรื่องนี้ได้รับเหรียญตราคาร์เนกีด้านวรรณกรรม (Carnegie Medal in Literature) เมื่อปี 2496[17] และเคยทำเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันภาษาอังกฤษมาแล้วสามครั้ง อิซะโอะ ทะกะฮะตะ และ ฮะยะโอะ มิยะซะกิ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ว่า พวกเขาหมายสร้างแอนิเมชันจากนิยายเรื่องนี้มาราว ๆ สี่สิบปีแล้ว[9] วันเดียวกันนั้น มีการประกาศว่า ฮิโระมะซะ โยะเนะบะยะชิ จะกำกับอนิเมะดังกล่าว[17] ก่อนหน้า โยะเนะบะยะชิร่วมสร้างภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิหลายเรื่อง ได้แก่ ฮาวส์มูวิงแคเซิล (Howl's Moving Castle), โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย (Ponyo), และ เซ็งโทะชิฮิโระโนะคะมิกะกุชิ (Spirited Away)[17] ทั้งสตูดิโอจิบลิเคยสำรองเขาไว้กำกับอะมิเมะ ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร (Tales from Earthsea) ด้วย[17] ส่วนมิยะซะกินั้นว่าจะร่วมทำอนิเมะ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว ในฐานะผู้วางแผนการผลิต[17] การพากย์วันที่ 13 เมษายน 2553 มีการประกาศรายชื่อนักพากย์ โดย มิระอิ ชิดะ นักแสดงวัยสิบแปดปี ได้รับเลือกให้พากย์เป็นอาร์เรียตตี[18] นับเป็นการแสดงด้วยเสียงครั้งแรกของชิดะ[18] นอกจากนี้ เรียวโนะซุเกะ คะมิกิ ซึ่งเคยพากย์อนิเมะของสตูดิโอจิบลิหลายเรื่อง อาทิ เซ็งโทะชิฮิโระโนะคะมิกะกุชิ และ ฮาวส์มูวิงแคเซิล ก็ได้รับเลือกให้พากย์อนิเมะนี้อีก โดยได้บทโช[18] คะมิกิว่า เขายินดีเป็นอันมากที่จะได้พบปะอดีตผู้ร่วมงานอีกครั้ง[18] อนึ่ง โทะโมะกะซุ มิอุระ, ชิโนะบุ โอะตะเกะ, เคโกะ ทะเกะชิตะ และ คิริง คิกิ นักแสดงและนักพากย์มืออาชีพ ร่วมให้เสียงตัวละครในอนิเมะ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว ด้วย[18] แม้มากประสบการณ์ แต่ครั้งนี้คนทั้งสี่ทำงานกับสตูดิโอจิบลิเป็นหนแรก[18] ส่วนพากย์ภาษาอังกฤษนั้นมีสองฉบับ คือ ฉบับสหราชอาณาจักร ที่ อ็อปเทอเมิมรีลีซิง (Optimum Releasing) ซื้อลิขสิทธิ์ไป และฉบับสากล ที่ วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ (Walt Disney Pictures) ได้ลิขสิทธิ์ไป โดยในฉบับสหราชอาณาจักรนั้น เซอร์ชา โรนัน นักแสดงอายุสิบเจ็ดปี ได้พากย์เป็นอาร์เรียตตี[19] โรแนนว่า "...เพื่อนฉันบ้าคลั่ง [ผลงานของสตูดิโอจิบลิ] และพอฉันบอกว่าฉันจะได้พากย์อาร์เรียตตี เธอก็สติแตกไปเลย...ฉันเองเคยดู เซ็งโทะชิฮิโระโนะคะมิกะกุชิ และ โทโทโร่เพื่อนรัก รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน ฉันว่ารูปแบบของเขาต่างจากของพวกเราเยอะเลย สวยงามและก็บริสุทธิ์สดใสกว่า..."[19] ฉบับดิสนีย์นั้น แกรี ไรด์สตร็อม (Gary Rydstrom) ผู้ได้รับรางวัลอะแคเดมีเจ็ดสมัย กำกับการพากย์, แฟร็งก์ มาร์แชล (Frank Marshall) และ แคธลีน เค็นเนดี (Kathleen Kennedy) อำนวยการผลิต, กับทั้ง แครีย์ เคิร์กแพทริก (Karey Kirkpatrick) แปลบท[20] โดยได้ บริดจิต เมนด์เลอร์ นักดนตรีวัยสิบแปดปี มาพากย์เป็นอาร์เรียตตี[16] เพลงเซซีล กอร์แบ็ล นักดนตรีชาวฝรั่งเศส แต่ง บรรเลง และร้องเพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้ทั้งเรื่อง สตูดิโอจิบลีรู้จักกอร์แบ็ล เมื่อเธอเขียนจดหมายพร้อมส่งผลงานเพลงของเธอมาหาในฐานะผู้ชื่นชอบผลงานของสตูดิโอ[21] ครั้นได้ฟังเพลงของกอร์แบ็ลแล้ว บรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์ของจิบลีเห็นว่า ควรชวนเธอมาร่วมงานในอนิเมะ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว นี้ด้วย[21] เพลงประกอบภาพยนตร์บางเพลงได้รับการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตผ่านร้านไอจูนส์ (iTune), โมะระ (mora) และมิวสิโก (Musico) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552[22] โดยเฉพาะเพลง "อาร์เรียตตีส์ซ็อง" (Arrietty's Song) อันเป็นเพลงหลักของเรื่องนั้น กอร์แบ็ลร้องเป็นห้าฉบับ คือ ภาษาญี่ปุ่น, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และอิตาลี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่ร้านแอปเปิลในย่านชิบุยะ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2552[21] ก่อนขายเป็นซิงเกิลเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยอยู่อันดับที่ 18 ตามผังโอะริกง (Oricon charts)[23] ส่วนอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะแบบเต็มรูปแบบนั้น ขายตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2553 และอยู่อันดับที่ 31 ตามผังเดียวกัน[24] นอกจากนี้ ยังขายอิมเมจอัลบัม (image album) ซึ่งเอาเพลงบรรเลงบางเพลงในอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะมาใส่คำร้องร้อง ผนวกกับเพลงร้องอยู่แล้วบางเพลง อิมเมจอัลบัมนี้วางแผงตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 ก่อนอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะไม่กี่เดือน[25] อัลบัมเพลงประกอบอนิเมะ
อิมเมจอัลบั้ม
การตอบรับรายได้เพียงฉายครั้งแรก อนิเมะเรื่องนี้ก็ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น[27] ชาวญี่ปุ่นมากกว่าหนึ่งล้านคนว่า ต้องการชมดูอนิเมะดังกล่าวในปลายสัปดาห์แรกที่เริ่มฉาย[27] เมื่อพ้นสัปดาห์นั้นแล้ว รายได้ประเดิมอยู่ที่ราว 1.35 พันล้านเยน คิดเป็นรายได้ 85.6%[27] ขณะที่เรื่องก่อนหน้า ธิดาสมุทรผจญภัย นั้น สร้างรายได้จากการขายตั๋วทั้งหมดเป็น 82.9% [27] บริษัทโทะโฮะ (Toho) ผู้จำหน่าย ว่า ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2553 สืบมา อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว กวาดเงินมากกว่า 3.5 พันล้านเยน และมีผู้ชมแล้วมากกว่า 3.7 คน[21] และที่สุด อนิเมะเรื่องนี้ทำรายได้รวมราว 9.25 พันล้านเยน สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์แห่งญี่ปุ่น (Motion Picture Producers Association of Japan) จึงประกาศว่า ทำรายได้ภายในประเทศมากที่สุดในปีนั้น[10] เมื่อฉายในประเทศฝรั่งเศส ชาวเมืองก็ตอบรับเป็นอันดี ในสัปดาห์แรกก็มีผู้ชมมากว่าหนึ่งแสนคน[28] และเป็นผลให้มีรายได้มากกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสัปดาห์นั้น[29] ในช่วงเวลาสองเดือนกว่าที่เข้าโรง จำหน่ายตั๋วได้ราวเจ็ดแสนสี่พันใบ[28] และทำรายได้ทั้งสิ้น 7,010,476 ดอลลาร์สหรัฐ[29] ขณะเมื่อฉายในสหรัฐอเมริกา สร้างรายได้รวม 126,368,084 ดอลลาร์สหรัฐ[3] อ้างอิง
|