Share to:

 

อี.ที. เพื่อนรัก

อี.ที. เพื่อนรัก
กำกับสตีเวน สปีลเบิร์ก
เขียนบทเมลิสสา แมททีสัน
อำนวยการสร้างสตีเวน สปีลเบิร์ก
แคทลีน เคเนดี
นักแสดงนำเฮนรี โทมัส
ดี วอลเลซ
โรเบิร์ต แมคนอตตัน
ดรูว์ แบรีมอร์
ปีเตอร์ ไคโยตี
กำกับภาพAllen Daviau
ตัดต่อCarol Littleton
ดนตรีประกอบจอห์น วิลเลียมส์
ผู้จัดจำหน่ายยูนิเวอร์แซล
วันฉาย11 มิถุนายน ค.ศ. 1982
ความยาว115 นาที (ฉบับปี 1982)
120 นาที (ฉบับปี 2002)
ประเทศ สหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง$10,500,000
ทำเงิน$792,910,554
ข้อมูลจาก IMDb

อี.ที. เพื่อนรัก (อังกฤษ: E.T. the Extra-Terrestrial) เป็นภาพยนตร์ไซไฟ-แฟนตาซี ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2525 เป็นผลงานกำกับลำดับที่ 5 ของสตีเวน สปีลเบิร์ก เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายชื่อ เอลเลียต ที่ได้พบกับมนุษย์ต่างดาวที่ตกค้างอยู่บนโลก หลังจากยานอวกาศต้องเดินทางออกจากโลกอย่างกะทันหัน เอลเลียตเรียกมนุษย์ต่างดาวตนนั้นว่า "อี.ที." พากลับมาพักอาศัยที่บ้าน โดยปกปิดไม่ให้แม่รู้ และช่วย อี.ที. สร้างเครื่องส่งสัญญาณวิทยุกลับไปในอวกาศ เพื่อแจ้งให้ยานแม่กลับมารับ และหลบหนีการตามล่าจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ที่ต้องการตัว อี.ที. เพื่อไปทำการวิจัย

เดิมทีโครงการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการสร้างภาพยนตร์ไซไฟ-สยองขวัญ ชื่อเรื่อง "Night Skies" เพื่อเป็นภาคต่อของภาพยนตร์ Close Encounters of the Third Kind โดยโคลัมเบียพิกเจอส์ สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้พัฒนาบทภาพยนตร์ร่วมกับ เมลิสสา แมททีสัน ภรรยาของแฮริสัน ฟอร์ด โดยใช้โครงเรื่องจากจินตนาการในวัยเด็กของเขาเอง รวมถึงประสบการณ์จริง ที่เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน

หลังจากออกฉาย ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ทำรายได้จากการฉายในโรงถึง 359 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในสหรัฐอเมริกา [1] ทำลายสถิติของสตาร์วอร์ส ที่เป็นอันดับหนึ่งอยู่ก่อนหน้านั้น

ภาพยนตร์ถูกนำมาฉายซ้ำในปี พ.ศ. 2528 และในปี พ.ศ. 2545 ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของภาพยนตร์ โดยมีการใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิก เพิ่มเติมฉากที่ไม่สามารถสร้างได้ก่อนหน้านั้น เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ในการฉายรอบปฐมทัศน์ฉบับครบรอบยี่สิบปี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2545 ใช้วงออเคสตราบรรเลงเพลงประกอบพร้อมกับการฉายภาพยนตร์ โดยวงลอสแอนเจลิสฟิลฮาร์โมนิกออเคสตรา อำนวยเพลงโดย จอห์น วิลเลียมส์ [2][3]

นักแสดง

  • เฮนรี โทมัส รับบท เอลเลียต เด็กวัย 10 ขวบ อาศัยอยู่กับแม่ พี่ชาย น้องสาว และสุนัขชื่อ ฮาร์วีย์
  • โรเบิร์ต แมคนอตตัน รับบท ไมเคิล พี่ชายวัย 16 ปีของเอลเลียต
  • ดรูว์ แบรีมอร์ รับบท เกอร์ที น้องสาววัย 7 ขวบของเอลเลียต
  • ดี วอลเลซ รับบท แมรี แม่ของสามพี่น้อง ที่เพิ่งหย่าขาดกับสามี
  • เค.ซี.มาร์เทล, ฌอน ไฟร์ และ ซี.ทอมัส ฮาวเวลล์ รับบท เกร็ก, สตีฟ และ ไทเลอร์ เพื่อนของไมเคิล
  • ปีเตอร์ ไคโยตี รับบท คีย์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ตามหาตัว อี.ที. เขาเล่าให้เอลเลียตฟังว่าเคยพบกับ อี.ที. เมื่อยังเป็นเด็กเหมือนเอลเลียต และเฝ้าคอยที่จะพบกับ อี.ที. อีกครั้งตลอดมา
  • เอริกา เอเลเนียค รับบท เพื่อนหญิงของเอลเลียต
  • แฮริสัน ฟอร์ด รับบทครูใหญ่ (บทนี้ถูกตัดออกจากภาพยนตร์)

เกี่ยวกับภาพยนตร์

ตัวละคร อี.ที. ออกแบบโดย คาร์โล แรมบาลดี ศิลปินชาวอิตาลี ผู้ออกแบบตัวละครมนุษย์ต่างดาวใน Close Encounters of the Third Kind โดยได้แบบอย่างมาจากภาพวาดชื่อ "Women of Delta" ทีปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่วิทยาลัยศิลปะในเมืองโบโลญา ประเทศอิตาลี [4]

อี.ที. มีลักษณะหัวโต ตาโต คอยาวยืดหดได้ แขนยาว ขาสั้น มีหัวใจที่เรืองแสงได้ มีส่วนสูงเท่ากับเด็กอายุหกขวบ ในการถ่ายทำใช้หุ่นยนต์ที่มีผู้บังคับกลไกถึง 12 คน ในบางฉากใช้นักแสดงตัวเล็กสวมชุดที่มีกลไกยืดหดคอ และบางฉากใช้นักแสดงเด็กที่พิการไม่มีขา

ในภาพยนตร์มีฉากล้อเลียนภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส ของจอร์จ ลูคัส โดย อี.ที. แสดงท่าทางดีใจเมื่อพบเด็กแต่งแฟนซีชุดโยดา ในวันฮัลโลวีน ซึ่งจอร์จ ลูคัส ก็ได้ตอบกลับในภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น ใน 17 ปีต่อมา โดยมี อี.ที. เป็นตัวละครหนึ่งในการประชุมสภาสูงของสาธารณรัฐกาแลกติก [5]

อี.ที. เพื่อนรัก ได้รับรางวัลออสการ์ ชนะเลิศ 4 สาขา ได้แก่ สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม, สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม, สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม และสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

อ้างอิง

  1. "E.T.: The Extra-Terrestrial — Weekend Box Office". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2007-04-18.
  2. Universal Pictures to Premiere 20th Anniversary Version of Steven Spielberg's "E.T." March 16 at Los Angeles' Shrine Auditorium With Full Live Score-to-Film Orchestral Accompaniment
  3. E.T. 20th Anniversary Premiere[ลิงก์เสีย]
  4. Laurent Bouzerreau (2002), Evolution and Creation of E.T., Universal Pictures
  5. Star Wars Episode 1: The Phantom Menace Easter Egg - ETs in Senate Hearing

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya