Share to:

 

อูตางาวะ คูนิโยชิ

อูตางาวะ คูนิโยชิ

อูตางาวะ คูนิโยชิ (ญี่ปุ่น: 歌川国芳โรมาจิUtagawa Kuniyoshi) (ราว ค.ศ. 1797 - 14 เมษายน ค.ศ. 1861) เป็นจิตรกรภาพพิมพ์แกะไม้อูกิโยะของสำนักศิลปินอูตางาวะชาวญี่ปุ่นคนสำคัญและมีชื่อเสียงของคริสต์ศตวรรษที่ 19

ประวัติ

คูนิโยชิเกิดราวปี ค.ศ. 1797 เป็นลูกของช่างย้อมไหมเดิมชื่อโยชิซาบูโร (Yoshisaburō) ดูเหมือนว่าคูนิโยชิจะช่วยกิจการของบิดาโดยเป็นผู้ออกแบบลาย และข้อมูลบางแหล่งก็เสนอว่าประสบการณ์ที่ได้มามีอิทธิพลต่อการใช้สีสรรค์อันสารพัน (rich use of color) และ ลวดลายของผ้าในงานศิลปะของคูนิโยชิต่อมา นอกจากนั้นก็ยังกล่าวกันว่าคูนิโยชิได้รับความประทับใจจากภาพพิมพ์นักรบอูกิโยะ และภาพช่างฝีมือและสามัญชนที่พบในคู่มือช่างมาตั้งแต่อายุได้เจ็ดแปดขวบ และอาจจะเป็นได้ว่าประสบการณ์เหล่านี้มามีอิทธิพลต่อภาพพิมพ์ที่คูนิโยชิสร้างขึ้นต่อมา

ภาพเขียนของพระอรหันต์ฮันดากะ โดยอูตางาวะ คูนิโยชิ (พิพิธภัณฑ์บริติช)

คูนิโยชิแสดงตนเองว่าเป็นผู้มีความสามารถวาดภาพมาตั้งแต่อายุได้เพียง 12 ปี จนเป็นที่สนใจของอูตางาวะ โทโยกูนิผู้เป็นจิตรกรภาพพิมพ์แกะไม้อูกิโยะผู้มีชื่อเสียง ในปี ค.ศ. 1811 คูนิโยชิก็ได้รับตัวเข้าฝึกงานเขียนในห้องเขียนภาพของโทโยกูนิอย่างเป็นทางการ และกลายเป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของโทโยกูนิ คูนิโยชิดำเนินการฝึกงานมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1814 จนได้รับชื่อว่า "คูนิโยชิ" และออกมาเป็นศิลปินอิสระ

ในปีเดียวกันนั้นคูนิโยชิก็ผลิตงานพิมพ์ของตนเองเป็นครั้งแรกที่เป็นภาพประกอบสำหรับ "คูซาโซชิ" (kusazoshi) , "โกกัง" (gōkan) และ "โกบูจิ ชูชิงงูระ" (Gobuji Chūshingura) ซึ่งเป็นบทล้อของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ "ชูชิงงูระ" (Chūshingura) ระหว่างปี ค.ศ. 1815 ถึงปี ค.ศ. 1817 คูนิโยชิก็เขียนภาพประกอบหลายเล่มสำหรับ "โยมิฮง" (yomihon) "คกเกบง" (Kokkeibon) และ "ฮานาชิบง" (hanashibon) และภาพพิมพ์เดี่ยวของนักแสดงคาบูกิและนักรบ

แม้จะดูเหมือนว่าจะเริ่มงานอาชีพที่ดูท่าทางจะรุ่งเรือง แต่คูนิโยชิผลิตผลงานเพียงไม่กี่ชิ้นระหว่างปี ค.ศ. 1818 ถึงปี ค.ศ. 1827 ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการขาดผู้จ้างจากสำนักพิมพ์ และการที่จะต้องแข่งกับศิลปินผู้อื่นจากสำนักศิลปินอูตางาวะด้วยกันเอง แต่ในช่วงนี้คูนิโยชิก็เริ่มเขียนภาพสตรีแบบที่เรียกว่า "บิจิงงะ" และทดลองการเขียนลวดลายสำหรับผ้าผืนใหญ่ และการใช้แสงเงาที่พบในศิลปะจากทางตะวันตก แม้ว่าผลของการทดลองจะเป็นเพียงการเลียนแบบโดยปราศจากความเข้าใจในทฤษฎีการใช้อย่างลึกซึ้งก็ตาม

คูนิโยชิประสบกับความยากเข็ญจนถึงกับต้องทำการค้าขายเสื่อทาตามิที่ใช้แล้ว แต่คูนิโยชิก็โชคดีเมื่อได้พบคูนิซาดะเพื่อนนักเรียนด้วยกันที่มีฐานะดี ที่คูนิโยชิมีความรู้สึกว่าเป็นผู้มีฝีมือสูงกว่า ซึ่งเป็นผลทำให้คูนิโยชิเพิ่มความพยายามขึ้นเท่าตัว ศิลปินสองท่านนี้ต่อมาก็ร่วมมือทำงานชุดด้วยกันหลายชุด

คิงเฮียวชิ โยริง (Kinhyōshi yōrin) จากภาพพิมพ์ชุดโดยคูนิโยชิเป็นภาพจากตำนาน "108 ผู้กล้าหาญแห่งซูอิโกเด็ง"
โรนิงผู้มีชื่อเสียงมิยาโมโตะ มูซาชิสังหารนูเอะ

ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1820 คูนิโยชิก็สร้างงานบานพับภาพสามหลายชิ้นที่เริ่มที่จะแสดงเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง ในปี ค.ศ. 1827 คูนิโยชิก็ได้รับจ้างให้ทำงานชุดชิ้นสำคัญชุด "108 ผู้กล้าหาญแห่งซูอิโกเด็ง" (Tūszoku Suikoden gōketsu hyakuhachinin no hitori หรือ 108 Heroes of the Suikoden) ที่มาจากตำนานจีนที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายชื่อ "108 ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน" ในภาพชุดนี้คูนิโยชิเขียนภาพตัวเอกแต่ละตัวบนกระดาษแผ่นเดียว และวาดลายสักซึ่งเป็นของใหม่ที่ต่อมามามีอิทธิพลต่อแฟชั่นของเอโดะ ภาพชุดซูอิโกเด็งกลายเป็นภาพชุดที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเอโดะ ซึ่งทำให้ความต้องการงานเขียนภาพนักรบของคูนิโยชิเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้มีโอกาสได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม "อูกิโยะ" และกลุ่มวรรณกรรมสำคัญ ๆ

หลังจากนั้นคูนิโยชิก็ผลิตภาพพิมพ์ของนักรบ ที่เอามาจากตำนานสงครามเช่น "ตำนานเฮเกะ" (ญี่ปุ่น: The Tale of the Heikeโรมาจิ平家物語ทับศัพท์: Heike Monogatari) และ "ตำนานเก็มเปเซซูกิ" (Genpei seisuki) ภาพนักรบของคูนิโยชิมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ตรงที่เป็นภาพของนักรบผู้เป็นที่นิยมจากตำนานที่จะเน้นความฝัน, การปรากฏตัวของปีศาจ, สิ่งชั่วร้าย และพฤติกรรมของวีรบุรษ งานเชิงที่ว่านี้จะเห็นได้ชัดในงานพิมพ์ "ปีศาจของไทระ โทโมโมริที่อ่าวไดมตสึ" (Taira Tomomori borei no zu) และ บานพับภาพสาม "สะพานโกโจ" (Gōjō no bashi no zu) ที่สร้างในปี ค.ศ. 1839 ที่คูนิโยชิสร้างบรรยากาศอันเข้มข้นรุนแรงของการปะทะกันระหว่างโยชิตสึเนะกับเบ็งเก ภาพวาดของคูนิโยชิสนองความต้องการของสาธารณชนทางด้านงานที่สร้างความตื่นเต้น และ บรรยากาศที่พิสดารที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในช่วงนั้น

"การปฏิรูปเท็มโป" (Tenpō Reforms) ระหว่างปี ค.ศ. 1841 ถึงปี ค.ศ. 1843 ที่มีจุดประสงค์ในการฟื้นฟูวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจโดยการควบคุมการแสดงความฟุ่มเฟือยและความมั่งคั่ง เช่นในการห้ามภาพอูกิโยะของสตรีในราชสำนัก และนักแสดงอย่างเป็นทางการ พฤติกรรมนี้อาจจะมีผลบางประการต่องานพิมพ์การ์ตูนล้อเลียน (giga-e) ของคูนิโยชิ ภาพพิมพ์บางภาพวิพากษ์สถาบันโชกุนอย่างมีอารมณ์ขัน เช่นในภาพของมินาโมโตะ โยริมิตสึ (Minamoto Yorimitsu) บนเตียงขณะที่กำลังถูกหลอกหลอนด้วยแมงมุมและปีศาจของตนเอง ที่กลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาประชาชนที่เป็นไม่พึงพอใจกับการปฏิรูป

ระหว่างช่วงสิบปีก่อนที่จะมีการปฏิรูปคูนิโยชิก็สร้างภาพพิมพ์ภูมิทัศน์ (fūkeiga) ซึ่งไม่อยู่ข่ายของภาพต้องห้ามและเป็นการสนองความต้องการของตลาดที่นิยมการท่องเที่ยวในปลายสมัยเอโดะ งานชิ้นที่สำคัญของงานประเภทนี้คือ "Sankai meisan zukushi" (สินค้าสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ ราวระหว่างปี ค.ศ. 1828 ถึงปี ค.ศ. 1830) ที่คูนิโยชิผสานการใช้ทัศนมิติและรงควัตถุที่ใช้กันในตะวันตก และ "Famous views of the Eastern capital" (ทัศนียภาพที่สำคัญของเมืองหลวงตะวันออก ราวต้นคริสต์ทศวรรษ 1830) ที่เป็นที่แน่นอนว่าได้รับอิทธิพลจากงานพิมพ์ภาพชุด "ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ" (富嶽三十六景) ของคัตสึชิกะ โฮกูไซที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1831 ในช่วงเดียวกันนี้คูนิโยชิก็พิมพ์ภาพที่เป็นหัวข้อธรรมชาติแท้ ๆ ที่รวมทั้งภาพสัตว์ ภาพนก และภาพปลาที่เลียนแบบการเขียนภาพตามธรรมเนียมการเขียนภาพแบบญี่ปุ่นและจีนโบราณ

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1840 คูนิโยชิก็เริ่มพิมพ์ภาพนักแสดงคะบูกิผู้มีชื่อเสียงขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการเขียนเชิงภาพแบบเด็ก ออกไปทางการ์ตูนเพื่อที่จะเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์ งานชิ้นสำคัญก็ได้แก่ "Nitakaragurakabe no mudagaki" (เขี่ยเขียนบนผนังโรงเก็บของ) ในภาพนี้คูนิโยชิใช้จินตนาการอันสร้างสรรค์ในการเขียนลายมืออย่างเด็ก ๆ ที่ไม่เรียบร้อยด้วยอักษรคานะภายใต้ใบหน้าของนักแสดง

ความรักแมวของคูนิโยชิทำให้เริ่มใช้แมวแทนคนในการสร้างงานพิมพ์คะบุกิและงานล้อเลียน นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่ทราบกันว่าในช่วงนี้คูนิโยชิเริ่มทดลองสร้างงานที่มีองค์ประกอบเป็นแบบ "ฉากกว้าง" (wide-screen) โดยการขยายองค์ประกอบในภาพให้เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเป็นนาฏกรรมให้แกภาพมากขึ้น เช่นในภาพ "เจ้าหญิงทากิยาชะลูกสาวของมาซากาโดะที่วังโซมะเดิม"

ในปี ค.ศ. 1856 คูนิโยชิก็ป่วยด้วยโรคที่มีผลกระทบกระเทือนต่อระบบประสาท (palsy) ที่ทำให้การใช้มือไม้เป็นไปอย่างลำบาก ซึ่งกล่าวกันว่าทำให้ผลงานตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปเริ่มมีคุณภาพต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในการใช้เส้นและความมีชีวิตชีวาของภาพโดยทั่วไป ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1861 คูนิโยชิก็ได้เป็นพยานในการเปิดเมืองท่าโยโกฮามะแก่ชาวต่างประเทศเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1860 คูนิโยชิสร้างงานพิมพ์สองชิ้นที่เป็นภาพชาวต่างประเทศในเมือง (Yokohama-e) เช่นภาพ "ทัศนียภาพของฮงโชะ" และ "โยโกฮามะและเขตสำราญ") คูนิโยชิเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1861 เมื่ออายุได้ 65 ปีที่บ้านที่เก็งยาดานะ

ลูกศิษย์

คูนิโยชิเป็นปรมาจารย์ผู้มีความสามารถและมีลูกศิษย์หลายคนที่ดำเนินการสร้างศิลปะตามแนวสาขาของสำนักศิลปินอูตางาวะต่อมา ลูกศิษย์คนสำคัญได้แก่โยชิโตชิ โยชิโตระ โยชิอิกุ โยชิกาซุ และโยชิฟูจิ โดยทั่วไปแล้วลูกศิษย์ของคูนิโยชิจะเริ่มการฝึกงานด้วยการเขียนภาพบนมูชะ (musha-e) ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับลักษณะของอาจารย์ เมื่อเริ่มเป็นศิลปินที่เป็นตัวของตัวเองและเป็นอิสระมากขึ้นลูกศิษย์เหล่านี้ก็จะออกไปหาแบบอย่างและลักษณะการสร้างงานศิลปะที่เป็นตัวของตัวเอง ลูกศิษย์คนที่สำคัญที่สุดคือโยชิโตชิผู้ที่ในปัจจุบันถือกันว่าเป็น "ปรมาจารย์คนสุดท้าย" ของภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น

งานพิมพ์ชุดบางชุด

  • "ประวัติย่อของผู้ก่อตั้งพร้อมภาพประกอบ" (llustrated Abridged Biography of the Founder - ราว ค.ศ. 1831)
  • "ทัศนียภาพที่สำคัญของเมืองหลวงตะวันออก" (Famous Views of the Eastern Capital - ราว ค.ศ. 1834)
  • "ซูอิโกเด็ง วีรบุรุษของประเทศของเรา" (Heroes of Our Country's Suikoden - ราว ค.ศ. 1836)
  • "เรื่องราวของสตรีมีปัญญาและคุณธรรม" (Stories of Wise and Virtuous Women - ราว ค.ศ. 1841-ค.ศ. 1842)
  • "Fifty-Three Parallels for the Tōkaidō" (ค.ศ. 1843-ค.ศ. 1845) (ร่วมกับฮิโระชิเงะ และ อูตางาวะ คูนิซาดะ)
  • "Twenty-Four Paragons of Filial Piety" (ค.ศ. 1843-ค.ศ. 1846)
  • "Mirror of the Twenty-Four Paragons of Filial Piety" (ค.ศ. 1844-ค.ศ. 1846)
  • "แม่น้ำหกสาย" (Six Crystal Rivers - ค.ศ. 1847-ค.ศ. 1848)
  • "Fidelity in Revenge" (ราว ค.ศ. 1848)
  • "Twenty-Four Chinese Paragons of Filial Piety" (ราว ค.ศ. 1848)
  • "สถานีหกสิบเก้าสถานีตามเส้นทางคิโซะไคโดะ" (Sixty-Nine Stations along the Kisokaido - ค.ศ. 1852)
  • "ภาพเหมือนของซามูไรผู้จงรักภักดี" (Portraits of Samurai of True Loyalty - ค.ศ. 1852)
  • "24 Generals of the Kai Provence" (ค.ศ. 1853)
  • ภาพเหมือนครึ่งตัวของโกะชะคุ โซะเมะโงะโระ
  • "ทากิยาชะแม่มดกับโครงกระดูก" (Takiyasha the Witch and the Skeleton Spectre)

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

  • B. W. Robinson, Kuniyoshi (Victoria and Albert, London, 1961)
  • B. W. Robinson, Kuniyoshi: The Warrior Prints (Cornell University, Ithaca, 1982) contains the definitive listing of his prints
  • Robert Schaap, Timothy T. Clark, Matthi Forrer, Inagaki Shin'ichi, Heroes and Ghosts: Japanese Prints By Kuniyoshi 1797-1861 (Hotei, Leiden, 1998) is now the definitive work on him
  • Merlin C. Dailey, David Stansbury, Utagawa Kuniyoshi: An Exhibition of the Work of Utagawa Kuniyoshi Based on the Raymond A. Bidwell Collection of Japanese Prints at the Springfield Museum of Fine Arts(Museum of Fine Arts, Springfield, 1980)
  • Merlin C. Dailey, The Raymond A. Bidwell Collections of Prints by Utagawa Kuniyoshi (Museum of Fine Arts, Springfield, 1968) Note: completely different volume from the preceding

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อูตางาวะ คูนิโยชิ

Kembali kehalaman sebelumnya