ฮันส์ ฟ็อน เซคท์
พลเอกอาวุโส โยฮันเนิส ฟรีดริช เลโอพอลด์ ฟ็อน เซคท์ (เยอรมัน: Johannes Friedrich Leopold von Seeckt) หรือนิยมเรียก ฮันส์ ฟ็อน เซคท์ เป็นนายทหารชาวเยอรมันและเป็นเสนาธิการของจอมพลเอากุสท์ ฟ็อน มัคเค็นเซิน ถือเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการวางแผนจนมัคเค็นเซินได้รับชัยชนะในต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เซคท์รู้สึกเดือดดาลมากต่อข้อบังคับในสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งห้ามเยอรมนีมีทหารบกเกินหนึ่งแสนนาย ห้ามมีอาวุธทันสมัย ห้ามมียานเกราะ ฯลฯ เขายังคัดค้านการที่เยอรมนีจะเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ ถึงแม้ว่าเซคท์จะไม่อยากให้สงครามอีก แต่เขาก็เชื่อว่าภาวะเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดสงครามอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้[1] และทหารเยอรมันจำเป็นต้องมีความพร้อมสรรพเพื่อสู้ศึกครั้งต่อไป ไม่งั้นเยอรมนีก็ต้องอยู่รอดบนความเมตตาของเพื่อนบ้านเท่านั้น บันทึกของเซคท์ระบุว่า "การศึกษาประวัติศาสตร์มามันขัดขวางไม่ให้ฉันมองเห็นความคิดเรื่องสันติภาพถาวรเป็นอะไรอื่นไปได้นอกจากความฝัน"[2] นายพลเซคท์ดำรงตำแหน่งเสนาธิการไรชส์แวร์ระหว่างปี 1919 ถึง 1920 และเป็นอธิบดีกรมทหารบก (Chef der Heeresleitung) ตั้งแต่ปี 1920 ในช่วงที่เขานำกองทัพบกนี้เอง เซคท์ต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้กองทัพอ่อนแอลง เขาจึงปฏิรูปกองทัพบก คอยปลูกฝังคติทหาร ฝึกฝน วางกลยุทธ์ และจัดระเบียบบริหารกองทัพ[3] เขาได้รับยศพลเอกอาวุโสในวันแรกของปี 1926 และในเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็ถูกรัฐบาลบีบบังคับให้ลาออก ยามที่เขาลาออกไรชส์แวร์ก็อยู่ในระดับพร้อมรบ ทฤษฎีและวีธีรบอันชาญฉลาดที่เขาสร้างไว้เป็นต้นทุน ถูกกองทัพเยอรมันนำไปปฏิบัติในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง[4][5] นายพลเซคท์ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาไรชส์ทาคระหว่างปี 1930 ถึง 1932 จากนั้นในปี 1933 เขาเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อเป็นผู้บัญชาการทหารเยอรมันประจำจีน[6] ขณะนั้นความสัมพันธ์จีน-เยอรมันอยู่ในภาวะย่ำแย่ จากการที่ทหารเยอรมันมีชอบวางก้ามต่อคนจีน จีนคิดจะไล่เยอรมันออกไปและนำฝรั่งเศสเข้ามาแทน[6] นายพลเซคท์สั่งทหารเยอรมันให้ประพฤติต่อชาวจีนด้วยความเคารพและเริ่มแสดงความอ่อนน้อมต่อจีน[6] ด้วยเหตุนี้ นายพลเซคท์จึงรักษาจุดยืนของเยอรมันในแผ่นดินจีนไว้ได้[6] เซคท์ได้เป็นที่ปรึกษาทางทหารให้แก่เจียง ไคเชก ในสงครามต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์ เขาได้รับผิดชอบในการประดิษฐ์แผนค่ายวงล้อม ซึ่งทำให้ได้รับชัยชนะเหนือกองทัพจีนคอมมิวนิสต์ และบีบให้เหมา เจ๋อตง ต้องถอยร่นกว่า 9,000 กิโลเมตรที่เรียกว่า "ฉางเจิง" อ้างอิง
|